ประเทศไทย เป็นเสมือนหนึ่งในครัวของโลก เพราะเป็นแหล่งอาหารการกินมากมาย และแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่
ไม่เพียงเท่านั้นหากเจาะลึกลงไปในแต่ละจังหวัดแล้วจะพบว่า หลายๆจังหวัดต่างก็มีอาหารที่ขึ้นชื่อลือชา เป็นที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดแตกต่างกันออกไป ทำให้หลายๆจังหวัดจึงได้บรรจุสุดยอดแห่งอาหารไว้ใน“คำขวัญจังหวัด”ที่เป็นดังการการันตีว่า ในเมื่อจังหวัดของเรามีอาหารการกินเลื่องชื่อถึงปานนั้น ก็ต้องบอกกล่าวให้ชาวประชารับรู้กันหน่อย สำหรับอาหารเลื่องชื่อโดดเด่นจนได้รับการบรรจุไว้ในคำขวัญจังหวัดมีที่ไหนว่า ขอเชิญทัศนากันได้
ตรัง : หมูย่างรสเลิศ
ขอเปิดประเดิมกันที่ จังหวัดตรังที่มีคำขวัญจังหวัดว่า “เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพารา เด่นสง่าดอกศรีตรัง ปะการังใต้ทะเล เสน่ห์หาดทรายงาม น้ำตกสวยตระการตา”
ตรังนอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองพระยารัษฎาแล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองหมูย่างอีกด้วย เพราะหมูย่างเมืองตรังถือเป็นของกินเลื่องชื่อ ที่หากว่าใครไปตรังแล้วไม่ได้ลิ้มลองหมูย่างเมืองตรังก็ถือว่าน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง
สลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง ได้เล่าถึงความเป็นมาของหมูย่างเมืองตรังว่า เป็นตำรับเก่าแก่ที่อยู่คู่กับคนตรังมานานกว่า 150 ปี ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์เมื่อเริ่มมีคนจีนอพยพเข้ามาอยู่เมืองไทย
"คนจีนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นจีนกวางตุ้ง ซึ่งชาวกวางตุ้งก็จะมีอาหารที่จะใช้ในช่วงเทศกาลเช่นตรุษจีน สารทจีน เขาก็เอามาเผยแพร่ หมู่คนจีนในเมืองตรังนิยมนำหมูย่างเป็นปกติวิสัยมาช้านานแล้ว”
สำหรับหมูที่ใช้ทำหมูย่างจะใช้หมูพื้นเมืองเรียกกันว่า "หมูขี้พล้า" ตัวไม่ใหญ่มากเลี้ยงกันตามธรรมชาติ หนัง มัน เนื้อ จะพอดีกันทั้งสามอย่าง ก่อนย่างนั้นหมูจะต้องผ่านการหมักเครื่องยาจีน 2 -3ชั่วโมง ผสมด้วยน้ำผึ้ง เหล้าจีนหมักทั้งตัว ย่างจนมั่นใจรสชาติเข้าเนื้อ หนังกรอบ เนื้อแน่น กลายเป็นเมนูอันโดดเด่นประจำจังหวัดที่โด่งดังไปทั่วฟ้าเมืองไทย โดยคนตรังจะนิยมกินหมูย่างกับกาแฟรสเข้มข้นพร้อมด้วยติ่มซำสารพัดอย่าง จนกลายเป็นวัฒนธรรมการกินในมื้อเช้าที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน
นอกจากหมูย่างแล้ว ตรังยังมี“เค้กเมืองตรัง” เป็นอีกหนึ่งของกินขึ้นชื่อ ซึ่งเป็นเค้กที่ไม่มีการใช้ครีมแต่งหน้า แต่ว่าเต็มไปด้วยความนุ่มหอม มัน รสกลมกล่อม และมีหลายรสให้เลือก ที่สำคัญก็คือ“เค้กเมืองตรัง”ของแม้ต้องมีรูตรงกลางนะจะบอกให้
สิงห์บุรี : นามกระฉ่อนปลาแม่ลา
“แม่ลาปลาเผา” ชื่อนี้นอกจากจะโด่งดังไปไกลแล้ว ยังเป็นดังโลโก้ของร้านปลาเผาทั้งหลายว่า ปลาเผารสเด็ดนั้นต้องเป็นปลาแม่ลา ในจังหวัดสิงห์บุรี ที่มีคำขวัญประจำจังหวัดว่า “ถิ่นวีรชนคนกล้า คู่หล้าพระนอน นามกระฉ่อนปลาแม่ลา ย่านการค้าภาค”
อนึ่งคำว่า “ปลาแม่ลา” ไม่ได้หมายถึงพันธุ์ปลา แต่หมายถึงปลาที่อาศัยอยู่ในลำน้ำแม่ลา ลำน้ำธรรมชาติที่สำคัญยิ่งของจังหวัดสิงห์บุรี ลำน้ำแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ของอาหารตามธรรมชาติ เนื่องจากในฤดูน้ำหลากน้ำจะเอ่อล้นท่วมเข้าสู่ทุ่งนาและแหล่งน้ำอื่น
และเมื่อถึงฤดูน้ำลดปลาจะถ่อยร่นกลับมาอาศัยอยู่รวมกันในลำน้ำแม่ลาที่มีห่วงโซ่อาหารอย่างสมบูรณ์ เปรียบเสมือนบ่อเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวทำให้ปลาแต่ละชนิดจะมีรสชาติดีกว่าปลาจากแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะปลาช่อนแม่ลา ซึ่งเป็นเหมือนปลาพระเอกที่ทำรายได้และชื่อเสียงให้กับจังหวัดสิงห์บุรีเป็นอย่างมาก
ปัจจุบันปลาช่อนแม่ลาได้ถูกนำมาแปรรูปเป็นเค้กปลาช่อนซึ่งได้มีการกำจัดกลิ่นคาวออกจากเนื้อปลาเรียบร้อยแล้ว และยังมีผลิตภัณฑ์อีกหลากหลายอาทิ ปลาช่อนทุบ วุ้นเนื้อปลาช่อน สาลี่หน้าปลาช่อน เป็นต้น
สุราษฎร์ธานี : หอยใหญ่ ไข่แดง
หากพูดถึงเมืองหอยใหญ่แล้ว กูรูนักเดินทางคงรู้จักกันดีว่านี่คือจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีคำขวัญประจำจังหวัดที่หลายคนค่อนข้างคุ้นหูว่า “เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะชักพระประเพณี” ซึ่งหากสังเกตดูดีๆจะพบว่าสุราษฎร์นั้นมีอาหารเลื่องชื่อในระดับคำขวัญจังหวัดถึง 2 อย่างด้วยกัน คือ “หอยใหญ่” และ “ไข่แดง”
สำหรับหอยใหญ่นั้น หมายถึง หอยทั้งหลายในทะเลสุราษฎร์ที่มากด้วยแหล่งอาหารของหอยต่างๆ โดยเฉพาะกับหอยนางรมเมืองสุราษฎร์นี่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่นักบริโภคว่า สด ตัวใหญ่ รสหวาน เนื้อในขาว มีคุณค่าทางอาหารสูง
หอยนางรม สุราษฎร์ เริ่มเพาะเลี้ยงประมาณปี 2504 โดยทะเลในอ่าวบ้านดอนเป็นพื้นที่ที่เหมาะในการเลี้ยงหอยมากที่สุดคือเป็นโคลนเลนปนทราย ที่เต็มไปด้วยตะกอนดิน แร่ธาตุ และอาหารของหอยนางรม ทำให้อ่าวบ้านดอนมีสภาพเหมาะต่อการเลี้ยงหอยนางรม รวมไปถึงสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ซึ่ง ปัจจุบัน อ่าวบ้านดอน ยังเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงหอยนางรมที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยอีกด้วย
ส่วนไข่แดง นั้นก็คือ ไข่แดงของไข่เค็มไชยา อ.ไชยา ที่นักบริโภคไข่เค็มรู้จักกันดี เพราะมีขายไปทั่วประเทศไทย โดยในสมัยก่อนชาวบ้าน ต.เสม็ด อ.ไชยา นอกจากจะทำนาเป็นอาชีพหลักแล้ว ยังมีอาชีพรองคือการเลี้ยงเป็ด ซึ่งเลี้ยงไปตามธรรมชาติคือปล่อยให้หากินรอบๆบ้าน
ภายหลังเมื่อมีไข่เป็ดเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านที่นี่จึงคิดวิธีที่จะถนอมอาหารโดยการใช้ดินจอมปลวกผสมกับเกลือและน้ำสะอาด แล้วนำไปคลุกขี้เถ้าแกลบทำให้การถนอมไข่เป็ดไว้ได้นาน และมีรสชาติอร่อยเกิดเป็นไข่เค็มไชยาชื่อก้องฟ้าเมืองไทย ที่ไข่แดงนั้น จะมีรสมัน อร่อย ไม่คาว ส่วนไข่คาวก็ไม่เค็มมาก เหมาะทั้งกินกับข้าวต้มร้อนๆหรือใครทำยำไข่เค็มกินแกล้มกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ให้รสเด็ดไม่แพ้กัน
นอกจากหอยใหญ่ ไข่แดง แล้ว สุราษฎร์ยังมี"เงาะโรงเรียน" รสอร่อย เป็นหนึ่งในผลไม้ชูโรงที่ถือเป็นหนึ่งในคำขวัญจังหวัดเช่นเดียวกัน
สมุทรปราการ : ปลาสลิดแห้งรสดี
สมุทรปราการ หรือเมืองปากน้ำ มีคำขวัญจังหวัดว่า “ป้อมยุทธนาวี พระเจดีย์กลางน้ำ ฟาร์มจระเข้ใหญ่ งามวิไลเมืองโบราณ สงกรานต์พระประแดง ปลาสลิดแห้งรสดี ประเพณีรับบัว ครบถ้วนทั่วอุตสาหกรรม” ซึ่งหากพุ่งเป้าไปยังของกินชื่อดังแห่งเมืองปากน้ำอย่าง ปลาสลิดแห้งรสดีแล้ว ก็คงจะเป็นปลาที่ไหนไปไม่ได้นอกจากปลาสลิดบางบ่อนั่นเอง
อ.ชูศรี สัตยานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรม อ.บางพลี ผู้ทำสารานิพนธ์การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าสู่โรงเรียน กรณีศึกษาจังหวัดสมุทรปราการ เรื่องการเลี้ยงปลาสลิด เล่าว่า
“เหตุที่ปลาสลิดเมืองสมุทรปราการได้รับความนิยมเพราะมีพื้นที่ ดิน และน้ำที่เหมาะสม อ.บาลพลี และ อ.บางบ่อ มีการเลี้ยงปลาสลิดเยอะ เนื่องจากปลาสลิดเป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในน้ำกร่อย ชอบกินใบผักใบหญ้าต่างๆที่ขึ้นอยู่ตามแหล่งน้ำ ปลาสลิดจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า ปลาใบไม้ และด้วยความที่ปลาสลิดมีเยอะจึงทำให้ถูกนำมาแปรรูปเป็นปลาสลิดแห้ง อีกหนึ่งภูมิปัญญาเพื่อเก็บรักษาอาหารของชาวเมืองสมุทรปราการ”
สำหรับปลาสลิดแห้งแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ ปลาสลิดแดดเดียว คือปลาสลิดที่นำไปถอดเกล็ดแล้วแช่น้ำแข็ง จะได้ปลาที่ไม่แห้ง ส่วนอีกแบบหนึ่งได้แก่ ปลาสลิดหอม ซึ่งเป็นปลาแบบโบราณไม่น้ำไปแช่น้ำแข็ง แต่จะถอดเกล็ด หมักเกลือ แล้วนำไปตากแดด 3-4 แดด เพื่อให้เนื้อปลาแห้ง จะได้เนื้อปลาซุยๆ หอม สามารถเก็บไว้กินได้ทั้งปี
“หากจะเลือกปลาสลิดแห้งให้ลองดมดูว่าควรมีกลิ่นหอมเฉพาะของปลาสลิดไม่เหม็นคาว กดแล้วไม่บุ๋มจนเกินไป ท้องไม่บวมมาก ถ้าเป็นตัวเมียจะมีลักษณะตัวแบนๆ ตัวผู้จะมีลักษณะยาวๆ ส่วนมากตัวเมียจะมีรสชาติอร่อยกว่าตัวผู้” อ.ชูศรี แนะ
นครราชสีมา : หมี่โคราช
เมื่อกล่าวถึงเมืองหญิงกล้า หลายๆคนก็คงนึกถึงเมืองย่าโม หรือจังหวัดนครราชสีมา และอาหารที่เป็นเหมือนอาหารหลักของชาวเมืองโคราชก็หนีไม่พ้นผัดหมี่โคราชที่โด่งดัง จนกระทั่งมีคำขวัญว่า “เมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน”
อ.วิลาวัลย์ วัชระเกียรติศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เล่าว่า ผัดหมี่เป็นอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวโคราชมาช้านาน รับประทานกันเสมอในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานบุญหรืองานสมโภชอื่นๆ ด้วยเส้นที่ไม่เหมือนที่อื่นๆทั้งเหนียว นุ่ม และมีลักษณะบาง ด้วยกรรมวิธีการทำด้วยมืออย่างละเอียดพิถีพิถันสูตรเฉพาะของชาวโคราชที่สืบทอดกันมาช้านาน
ผัดหมี่โคราชจะมีลักษณะคล้ายๆกับผัดซีอิ๊วผสมกับผัดไท แต่ที่แตกต่างไม่เหมือนใครก็ตรงที่ผัดหมี่จะผัดจนแห้งไม่มีน้ำมันเยิ้ม ผัดหมี่แบบโบราณจะใส่เพียงแค่เครื่องปรุงอาทิ น้ำตาลปี๊บ น้ำปลา พริก มะขามเปียก ส่วนผักก็จะใส่ต้นหอม กุยช่าย ถั่วงอก ผัดกับเส้นหมี่เท่านั้น แต่ปัจจุบันได้มีการประยุกต์โดยใส่หมู ไก่ ไข่ ผักคะน้า ให้มีความน่ารับประทานมากขึ้น หากใครได้มีโอกาสมาเยือนก็ต้องไม่พลาดที่จะลิ้มลอง
สมุทรสงคราม : เมืองหอยหลอด
สมุทรสงคราม หรือเมืองแม่กลอง จังหวัดเล็กใกล้ๆเมืองกรุง ที่มีอาหารจานอร่อยอย่างหอยหลอดให้ได้ลิ้มลองกันทั่วไปทั้งหอยหลอดสดและแห้ง โดยแหล่งหอยหลอดขึ้นชื่อแห่งเมืองแม่กลองก็คือที่ “ดอนหอยหลอด” ที่ไม่เพียงมีหอยหลอดมากมายให้ชาวบ้านจับขายเท่านั้น แต่ที่นี่ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตแห่งเมืองแม่กลอง ที่มีทิวทัศน์น่ายลและเต็มไปด้วยร้านขายอาหารทะเลมากมาย ที่มีอย่างหอยหลอดผัดฉ่าเป็นเมนูชูโรง
สำหรับลักษณะของหอยหลอดนั้นจะไม่เหมือนหอยทั่วๆไป แต่จะมีรูปร่างเป็นทรงกระบอกคล้ายหลอดตามชื่อของมัน หอยหลอดเป็นหอยสองฝาประกอบด้วยเปลือกที่ห่อหุ้มลำตัว เป็นรูปทรงกระบอกสีขาวอมเหลือง หรือสีเหลืองอ่อน ฝังตัวอยู่ในเลนลึกจากผิวดินประมาณ 1-2 นิ้ว ปกติหอยจะขึ้นมาอยู่บนผิวหน้าของดิน โดยยื่นลำตัวเหนือผิวดิน ประมาณ 1/3 ของลำตัวหอยหรืออาจจะอยู่บริเวณผิวดิน
การจับหอยหลอดจะจับในช่วงน้ำลง โดยใช้ไม้เล็ก ๆ ขนาดก้านธูป จุ่มปูนขาว แล้วแทงลงไปในรูหอยหลอด หอยจะเมาปูนแล้วโผล่ขึ้นมาให้จับ ที่สำคัญไม่ควรสาดปูน ขาวลงบนสันดอน เพราะจะทำให้หอยที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นตายหมด ช่วงเวลาที่มีหอยหลอดมาก คือ ประมาณเดือน มีนาคม - พฤษภาคม ของทุกปี ร้านค้าที่นี่มักนิยมนำมาย่างขายเสียบไม้ ให้นักท่องเที่ยวได้ทานกัน หรือจะนำมาผัดประกอบอาหารก็อร่อยไม่แพ้กัน ดังคำขวัญของจังหวัดสมุทรสงครามที่ว่า “เมืองหอยหลอด ยอดลิ้นจี่ มีอุทยาน ร.2 แม่กลองไหลผ่าน นมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม”
นอกจากหอยหลอดแล้ว เมืองแม่กลองยังมีปลาทูเป็นอีกหนึ่งของกินเลื่องชื่อ ส่วนถ้าเป็นผลไม้ก็ต้องลิ้นจี่พันธุ์ค่อมที่ถือเป็นสุดยอดลิ้นจี่ รสหวาน เนื้อแน่น และส้มโอแม่กลองที่รสชาติยอดเยี่ยมยิ่งนัก
อุทัยธานี : ปลาแรดรสดี
เมื่อพูดถึงจังหวัดอุทัยธานี ก็พลาดไม่ได้ที่จะมาชิมเนื้อปลาที่มีรสเลิศอย่างปลาแรดรสดี ดังคำขวัญที่ว่า “อุทัยธานี เมืองพระชนกจักรี ปลาแรดรสดี ประเพณีเทโว ส้มโอบ้านน้ำตก มรดกโลกห้วยขาแข้ง”
สำหรับปลาแรดอุทัยนั้นจะมีเนื้อแน่น หวานนุ่ม ไร้คาว จะทอดกรอบ ราดพริก ทอดกระเทียม นึ่งมะนาว ผัดเปรี้ยวหวาน ปลาแรดสมุนไพร ปลาแรดฟู หรือปลาแรดลวกจิ้ม ก็สุดยอดทั้งนั้น ที่สำคัญไม่มีกลิ่นโคลนเหมือนปลาที่เลี้ยงในบ่อดิน เพราะปลาแรดอุทัยนั้นเลี้ยงในกระชังใน“แม่น้ำสะแกกรัง”ที่เป็นดังเส้นเลือดสำคัญของชาวอุทัย นอกจากปลาแรดแล้ว อุทัยยังมีขนมปังไส้สังขยาลูกกลมๆเป็นอีกหนึ่งของอร่อยที่น่าลิ้มลองเป็นอย่างยิ่ง
นครสวรรค์ : ปลารสเด็ดที่ปากน้ำโพ
จังหวัดนครสวรรค์ หรือเมืองปากน้ำโพ ในอดีตถือว่าเป็นชุมทางคมนาคมขนส่งทางน้ำที่สำคัญ เป็นศูนย์กลางการค้า เนื่องจากเป็นที่รวมของแม่น้ำสำคัญ 4 สาย คือ ปิง วัง ยม น่าน และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ และเป็นแหล่งปลาน้ำจืดหลากหลายพันธุ์ อีกทั้งที่นี่ยังมีบึงบอระเพ็ด บึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่มีปลาอาศัยอยู่มากมาย(แต่ว่าชาวบ้านจะจับปลาได้เฉพาะเพียงบางพื้นที่เท่านั้น เนื่องจากเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า)
ทั้งนี้จากลักษณะภูมิประเทศดังกล่าวทำให้ที่นี่เป็นแหล่งอาหารปลารสอร่อย หรือปลารสเด็ดปากน้ำโพ จนกลายเป็น คำขวัญของจังหวัดที่ว่า “ เมืองสี่แคว แห่มังกร พักผ่อนบึงบอระเพ็ด ปลารสเด็ดปากน้ำโพ”
สำหรับอาหารปลาที่ได้รับการคัดเลือกขึ้นทำเนียบอาหารปลารสเด็ดปากน้ำโพ จะเป็นอาหารที่ทำจากปลาแม่น้ำทั้งหลายชนิด อาทิ ปลาเนื้ออ่อน ปลาตะโกก ปลาตะเพียน ปลาช่อน ปลาแรด ปลากระทิง ปลาบู่ ปลาม้า ปลาสลิด และปลากรายที่นี่ถือว่าโด่งดังมากๆ เนื่องจากเป็นที่มาของลูกชิ้นปลากรายลูกเล็กๆของปากน้ำโพ ที่เนื้อแน่น เคี้ยวหนึบ จะกินเล่น ใส่ก๋วยเตี๋ยว ทอด หรือยำกินก็อร่อยด้วยประการทั้งปวง
ส่วนใครที่ชอบกินขนม “โมจิ”ขนมลูกกลมๆ ถือเป็นอีกหนึ่งของกินและของฝากอันโด่งดังประจำเมืองปากน้ำโพที่รสชาติยอดเยี่ยมยิ่งนัก
ปัตตานี : หอยแครงสด
ปัตตานีจังหวัดทางภาคใต้ที่มีน้ำตกมาก ทะเลสวย แล้วยังมีของกินรสเด็ดอย่าง น้ำบูดู ลูกหยี และที่เด่นๆมากๆก็คือหอยแครงขาวๆสดๆ ดังคำขวัญที่ว่า “บูดูสะอาด หาดทรายสวย รวยน้ำตก นกเขาดี ลูกหยีอร่อย หอยแครงสด”
ที่บอกว่าหอยแครงของที่ปัตตานีเป็นหอยขึ้นชื่อ เพราะหอยแครงที่นี่ไม่เหมือนที่อื่นตรงที่ว่าหอยแครงที่นี่จะอยู่บริเวณน้ำตื้นและน้ำแห้งเสมอฝาทำให้หอยแครงที่นี่เป็นสีขาว ไม่เป็นสีน้ำตาลอมดำเหมือนที่อื่นๆ ลักษณะของหอยแครงเป็นหอย 2 ฝา ค่อนข้างกลม เปลือกหนา ด้านนอกของเปลือกเป็นสันโค้งด้านละ 20 สัน และหอยแครงที่นี่ก็มีขนาดใหญ่ และที่พบก็มีขนาดใหญ่ประมาณ 6-7 เซนติเมตร
หอยแครงที่นี่สามารถนำไปทำประโยชน์ได้หลายอย่าง เนื้อที่ใช้สำหรับรับประทาน เมื่อนำมาประกอบอาหารสดๆจะมีรสชาติหวาน ถ้ามีขนาดใหญ่ก็จะอร่อยเต็มปากเต็มคำ ส่วนเปลือกใช้ทำเครื่องประดับ ของชำร่วย หรือบดผสมลงในอาหารไก่ก็ได้เช่นกัน แต่น่าเสียดายที่เหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้คนส่วนใหญ่อดรับรู้ในรสชาติของหอยแครงขาวๆสดๆ รสเป็นเลิศของเมืองแห่งนี้ไป
อุบลราชธานี : ปลาแซบหลาย
อุบลราชธานี เมืองนี้มีคำขวัญประจำจังหวัดว่า “เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน ถิ่นไทยนักปราชญ์”
อุบล เมืองๆนี้นอกจากจะมีงานประเพณีแห่เทียนพรรษาชื่อก้องแล้ว ยังถือเป็นแหล่งรวมปลารสแซ่บมากมายตามที่ปรากฏในคำขวัญ โดยเฉพาะปลาจากแม่น้ำโขงที่มีเจ้าแห่งปลาอย่างปลาบึกเป็นตัวชูโรง
นอกจากนี้อุบลยังมีอาหารอีสานรสแซ่บหลากหลายให้เลือกกิน เท่านั้นยังไม่พออุบลยังมีของกินของฝากระดับประเทศอย่าง“หมูยอ”รสอร่อย และ“แหนมเนือง”รสเยี่ยม ให้เลือกกินเลือกซื้อกัน
ส่วนที่หลายๆคนไม่ค่อยรู้จัก แต่ว่าถือเป็นอาหารเอกลักษณ์ของเมืองนี้ก็คือ“เค็มหมากนัด”หรือ“เค็มบักนัด” ซึ่งเป็นอาหารชนิดหนึ่งทำมาจากเนื้อปลาสวายหรือปลาเทโพ หั่นเป็นชิ้นยาวๆ ดองในน้ำเกลือและสับปะรดที่ซอยเป็นชิ้นเล็กๆ บรรจุในขวด ที่ถือเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่งสามารถเก็บไว้ได้นาน
เมื่อจะทานก็ค่อยแบ่งออกมา ปรุงเป็นอาหาร เค็มหมากนัดมีรสอร่อยของเนื้อปลาหมักที่ออกเค็มนิดๆ สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลากลายเช่น อาหารประเภทหลน จิ้มกับผัก ได้ทั้งคุณค่าของอาหารและรสชาติที่อร่อย หลนที่ทำมาจากเค็มหมากนัดของที่นี่สามารถนำมาปรุงเป็นหลนได้อร่อยเพราะ รสชาติไม่เหมือนใครและเนื้อของปลาสวายจะเป็นมันมีหนังหนาและเหนียว เมื่อนำมาทำหลนจะได้รสชาติของเนื้อปลามากขึ้น
ปราจีนบุรี : ไผ่ตงหวานคู่เมือง
“ศรีมหาโพธิ์คู่บ้าน ไผ่ตงหวานคู่เมือง ผลไม้ลือเลื่อง เขตเมืองทวาราวดี” เป็นคำขวัญของจังหวัดปราจีนบุรี ที่ดูจากชื่อคำขวัญแล้ว อาหารขึ้นชื่อของจังหวัดนี้ก็คงหนีไม่พ้น"ไผ่ตง"อันขึ้นชื่อ ซึ่งปราจีนบุรีถือเป็นจังหวัดที่มีความเหมาะสมในการปลูกไผ่ตงมาก
ไผ่ตงให้ประโยชน์ทั้งในแง่ของอาหารโดยไผ่ตงที่นิยมปลูกมี 2 พันธุ์ คือไผ่ตงดำ หรือจะเรียกว่าตงจีนหรือตงหวานก็ได้เช่นกัน ไผ่ตงพันธุ์นี้ให้หน่อที่มีขนาดปานกลางน้ำหนักประมาณ 3-6 กก. มีรสหวาน กรอบ เนื้อเป็นสีขาวละเอียดและไม่มีเสี้ยน จึงเป็นพันธ์ที่นิยมปลูกเพื่อผลิตหน่อไม้กันมาก
ส่วนอีกพันธุ์คือ ไผ่ตงเขียว มีขนาดเล็กกว่าไผ่ตงดำ หน่อน้ำหนักประมาณ 1-4 กก. ให้รสหวานอมขมเล็กน้อย เนื้อเป็นสีขาวอมเหลือง ส่วนการตัดหน่อควรทำตอนเช้ามืด เพื่อจะได้หน่อไม้ที่สดส่งขาย เพราะหากตัดไว้นานจะทำให้ความหวานลดลง
และจากรสชาติและคุณสมบัติเฉพาะด้านของไผ่ตงทำให้ผู้บริโภคนิยมนำมาประกอบอาหารได้อย่างหลากหลายอาทิ แกงจืดหน่อไม้กระดูกหมู แกงคั่วหน่อไม้ดองกับปูทะเล แกงหน่อไม้ส้ม แกงเห็ดกับหน่อไม้ ยำหน่อไม้ หน่อไม้ผัดไข่ เป็นต้น จนทำให้ไผ่ตงกลายมาเป็นอาหารขึ้นชื่อของจังหวัดปราจีนบุรีไปอย่างไม่มีข้อกังขา
........................
จะเห็นได้ว่าด้วยภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ทำให้แต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด เต็มไปด้วยอาหารการกินอันแตกต่างมากมาย โดยอาหารแต่ละอย่างที่ขึ้นชื่อเป็นอาหารประจำจังหวัดนั้น ไม่ได้ได้มาเพราะโชคช่วย หากแต่เกิดจากความอุดสมบูรณ์ของทรัพยากรในท้องถิ่น วัฒนธรรมการกิน และการคิดค้น บ่มเพาะ เกิดเป็นสุดยอดอาหารประจำจังหวัดมาเป็นเวลาช้านาน
หมายเหตุ : บทความนี้มุ่งเน้นเฉพาะอาหารการกินที่มีบรรจุอยู่ในคำขวัญจังหวัด โดยไม่ได้เน้นที่ผลไม้ประจำคำขวัญจังหวัดแต่อย่างใด