xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นป่าลำพู…คู่หิ่งห้อยอัมพวา หาจุดสมดุลเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เคยสงสัยไหมว่า ทำไมหนอ "หิ่งห้อย" จึงกะพริบแสงในตัวเองได้ แล้วจะกะพริบไปเพื่ออะไร??? คำตอบก็คือสิ่งมีชีวิตตัวน้อยเหล่านี้จะกะพริบแสงวิบๆวับๆ ก็เพื่อ "ภารกิจแห่งความรัก"

หิ่งห้อยจะทำการกะพริบแสงเพื่อแสดงความพร้อมในการสืบพันธุ์ โดยตัวผู้จะเป็นฝ่ายกะพริบแสงอวดก่อน ส่วนตัวเมียจะเป็นฝ่ายตัดสินว่าพอใจกับการวาดลวดลายเปลวแสงที่ส่งมาจากตัวผู้หรือไม่ หากพอใจตัวเมียก็จะกะพริบแสงตอบเพื่อที่ตัวผู้จะได้บินไปหาได้ถูกที่

แสงของหิ่งห้อยเกิดขึ้นจากการที่มันหายใจเอาออกซิเจนเข้าไป และเมื่อออกซิเจนสัมผัสกับสารลูซิเฟอรินในส่วนปลายของลำตัว ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิกิริยาการเผาไหม้ภายในเซลล์ เกิดเป็นพลังงานในรูปของแสงสว่างบนตัวหิ่งห้อยอย่างที่เราเห็นกัน

หิ่งห้อยความมหัศจรรย์ที่มาพร้อมกับปัญหา

สำหรับเมืองไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กิจกรรมท่องเที่ยวชมหิ่งห้อยยามค่ำคืนนับเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวยอดนิยมมาแรงไม่น้อย โดยเฉพาะที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งได้บุกเบิกกิจกรรมนี้มาหลายปีแล้ว

ทั้งนี้หิ่งห้อยส่วนใหญ่ในอัมพวาจะอาศัยอยู่ที่ต้นลำพู เพราะต้นลำพูจะมีใบที่โปร่งและง่ายต่อการยึดเกาะ เมื่อแมลงเล็กๆเหล่านี้เป็นตัวเรียกเม็ดเงินอย่างดีก็ทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวชมหิ่งห้อยอย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นดาบสองคมขึ้นมา

ด้านหนึ่งนั้นเกิดผลดีต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวและการกระจายรายได้ในชุมชน ซึ่ง ธวัช บุญพัด สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(สจ.) ผู้บุกเบิกธุรกิจโฮมสเตย์ที่ตำบลปลายโพงพาง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เล่าถึงเรื่องราวของหิ่งห้อยในเขตปลายโพงพางให้ฟังว่า
 หิ่งห้อยนั้นมาอาศัยเกาะต้นลำพูริมสองฝั่งคลองปลายโพงพางนานแล้ว เมื่อเริ่มทำโฮมสเตย์และจัดทัวร์ชมหิ่งห้อยแรกๆก็เป็นการบอกเล่าแบบปากต่อปาก จนกระทั่งสื่อมวลชนให้ความสนใจ เสนอข่าวออกไปทัวร์ชมหิ่งห้อยจึงแพร่หลายมากขึ้น

"หิ่งห้อยเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของสมุทรสงคราม เมื่อสื่อมวลชนให้ความสนใจนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชมหิ่งห้อยจึงทวีเพิ่มมากขึ้น ทีนี้ก็เริ่มมีผู้ประกอบรายใหม่เข้ามาสู่ธุรกิจนี้ เพราะเขาเล็งเห็นว่าเป็นงานที่มีอนาคต การกระโจนลงมาไวเกินไป อาจทำให้หลายๆคนขาดความเข้าใจหรือลืมที่จะศึกษาธรรมชาติของผู้คนริมคลองและธรรมชาติของหิ่งห้อยก็เป็นได้"สจ.ธวัชเล่า

ในขณะที่อีกด้านหนึ่งกิจกรรมท่องเที่ยวชมหิ่งห้อยที่เติบโตอย่างรวดเร็วได้ก่อให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ การผุดขึ้นของรีสอร์ท โฮมสเตย์ จำนวนมากอันเป็นหนึ่งในสาเหตุของแหล่งมลพิษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาขยะ ของเสีย ปัญหาทางเสียง ปัญหาด้านกลิ่นควันของน้ำมัน รวมไปถึงปัญหาอันเกิดจากคลื่นซัดตลิ่งบ้านจากการแล่นของเรือเครื่อง
กิจกรรมปลูกป่าลำพูคู่หิ่งห้อย โดยกระทรวงทรัพยากรฯ
นอกจากนี้การที่คนไปเที่ยวชมหิ่งห้อยหันมากๆในยามค่ำคืนก็ได้ไปรบกวนความเป็นส่วนตัวของบ้านเรือนที่อยู่ใกล้ๆกับจุดชมหิ่งห้อย จนบางบ้านแทบไม่เป็นอันกินอันนอน เพราะมีเรือวิ่งเข้าออกไม่ได้ขาด

วันวิสา โรจน์แสงรัตน์ ผู้ที่อาศัยอยู่ริมคลองผีหลอก ในอำเภออัมพวา ซึ่งเป็นจุดที่มีหิ่งห้อยหนาแน่นจุดหนึ่ง เป็นตัวอย่างของปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเข้ามาของเรือท่องเที่ยวชมหิ่งห้อยได้เป็นอย่างดี เธอเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนนี้ชาวบ้านก็อยู่กันอย่างธรรมดา พอถึงเวลาประมาณหนึ่งทุ่มก็จะไม่มีใครเดินทางไปไหนแล้ว ในคลองก็จะเงียบมาก แต่หลังจากที่นักท่องเที่ยวมากันเยอะมากขึ้นๆ ก็เริ่มก่อความรำคาญให้กับชาวบ้านแถบนั้น

"บ้านที่เราอยู่จะห่างจากจุดดูหิ่งห้อยไปประมาณ 500 เมตร อยู่ตรงช่วงโค้งน้ำพอดี เพราะฉะนั้นเวลาเรือผ่านมาก็จะต้องชะลอตรงจุดนี้ พอได้เวลาประมาณหกโมงถึงสองทุ่ม ก็จะมีเริ่มมีเรือผ่านมาตลอด วุ่นวายกว่าเดิมเยอะ และที่ที่เรานั่งกินข้าวกันก็จะอยู่ตรงริมน้ำหน้าบ้านพอดี เวลามีเรือนักท่องเที่ยวผ่านมาทุกคนก็จะมอง มองเหมือนกับมองดูตู้ปลา จนบางครั้งพวกเราต้องปิดไฟคุยกัน ขนาดว่าเป็นแค่ทางผ่าน ยังไม่ใช่จุดที่ดูหิ่งห้อยจริงๆ ก็ได้รับความรำคาญตรงนี้" วันวิสากล่าว

ในฐานะผู้อาศัยที่ได้รับผลกระทบโดยตรง วันวิสายังเล่าให้ฟังอีกว่า ได้ฟังจากบ้านที่อยู่ตรงจุดชมหิ่งห้อยว่า พอนักท่องเที่ยวมาดูหิ่งห้อยแล้วก็บอกว่าอยากให้ปิดไฟในบ้านหน่อย เพราะมองหิ่งห้อยไม่เห็น ทั้งๆ ที่ตรงนี้ก็เป็นบ้านของเขา แต่นักท่องเที่ยวเป็นคนขอมาดูเอง

ด้านคนขับเรือรับ-ส่งนักท่องเที่ยวชมหิ่งห้อยในอัมพวา คนหนึ่งเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า เรือนำเที่ยวชมหิ่งห้อยที่อัมพวามีประมาณ 200 ลำ มีทั้งเรือที่แล่นปกติ และเรือที่ส่งเสียงดังเกินขนาด เรือที่แล่นเร็วเกินกำหนดของกรมเจ้าท่า เพราะต้องการทำรอบเพิ่มเนื่องจากการรับนักท่องเที่ยวแต่ละรอบ คนขับเรือจะมีรายได้ถึงรอบละ 500 บาททีเดียว ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดปัญหาต่อชาวบ้านที่อยู่ในจุดชมหิ่งห้อยทั้งสิ้น

ในขณะที่อาชีพตกกุ้งตอนกลางคืนนับเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว เนื่องจากว่า ระหว่างที่เรือแล่นพานักท่องเที่ยวไปชมหิ่งห้อยนั้นจะทำให้น้ำกระเพื่อม กุ้งหนีหาย หรือไม่รวมกลุ่ม ทำให้ตกกุ้งไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีบางคนตัดต้นลำพูทิ้งเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

"ปัญหาที่ผมต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ก็คือ การที่ชาวบ้านนิยมเอาสารเคมีฉีดหญ้าไปฉีดลงที่โคนต้นลำพู ซึ่งเป็นสาเหตุให้หิ่งห้อยลดจำนวนลง เพราะตอนกลางวันหิ่งห้อยเขาจะอาศัยอยู่ใต้โคนต้นลำพู ฉีดแค่บ้านเดียวก็คลุ้งไปหมดคลองแล้ว ห้ามก็ไม่ได้เพราะเขาทำสวนเกษตร หาตัวคนทำก็ยาก อย่างที่นี่จะมีกุ้งแม่น้ำชุมมาก ก็มีคนนิสัยเสียเอาสารเคมีไปโรยให้กุ้งชูหัวขึ้นมาเพื่อจะได้จับง่ายๆ อันนี้ก็ส่งผลกระทบกับหิ่งห้อย เพราะหิ่งห้อยเป็นสัตว์ที่ชอบน้ำสะอาด พอมีสารเคมีในน้ำหิ่งห้อยก็ไม่อยู่แล้ว"จรูญ เจือไทย ประธานกลุ่มอนุรักษ์ตลาดน้ำท่าคา อำเภออัมพวา เล่าถึงหนึ่งในสาเหตุที่หิ่งห้อยลดลง อันเนื่องมาจากการกระทำของชาวบ้านบางคน

ทั้งนี้จากตัวอย่างของปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านบางคนรำคาญจนถึงกับตัดต้นลำพูหน้าบ้านทิ้ง เพื่อตัดปัญหาความรำคาญทั้งจากเสียงเครื่องยนต์ เสียงหมาเห่านักท่องเที่ยว และแสงสปอร์ตไลท์ ซึ่งท้ายที่สุดก็เป็นต้นเหตุให้ป่าต้นลำพูที่หิ่งห้อยชื่นชอบพลอยหดหายไป เมื่อไม่มีต้นลำพูจำนวนหิ่งห้อยก็ลดลงอย่างน่าใจหายเช่นกัน
หิ่งห้อยแมลงมหัศจรรย์ที่เปล่งแสงได้ในตัวเอง
ฟื้นป่าลำพูไว้คู่หิ่งห้อย

ด้วยสาเหตุความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายในพื้นที่อำเภออัมพวา ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งที่มี่ชื่อเสียงด้านการชมหิ่งห้อย ทำให้หลายๆหน่วยงานพยายามจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้ ดร.อภิชาต อนุกูลอำไพ ประธานคณะทำงานสนับสุนนการแก้ไข ป้องกันและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นผู้ดูแล

เขตพื้นที่อำเภออัมพวากลายเป็นพื้นที่นำร่องที่ทางกระทรวงทรัพยากรฯเล็งเห็นว่ามีความเร่งด่วนของปัญหา การลดจำนวนของป่าลำพูและหิ่งห้อย จึงได้จัดทำโครงการฟื้นฟูป่าลำพูไว้คู่หิ่งห้อยขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจแก่กลุ่มเรือท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ และชุมชนเป็นหลัก

"ระบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัดสมุทรสงครามในเวลานี้ เป็นไปในรูปแบบต่างคนต่างทำ ขาดความร่วมมือซึ่งกันและกัน สร้างความเสียหายให้ทรัพยากรในพื้นที่อย่างหนักโดยเฉพาะต้นลำพูกับหิ่งห้อย เราจึงต้องเร่งฟื้นฟูก่อนที่ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์แถบนี้จะหายไป"ดร.อภิชาตกล่าวถึงความจำเป็นของโครงการนี้

ด้านสจ.ธวัช หนึ่งในโต้โผคนหนึ่งที่มีช่วยสร้างความเข้าใจในชุมชนริมน้ำ ได้ให้คำแนะนำแก่นักท่องเที่ยวทุกครั้ง ก่อนจะนำเรือออกชมหิ่งห้อยว่า

"เราจะบอกทุกครั้งว่าอย่ามาทำลาย อย่างที่ตลาดน้ำอัมพวามักจะพบว่ามีนักท่องเที่ยวชอบไปจับหิ่งห้อย ชอบไปถ่ายรูปทั้งที่รู้ว่าถ่ายไปก็ไม่ติด ที่ตลาดน้ำอัมพวาก็เป็นจุดหนึ่งที่มีปัญหาทุกสิ่งรวมกันอยู่ที่นี้ เพราะชาวบ้านขาดความเข้าใจ การจะพัฒนาให้การชมหิ่งห้อยอยู่อย่างยั่งยืนอันดับแรก ต้องพัฒนาคนเสียก่อนถ้าคนไม่พัฒนาอย่างอื่นก้าวหน้าก็ไม่มีความหมาย"สจ.ธวัชกล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ดี แม้จะมีหน่วยงานและกลุ่มคนที่ปรารถนาดีต่อการฟื้นป่าลำพูไว้คู่หิ่งห้อยที่อัมพวา แต่หัวใจหลักของการฟื้นฟูป่าลำพูและหิ่งห้อยให้คงอยู่คู่สมุทรสงครามนั้นก็คือ การสร้างความเข้าใจต่อชาวบ้านในพื้นที่

รวมไปถึงการหาจุดสมดุลของการท่องเที่ยวกับชาวบ้านในจุดชมหิ่งห้อย ไม่ว่าจะเป็น การจัดระเบียบเรือนำเที่ยว การกำหนดกฎเกณฑ์ในการเที่ยวชมหิ่งห้อยทั้งจากผู้ขับเรือและนักท่องเที่ยว การกำหนดช่วงเวลาการชมหิ่งห้อยอย่างชัดเจน(ปัจจุบันกลุ่มขับเรือนำชมหิ่งห้อยมีกฎวางไว้ว่าหลัง 3 ทุ่มจะเลิกแล่น) การผ่อนหนักเป็นเบาของปัญหาเรื่องเสียงและเรื่องคลื่นของเรือนำชมหิ่งห้อย รวมไปถึงการแก้ปัญหาอื่นๆเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนน้อยที่สุด

เพราะหากยังแก้ปัญหาไม่ตก ถึงแม้จะฟื้นป่าลำพูมาได้ แต่หากไม่พยายามจัดระเบียบกิจกรรมนำชมหิ่งห้อย สุดท้ายก็คงจะมีชาวบ้านบางคนทนรำคาญไม่ไหวกระทำการโค่นตัดต้นลำพูทิ้งอีกเช่นเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น