xs
xsm
sm
md
lg

วีถีคนชุ่มน้ำแห่ง "ลุ่มน้ำสงคราม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลุ่มน้ำสงครามตอนล่างลมหายใจของชาวบ้าน
เศรษฐกิจพอเพียง คือ ปรัชญาที่ชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ รวมถึงระดับรัฐบาลในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ทรงมีพระราชดำรัส แก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เมื่อภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 พระองค์ก็ได้ทรงเน้นย้ำเพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสยุคแห่งความผันผวนของโลก

บ่อยครั้งเราจะเห็นหน่วยงานหลายภาคส่วน ทั้งของภาครัฐและเอกชน ออกมาจัดตั้งหรือชี้แนวทางโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลัก เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักที่จะเรียนรู้ และสามารถพึ่งพาช่วยเหลือตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีโครงการมากมายหลากหลายโครงการเกิดขึ้น
ควายกินหญ้าในบริเวณป่าบุ่ม ป่าทามเมื่อฤดูน้ำหลาก
รู้จักโครงการอนุรักษ์ในลุ่มน้ำสงคราม

“โครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำโขงในพื้นที่ลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง” ก็จัดเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อชีวิตที่ดีกว่าโดยยึดตามหลักเศรษกิจพอเพียงเป็นพื้นที่พัฒนาในชนบทลุ่มน้ำโขง โดยโครงการนี้เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของ 4 ประเทศ ในเขตลุ่มน้ำโขงตอนล่าง อันประกอบด้วย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศไทย
โดยมีโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN)และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เป็นองค์กรบริหารโครงการร่วมกัน โดยอาศัยความร่วมมือขององค์กรที่เกี่ยงข้องต่างๆร่วมด้วยช่วยกันดูแลอีกที

สำหรับโครงการนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อ สร้างความตระหนักด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำโขง และสร้างเสริมประสิทธิภาพขององค์กรและชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อการพัฒนาวิถีการดำเนินชีวิตและจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างรอบคอบและให้ชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของรู้จักใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างชาญฉลาด

เดิมทีโครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการตามที่ได้วางแผนไว้เป็นเวลา 5 ปี คือระหว่างปี พ.ศ.2547-2552 แต่เมื่อดำเนินการมาถึง ปี พ.ศ.2549 โครงการฯได้รับสัญญาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านเงินทุนที่ไม่สามารถให้การสนับสนุนโครงการได้อีกต่อไป จึงทำให้การดำเนินงานโครงการฯในส่วนที่เป็นความร่วมมือระดับภูมิภาคต้องสิ้นสุดลงทันทีในเดือนธันวาคม พ.ศ.2549

อย่างไรก็ดีสำหรับการดำเนินการในประเทศไทย โครงการได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ให้ดำเนินงานต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน พ.ศ.2550 โดยยังคงให้ความสนับสนุนการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนใน "พื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง"ต่อไป

และเนื่องจากแม่น้ำสงครามเป็นลำน้ำสาขาสายหลักของแม่น้ำโขง มีต้นกำเนิดอยู่ในจังหวัดอุดรธานี ไหลผ่านจังหวัดหนองคาย สกลนคร และนครพนม มีความยาวลำน้ำทั้งสิ้น ประมาณ 420 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญ ที่มีบทบาทในการอนุรักษ์และพึ่งพาอาศัยใช้ประโยชน์ทรัพยากรพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

อะไร คือ พื้นที่ชุ่มน้ำ

หลายๆคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า "พื้นที่ชุ่มน้ำ" สักเท่าไหร่ พื้นที่ชุ่มน้ำ หมายถึง ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ลุ่มชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นเขตเชื่อมต่อระหว่างระบบนิเวศบนบกกับระบบนิเวศพื้นน้ำ ซึ่งมีผลให้เกิดระบบนิเวศเฉพาะตัวที่แตกต่างระบบนิเวศทั้งสองอย่างเห็นได้ชัดเจน หากจะกล่าวว่าพื้นที่ชุ่มน้ำก็คือ "เขตเชื่อมต่อพืชพรรณ" ก็คงไม่ผิดนัก

สำหรับประโยชน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำ คือ เป็นบริเวณที่มีการเพิ่มขยายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตพื้นถิ่นมากที่สุด เป็นถิ่นอาศัยของสิ่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นแหล่งน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ที่คน พืช และสัตว์ เข้าไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรงหรือนำมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ เช่น การอุปโภคบริโภค การเกษตร การเลี้ยงสัตว์ อุตสาหกรรม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นันทนาการ ฯลฯ

นอกจากนั้น พื้นที่ชุ่มน้ำ ยังช่วยรักษาสมดุลของระดับน้ำใต้ดิน โดยน้ำภายในพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นน้ำผิวดินจะค่อยๆ ไหลถ่ายเทลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน กลายเป็นน้ำใต้ดินที่ใสสะอาด หากจัดการควบคุมอัตราการนำน้ำขึ้นมาใช้ให้เหมาะสมและดูแลรักษาคุณภาพน้ำให้ดี จะสามารถนำกลับขึ้นมาใช้ได้อย่างยั่งยืน ในทางกลับกัน น้ำในชั้นน้ำใต้ดินก็อาจไหลกลับขึ้นมาเป็นน้ำผิวดินอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นแหล่งน้ำใช้ของชุมชนได้

และด้วยการเล็งเห็นถึงประโยชน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้ทางโครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำน้ำโขงจึงได้มุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ชุมชนให้สามารถอยู่ร่วมกับพื้นที่ชุ่มน้ำได้อย่างมีความสุข

รศ.ประภาศรี ศิริจรรยา นักวิชาการด้านนิเวศวิทยาอาวุโส กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ความหมายต่อชีวิต อนาคต” ในงานการประชุมเผยแพร่ผลการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำโขง ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2550ที่ผ่านมา ที่จังหวัดนครพนม ไว้ว่า

กรุงเทพฯเองครั้งหนึ่งก็เคยได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ราบลุ่มชุ่มน้ำที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่น่าเสียดายที่ตอนนี้เราได้เสียกรุงเทพฯไปแล้ว คนส่วนใหญ่ละเลยเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างควายสัตว์มากประโยชน์ของมนุษย์ จะมีสักกี่คนที่รู้ว่ารอยเท้าควายช่วยในเรื่องการดูดซึมสู่ผิวดิน

ความโดดเด่นของพื้นที่ลุ่มน้ำสงครามตอนล่างนี้ แม้แต่คนท้องถิ่นก็อาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า ที่นี้คือแหล่งที่มี “ป่าบุ่ง ป่าทาม” ที่สามารถกล่าวได้ว่าใหญ่ที่สุดในโลก ณ เวลานี้ ชาวบ้านที่นี้จึงเป็นสังคมพืชคือมีความเกี่ยวพันกันมาช้านาน

“ บุ่ง เป็นคำพื้นถิ่นอีสานหมายถึง บึง หรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำขังตลอดปี ส่วน ทาม หมายถึงพื้นที่ริมฝั่งลำน้ำซึ่งมีน้ำท่วมถึงเป็นครั้งคราว ป่าทาม จึงหมายถึง ป่าริมแม่น้ำที่มีน้ำท่วมถึงในฤดูฝน และน้ำแห้งขอดลงในฤดูแล้ง ซึ่งพบในบริเวณแม่น้ำมูลและแม่น้ำสงครามในแอ่งสกลนคร โดยช่วงฤดูแล้งป่าชนิดนี้จะมีนิเวศเป็นป่าบกแล้ง

แต่เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ป่าบุ่ง ป่าทาม จะถูกน้ำท่วมขัง นานหลายเดือน บ่อยครั้งที่ดิฉันได้ยินว่ารัฐมักประกาศให้พื้นที่แทบลุ่มน้ำสงครามเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย ทั้งที่ในความเป็นแล้วไม่ใช่ เพราะถ้าเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยก็คงเป็นทุกปี แสดงให้เห็นว่ายังขาดความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่แท้จริง ในข้อที่ว่าน้ำท่วมทุกปีเป็นเวลา 3 – 6 เดือนนั้น แท้จริงแล้วมันก็คือธรรมชาติของพื้นที่นั้นเอง แต่เราก็เข้าใจรัฐเพราะถ้าไม่ทำแบบนั้นเขาก็จะไม่ได้งบมาช่วยเหลือชาวบ้านด้านอื่นๆ ซึ่งจุดนี้ก็จัดเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งระหว่างภาครัฐและชาวบ้าน”รศ.ประภาศรี กล่าว

ซึ่งสอดคล้อยกับความคิดเห็นของอาจารย์ สพสันต์ เพชรคำ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ที่กล่าวว่า ลักษณะภูมิสัณฐานของลุ่มน้ำสงครามตอนล่างคล้ายแอ่งกระทะ "น้ำท่วม"จึงถือเป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติที่เกิดเป็นประจำซึ่งเรื่องนี้ข้าราชการในพื้นที่มีความรูเความเข้าใจดีเพียงแต่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่และนโยบายของหน่วยงานที่ตนสังกัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“เมื่อน้ำท่วมชาวบ้านเขาจะรู้เวลา เขาจะปรับตัวกันได้ อย่างการทำนาจะเปลี่ยนจากนาปีมาเป็นนาเสี่ยง คือ ลดขั้นตอนการทำนาจากแบบปักดำ มาเป็นนาหว่าน รวมทั้งการหันมาทำนาปรังในช่วงฤดูแล้งมากขึ้น”อ.สพสันต์กล่าว

และจากงานวิจัย "ไทบ้าน" ซึ่งเป็นหนึ่งในงานของโครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำโขง ระบุว่าพื้นที่ลุ่มน้ำสงครามกำลังประสบสภาพปัญหาและการคุกคามอยู่หลายสิ่ง ซึ่งสาเหตุหลักๆก็มาจากการขาดความรู้ความเข้าใจต่อชุมชนจนกลายเป็นปัญหา

ภัยคุกคามหลักต่อความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง คือ สภาพน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุ่มน้ำในที่ราบน้ำท่วมถึงในพื้นที่ลุ่มน้ำสงคราม เป็นสภาพตามวัฏจักรของธรรมชาติ เอื้ออำนวยต่อระบบนิเวศของสัตว์น้ำ แต่กลับถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามเป็นปัญหาน้ำท่วมขังถาวร โดยมีการเสนอโครงการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสงครามเพื่อควบคุมภาวะน้ำท่วมและเพื่อการชลประทาน โดยให้เขื่อนตั้งอยู่เหนือที่บรรจบกับแม่น้ำโขงไปทางต้นน้ำเป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบให้พื้นที่โครงการสาธิตประมาณ 87,500 ไร่มีน้ำท่วมขังถาวร

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบควบคุมน้ำที่มีการก่อสร้างเขื่อนขนาดเล็กหรือทำนบกำแพงกั้นน้ำ เขื่อนขนาดเล็ก ทำนบ และอ่างเก็บน้ำที่ก่อสร้างขึ้นจำนวนมากมายในลำน้ำสาขาของแม่น้ำสงครามเพื่อสนับสนุนระบบชลประทานนั้น ทำให้สภาพทางอุทกวิทยาทางธรรมชาติของลุ่มน้ำนี้ถูกปรับเปลี่ยนไป และกลายเป็นสิ่งกีดขวางเส้นทางย้ายถิ่นของฝูงปลาจากแม่น้ำโขงสู่แม่น้ำสงครามและจากแม่น้ำสงครามสู่แม่น้ำโขง

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ยั่งยืน การทำสวนยูคาลิปตัสขนาดใหญ่และการเลี้ยงฝูงวัวในทุ่งหญ้าในป่าที่น้ำท่วมขัง ทำให้โครงสร้างของแหล่งที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชุ่มน้ำถูกทำลาย ปัจจุบันการหักร้างถางป่าที่มีน้ำท่วมขังยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำที่ดินมาใช้ทำการเกษตรแบบเร่งรัดที่ทำกันอย่างกว้างขวาง การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ป่าจะทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำมีคุณค่าลดน้อยลงเป็นลำดับ

การจับปลาอย่างไม่ถูกต้องทำให้ปริมาณปลาลดลง และความหลากหลายทางชีวภาพที่เกี่ยวเนื่องกับพันธุ์ปลาเสื่อมโทรมลง การจับปลามากเกินควรและวิธีการจับปลาแบบทำลายล้าง เป็นภัยคุมคามอย่างใหญ่หลวงต่อปลาหลากหลายชนิดพันธุ์ในลุ่มน้ำสงครามและลุ่มน้ำโขง

วิธีการจับปลาที่ใช้เครื่องมือทันสมัยมากขึ้น และการให้ "สัมปทานการจับปลา"ที่อนุญาตให้ใช้ตาข่ายรูถี่ขวางทั้งลำธารเป็นวิธีจับปลาที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไปและทำกันอย่างกว้างขาวงขึ้น ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ระหว่างชาวประมงรายย่อยและรายใหญ่อยู่ในขณะนี้ ซึ่งปัญหาข้างต้นที่กล่าวมายังไม่สามารถหาข้อยุติได้

แม้ระยะเวลาการดำเนินงานของโครงการฯจะมีการส่งเสริมความเข้าใจต่อชาวบ้านเป็นเวลากว่า3 ปีแต่เมื่อโครงการสิ้นสุดลงภาระหน้าที่ในการพัฒนาตลอดจนแก้ปัญหาต่างๆก็คงต้องยกให้เป็นหน้าที่ของชาวบ้านและชุมชนเป็นผู้ดูแลเอง

เดินหน้า...สู่อนาคต

บุญมี สิงห์งอย ผู้ใหญ่บ้านดอนแดง ตำบลท่าบ่อสงคราม อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ในฐานะนักวิจัยท้องถิ่นและตัวแทนชาวบ้านที่ได้เข้าร่วมกับโครงการฯ กล่าวว่า แม้โครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำโขง จะสิ้นสุดลงแล้วแต่กิจกรรมการดำเนินงานที่ผ่านมา ก็เป็นส่วนผลักดันอันเป็นบ่อเกิดของวิถีชีวิตและการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือชาวบ้านสามารถยืนหยัดด้วยตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น

อย่างไรก็ตามแม้จะเกิดปัญหามากมาย แต่ด้วยความร่วมแรงร่วมใจกันของชาวบ้าน ที่ให้ความร่วมมือกับโครงการดังกล่าวเป็นอย่างดี ก็ส่งผลให้เกิดการวางรากฐานที่ดีในพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำโขงได้เป็นรูปธรรมขึ้น ชาวบ้านรู้จักหวงแหนและขณะเดียวกันก็รู้จักใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่นรู้จักอนุรักษ์ป่าบุ่ง ป่าทาม การป้องกันกำจัดมลภาวะ ขยะ น้ำเสีย การปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

“โครงการนี้ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราดีขึ้น หนุ่มสาววัยทำงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญของหมู่บ้านไม่ต้องออกไปตระเวนหางานต่างถิ่นไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯแต่รู้จักทำมาหากินในบ้านเกิดของตนเอง แม้ตอนนี้เราจะไม่มีโครงการนี้อยู่ช่วยเหลือแต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผมเชื่อมั่นว่าชุมชนของเราเข้มแข็งพอที่จะสามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ถึงโครงการจะสิ้นสุดแต่การพัฒนาโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงดังที่โครงการได้ให้ความรู้แก่เรามาจะยังขับเคลื่อนต่อไป”บุญมีกล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น