xs
xsm
sm
md
lg

ซอพื้นบ้านล้านนา คุณค่าแห่งดนตรีที่ถูกเมิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปวงดอกไม้เบ่งบานสลอน........... ฝูงภมรแม่เผิ้งสอดไซร้
ดอกพิกุลของปี้ต้นใต้................ ลมปั๊ดไม้มาสู่บ้านตู๋
ฮู้แน่ชัดเข้าสอดสองหู................ว่าสีจมปูถูกปั๊มเก๊าเนิ้ง
เก๊ามันต๋ายป๋ายมันเซิ้ง................. ลำกิ่งเนิ้งต๋ายโค่นตวยแนว
ดอกพิกุลก่อคือดอกแก้ว.............. ไปเป๋นของเปิ้นแล้วเนอ.....


ท่อนหนึ่งจากบทเพลง "น้อยใจยา"ขับร้องโดย จรัล มโนเพ็ชร และ สุนทรี เวชานนท์

อรรถรสทางเสียงดนตรีนั้นไม่จำเป็นต้องฟังรู้เรื่องในภาษา ขอเพียงซึมซับในอารมณ์ศิลป์แห่งท่วงทำนองอันละเมียดได้ เราก็สามารถรับฟังได้อย่างมีความสุข ด้วยเหตุนี้กระมังเด็กหนุ่มสาวสมัยใหม่จึงเสพติดดนตรีจากทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น หรือประเทศตะวันตกกันอย่างง่ายๆ จนบางครั้งลืมที่จะเหลียวหลังกลับไปมองรากเหง้าแห่งต้นกำเนิดทางวัฒนธรรมของตน เป็นผลให้ศิลปะทางดนตรีเก่าแก่หลายๆแขนงถูกละเลยจนใกล้จะสูญหาย

จากบทเพลง "น้อยใจยา"ข้างต้นนี้เชื่อว่าหลายๆคนคงจะเคยได้ยินได้ฟังผ่านโสตสัมผัสกันมาบ้าง ต้นกำเนิดของบทเพลงนี้แต่เดิมนั้นเป็นบท "ละครซอ"ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในภาคเหนือ คำว่า "ซอ"ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง "ซอ"ที่เป็นเครื่องดนตรีไทย

แต่เป็นซอที่หมายถึง การขับขานด้วยท่วงทำนองภาษาเหนือที่ผู้แสดงจะต้องอาศัยไหวพริบ ปฏิภาณพูดจาโต้ตอบกันในลักษณะคำคล้องจอง มีดนตรีอย่างปี่และซึงเป็นส่วนประกอบเป็นดนตรีพื้นเมืองเก่าแก่ดั้งเดิมของชาวล้านนาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งหากเปรียบไปก็คล้ายกับหมอลำในทางภาคอีสานนั้นเอง

การเดินทางของวงซอ

จุดกำเนิดของซอมีความเป็นมาอย่างไรนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดแต่ก็มีการสันนิษฐานกันว่าคงเดินทางผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานพอสมควรดังเช่นที่ มาลา คำจันทร์ นักเขียนระดับรางวัลซีไรท์ที่ในวันนี้เขาเลือกให้คำจำกัดความตัวเองว่า ครูใหญ่แห่งโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

เขาได้บอกเล่าให้เราฟังว่า ซอไม่สามารถระบุต้นกำเนิดได้ แต่ก็มีช่างซอ(ภาษาเหนือเรียกจั้งซอ)บางคนที่อ้างถึงยุคหนึ่งในเมืองน่านครั้งที่ชาวเมืองน่านอพยพกันมาจากเมืองปัว แล้วต้องล่องน้ำน่านมาโดยใช้เวลานาน ก็เลยมีการร้องบทซอล้อเลียนกันจนปรับให้เข้าที่เข้าก็กลายมาเป็น "ซอล่องน่าน"

"เขาก็ว่าอย่างนั้นแต่ข้อเท็จจริงเราไม่ทราบมันไม่มีหลักฐานอะไรเหลืออยู่ แต่ถ้าดูจากลักษณะทางศิลปะแล้วถามผมว่าซอกำเนิดจากอะไร ซอก็กำเนิดจากอารมณ์สะเทือนใจซึ่งคำว่าสะเทือนมันคือศัพท์ทางวิชาการที่เรียกกันว่า "Shake emotion" เหมือนกับวรรณกรรมด้านอื่นๆที่พัฒนา คลี่คลาย ปรับปรุง จนลงตัว”ครูใหญ่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนากล่าว

ด้วยความยาวนานทางกาลเวลาจึงทำให้ซอแตกแขนงออกได้มากมายหลายประเภทขึ้นอยู่กับชนิดของงานที่ใช้แสดงซึ่งในเรื่องนี้ บุญศรี รัตนัง อายุ 54 ปี ศิลปินซอพื้นเมืองจังหวัดเชียงใหม่ได้อธิบายให้เราฟังว่า การขับซอของชาวล้านนานั้นจำแนกได้หลายทำนอง เช่น ทำนองจะปุ ทำนองระไม้ ทำนองล่องน่าน ทำนองเจ้าสุวัฒน์ นางบัวคำ ทำนองอือ ซึ่งจะใช้ในงานที่แตกต่างกันเช่นงานบวช งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ แต่ทุกครั้งในการซอช่างซอมักจะนิยมขึ้นต้นด้วย ทำนองตั้งเชียงใหม่ เป็นบทแรกในการซอ

นอกจากนี้ยังมีการซอที่ตอบโต้ระหว่างคน 2-3 คน เรียกว่า "ซอผาม" และการซอที่ต้องใช้คนแสดงจำนวนมากมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวต่าง ๆเรียกว่า "ละครซอ" เทคนิคของการซอจะต้องใช้คนที่มีระดับเสียงสูงกว่าปกติและที่สำคัญจะต้องเป็นคนที่มีความรู้ในภาษาเหนือดั้งเดิมเป็นอย่างดีถึงจะสามารถขับร้องซอได้

"การซอสามารถแสดงได้เกือบทุกงานยกเว้นงานศพเท่านั้นที่จะไม่ซอ เพราะคนภาคเหนือจะถือกันว่าถ้าศพยังไม่ได้เอาไปเผา เอาไปฝังแล้วเรามาซอมันเป็นเรื่องไม่ดี ซอจึงนิยมตามงานบุญมากกว่า อย่างถ้าไปซองานบุญก็จะเป็นเรื่องราวของพระพุทธองค์ประสูติที่ไหนตรัสรู้ที่ไหนปรินิพพานที่ไหน ถ้าไปซอในงานแต่งงานก็พูดถึงเจ้าบ่าวเจ้าสาว ถ้าไปงานขึ้นบ้านใหม่ก็ซอบรรยายถึงเรื่องปลูกบ้านบ้านนี้มีเสากี่ต้น ต้นไหนชื่ออะไร ช่างซอส่วนใหญ่จะต้องมีไหวพริบปฏิภาณดี เพราะการซอที่ดีจะต้องสด คนที่จะซอเก่งหรือไม่เก่งอยู่ที่ไหวพริบของตนเองและสำคัญว่ารู้กึ๋นถึงคำเมืองที่แท้จริงเป็นอย่างไร"บุญศรีกล่าว

รุ่มรวย สู่ ร่วงหล่น

หากการเกิดและดับเป็นธรรมดาของโลก ซอเองก็เช่นกันคงไม่สามารถหลีกหนีความจริงข้อนี้ได้พ้นในปัจจุบันช่างซอพื้นเมืองทั้งหลายล้วนรู้แก่ใจดีว่าซอได้ผ่านยุคแห่งความรุ่งเรืองมาแล้วและกำลังลดระดับลงมาเรื่อยๆ ซึ่งมาลา คำจันทร์ ได้แสดงทัศนะต่อเรื่องนี้ว่า ซอยังได้รับความนิยมสูงในกลุ่มคนชาวบ้าน แต่ในกลุ่มคนชั้นกลางที่เรียนสูงไม่มีใครสนใจ เพราะซอมันมีจริตบางอย่างที่คนมีการศึกษาไม่ชอบ ภาษาชาวบ้านกับภาษาของคนที่เรียนหนังสือมาก็ต่างกัน ภาษาชาวบ้านเป็นภาษาดั้งเดิมแต่คนรุ่นใหม่มีภาษากลางเข้ามาปนเยอะ

"สำหรับกลุ่มคนมีการศึกษาที่เขาเข้าใจหน้าที่กิจวิธีของซอเขาก็รับฟังได้ จะฟังซอในลักษณะการศึกษา ซอปัจจุบันมันก็เป็นแนวโน้มของวัฒนธรรมไทยที่เหมือนกันทุกแขนง เพราะคนเดี๋ยวนี้ถูกผลักให้เข้าไปนิยมชื่นชอบในความเป็นอื่นเกลียดความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต่างอะไรกับค่านิยมที่ว่าผู้หญิงสวยต้องผอมต้องงามแบบฝรั่ง" มาลา คำจันทร์ กล่าว

ซึ่งทัศนะนี้ก็คล้ายคลึงกับความเห็นของช่างซอระดับบรมครูอย่างแม่ครู จันทร์สม สายธารา ศิลปินแห่งชาติสาขาการแสดงพื้นบ้านล้านนา ปีพ.ศ.2539 ที่ได้กล่าวว่า ซอปัจจุบันกับในอดีตมีความแตกต่างกันมาก ซอปัจจุบันเน้นเป็นซอสตริงเข้าตามยุคตามสมัย เพราะถ้ายึดติดกับของเก่าก็ไม่มีใครสนใจฟัง

ส่วนการซอในอดีตเรียบร้อยไม่มีการเต้นไม่มีท่าทางรุงรัง จะนั่งเฉยๆคนเล่นซอต้องแต่งตัวเรียบร้อยคนซอใส่ผ้าถุงยาวใส่เสื้อแขนยาวเกล้าผมมวยเหน็บดอกเอื้อง ส่วนผู้ชายก็นุ่งกางเกงแพรใส่เสื้อบางๆซ้อนเสื้อกั๊กข้างใน ใช้วาทะโต้ตอบคนฟังจะรู้เรื่องว่าสาระของผู้ขับร้องว่าต่างคนต่างก็ใช้ไหวพริบและเชาว์ปัญญาที่น่าฟัง แต่ก่อนเป็นกันอย่างนี้

"สมัยก่อนมีหนุ่มสาวสนใจนิยมเข้ามาหัดเป็นช่างซอกันเยอะ การฝึกซอในสมัยก่อนก็เข้มงวดจะต้องทำพิธีขึ้นครูจากพ่อครู แม่ครู คือมี การยกครู โดยการฮ่ำโวหาร พร่ำพรรณาถึงครูอาจารย์ที่นับถือ ซึ่งจะมีขันหรือไม่มีขันก็ได้ หากมีขันก็มีขันอยู่ 2 ลักษณะ คือ ขันตั้ง (มีหมาก 1 หัว ดอก 16 กรวย หมากพลู 16 อัน เงิน 32 บาท) และขันซอ (เสื่อ หมอน ปี่ 1เล่ม เหล้า 1 ขวด มะพร้าว1 แขนง กะปิ น้ำปลา) ซึ่งถือว่าจะทำให้ซอไพเราะ ไม่มีเรื่องราวใด ๆ ระหว่างการซอเพราะมีครูมาช่วย เมื่อถ่ายทอดจนศิษย์เริ่มคล่องแล้ว ครูจะให้ศิษย์แยกวงไปเพราะหากอยู่รวมกันจะข่มกันเอง"แม่ครูจันทร์สมกล่าว

ในเรื่องนี้ บุญศรี รัตนัง เองก็เห็นด้วยที่ว่ายุคนี้ไม่ใช้ยุคของซออีกต่อไปแล้ว เขากล่าวอย่างเสียดายและสงสารในชะตากรรมของซอพื้นเมืองว่า ในอดีตซอได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่ชาวล้านนาไปที่ไหนๆก็มีซอ ซอสมัยก่อนจะได้เงินหลักร้อยซึ่งก็ถือว่าสูงมากในเวลานั้น แตกต่างจากตอนนี้มีเด็กรุ่นใหม่เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สนใจจะเรียนซอกันอย่างจริงจัง กลุ่มคนฟังในปัจจุบันโดยมากแล้วจะเป็นคนที่อยู่ในวัยกลางคนไปจนถึงวัยทองหนุ่มสาวหาได้ยากเต็มที

"เดี๋ยวนี้เรามียุทธวิธีในการนำซอมาดัดแปลงเป็นเพลงลูกทุ่งคงคล้ายๆกับหมอลำซิ่ง ต้องดัดแปลงอย่างนี้จึงจะเรียกเด็กหนุ่มสาวเข้ามาฟังได้ ในจังหวัดเชียงใหม่เองช่างซอมีมีเหลืออยู่ประมาณ 50 คณะมีหลายคนต้องเลิกอาชีพนี้เพราะขาดคนสืบทอด เราต้องนำซอมาประยุกต์เขากับเครื่องดนตรีฝรั่งเพื่อเรียกความสนใจจากกลุ่มคนรุ่นใหม่"

บุญศรียังชี้ให้เห็นปัญหาของที่เกิดขึ้นกับช่างซอว่า ในปัจจุบันมีคนมาจ้างไปแสดงงานหนึ่งได้รายได้วันละ 20,000-30,000 บาทแต่เมื่อหักค่าใช่จ่ายและต้องเลี้ยงลูกน้องในวงหลายสิบชีวิตก็แทบจะไม่เหลืออะไร

ยังมีหวัง

แม้ว่าช่างซอพื้นเมืองทุกคนจะรู้ดีว่า ณ เวลานี้ซอหาที่ยืนหยัดได้ยากยิ่ง แต่ก็พร้อมใจกันต่อสู้เพื่อต้องการอนุรักษ์ศิลปะมิให้สาบสูญ มาลา คำจันทร์ กล่าวในฐานะที่เขาเป็นชาวล้านนาโดยกำเนิดและเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนการคงอยู่ของศิลปะพื้นบ้านล้านนา ว่า ในอนาคตซอจะถูกนำไปสู่การอนุรักษ์ แต่จะให้มันมีบทบาทเด่นในสังคมดังที่เคยเป็นแบบเดิมคงเป็นไปไม่ได้ ซอเลยยุครุ่งเรืองมาแล้ว ตอนนี้กำลังเข้าสู่ภาวะขาลง แม้ตอนนี้จะพอโงหัวขึ้นได้บ้างเพราะมีคนเข้าใจซอมากขึ้นแล้วยอมรับซอมากขึ้น

"คนที่เคยรังเกียจซอเพราะไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น ที่คนเรียนหนังสือมาเขารังเกียจซอเพราะว่าซอบางทีมันมีเรื่องของเซ็กซ์การสมสู่ การร่วมเพศ เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าเรามองอย่างเข้าใจจะรู้ว่ามันเป็นขนบ ซึ่งผู้ร้องจะเลือกร้องไม่ร้องก็ได้

แต่ซอใช้ในงานรื่นเริงบางทีเริ่มเมามันก็มักจะโน้มนำไปสู่ตรงนี้ เพราแต่เดิมสังคมพื้นบ้านมันเก็บกดกันในเรื่องเพศ ก็เลยมาปล่อยกันในเรื่องของซอ ซึ่งกิจกรรมนี้ในสังคมไทยเราถือว่าต้องปกปิดลับลี้ในการซอก็ถือเป็นการปลดปล่อยพลังขับดันตรงนั้นออกมา แต่คนรุ่นใหม่ไม่เขาใจนึกว่าซอเป็นเรื่องโป๊ ทั้งที่จริงในสังคมไทยเรามันก็มีเรื่องที่โป๊ๆกันอยู่เยอะ

บางคนอาจจะคิดว่าเรื่องแบบนี้มาตะโกนโพนทะนาออกอาการคนรุ่นใหม่ที่ได้รับจริตแบบนักวิชาการก็จะไม่เข้าใจตรงจุดนี้ แต่ถ้าคนที่เข้าใจเข้าก็จะปล่อยๆไปบทบาทดั้งเดิมของซอก็ขีดวงจำกัดเฉพาะคนใช้ภาษาเหนือเท่านั้นมันสื่อสารกับคนนอกภาษาได้ยาก"มาลา คำจันทร์กล่าว

เมื่อถามว่าเขาเป็นห่วงเรื่องซอพื้นเมืองจะกลายเป็นอดีตที่กำลังจะลบเลือนหรือไม่ เขากล่าวว่า เรื่องของซอในถ้าพูดถึงเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่อีก 50-100 ปียังไม่น่าห่วงแนวทางในการอนุรักษ์ศิลปะดั้งเดิมของคนเมืองเชียงใหม่ยังเข้มข้นอยู่ แต่จังหวัดอื่นที่ขาดความมั่นใจในตนเองแล้วก็เริ่มที่จะเห็นดีเห็นงามไปกับอะไรต่างๆที่ส่งเข้ามาจากข้างนอกก็คงโดนกลืนไปเกือบหมดแล้ว

มาลา คำจันทร์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า"วัยรุ่นในเชียงใหม่เดี๋ยวนี้ก็มีช่างซอหนุ่มสาวที่เข้ามาช่วยกันอายุ 15- 16 ปีก็หลายคน ยังเป็นนักเรียนมัธยมปลาย แต่ก็สร้างบ้านให้พ่อแม่ได้ด้วยการขับร้องซอก็มี อย่างในโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เราก็สนับสนุนเต็มที่มีหลักสูตรสอน แต่ตอนนี้ก็มีแยกออกไปเป็น สมาคมสืบสานตำนานปี่ ซอ คือเขารวมตัวกันถึงขั้นเป็นสมาคม แล้วก็ดำเนินการถ่ายทอดกิจกรรมการเรียนการสอนไปด้วยตัวเองอนาคตซอในเชียงใหม่จึงพอมีหวัง"

ซึ่งคงไม่ต่างอะไรกับความคิดของ บุญศรี รัตนัง เท่าไหร่นักบุญศรีกล่าวอย่างห่วงใยในอนาคตของซอพื้นเมือง ขณะเดียวกันเขาก็ยังเชื่อมั่นว่าการปรับเปลี่ยนซอให้ทันยุคทันสมัย เป็นหนทางรอดอย่างหนึ่งของซอ

"ส่วนตัวผมไม่กลัวว่าซอจะหายไปเพราะเราเองก็ไม่ได้ยึดติด เรายอมรับในการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยคิดอยู่ตลอดเวลาว่าต้องทำซอแบบไหนคนถึงจะชอบ ถ้าคนเบื่อซอธรรมดาเราก็ประยุกต์ขึ้นมามีจังหวะมีกลอง มีเบส เข้ามาคนก็กลับมานิยมอีก เป็นอีกวิถีทางหนึ่งที่จะทำให้ซอคงอยู่ได้ แต่ยังไงก็อยากให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ซอไว้คู่กับล้านนาตลอดไป"

ซึ่งแม่ครูจันทร์สม สายธารา เองก็กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ทุกวันนี้แม้อายุจะปาเข้าไป 75 ปี แล้วก็ตามแต่แม่ครูก็ยังคงไม่ละทิ้งซอไม่ไหนยังคงร่วมอนุรักษ์ซออยู่ด้วยการจัดรายการ "มรดกล้านนา" ที่สถานีเสียงสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ FM100 ทุกวันพุธ เป็นการอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านอย่างซอพื้นเมืองไว้

"ซอพื้นเมืองจะมีคนนิยมต่อเมื่อผู้ขับซอมีฝีปากคมชัดเจน แล้วก็เนื้อหาสาระมีประโยชน์คนก็ต้องการฟังซอเดี๋ยวนี่ช่างซอรุ่นใหม่ๆเน้นหนักไปทางสารคดีที่มีประโยชน์ มีการปรับนำซอเข้าสู่ซีดี อย่างทางราชภัฏเชียงใหม่ก็มีการเรียนการสอนกันอยู่ สิ่งที่แม่ครูหวังไว้ก็คือการซอในอนาคตบทซอจะต้องเน้นวัฒนธรรมขับร้องให้เรียบร้อยไม่มีคำลามก ซอต้องยกระดับตัวเองจึงจะอยู่รอด"แม่ครูจันทร์สมกล่าวท้ายไว้อย่างน่าสนใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น