"แมว" ถือเป็นสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุดไม่แพ้สุนัข สำหรับคนที่ไม่ชอบแมวอาจจะบอกว่า แมวเป็นสัตว์ที่มีดวงตาน่ากลัว ไม่เชื่อฟังคำสั่งเหมือนสุนัข แต่สำหรับคนที่รักแมว ก็อาจจะประทับใจในความน่ารักนุ่มนิ่ม ความขี้เล่นขี้อ้อน และอีกหลายเหตุผลที่บอกได้ไม่หมดว่าแมวน่ารักอย่างไร
แต่นอกจากจะเป็นสัตว์เลี้ยงของคนแล้ว แมวไทยยังมีหน้าที่พิเศษคือการเป็นทูตวัฒนธรรมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า แมวไทยเป็นสัญลักษณ์ของชาติที่จะทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้รู้จักประเทศไทย พระองค์จึงทรงพระราชทานแมวไทยให้กับผู้แทนจากหลายๆ ประเทศ เช่น ทรงมอบแมววิเชียรมาศคู่หนึ่งให้แก่กงสุลอังกฤษประจำประเทศไทย ซึ่งต่อมาแมวคู่นี้ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดแมวทั่วโลก จนทำให้แมววิเชียรมาศ หรือที่ชาวต่างชาติรู้จักกันในชื่อ Siamese Cat นั้นโด่งดังไปทั่วโลกในเรื่องของความฉลาดและความสวยสง่า
ไม่เพียงแต่แมววิเชียรมาศเท่านั้นที่ฉลาดและน่ารักน่าเอ็นดู แต่ยังมีแมวไทยอีกหลายสายพันธุ์ด้วยกันที่มีความน่ารักไม่แพ้กัน ซึ่งแมวพันธุ์ไทยเหล่านี้ ถูกเลี้ยงรวบรวมไว้ที่ "ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน แมวไทยโบราณ" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "บ้านแมวไทย" ในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
คุณลุงปรีชา พุคคะบุตร เจ้าของบ้านแมวไทย และเจ้าของแมวเหมียวสัญชาติไทยกว่า 70 ตัวภายในบ้าน เล่าเท้าความถึงความผูกพันของตัวเองกับแมวไทยที่เริ่มมีขึ้นตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กว่า หน้าที่ของคุณลุงเมื่อสมัยเด็กๆ นั้นก็คือช่วยคุณแม่เลี้ยงแมว ซึ่งแมวที่คุณแม่ของคุณลุงเลี้ยงเอาไว้ก็คือแมวไทยพันธุ์วิเชียรมาศ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณลุงรู้จักและรักแมวไทยมาตั้งแต่ตอนนั้น จนเมื่อเติบโตขึ้น แมวไทยก็ยังคงเป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้านของคุณลุงอยู่เช่นเคย แต่เริ่มมีแมวไทยพันธุ์อื่นๆ นอกจากวิเชียรมาศเข้ามาเลี้ยงเพิ่มเติม
ในส่วนของการก่อตั้งบ้านแมวไทยนั้น คุณลุงเล่าให้ฟังว่า "จากที่เลี้ยงแมวไว้ดูที่บ้านคนเดียว ก็มาเปิดเป็นบ้านแมวไทยให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาชมเมื่อปี พ.ศ.2544 เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามในตอนนั้นมีนโยบายจะเปิดจังหวัดสมุทรสงครามให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แล้วก็ได้ออกหาสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ได้ 6 จุด รวมบ้านแมวไทยด้วย ผู้ว่าฯ เลยขอร้องให้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด"
หลังจากเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ก็ได้มีการพัฒนาบ้านแมวไทยขึ้น เช่นทำหลังคาเป็นที่หลบแดดหลบฝนให้นักท่องเที่ยว เพราะบางวันก็มีแขกเข้ามาชมเยอะถึง 200-300 คน นอกจากนั้นก็ยังมีนักเรียนนักศึกษาเข้ามาหาความรู้กันค่อนข้างมาก ลุงปรีชาจึงคิดแบ่งพื้นที่จัดทำเป็นนิทรรศการให้ความรู้ในเรื่องของแมวไทยชนิดต่างๆ และยังได้นำเอาภาพแมวไทยโบราณให้คุณให้โทษทั้ง 23 สายพันธุ์ที่ได้มาจากสมุดข่อยโบราณมาจัดแสดงให้ดู
"แมวพวกนี้เกิดในป่ามาเป็นล้านๆ ปีแล้วก่อนที่คนเราจะเอามาเลี้ยง ส่วนแมวไทยโบราณที่มีบันทึกไว้ในสมุดข่อยก็เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ผมจึงเกิดความคิดที่จะอนุรักษ์แมวไทยสายพันธุ์แท้ไว้ให้ลูกหลานได้ดูกัน จะได้รู้จักว่ารูปร่างหน้าตาของมันเป็นอย่างไร ซึ่งในตอนนี้ก็มีแมวไทยโบราณในสมุดข่อยที่ยังคงหลงเหลือถึงปัจจุบันอยู่ 4 สายพันธุ์ด้วยกัน คือวิเชียรมาศ ศุภลักษณ์ สีสวาด โกญจา ส่วนขาวมณีนั้น ไม่นับเป็นแมวไทยโบราณในสมุดข่อย แต่ก็เป็นแมวไทยที่เกิดขึ้นมาในช่วงต้นรัตนโกสินทร์"ลุงปรีชา กล่าว
ภายในบ้านแมวไทยตอนนี้มีแมวพันธุ์ไทยทั้งวิเชียรมาศ สีสวาด ศุภลักษณ์ โกญจา และขาวมณี และแมวไทยพันธุ์ผสมอื่นๆ รวมแล้วประมาณ 70 ตัวด้วยกัน โดยคุณลุงบอกว่าเหตุที่ต้องเลี้ยงไว้เป็นจำนวนมากก็เพื่อป้องกันปัญหา “เลือดชิด” หรือการผสมพันธุ์กันเองระหว่างเครือญาติ ซึ่งจะทำให้ลูกที่ออกมาอ่อนแอ มีลักษณะด้อยมากกว่าลักษณะเด่น
"แมวไทยทั่วโลกเขายอมรับว่าเป็นแมวที่ฉลาดแล้วก็สวยสง่าที่สุดของโลก ถ้าหากผสมพันธุ์แบบเลือดชิด ความฉลาดและสวยสง่าก็จะหมดไป" คุณลุงบอก
เมื่อถามว่า ตอนนี้คุณลุงรักหรือว่าสนใจแมวไทยพันธุ์ไหนเป็นพิเศษหรือไม่ ลุงปรีชาตอบว่า ในตอนนี้กำลังสนใจแมวไทยพันธุ์ศุภลักษณ์ หรือที่เรียกกันว่า "แมวทองแดง" เป็นพิเศษ
"ผมกำลังพยายามจะปรับปรุงสายพันธุ์ศุภลักษณ์ เพราะตอนนี้เป็นแมวไทยที่หายากจริงๆ เวลาที่ไปตัดสินการประกวดแมวไทยก็จะไม่ค่อยเจอแมวศุภลักษณ์เลย ตอนนี้ก็เลยรวมกลุ่มกับหลายๆ คนมาช่วยพัฒนาสายพันธุ์นี้ เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่เหลือไว้ให้คนไทยเห็นอีกแล้ว โดยในตอนนี้ที่บ้านแมวไทยก็มีแมวศุภลักษณ์ตัวเมียอยู่ 3 ตัว ตัวผู้อยู่ 3 ตัว ที่จะพัฒนาสายพันธุ์ให้เป็นพันธุ์แท้ต่อไป ซึ่งก็ต้องใช้เวลา 6-12 ปี ด้วยกัน"
ตลอด 6 ปี ของการก่อตั้งบ้านแมวไทยขึ้นมานี้ ก็ได้มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนคุณลุงปรีชาและบรรดาแมวๆ อยู่เรื่อยๆ โดยมีทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งคุณลุงก็จะเป็นคนต้อนรับนักท่องเที่ยวเหล่านี้ด้วยตัวเองทุกวัน หากไม่ติดภารกิจในการเป็นกรรมการตัดสินการประกวดแมวไทยที่ใด
แม้บ้านแมวไทยจะเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวมาถึง 6 ปี แล้ว แต่ก็ไม่มีการเก็บค่าเข้าชมแต่อย่างใด ทั้งที่ค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับแมวเหล่านี้รวมแล้วตกเดือนละ 20,000 บาท ซึ่งคุณลุงก็บอกเหตุผลว่า "ที่ไม่ได้เก็บค่าเข้าชมเพราะคิดว่าไม่ได้ทำธุรกิจ สิ่งที่ทำก็เพื่อการเผยแพร่เพื่ออนุรักษ์มรดกของชาติ ถ้าไปเก็บเงินมันก็จะกลายเป็นการทำธุรกิจไป แต่ในตอนหลังมีคนที่อยากจะมาช่วยกันอนุรักษ์แมวไทยเหล่านี้ ก็เลยมีคนทำตู้บริจาคให้คนที่มาชมหยอดเงิน ถึงคราวก็เปิดตู้เอาเงินมาซื้ออาหารให้แมว"
คุณลุงปรีชาบอกว่า ค่าใช้จ่ายก็ถือว่าพอบ้างไม่พอบ้าง แต่ก็มีรายได้เพิ่มเติมอีกทางหนึ่งก็คือ หากมีคนสนใจอยากจะได้แมวไทยไปเลี้ยงที่บ้าน คุณลุงก็จะขอเป็นค่าอาหารแมวตัวละ 6,000 บาท สำหรับแมวเกรดเอ และราคาลดหลั่นกันไปสำหรับแมวเกรดรองลงมา
"บางคนมาซื้อแล้วให้เงินมาหมื่นหนึ่งก็มี เพราะเขาบอกว่าหกพันบาทถูกไป" คุณลุงปรีชากล่าว
คุณลุงพูดย้ำถึงเสน่ห์ของแมวพันธุ์ไทยให้ฟังอีกครั้งว่า เป็นแมวที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็น "แมวที่ฉลาดและสวยสง่าที่สุดของโลก" แต่ก็ยังมีคนไทยอีกหลายคนที่นิยมเลี้ยงแมวต่างประเทศ โดยมองข้ามความสำคัญของแมวไทยไป
"บางคนก็จะคิดว่า แมวไทยก็หน้าตาเหมือนแมวตามวัดทั่วไป เลยหันไปเลี้ยงแมวสายพันธุ์ของต่างประเทศ แต่สำหรับผมคิดว่าแมวไทยของเราสวยกว่าแมวของต่างประเทศ ก็เลยอยากจะพัฒนาแมวไทยของเราให้คงลักษณะของสายพันธุ์เดิมอยู่ เพื่อเป็นการอนุรักษ์แมวไทยสายพันธุ์แท้ไว้ให้ลูกหลานได้ดูกัน" คุณลุงปรีชา กล่าวปิดท้าย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
"ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน แมวไทยโบราณ" ตั้งอยู่ที่ 2/1 หมู่ 7 ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 75110 เปิดให้เข้าชมทุกวัน ในเวลา 08.00-18.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร.0-3473-3284, 0-3475-2628, 08-4003-4194
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ไปดูแมวเหมียวที่"อุทยานแมวไทยโบราณ"