โดย : ปิ่น บุตรี

แม้ฟ้ายามเช้ากลางฤดูฝนจะขมุกขมัวไม่สดใส แต่หากใจเรา‘ใส’ สรรพสิ่งรอบกายไยมิใช่น่าชมขึ้นมาอีกมาโข
ยิ่งได้มาเจอกับธรรมชาติอันพิสุทธิ์ ณ อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง(หน่วยหนองแม่นา) แห่งเทือกเขาเพชรบูรณ์ ที่พื้นที่แห่งนี้ขึ้นชื่อลือชายิ่งนักในเรื่องของ‘ทุ่งหญ้า’ ที่สวยงามคลาสสิค ติดอันดับต้นๆแห่งหนึ่งของเมืองไทย
ในวันที่ผมไปเที่ยวแม้ฟ้าจะหม่นขาว แต่ว่าก็ได้ความเขียวขจีกว้างไกลของทุ่งแสลงหลวงทาแทนที่ เจ้าหน้าที่ที่นั่นบอกกับผมว่า นี่คือภูมิประเทศแบบทุ่งหญ้า‘สะวันนา’ แบบเดียวกับทุ่งหญ้าซาฟารีในแอฟริกา เพียงแต่ว่าต่างกันตรงที่ทุ่งแสลงหลวงไม่มีสัตว์ใหญ่ออกมาเดินอวดโฉมอย่างทุ่งหญ้าซาฟารีเท่านั้น จะมีก็พวกสัตว์เล็กๆน้อยๆ มด แมลง กบ เขียด หากินตามพื้นดินบ้าง
ช่วงหน้าฝนไปถึงต้นหนาวของทุกๆปี ทุ่งแสลงหลวงจะเปล่งพลังความงดงามออกมาอย่างเต็มเปี่ยม ผิดกับช่วงหน้าร้อนที่ต้นหญ้าดูแห้งกรัง เหลืองแล้วไร้ชีวิตชีวา แต่หลังจากฝนแรกโปรยสายลงมาสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นดิน มวลหมู่ต้นหญ้าก็เริ่มผลิใบเขียวอ่อนให้เห็น
แล้วเมื่อฝนสอง ฝนสาม ฝนสี่ ตกตามต่อลงมา มวลหมู่ต้นหญ้าก็จะระบัดเต็มท้องทุ่งเป็นหญ้าอ่อนที่โคแก่ชอบนักชอบหนา แต่ว่าที่นี่ไม่มีโคแก่ให้เห็นมีแต่สัตว์อย่าง พวกเก้ง กวาง อีเห็น ชะมด ที่ยามค่ำคืนต่างก็พากันออกมาแทะเล็มกินต้นหญ้าในท้องทุ่งแถบนี้อยู่ไม่ได้ขาด
จากนั้นเมื่อ ฝนตกจั๊กๆ ฝนตกไม่ลืมหูลืมตา ฝนตกสุยๆยายฉุยเก็บเห็ด ฝนตกไม่ลืมหูลืมตา ฝนตกห่าใหญ่ ฝนตกปรอยๆ ฝนตกแหมะๆ ฝนตกทางนั้นหนาวถึงคนทางนี้ หรือฝนลักษณะไหนก็แล้วแต่ สลับสับเปลี่ยนกันตกต่อๆกันมา ทุ่งหญ้าป่าใหญ่ ต้นไม้ใบหญ้า ณ ทุ่งแสลงหลวง(หรือป่าอื่นๆ) ต่างก็จะพากันเติบโต ผลิดอกออกใบมารับกับสายฝน สายลม แสงแดด ดูเขียวชอุ่มเต็มภูมิประเทศที่มีทั้งที่ราบและเนินขึ้นๆลงๆ มีหนองน้ำเล็กๆแทรกตัวอย่างในความเขียวของทุ่งหญ้าที่มีผืนป่าและขุนเขาตั้งตระหง่านเป็นฉากหลัง
หากใครเคยเห็นทุ่งหญ้าแห่งนี้หลังฝนตกที่หยาดน้ำฟ้ายังเกาะชุ่มอยู่บนยอดหญ้า แล้วโบกระบำไป-มา ตามสายลมที่พัดไหว บัดเดี๋ยวไปซ้าย บัดเดี๋ยวไปขวา ในขณะที่ฟ้าหลังฝน แสงแดดค่อยๆแย้มพรายทอแสงออกมาตัดกับละอองไอฝนที่ยังไม่จางเกิดเป็นรุ้งกินน้ำทอดตัวพาดขวางทุ่งหญ้า ม่วง คราม น้ำ เงิน เขียว เหลือง แสด แดง
นี่ถือเป็นภาพที่ใครเห็น ผมเชื่อว่าเขาก็คงจะจดจำไปอีกนานแสนนาน
นอกจากทุ่งหญ้าสะวันนากว้างไกลแล้ว ยังมีนกหลากหลายชนิดบินโฉบไปมา ในขณะที่บางตัวส่งเสียงร้องดังลั่นทุ่ง ฟังประหนึ่งวงแจ๊ซกลางผืนป่าที่นักดนตรีอิมโพรไวซ์ใส่อารมณ์ดนตรีกันอย่างสุดเหวี่ยง
จากนกบินบนฟ้าหากก้มหามามองตามพื้นดิน บางมุม บางจุด ตามซอกหลืบของกอหญ้าเราจะพบกับดอกกระเจียวขาว ยี่โถปีนัง และดอกไม้อีกหลายชนิดออกดอกให้สีสดใสแฝงอยู่ในกอหญ้าเหล่านั้น เป็นความงามอันซุกซ่อนที่ต้องใช้สายตาสอดส่าย เพ่งพินิจ ดูสักนิด
งานนี้ตาดีได้ ตาร้ายชวด คือคำตอบที่ชัดเจนที่สุด

สำหรับอีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเสน่ห์แห่งท้องทุ่งแห่งนี้ก็เห็นจะเป็นบรรดาผีเสื้อ แมลงปีกสวย ชื่อน่ากลัวแต่ตัวน่าชมที่โฉบบิน ฉวัดเฉวียนไป-มา ในบริเวณนั้น บ้างหยุดเกาะดูดกินเกสรดอกไม้ บ้างโฉบบินไป-มา บนยอดหญ้า บางตัวกระพือปีกสั่นไหวระริก
และนี่นับเป็นเสน่ห์ความงามแห่งทุ่งหญ้าป่าใหญ่ นาม“ทุ่งแสลงหลวง”ที่ยากจะหาป่าใดเสมอเหมือน โดยชื่อของ“ทุ่งแสลงหลวง”นั้น นักวิชาการป่าไม้ส่วนมากสันนิษฐานกันว่ามันมาจากคำว่า “แสลงใจ” ที่เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งตัวผมเองต้องถือว่าค่อนข้างโชคดีไม่น้อยที่มีโอกาสได้ยลต้นเป็นๆของต้นแสลงใจที่ว่ากันว่า น่าจะคือที่มาของชื่ออุทยานแห่งนี้
โดยขณะที่กำลังเดินทางจากทุ่งแสลงหลวงสู่ทุ่งนางพญา ระหว่างนั้นจู่ๆเจ้าหน้าที่อุทยานที่พาผมไปก็จอดรถและ เชิญชวนให้ลงไปชมต้นแสลงใจกันแบบจะจะ เต็ม 2 ลูกกะตา
“แสลงใจถือเป็นไม้ยืนต้น ที่มีลูกสีเหลือง กลมๆ เม็ดของมันสามารถอมแก้ไข้ป่าได้ แต่ว่าห้ามกลืนเม็ดลงไปเด็ดขาดเพราะถ้ากินลงไปจะตายทันทีเพราะมีพิษ”
เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าบอกถึงลักษณะคร่าวๆของต้นไม้ต้นนี้ ที่ชื่อของมันฟังแล้วแสลงใจไม่น้อย ในอดีตต้นไม้ชนิดนี้พบมากในเขตอุทยานฯ แต่ว่าปัจจุบันหาดูยากเต็มที และด้วยความที่ชื่อของมัน หลายคนฟังแล้วอดแสลงใจตามชื่อไม่ได้ ยิ่งหากนำไปตั้งเป็นชื่ออุทยานแห่งชาติก็ยิ่งฟังแสลงใจแสลงหูใหญ่ จึงมีคนปรับเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งนี้ให้เป็น“ทุ่งแสลงหลวง”แทน เนื่องจากว่าฟังเนียนหูกว่า
ส่วนเจ้าต้นแสลงใจนั้นทางอุทยานฯก็พยายามอนุรักษ์ไว้ โดยได้นำกล้าของมันมาปลูกไว้ใกล้ๆกับที่ทำการหน่วยฯหนองแม่นา เพื่อให้คนที่ผ่านไป-มา ได้มีโอกาสเห็นต้นไม้ที่เป็นตำนานแห่งนี้
จากจุดชมต้นแสลงใจหากเดินต่อไปอีกนิดก็จะถึงยังทุ่งนางพญาหรือทุ่งนางพญาเมืองเลน ที่ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของอุทยานแห่งนี้
ทุ่งนางพญา เป็นป่าสนสองใบที่สวยงามและยิ่งใหญ่อีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย มีพื้นที่ประมาณ 16 ตารางกิโลเมตร ที่นอกจากเต็มไปด้วยต้นสนอันสูงตระหง่านที่ขึ้นเรียงรายอย่างเป็นระเบียบแล้ว บริเวณใต้ต้นสนบางช่วงยังมี ต้นหญ้า ดงเฟิร์น ขึ้นเรียงรายเต็มพรึ่ดไปหมด ซึ่งถ้าหากว่าใครเอาแต่มองสน มองสูงอย่างเดียว โดยละเลยการมองต่ำก็จะไม่เห็นความงามของบรรดาต้นเฟิร์นเหล่านี้ โดยเฉพาะยามน้ำค้างบนยอดโค้งงอของใบกระทบกับแสงแดดส่งประกายระยิบระยับนี่ ดงเฟิร์นจะดูสวยงามเป็นอย่างยิ่ง
เรียกได้ว่าองค์ประกอบป่าสนบริเวณทุ่งนางพญานั้น ธรรมชาติได้บรรจงสร้างสรรค์ออกมาอย่างกลมกลืน ลงตัว และนี่ถือเป็นเสน่ห์ พลังของธรรมชาติ แห่งทุ่งแสลงหลวง ที่หากใครได้ไปยลแล้ว จะไม่รู้สึกแสลงใจแต่อย่างใด
*****************************************
อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง มีพื้นที่ครอบคลุมในท้องที่ อ.วังทอง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก และ อ.หล่มสัก อ.เมือง อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 789,000 ไร่ สภาพทั่วไปเป็นภูเขา มีทุ่งหญ้าสะวันนาและป่าสนอยู่หลายจุด มีจุดสูงสุดคือ บริเวณเขาแค สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,028 เมตร
นอกเหนือจากสถานที่ที่กล่าวมาในบทความ อุทยานแห่งนี้ยังมีสถานที่น่าสนใจ อาทิ น้ำตกแก่งโสภา เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่เกิดจากลำห้วยเข็กใหญ่ไหลผ่านหน้าผาประมาณ 3 ชั้น, ทุ่งโนนสน เป็นทุ่งหญ้าสลับกับป่าสนเขาที่สวยงามมาก โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว ตามบริเวณลานหินจะเต็มไปด้วยดอกไม้เล็กๆ เช่น ดุสิตา สร้อยสุวรรณา กระดุมเงิน,แก่งวังน้ำเย็น เป็นแก่งหินขนาดใหญ่กว้าง 40-50 เมตร ยาวหลายร้อยเมตร ที่นี่มีสัตว์ที่น่าสนใจให้ดูหลายชนิด ผีเสื้อถุงทองป่าสูง ผีเสื้อหนอนคืบสไบแดง หอยตูดตัด และแมงกะพรุนน้ำจืดที่มีไม่กี่แห่งในโลก(แต่จะมีเฉพาะช่วงปลายเดือนก.พ.ถึงต้นเดือนพ.ค.ของทุกปีเท่านั้น)
ผู้สนใจเที่ยวทุ่งแสลงหลวง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง โทร. 0-5526-8019
แม้ฟ้ายามเช้ากลางฤดูฝนจะขมุกขมัวไม่สดใส แต่หากใจเรา‘ใส’ สรรพสิ่งรอบกายไยมิใช่น่าชมขึ้นมาอีกมาโข
ยิ่งได้มาเจอกับธรรมชาติอันพิสุทธิ์ ณ อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง(หน่วยหนองแม่นา) แห่งเทือกเขาเพชรบูรณ์ ที่พื้นที่แห่งนี้ขึ้นชื่อลือชายิ่งนักในเรื่องของ‘ทุ่งหญ้า’ ที่สวยงามคลาสสิค ติดอันดับต้นๆแห่งหนึ่งของเมืองไทย
ในวันที่ผมไปเที่ยวแม้ฟ้าจะหม่นขาว แต่ว่าก็ได้ความเขียวขจีกว้างไกลของทุ่งแสลงหลวงทาแทนที่ เจ้าหน้าที่ที่นั่นบอกกับผมว่า นี่คือภูมิประเทศแบบทุ่งหญ้า‘สะวันนา’ แบบเดียวกับทุ่งหญ้าซาฟารีในแอฟริกา เพียงแต่ว่าต่างกันตรงที่ทุ่งแสลงหลวงไม่มีสัตว์ใหญ่ออกมาเดินอวดโฉมอย่างทุ่งหญ้าซาฟารีเท่านั้น จะมีก็พวกสัตว์เล็กๆน้อยๆ มด แมลง กบ เขียด หากินตามพื้นดินบ้าง
ช่วงหน้าฝนไปถึงต้นหนาวของทุกๆปี ทุ่งแสลงหลวงจะเปล่งพลังความงดงามออกมาอย่างเต็มเปี่ยม ผิดกับช่วงหน้าร้อนที่ต้นหญ้าดูแห้งกรัง เหลืองแล้วไร้ชีวิตชีวา แต่หลังจากฝนแรกโปรยสายลงมาสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นดิน มวลหมู่ต้นหญ้าก็เริ่มผลิใบเขียวอ่อนให้เห็น
แล้วเมื่อฝนสอง ฝนสาม ฝนสี่ ตกตามต่อลงมา มวลหมู่ต้นหญ้าก็จะระบัดเต็มท้องทุ่งเป็นหญ้าอ่อนที่โคแก่ชอบนักชอบหนา แต่ว่าที่นี่ไม่มีโคแก่ให้เห็นมีแต่สัตว์อย่าง พวกเก้ง กวาง อีเห็น ชะมด ที่ยามค่ำคืนต่างก็พากันออกมาแทะเล็มกินต้นหญ้าในท้องทุ่งแถบนี้อยู่ไม่ได้ขาด
จากนั้นเมื่อ ฝนตกจั๊กๆ ฝนตกไม่ลืมหูลืมตา ฝนตกสุยๆยายฉุยเก็บเห็ด ฝนตกไม่ลืมหูลืมตา ฝนตกห่าใหญ่ ฝนตกปรอยๆ ฝนตกแหมะๆ ฝนตกทางนั้นหนาวถึงคนทางนี้ หรือฝนลักษณะไหนก็แล้วแต่ สลับสับเปลี่ยนกันตกต่อๆกันมา ทุ่งหญ้าป่าใหญ่ ต้นไม้ใบหญ้า ณ ทุ่งแสลงหลวง(หรือป่าอื่นๆ) ต่างก็จะพากันเติบโต ผลิดอกออกใบมารับกับสายฝน สายลม แสงแดด ดูเขียวชอุ่มเต็มภูมิประเทศที่มีทั้งที่ราบและเนินขึ้นๆลงๆ มีหนองน้ำเล็กๆแทรกตัวอย่างในความเขียวของทุ่งหญ้าที่มีผืนป่าและขุนเขาตั้งตระหง่านเป็นฉากหลัง
หากใครเคยเห็นทุ่งหญ้าแห่งนี้หลังฝนตกที่หยาดน้ำฟ้ายังเกาะชุ่มอยู่บนยอดหญ้า แล้วโบกระบำไป-มา ตามสายลมที่พัดไหว บัดเดี๋ยวไปซ้าย บัดเดี๋ยวไปขวา ในขณะที่ฟ้าหลังฝน แสงแดดค่อยๆแย้มพรายทอแสงออกมาตัดกับละอองไอฝนที่ยังไม่จางเกิดเป็นรุ้งกินน้ำทอดตัวพาดขวางทุ่งหญ้า ม่วง คราม น้ำ เงิน เขียว เหลือง แสด แดง
นี่ถือเป็นภาพที่ใครเห็น ผมเชื่อว่าเขาก็คงจะจดจำไปอีกนานแสนนาน
นอกจากทุ่งหญ้าสะวันนากว้างไกลแล้ว ยังมีนกหลากหลายชนิดบินโฉบไปมา ในขณะที่บางตัวส่งเสียงร้องดังลั่นทุ่ง ฟังประหนึ่งวงแจ๊ซกลางผืนป่าที่นักดนตรีอิมโพรไวซ์ใส่อารมณ์ดนตรีกันอย่างสุดเหวี่ยง
จากนกบินบนฟ้าหากก้มหามามองตามพื้นดิน บางมุม บางจุด ตามซอกหลืบของกอหญ้าเราจะพบกับดอกกระเจียวขาว ยี่โถปีนัง และดอกไม้อีกหลายชนิดออกดอกให้สีสดใสแฝงอยู่ในกอหญ้าเหล่านั้น เป็นความงามอันซุกซ่อนที่ต้องใช้สายตาสอดส่าย เพ่งพินิจ ดูสักนิด
งานนี้ตาดีได้ ตาร้ายชวด คือคำตอบที่ชัดเจนที่สุด
สำหรับอีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเสน่ห์แห่งท้องทุ่งแห่งนี้ก็เห็นจะเป็นบรรดาผีเสื้อ แมลงปีกสวย ชื่อน่ากลัวแต่ตัวน่าชมที่โฉบบิน ฉวัดเฉวียนไป-มา ในบริเวณนั้น บ้างหยุดเกาะดูดกินเกสรดอกไม้ บ้างโฉบบินไป-มา บนยอดหญ้า บางตัวกระพือปีกสั่นไหวระริก
และนี่นับเป็นเสน่ห์ความงามแห่งทุ่งหญ้าป่าใหญ่ นาม“ทุ่งแสลงหลวง”ที่ยากจะหาป่าใดเสมอเหมือน โดยชื่อของ“ทุ่งแสลงหลวง”นั้น นักวิชาการป่าไม้ส่วนมากสันนิษฐานกันว่ามันมาจากคำว่า “แสลงใจ” ที่เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งตัวผมเองต้องถือว่าค่อนข้างโชคดีไม่น้อยที่มีโอกาสได้ยลต้นเป็นๆของต้นแสลงใจที่ว่ากันว่า น่าจะคือที่มาของชื่ออุทยานแห่งนี้
โดยขณะที่กำลังเดินทางจากทุ่งแสลงหลวงสู่ทุ่งนางพญา ระหว่างนั้นจู่ๆเจ้าหน้าที่อุทยานที่พาผมไปก็จอดรถและ เชิญชวนให้ลงไปชมต้นแสลงใจกันแบบจะจะ เต็ม 2 ลูกกะตา
“แสลงใจถือเป็นไม้ยืนต้น ที่มีลูกสีเหลือง กลมๆ เม็ดของมันสามารถอมแก้ไข้ป่าได้ แต่ว่าห้ามกลืนเม็ดลงไปเด็ดขาดเพราะถ้ากินลงไปจะตายทันทีเพราะมีพิษ”
เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าบอกถึงลักษณะคร่าวๆของต้นไม้ต้นนี้ ที่ชื่อของมันฟังแล้วแสลงใจไม่น้อย ในอดีตต้นไม้ชนิดนี้พบมากในเขตอุทยานฯ แต่ว่าปัจจุบันหาดูยากเต็มที และด้วยความที่ชื่อของมัน หลายคนฟังแล้วอดแสลงใจตามชื่อไม่ได้ ยิ่งหากนำไปตั้งเป็นชื่ออุทยานแห่งชาติก็ยิ่งฟังแสลงใจแสลงหูใหญ่ จึงมีคนปรับเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งนี้ให้เป็น“ทุ่งแสลงหลวง”แทน เนื่องจากว่าฟังเนียนหูกว่า
ส่วนเจ้าต้นแสลงใจนั้นทางอุทยานฯก็พยายามอนุรักษ์ไว้ โดยได้นำกล้าของมันมาปลูกไว้ใกล้ๆกับที่ทำการหน่วยฯหนองแม่นา เพื่อให้คนที่ผ่านไป-มา ได้มีโอกาสเห็นต้นไม้ที่เป็นตำนานแห่งนี้
จากจุดชมต้นแสลงใจหากเดินต่อไปอีกนิดก็จะถึงยังทุ่งนางพญาหรือทุ่งนางพญาเมืองเลน ที่ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของอุทยานแห่งนี้
ทุ่งนางพญา เป็นป่าสนสองใบที่สวยงามและยิ่งใหญ่อีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย มีพื้นที่ประมาณ 16 ตารางกิโลเมตร ที่นอกจากเต็มไปด้วยต้นสนอันสูงตระหง่านที่ขึ้นเรียงรายอย่างเป็นระเบียบแล้ว บริเวณใต้ต้นสนบางช่วงยังมี ต้นหญ้า ดงเฟิร์น ขึ้นเรียงรายเต็มพรึ่ดไปหมด ซึ่งถ้าหากว่าใครเอาแต่มองสน มองสูงอย่างเดียว โดยละเลยการมองต่ำก็จะไม่เห็นความงามของบรรดาต้นเฟิร์นเหล่านี้ โดยเฉพาะยามน้ำค้างบนยอดโค้งงอของใบกระทบกับแสงแดดส่งประกายระยิบระยับนี่ ดงเฟิร์นจะดูสวยงามเป็นอย่างยิ่ง
เรียกได้ว่าองค์ประกอบป่าสนบริเวณทุ่งนางพญานั้น ธรรมชาติได้บรรจงสร้างสรรค์ออกมาอย่างกลมกลืน ลงตัว และนี่ถือเป็นเสน่ห์ พลังของธรรมชาติ แห่งทุ่งแสลงหลวง ที่หากใครได้ไปยลแล้ว จะไม่รู้สึกแสลงใจแต่อย่างใด
*****************************************
อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง มีพื้นที่ครอบคลุมในท้องที่ อ.วังทอง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก และ อ.หล่มสัก อ.เมือง อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 789,000 ไร่ สภาพทั่วไปเป็นภูเขา มีทุ่งหญ้าสะวันนาและป่าสนอยู่หลายจุด มีจุดสูงสุดคือ บริเวณเขาแค สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,028 เมตร
นอกเหนือจากสถานที่ที่กล่าวมาในบทความ อุทยานแห่งนี้ยังมีสถานที่น่าสนใจ อาทิ น้ำตกแก่งโสภา เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่เกิดจากลำห้วยเข็กใหญ่ไหลผ่านหน้าผาประมาณ 3 ชั้น, ทุ่งโนนสน เป็นทุ่งหญ้าสลับกับป่าสนเขาที่สวยงามมาก โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว ตามบริเวณลานหินจะเต็มไปด้วยดอกไม้เล็กๆ เช่น ดุสิตา สร้อยสุวรรณา กระดุมเงิน,แก่งวังน้ำเย็น เป็นแก่งหินขนาดใหญ่กว้าง 40-50 เมตร ยาวหลายร้อยเมตร ที่นี่มีสัตว์ที่น่าสนใจให้ดูหลายชนิด ผีเสื้อถุงทองป่าสูง ผีเสื้อหนอนคืบสไบแดง หอยตูดตัด และแมงกะพรุนน้ำจืดที่มีไม่กี่แห่งในโลก(แต่จะมีเฉพาะช่วงปลายเดือนก.พ.ถึงต้นเดือนพ.ค.ของทุกปีเท่านั้น)
ผู้สนใจเที่ยวทุ่งแสลงหลวง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง โทร. 0-5526-8019