xs
xsm
sm
md
lg

สุนทรภู่ กวีครู ผู้มากเมา (จบ) ตอน : เมารัก เมาอักษร

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี

      ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน

          (นิราศภูเขาทอง)

เป็นที่รู้กันดีในหมู่คนติดตามเรื่องราวของ“สุนทรภู่”ยอดกวีเอกแห่งสยามว่า ท่านเป็นนักดื่ม(เหล้า)ตัวฉกาจชนิดหาตัวจับยาก(เรื่องราวการเมาเหล้าของท่าน ผมได้กล่าวถึงไว้ในตอนที่แล้ว) ทว่าต่อให้เมาเหล้าหนักขนาดไหน ท่านว่ามันก็ยังสู้อาการ “เมารัก” ไม่ได้

เมารัก...

ว่ากันว่าตอนที่สุนทรภู่เริ่มเข้าสู่วัยกำดัดไปจนถึงวัยกลางคน คงจะหน้าตาดี แต่นั่นก็คงไม่เท่ากับความสามารถทางคารมเจ้าบทเจ้ากลอนของท่าน ฉะนั้นเมื่อคารมเป็นต่อ รูปหล่อไม่เป็นรอง ชั่วชีวิตของสุนทรภู่โดยเฉพาะในวัยหนุ่มจึงมีสาวๆเข้ามาพัวพันอยู่ไม่ได้ขาด โดย อ.เปลื้อง ณ นคร เชื่อว่า สุนทรภู่น่าจะสัมผัสกับบทรักครั้งแรกหรือที่เรียกภาษาชาวบ้านว่า“ขึ้นครู”ก็ในช่วงอายุราวๆ 15-17 ปีนี่แหละ เพราะท่านได้เล่าประสบการณ์เปิดซิงครั้งแรกเอาไว้ในนิราศสุพรรณว่า

       วัดปะขาว คราวรุ่นรู้      เรียนเขียน
ทำสูตรสอนเสมียน              สมุดน้อย
เดินระวาง ระวังเวียน            หว่างวัด ปะขาวเอย
เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย           สวาทห้างกลางสวน


ถ้าเป็นจริงดังที่ อ.เปลื้องเชื่อ บทรักครั้งแรก ณ “ห้างกลางสวน”ของสุนทรภู่ก็ดูจะน่าตื่นเต้นไม่น้อยทีเดียว แต่จะว่าไปเรื่องในทำนองสวาท สังวาส ของสุนทรภู่ก็มีปรากฏผ่านงานกวีของท่านอยู่บ่อยครั้ง อาทิ ในนิราศพระประธมที่ว่า

        วัดชะลอใครหนอชะลอฉลาด
เอาอาวาสมาไว้อาศัยสงฆ์
ช่วยชะลอวรลักษณ์ที่รักทรง
ให้มาลงเรือร่วมรวมที่นอน
        ถนอมแนบแอบอุ้มประทุมน้อย
แขนจะคอยเคียงข้างไว้ต่างหมอน
เมื่อปลื้มใจไสยาอนาทร
จะกล่าวกลอนกล่อมขนิษฐ์ให้นิทรา


จากบทรักในเรือ สลับฉากไปดูบทรักในถ้ำ จากนิราศเมืองเพชรกันบ้าง

        แล้วเดินดูภูผาศิลาเลื่อม
บ้างงอกเงื้อมเงาสลับระยับสี
เป็นห้องน้อยรอยหนังสือลายมือมี
คิดถึงปีเมื่อเป็นบ้าเคยมานอน
        ชมลูกจันกลั่นกลิ่นระรินรื่น
จนเที่ยงคืนแขนซ้ายกลายเป็นหมอน
เห็นห้องหินศิลาน่าอาวรณ์
เคยกล่าวกลอนกล่อมช้าโอ้ชาตรี


แม้สุนทรภู่จะมากรักมากรส แต่หากพูดถึงหญิงอันเป็นที่รัก ที่ทำให้ท่านพบรักครั้งแรกอย่างจริงจังและลึกซึ้งถึงขนาดตกร่องปล่องชิ้นอยู่กินกันฉันท์สามี-ภรรยา ก็คือ“แม่จัน” สาวงามแห่งย่านวังหลัง ที่เป็นคนมีอารมณ์อ่อนไหว แสนงอน และขี้หึงอย่างร้ายกาจ เรียกว่าเหมาะกันดีกับสุนทรภู่ที่เป็นคนปล่อยเนื้อปล่อยตัว เที่ยวเตร่ดึกดื่น ร่ำสุราอยู่เป็นนิจ จนท้ายที่สุด ไม่รู้ว่าใครหมดความอดทนก่อนกัน แม่จันกับสุนทรภู่ก็จำต้องแยกทางกันไป โดยทิ้งลูกชายนายพัดไว้ให้ดูต่างหน้า

แต่ก็ดูเหมือนว่าสุนทรภู่ยังอาลัยอาวรณ์แม่จันอยู่ไม่น้อย ท่านจึงมักรำลึกถึงแม่จันผ่านบทกวีอยู่บ่อยครั้ง ดังที่กล่าวไว้ในนิราศสุพรรณว่า

       จันต้นผลห่ามให้      หวนหอม
แมลงภู่วู่เวียนตอม           ไต่เคล้า
เพียงพี่ที่สุดถนอม            เสน่ห์แจ่ม จันเอย
พร้องชื่อรื้อเสียวเศร้า       โศกร้างห่างจัน

นอกจากแม่จันหญิงอันเป็นที่รักแล้ว สุนทรภู่ยังประพฤติตนเป็นดังกระต่ายหมายจันทร์ แอบหลงรักนางในฝันผู้เลอโฉมและสูงศักดิ์ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ราชธิดาของรัชกาลที่ 3 นั่นเอง โดยท่านได้รำพันความรักแบบสมมุติว่าเขียนจากความฝันผ่านบทกลอนหลายบทใน“รำพันพิลาป”ตามแบบฉบับของยอดกวี อาทิ

        ซึ่งสั่งให้ไปสวรรค์หรือชันษา
จะมรณาในปีนี้เป็นปีขาล
แม้นเหมือนปากอยากใคร่ตายหมายวิมาน
ขอพบพานภคินีของพี่ยา
        ยังนึกเห็นเช่นโฉมประโลมโลก
ยิ่งเศร้าโศกแสนสวาทปรารถนา
ได้แนบชมสมคะเนสักเวลา
ถึงชีวาม้วยไม่อาลัยเลย ฯ


หรืออย่างท่อน

        เห็นโฉมยงองค์เอกเมขลา
ชูจินดาดวงสว่างมากลางสวรรค์
รัศมีสีเปล่งดังเพ็งจันทร์
พระรำพันกรุณาด้วยปรานี
        ว่านวลหงส์องค์นี้อยู่ชั้นฟ้า
ชื่อโฉมเทพธิดามิ่งมารศรี
วิมานเรียงเคียงกันทุกวันนี้
เหมือนหนึ่งพี่น้องสนิทร่วมจิตใจฯ


ดูเหมือนว่างานนี้สุนทรภู่จะแสดงความรักออกมาทางอุดมคติเท่านั้น แต่นั่นก็เพียงพอแล้ว เพราะชั่วชีวิตท่านได้ผ่านเรื่องราวเมารักมาอย่างโชกโชน

ทั้งนี้ ขุนวิจิตรมาตรา หรือ กาญจนาคพันธุ์ ได้สืบค้นชื่อผู้หญิงที่เข้ามาเกี่ยวพันกับชีวิตของสุนทรเอาไว้ดังนี้ จันหรือจันทร์ (วังหลัง) พลับ(วังหลัง) แช่ม(บางระมาด) แก้ว(บางบำหรุ) นิ่ม(บางกรวย) ม่วง(บางม่วง) น้อย (คลองบางกอกน้อย) งิ้ว(บางกอกน้อย) สุข(บางกอกน้อย) นกน้อย(วัดแจ้ง) กลิ่น(วัดเลียบ) รวมไปถึงผู้หญิงที่ทราบเพียงชื่ออย่างเดียว อย่าง แดง เกษ สาย บัวคำ ลูกจัน ประทุม

นี่เป็นเพียงชื่อที่ปรากฏในนิราศของสุนทรภู่เท่านั้น นั่นย่อมแสดงว่ายังมีผู้หญิงตกสำรวจที่ไปเกี่ยวพันกับสุนทรภู่อีกหลายคน หากชายใดเจอสภาพการณ์แบบนี้เข้าไปก็คงจะหลีกหนีอาการเมารักได้ยากเต็มที

เมาอักษร...

ความเป็นอัจฉริยะด้านกวีของสุนทรภู่ แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนอย่างศรีปราชญ์ว่าสามารถแต่งโคลงกลอนได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ แต่ด้วยความที่สุนทรภู่ไม่ใช่กวีประเภท...นักเลงกลอนนอนฝันเป็นสันดาน เคยเขียนอ่านอดใจมิใคร่ฟัง(รำพันพิลาป)...จึงสันนิษฐานว่าท่านน่าจะเปล่งกระกายฉายแววแห่งยอดกวีมาตั้งแต่วัยละอ่อน และได้สั่งสมชื่อเสียงบารมีเรื่อยมาจนได้เป็นกวีหนุ่มแห่งราชสำนัก ที่รัชกาลที่ 2 โปรดยิ่งนัก จนได้รับการพระราชบรรดาศักดิ์ให้เป็น “ขุนสุนทรโวหาร”(พระสุนทรโวหาร)ในเวลาต่อมา อันเป็นที่มาของชื่ออมตะว่า “สุนทรภู่”ตราบจนทุกวันนี้

ชั่วชีวิตของสุนทรภู่กวีผู้เมาเหล้า เมารัก เมาอักษร ท่านได้สร้างผลงานอันลือลั่นไว้มากมาย โดยเฉพาะบทประพันธ์เรื่อง“พระอภัยมณี”ที่เป็นวรรณคดีล้ำค่าระดับโลกนั้น นอกจากท่านจะบุกเบิกการเขียนแบบใหม่แล้ว เนื้อเรื่องยังเต็มไปด้วยจินตนาการมากมาย เรียกได้ว่าเป็นกวีหัวก้าวหน้าคนหนึ่งของโลกทีเดียว

ไม่เพียงเท่านั้นเรื่องพระอภัยมณียังมีการแหกขนบแบบไทยๆอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพระอภัยมณีที่รูปหล่อไม่เก่งด้านอาวุธ หากแต่กลับไปเก่งด้านวิชาการดนตรี(เป่าปี่)จนบิดารับไม่ได้ อีกทั้งยังมีเมียอีกมากหลาย แถมเมียบางคนนี่ธรรมดาที่ไหน ทั้งนางเลือกเอย ผีเสื้อสมุทรเอย นอกจากนี้ก็ยังมีตัวละครประหลาดอีกเพียบ

แต่น่าเสียที่ว่าเด็กไทยยุคใหม่ในวันนี้ ดูจะรู้จักแฮรี่พอตเตอร์มากกว่า พระอภัยมณีหรือสิงหไกรภพ(ผลงานอีกเรื่องหนึ่งของสุนทรภู่) ซึ่งนั่นก็คงมาจากการที่คนไทยร่วมสมัยเกิดโรค “เมาวัฒน์”(วัฒนธรรม) จึงหันไปสนใจของนอกทั้ง วัฒนธรรมฮอลลีวู้ด วัฒนธรรมญี่ปุ่น วัฒนธรรมเกาหลี จนละเลยรากเหง้าอันดีงามของตัวเองไป ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมคงต้องทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ไม่ใช่เอาแต่ทำงานเชิงรับแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

อีกเรื่องหนึ่งที่เกิดจากการเมาอักษรของสุนทรภู่แล้วหลายๆคนมักมองข้ามไปก็คือ การเป็นผู้บุกเบิกงานเขียนสารคดีท่องเที่ยว(แบบร้อยกรอง)ผ่านนิราศทั้ง 9 เรื่องของท่านที่งดงามไปด้วยภาษา จับอารมณ์ และมากไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ดังตัวอย่างท่อนหนึ่งที่ผมชอบมากๆท่อนหนึ่งจาก“นิราศเมืองแกลง” ที่สุนทรภู่เข้าป่าไปเจอดงทากแล้วพรรณนาออกมาเป็นคำกลอนสั้นๆแต่ว่ากินใจเหลือหลาย ดังความว่า

        กระโดดเผาะเกาะผับกระหยับคืบ
ถีบกระทืบมิใคร่หลุดสุดแสยง
ปลดที่ตีนติดขาระอาแรง
ทั้งขาแข้งเลือดโซมชโลมไป

หรือจะเป็นการพรรณนาสถานที่ต่างๆแบบมีอารมณ์ร่วมอันลึกซึ้งกินใจ อาทิ

       ถึงบางพลัดยิ่งอนัตอนาถจิต
นิ่งพินิจนึกน่าน้ำตาไหล
พี่พลัดนางร้างรักมาแรมไกล 
ประเดี๋ยวใจพบบางริมทางจร
        ถึงบางซื่อชื่อบางนี้สุจริต
เหมือนซื่อจิตที่พี่ตรงจำนงสมร
มิตรจิตขอให้มิตรใจจร 
ใจสมรขอให้ซื่อเหมือนชื่อบาง
        ถึงบางซ่อนเหมือนเขาซ่อนสมรพี่
ซ่อนไว้นี่ดอกกระมังเห็นกว้างขวาง
เจ้าเยี่ยมหน้าออกมาหกพี่หน่อยนาง
จะลาร้างแรมไกลเจ้าไปแล้วฯ

(นิราศพระบาท)

นี่ถือเป็นเพียงเศษเสี้ยวของผลงานอันทรงคุณค่าจากกระประพันธ์ของสุนทรภู่ ยอดกวีเอกแห่งสยามที่หากท่านเป็นเพียงชายผู้ “เมาเหล้า”กับ“เมารัก” ก็คงไม่มีเหตุอันใดให้ควรค่าแก่การรำลึกนึกถึงมากมายปานนั้น

แต่...ฟ้าได้ลิขิตให้สุนทรภู่มีความ“เมาอักษร”ติดตัวมาด้วย ซึ่งนี่ถือเป็นความสามารถในระดับอัจฉริยะของสุนทรภู่ ที่แม้วันนี้สุนทรภู่ลาลับจากโลกไปกว่า 200 ปีแล้ว แต่ทว่าผลงานของท่านก็ยังคงเป็นความอมตะอยู่ไม่เสื่อมคลาย

         สุนทรภู่ครูกวีมีชื่อนัก
ว่าเมาเหล้าเมารักเมาอักษร
ทั้งสามเมาเข้าอิงสิง “สุนทร” 
ไม่มีวันพักผ่อน หย่อนใจกาย
        ถ้าไม่เมาสุราหรือนารี
ก็เมาการกวีเป็นที่หมาย
ในชีวิตตั้งแต่ต้นจนถึงปลาย
“ภู่”ไม่วายว่างเว้นเป็นคนเมา
        แต่การเมาครูเฒ่าสุนทรภู่
เมาทั้งรู้อักโขไม่โง่เขลา
มันเป็นเรื่องเวรกรรมเช่นเราเรา
ที่หลงเข้าหลุมกิเลสเหตุพาไป
        ถึงเมาเหล้าก็ไม่เมาเป็นอาจิณ
ครั้นส่างสิ้นสิ่งชั่วกลับตัวได้
แถมจารึกบาปกรรมที่ทำไว้
ลงในเรื่องบทกลอนที่สอนคนฯ

พระราชธรรมนิเทศ

กำลังโหลดความคิดเห็น