xs
xsm
sm
md
lg

เบิ่งของดี ที่ "อำนาจเจริญ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อำนาจเจริญ จังหวัดลำดับที่ 76 ซึ่งเพิ่งแยกตัวออกมาจากจังหวัดอุบลฯเมื่อปีพ.ศ.2536 นับเป็นจังหวัดลำดับสุดท้ายของเมืองไทยในปัจจุบันนี้ เป็นจังหวัดที่มีไฟแดงอยู่กลางเมืองเพียงแยกเดียว

ในสายตาของใครหลายๆคนอำนาจเจริญจึงเป็นได้เพียงจังหวัดผ่านที่คนส่วนใหญ่นิยมข้ามไปยังจังหวัดใหญ่ๆซึ่งขนาบอยู่ทั้งสองด้าน แต่หากมองกันอย่างพินิจพิจารณาแล้ว ในความเล็กๆที่เรียบง่ายของอำนาจเจริญมีของดีและความน่าสนใจหลายอย่างปรากฏอยู่

ทั้งความสามัคคีที่สังคมไทยกำลังขาดแคลนและศรัทธาในพุทธศาสนาที่ยังคงมีอยู่อย่างเหนียวแน่นของชาวอำนาจเจริญ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากหลายๆคนที่ไปเยือนจะตกหลุมรักจังหวัดนี้

ใครที่มาอำนาจเจริญแล้ว ถ้าเริ่มต้นไม่ถูกว่าจะไปที่ไหนดี ขอแนะนำให้มาเริ่มต้นนับหนึ่งด้วยการสักการะ"พระมงคลมิ่งเมือง" หรือ พระใหญ่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวอำนาจเจริญ ตั้งอยู่ที่เขาดานพระบาท ในบริเวณพุทธอุทยาน ถนนชยางกูร อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองไปแค่ 3 กิโลเมตร

เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่มีพุทธลักษณะตามอิทธิพลของศิลปะอินเดียเหนือ แคว้นปาละ ซึ่งได้แผ่อิทธิพลด้านศิลปะมายังภาพตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13-16 ออกแบบโดย จิตร บัวบุศย์ หน้าตักกว้าง 11 เมตร ส่วนสูงวัดจากพื้นดินระดับต่ำสุดถึงยอดเปลว 20 เมตร โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก

โดยตลอดผิวนอกฉาบปูนบุด้วยกระเบื้องโมเสกสีทอง การก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2508 เชื่อกันว่าพระมงคลมิ่งเมืองเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มีประชาชนทั้งชาวอำนาจเจริญและจังหวัดใกล้เคียงให้ความเคารพกราบไหว้บูชาเป็นอย่างมาก

หลังไหว้พระใหญ่คู่เมืองแล้วก็ต้องแวะมาดูหมู่บ้านชุมชนเข้มแข็งที่ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ปี พ.ศ. 2550 ของทางจังหวัดอำนาจเจริญ ที่มุ่งเน้นเรื่องของผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยมีกลยุทธ์พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นฐานยกระดับรายได้ของคนในชุมชน และเพื่อเพิ่มพูนความรู้รวมไปถึงทักษะฝีมือ

ซึ่งมีตัวอย่างดีๆให้เห็นที่บ้านปลาค้าว หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม และเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีสินค้าOTOPอันแปลกประหลาดยิ่ง เพราะ OTOP ของที่นี่ไม่ใช่สิ่งของ ไม่ใช่อาหาร หากแต่เป็นทรัพยากรบุคคลที่ทั้งหมู่บ้านยึดอาชีพหารายได้ด้วยการเป็น หมอลำ บ้านปลาค้าวจึงได้รับขนานนามว่า "หมู่บ้านหมอลำ"


เพราะที่นี่ประชากรทั้งชาย หญิง ลูกเล็กเด็กแดงรวมกว่า 3,000 ชีวิต ล้วนแต่สามารถ ฟ้อน รำ ตามแบบฉบับหมอลำกันได้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็น หมอลำกลอน หมอลำพื้น หมอลำชิงชู้ หมอลำหมู่ หมอลำซิ่ง และหมอลำผสมวงดนตรี ชาวบ้านปลาค้าวก็เปี่ยมด้วยความสามารถ และด้วยวิถีชีวิตที่เรียบง่าย รักสงบ ชอบความสนุกสนาน และต้องการถ่ายทอดวัฒนธรรมของบรรพบุรุษที่มีมากว่า 200 ปี จึงทำให้ปัจจุบันที่นี่มีหมอลำมากกว่า 20 คณะหลายร้อยชีวิต เป็นหมู่บ้านที่มีหมอลำมากที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ก็ว่าได้

เหรียญชัย โพธารินทร์ ประธานกลุ่มโฮมสเตย์และวัฒนธรรมบ้านปลาค้าว อธิบายให้ฟังถึงเรื่องราวของหมอลำบ้านปลาค้าวว่า ก่อนที่คณะหมอลำจะไปแสดงในงานต่าง ๆนั้น จะต้องมีพิธีไหว้ครูหมอลำ หรือที่เรียกว่าเปิดวง จะใช้หมอลำกว่า 80 – 200 คน แสดงให้ชมฟรีก่อนออกไปรับงาน

หมอลำบ้านปลาค้าวสร้างรายได้เข้าสู่ตำบลปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ปัจจุบันมีการฝึกหมอลำน้อย โดยมีการลำว่ากลอนปากเปล่าปล่อยเสียงเป็นจังหวะ พร้อมกับฟ้อนร่ายรำอย่างถูกวิธี ทั้งชายหญิง นับว่าเป็นจุดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่จะมาชมและรับฟังฝีปากหมอลำน้อยที่บ้านปลาค้าวแห่งนี้

"อัตราค่าจ้างหมอลำคณะใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 50,000 - 100,000 บาท แต่ถ้าหากเป็นวงดนตรี หรือหมอลำซิ่งจะมีราคาจ้างอยู่ที่ 20,000 - 50,000 บาท แล้วแต่กรณีไป ซึ่งบางครั้งก็เป็นการไปช่วงงานคิดค้าจ้างตามสมควร โดยหางเครื่องที่อยู่ตามคณะหมอลำต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กนักเรียนและหนุ่มสาว ที่มีการแบ่งเวลาเรียนและเวลาทำงานเป็นการหารายได้ระหว่างเรียนด้วยซึ่งเป็นที่น่าภูมิใจของชาวบ้านปลาค้าวเป็นอย่างมาก"เหรียญชัยกล่าว

นอกจากที่นี่จะเป็นหมู่บ้านหมอลำแล้ว ยังมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบของโฮมสเตย์คอยให้บริการผู้ที่สนใจวิถีชีวิตแบบชนบท ที่นี่มีโฮมสเตย์ไว้รองรับนักท่องเที่ยวจำนวน 25 หลัง เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว

ให้ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของลูกอีสานตลอดจนฝึกร้อง รำ หมอลำได้อีกด้วย เห็นการรวมตัวกันกลมเกลียวขนาดนี้ ที่บ้านปลาค้าวจึงเป็นสถานที่ซึ่งผู้มาเยือนจะเรียนรู้เรื่องหลักความสามัคคีได้เป็นอย่างดี

จากหมู่บ้านหมอลำมาที่เขตอำเภอพนาบนทางหลวงหมายเลข 2134 ห่างจากตัวจังหวัดอำนาจเจริญราว 40 กิโลเมตร จะพบวัดแห่งหนึ่งชื่อ"วัดพระเหลาเทพนิมิตร" ที่มีความโดดเด่นที่พระประธานคือ"พระเหลาเทพนิมิตร"

พระพุทธรูปองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดสูง 2.70 เมตร หน้าตัก กว้าง 2.85 เมตร ก่อด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทอง มีรูปนางธรณีบีบมวยผม องค์พระพุทธรูปมีพุทธลักษณะงดงามเป็นอัศจรรย์ คือเวลาเราเข้าไปนมัสการเมื่อมองพระพักตร์ท่านจะเห็นท่านยิ้มตอนรับ บันดาลจิตใจของเราเกิดศรัทธาเลื่อมใส จนคนทั้งหลายตั้งชื่อว่า"พระเหลา" เพราะงามหล่อเหลาเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดอำนาจเจริญ

และด้วยพุทธลักษณะงดงามยิ่ง จึงได้รับฉายาว่า พระพุทธชินราชแห่งอีสาน นักโบราณคดีจากกรมศิลปากรสันนิษฐานว่า ทั้งโบสถ์และองค์พระประธานเป็นสถาปัตยกรรมในศิลปะลาวมีอายุราวพ.ศ.2263 เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน3ของทุกปี

ซึ่งถือกันว่าเป็นเทศกาลปิดทององค์พระเหลาเทพนิมิตร จะมีพุทธศาสนิกชนทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลกันมาบำเพ็ญบุญและแก้บนโดยนำปราสาทผึ้งมาทอดถวาย นำดอกไม้ธูปเทียนมาสักการะ กลายเป็นประเพณีปฏิบัติกันมามิขาดสาย

นี่เป็นเพียงน้ำจิ้มเล็กๆน้อยๆเท่านั้น เพราะที่จังหวัดอำนาจเจริญยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นของดีซุกซ่อนอยู่อีกหลากหลาย อย่างที่ "วัดถ้ำแสงเพชร" สำนักสงฆ์ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของวัดหนองป่าพง ที่มีเกจิดังแห่งภาคอีสานหลวงปู่ชา เคยมาพำนักบำเพ็ญธรรมอยู่

หรือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่าง "อุทยานแห่งชาติภูสระบัว" ที่มีเขตรอยต่อ 3 จังหวัด คือ มุกดาหาร ยโสธร และที่เขตอำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ ก็มีทิศทัศน์อันงดงามและความวิจิตรพิสดารของหินผาที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองให้ชม ใครที่กำลังคิดไปเยือนอีสานใต้แล้วผ่านไปทางอำนาจเจริญ ยังไงๆหากมีโอกาสก็น่าจะหาเวลาแวะเวียนไปเบิ่งของดีที่จังหวัดอำนาจเจริญกันบ้าง

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต2 โทร.0-4524-3770,0-4525-0714 โทรสาร.0-4524-3771

กำลังโหลดความคิดเห็น