xs
xsm
sm
md
lg

สุขสันต์วันเกิด ครบ 100 ปี "บางรัก"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
โบสถ์อัสสัมชัญ สวยงามด้วยศิลปะเรอเนซองส์
หากจะพูดถึงย่านที่มีความเก่าแก่ในกรุงเทพฯ ต่างก็มีอยู่มากมายหลายแห่งด้วยกัน และแต่ละแห่งก็มีความเป็นมา มีประวัติศาสตร์ของแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไป ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน

เหมือนอย่างที่ "เขตบางรัก" ที่เพิ่งจะฉลองครบรอบหนึ่งศตวรรษไปหมาดๆ โดยที่ว่ามีอายุครบ 100 ปี นั้นก็เพราะเขตบางรักนี้เดิมเป็น 1 ใน 8 อำเภอของกรุงเทพฯ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ในวันที่ 5 มิถุนายน ร.ศ.127 หรือ พ.ศ.2450 นั่นเอง มาถึงวันนี้มีอายุก็ครบ 100 ปีพอดี ทางสำนักงานเขตบางรักจึงได้จัดงาน 100 ปี บางรักขึ้น และฉันก็ได้ไปร่วมงานฉลองวันเกิดเขตบางรักกับเขาด้วย

การได้ไปร่วมงานในครั้งนี้ก็ทำให้ฉันได้รู้จักกับเขตบางรักเพิ่มมากขึ้นอีกเยอะเลยทีเดียว จากแต่เดิมที่เข้าใจเพียงว่าในย่านนี้คือย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ตอนนี้ฉันยังได้ทราบว่าในย่านนี้ยังมีความเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ และมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายอีกด้วย งานนี้ฉันเลยขออวยพรวันเกิดด้วยการพาเที่ยวเขตบางรักเสียเลยแล้วกัน

แต่ก่อนที่เราจะมาเริ่มท่องเขตบางรัก ฉันก็ขอบอกกล่าวถึงที่มาของชื่อก่อนดีกว่า ชื่อ "บางรัก" แค่สองคำนี้ มีการสันนิษฐานที่มาไว้หลายแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อแรกที่ว่าบริเวณเขตบางรักนี้เคยมีคลองเล็กๆ ที่ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา และมีผู้พบซุงไม้รักขนาดใหญ่ในคลองนั้น จึงเรียกชื่อบริเวณนี้ตามชื่อไม้ว่าบางรัก หรืออีกกระแสหนึ่งที่เชื่อว่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณนี้มีต้นรักขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากจนเป็นที่มาของชื่อ

บ้างก็ว่าชื่อบางรักนั้นมาจากโรงหมอหรือโรงพยาบาลในสมัยนั้นซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่สำคัญของอำเภอ จึงได้ชื่อว่าเป็น "อำเภอบางรักษ์" และเรียกเพี้ยนมาเป็นบางรักอย่างในปัจจุบัน ส่วนที่มาสุดท้ายเชื่อกันว่า เดิมเขตบางรักในอดีตเรียกกันว่าคลองบางขวางล่างใต้ เป็นย่านที่มีคนมากมายหลากหลายอาชีพทั้งกะลาสีลูกเรือฝรั่งต่างชาติอยู่รวมกัน เป็นแหล่งกินแหล่งเที่ยวที่มีการทะเลาะวิวาทถึงขั้นฆ่ากันตายบ่อยครั้ง ชาวบ้านในแถบนั้นจึงขอให้ใช้ชื่อที่เป็นมงคลเรียกย่านนี้ว่าบางรักแทนชื่อเดิม

แต่ไม่ว่าชื่อนี้จะมีที่มาจากที่ไหนก็ตามแต่ บางรักในวันนี้ก็ถือเป็นชื่อที่เป็นมงคลเกี่ยวกับเรื่องความรัก จนทำให้ในวันวาเลนไทน์ของทุกปี มักจะมีคนไปจดทะเบียนกันที่เขตบางรักมากเป็นพิเศษเพราะเชื่อกันว่าจะมีความรักสดชื่นสดใสเหมือนชื่อเขต

และหากจะพูดถึงความเป็นมาของย่านบางรัก ก็พูดย้อนไปเมื่อสมัยที่รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระองค์ได้พระราชทานพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกทางตอนใต้พระบรมมหาราชวัง หรือบริเวณสำเพ็งในปัจจุบันให้ชาวจีนได้อยู่อาศัย และพระราชทานที่ดินต่อจากบริเวณสำเพ็งลงไปคือบริเวณวัดกาลหว่าร์ให้เป็นชุมชนของชาวคริสต์ ดังนั้นจึงเกิดการขยายตัวของชุมชนลงไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เกิดเป็นชุมชนการค้าที่มีความเจริญและเป็นที่พักอาศัยของชาวต่างชาติ จนมีการตั้งสถานที่ราชการของชาวต่างชาติเช่นชาวยุโรปขึ้นหลายแห่ง และนอกจากนั้นแล้วก็ยังมีชนชาติอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งจีน อิสลาม และฮินดูอีกด้วย

และด้วยความที่ย่านบางรักเป็นย่านธุรกิจการค้าย่านแรกๆ ของประเทศ อีกทั้งยังมีผู้คนจากนานาชาติเดินทางเข้ามามากมาย จึงไม่เเปลกที่บางรักนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของหลายสิ่งในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น "โรงเรียนเอกชนแห่งแรก" คือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เปิดการสอนมาตั้งแต่ พ.ศ.2445

"รถยนต์คันแรก" ของเมืองไทยก็มีที่นี่เป็นที่แรกเช่นกัน โดยเจ้าของรถยนต์คันนี้คือเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ซึ่งมีบ้านอยู่ในเขตบางรักนี่เอง รวมทั้ง "แฟลตแห่งแรก" ของไทยก็อยู่ที่บางรัก สำหรับแฟลตนั้นถือเป็นที่พักอาศัยอีกประเภทหนึ่งที่เมืองไทยยังไม่เคยรู้จักในสมัยนั้น โดยเป็นอาคารแบ่งห้องให้เช่า มีทางเดินและบันไดใช้ร่วมกันทั้งอาคาร เป็นที่พักของพนักงานบริษัทรถรางของชาวต่างประเทศ

และด้วยความที่ย่านบางรักเป็นแหล่งที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่มากอีกนั่นแหละ ทำให้บางรักนี้มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจเป็นศาสนสถานของศาสนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัด โบสถ์คริสต์ มัสยิด ศาลเจ้า หรือวัดของทางศาสนาฮินดูก็มีครบถ้วน

เริ่มจากวัดแบบไทยๆ กันก่อนดีกว่า หลายคนที่ได้ผ่านไปทางสามย่านคงจะได้เห็นวัดใหญ่โตวัดหนึ่งตั้งอยู่ตรงหัวมุมพอดี มีป้ายชื่อวัดเห็นเด่นชัดว่า “วัดหัวลำโพง” เดิมวัดนี้มีชื่อว่าวัดวัวลำพอง แต่ต่อมารัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานนามให้ใหม่ว่าวัดหัวลำโพง มีพระพุทธมงคลเป็นพระประธานในพระอุโบสถ อีกทั้งวัดนี้ยังมีชื่อเสียงในเรื่องของการมาทำบุญบริจาคโลงศพให้กับศพไร้ญาติเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์

ส่วนบริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษมก็เป็นที่ตั้งของ "วัดมหาพฤฒาราม" หรือชื่อเดิมว่าวัดท่าเกวียน เป็นวัดที่รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ เนื่องจากเมื่อครั้งที่พระองค์ยังทรงผนวชอยู่ได้เคยเสด็จมาพระราชทานผ้าป่าที่วัดแห่งนี้ พระอธิการแก้วเจ้าอาวาสวัดในขณะนั้นได้ทูลถวายคำพยากรณ์ว่า "จะได้เป็นเจ้าชีวิตในเร็วๆ นี้" พระองค์จึงทรงรับสั่งว่า "ถ้าได้ครองแผ่นดินจริงจะมาสร้างวัดให้อยู่ใหม่"

ที่วัดมหาพฤฒารามมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งเป็นพระนอนที่นับว่าใหญ่รองลงมาจากพระนอนที่วัดโพธิ์ นอกจากนั้นก็ยังมีพระปรางค์ขนาดใหญ่ 4 องค์ที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ที่ปรินิพพานไปแล้วด้วย

ส่วนศาสนสถานของชาวคริสต์ที่โดดเด่นในย่านบางรักก็ก็คือ "โบสถ์อัสสัมชัญ" โบสถ์เก่าแก่อายุกว่า 200 ปี สร้างโดยบาทหลวงปาสกัล ซึ่งเป็นชาวไทย-โปรตุเกส โบสถ์หลังปัจจุบันนี้ถูกสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2452 เพื่อรองรับการขยายตัวของคริสต์ศาสนิกชนที่มีเพิ่มมากขึ้น โดยมีสถาปนิกชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง วัสดุที่ใช้สร้างเช่นหินอ่อนและกระจกสีนั้นก็สั่งมาไกลถึงประเทศฝรั่งเศสและอิตาลีเลยทีเดียว
พิพิธภัณฑ์หินแปลก พิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจอีกแห่งของเขตบางรัก
ใครที่ได้เห็นโบสถ์หลังนี้ก็เชื่อว่าจะต้องชื่นชมในความงามเหมือนฉัน ด้วยศิลปะแบบเรอเนซองส์ของอิตาลี ความสูงตั้งแต่ยอดหอคอยจดพื้น 32 เมตรด้วยกัน ส่วนด้านในผนังและเพดานก็งดงามด้วยจิตรกรรมแบบเฟรสโกและประติมากรรมปูนปั้นที่แสดงถึงเรื่องราวความเชื่อของทางศาสนาคริสต์

และที่พลาดไม่ได้ก็คือ "วัดพระศรีมหาอุมาเทวี" หรือที่เรียกกันว่าวัดแขก วัดของทางศาสนาฮินดูที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่บูชาพระอุมาเทวี ชายาของพระศิวะ วัดแขกที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัย ร.5 นี้อาจดูแปลกตาสำหรับชาวไทย เพราะเป็นสถาปัตยกรรมแบบอินเดียตอนใต้ สีสันฉูดฉาดตามแบบอินเดีย เป็นการสร้างต่อเติมจากของเดิม เพราะวัดแขกสมัยก่อนนี้มีโบสถ์เป็นเพียงอาคารเรียบๆ ไม่มีการตกแต่งประดับประดาอย่างในปัจจุบัน แต่มีรูปเคารพเทพเจ้าฮินดูหลายองค์ด้วยกัน

และในวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 11 รวม 9 วัน 9 คืนนั้น ก็จะเป็นงานใหญ่ของชาวฮินดู เพราะเป็นช่วงเวลาของเทศกาลดูเซร่า หรือนวราตรี ซึ่งเป็นงานแห่พระแม่อุมา เชื่อกันว่าในช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่พระแม่และขบวนเทพจะเสด็จมายังโลกเพื่อประทานพรให้กับมนุษย์
พระอุโบสถวัดหัวลำโพง
และในย่านบางรักก็มีมัสยิดเก่าแก่ของชาวอิสลามด้วยเช่นกัน มัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดต้องยกให้กับ "มัสยิดบ้านอู่" ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัย ร.5 โดยมุสลิมอพยพจากปัตตานี มัสยิดบ้านอู่แห่งนี้เป็นมัสยิดที่จดทะเบียนลำดับที่ 1 ของกรุงเทพฯ อีกด้วย อีกทั้งยังมี "มัสยิดฮารูน" มัสยิดอีกแห่งหนึ่งที่เก่าแก่ไม่เเพ้กัน แต่มีความโดดเด่นตรงที่มีการเทศน์เป็นภาษาอังกฤษสำหรับชาวมุสลิมต่างชาติด้วย

นอกจากนั้นก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น "พิพิธภัณฑ์หินแปลก" ของสะสมของคุณบุญยง เลิศนิมิต โดยภายในพิพิธภัณฑ์ก็จะมีทั้งหินหยก ฟอสซิล หินธรรมชาติ และอีกสารพัดหินที่มาจากทั่วประเทศและทั่วโลกมาจัดแสดงไว้

ไม่ใช่เพียงแค่เป็นแหล่งเที่ยวเท่านั้น ย่านบางรักยังเป็นแหล่งกินที่เต็มไปด้วยร้านอาหารเก่าแก่มีชื่อเสียงในเรื่องความอร่อยอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารมุสลิม อาหารอินเดีย หรืออาหารแบบไทยๆ อย่างข้าวขาหมู กวยจั๊บ และอื่นๆ อีกมากมาย เรียกว่าสาธยายกันไม่หมด เพราะฉะนั้นฉันจึงต้องขอเชิญชวนให้ไปท่องย่านบางรักกันด้วยตัวเองเสียแล้วล่ะ

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

เขตบางรัก แบ่งการปกครองออกเป็น 5 แขวงด้วยกันคือ แขวงมหาพฤฒาราม แขวงสี่พระยา แขวงสุริยวงศ์ แขวงสีลม และแขวงบางรัก นายอำเภอคนแรกของอำเภอบางรักคือ ร.อ.หลวงชนานุกูลกิจ (จวง จารุจินดา) และผู้อำนวยการเขตคนปัจจุบันคือนางพิมลรัตน์ วงษ์รักษ์ สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานเขตบางรัก โทร.0-2236-1395, 0-236-2228
กำลังโหลดความคิดเห็น