xs
xsm
sm
md
lg

สัมผัสวิถีชีวิตรามัญ ที่ "มอญสามโคก"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจดีย์มอญสร้างแบบเจดีย์ชเวดากองอันงดงามที่วัดท้ายเกาะใหญ่
"หนึ่งโคกเขตชื่อตั้ง     เมืองปทุม
มอญมากกว่าไทยคุม   พวกพ้อง
ทำอิฐโอ่งอ่างชุม         ตาลดก ดงนา
ยลแต่มอญไม่ต้อง      จิตเพ้อเสมอสมร"

บทนิราศของนายโมรา ทหารกรมมหาดเล็กตลกหลวง ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่งขึ้นเมื่อครั้งได้ตามเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอิน ทางเรือล่องไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เมื่อปี พ.ศ. 2426 และได้ผ่านเมืองสามโคกแห่งนี้

รู้จักสามโคก รู้จักชาวมอญ

จากบทนิราศนี้ทำให้รับรู้ได้ถึงวีถีชีวิตของชาวมอญ ที่ได้มาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองสามโคก หรือปัจจุบันก็คือ อ. สามโคก จ.ปทุมธานี หนึ่งในชุมชนชาวมอญที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย โดยประชากรชาวมอญที่มาอาศัยอยู่ที่สามโคกนี้ ได้อพยพเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราวพ.ศ.2202 ซึ่งพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวมอญเหล่านั้นไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคก นับเป็นครั้งแรกที่ชาวมอญได้เข้ามาตั้งบ้านเรือน
ชาวมอญสามโคกมีวิถีชีวิตอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ต่อจากนั้นชาวมอญก็ยังได้อพยพขึ้นมาอีกหลายครั้ง คือในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี และในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กรุงรัตนโกสินทร์ ดังนั้นจากชุมชนขนาดเล็กบ้านสามโคก จึงกลายเป็นเมืองสามโคกในเวลาต่อมา

เมื่ออดีตนั้นชาวมอญสามโคกถือว่ามีความเจริญรุ่งเรืองมาก อาศัยปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และมีอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาขายจนมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักกันในนามของ "ตุ่มสามโคก" หรือที่ชาวรามัญเรียกกันว่า "อีเลิ้ง" แต่เมื่อโลกก้าวหน้าวิวัฒนาการสมัยใหม่ย่างกรายเข้ามา วิถีชีวิตของชาวมอญสามโคก ก็เริ่มแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามกาลเวลา

"เดี๋ยวนี้อาชีพมีหลายอย่างหลายแบบ มีอาชีพทำโรงงานเป็นส่วนมาก แล้วก็อาชีพเป็นข้าราชการ ส่วนอาชีพเก่าแก่อย่างการปั้นโอ่งก็ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่น้อยเต็มทีไม่มากเหมือนแต่ก่อน"ลุงบุญชู ทองประยงค์ อายุ 76 ปี ชาวมอญสามโคกตั้งแต่เกิด ที่สามารถพูดและอ่านภาษามอญได้เป็นอย่างดี ถ่ายทอดความเป็นชาวมอญสามโคกให้ฟัง

ลุงบุญชูบอกว่า เดี๋ยวนี้ความเป็นชาวมอญสามโคกยังคงมีอยู่ ถึงแม้ว่าจะไม่มากเหมือนเมื่ออดีต แต่ชาวมอญที่นี่ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ของชาวมอญไว้ให้ลูกหลานได้รู้จัก อย่างเช่นการอาราธนาศีล อาราธนาธรรมก็ใช้ทั้ง 2 ภาษา สุดแล้วแต่เจ้าภาพจะเป็นมอญหรือเป็นไทย เป็นมอญก็ใช้ภาษามอญ เป็นไทยก็ใช้ภาษาไทย แล้วก็การที่ออกจะไปทำบุญที่วัดก็ยังดำเนินแบบวิถีชาวมอญอยู่

"ชาวมอญที่สามโคกเริ่มมีการรวมกลุ่มกันเพื่อรักษาวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวมอญไว้ อย่างเรื่องของการจัดการท่องเที่ยวให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาถึงวิถีชีวิตของชาวมอญสามโคก ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่จะทำให้คนอื่นได้รู้จักชาวมอญสามโคกมากขึ้น ก็อยากจะชวนให้ทุกคนมาเที่ยวที่สามโคก" ลุงบุญชูกล่าวเชื้อเชิญด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม

เยือนสามโคก เที่ยวท่องวีถีมอญ

สำหรับการเดินทางมาเที่ยวชุมชนมอญที่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานีนี้ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกเดินทางมาเที่ยวได้ทั้งทางบกและทางน้ำ ที่สามโคกแห่งนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวที่ให้ความรู้เกี่ยวกับชาวมอญสามโคกที่น่าสนใจมากมาย

อย่างที่ โบราณสถานเตาโอ่งอ่าง ที่มาของชื่อสามโคก อันเกิดมาจากเนินซากเตาเผาสมัยโบราณ 3 เนิน หรือ 3 โคก ตั้งห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 100 ม. เตาเผาโบราณนี้มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์มากที่สุด ภายในมีเศษภาชนะหินเผา เครื่องถ้วยชาม เศษอิฐมอญ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยชามจีน กระจายอยู่ทั่วบริเวณ

จากนั้นมากันที่ วัดสิงห์ วัดเก่าแก่คู่เมืองสามโคกตั้งแต่อยุธยา ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์เก่าแก่ที่กำลังบูรณะใหม่ ใกล้กับโบสถ์มีโกศบรรจุอัฐิหลวงพ่อพญากราย พระมอญธุดงค์ ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัด ใกล้กันนั้นยังมีศาลาดิน วิหารไม้ทรงไทยที่ภายในมีหลวงพ่อโต พระพุทธรูปลงรักปิดทองปางมารวิชัยศิลปะอยุธยา และหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปปางไสยาสน์ นอกจากนี้บนกุฏิวัดยังมีโบราณวัตถุศิลปะมอญเก็บรวบรวมไว้เป็นจำนวนมาก อาทิ พระพุทธรูปต่างๆ ข้าวของเครื่องใช้ชาวมอญ ตู้พระธรรมลายรดน้ำ ฯลฯ

จากวัดสิงห์มาลงเรือที่วัดสามัคคิยาราม เพื่อล่องแม่น้ำเจ้าพระยา ชมวิถีชีวิตชาวมอญที่นิยมปลูกบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำ และมาขึ้นฝั่งที่ วัดศาลาแดงเหนือ เป็นวัดที่มีความน่าสนใจตรงที่มีเจดีย์มอญบรรจุพระเกศธาตุของพระพุทธเจ้า มีหอพระไตรปิฎกศิลปะแบบมอญ และมีข้าวของเครื่องใช้โบราณอย่างเครื่องกรองน้ำโบราณ อันเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านให้ได้ชมกัน

พอออกจากวัดก็เดินตรงไปยัง หมู่บ้านวัฒนธรรมบ้านศาลาแดงเหนือ เป็นหมู่บ้านที่มีวิถีชีวิตแบบชาวไทย-รามัญ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ยังรักษาประเพณี วัฒนธรรมของชาวมอญไว้ ชาวบ้านที่นี่รักความสงบ รักษาศีลและวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวพุทธ ยังคงไปวัดฟังสวดมนต์ภาษามอญที่วัดศาลาแดงเหนือทุกบ่ายสามโมงเป็นประจำ

จากนั้นลงเรืออีกครั้งตรงไปยัง วัดท้ายเกาะใหญ่ เพื่อไปชมเจดีย์มอญ ที่สร้างตามแบบเจดีย์ชเวดากองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและมีความงดงามมาก มีพระพุทธรูปหยกขาว และมีกุฏิเรือนไทยที่สวยงาม และด้านหน้าวัดติดริมแม่น้ำมีศาลาสองหลังต่อกัน ซึ่งเคยเป็นที่ประทับในครั้งเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ ร.ศ. 125

แล้วมาเที่ยวกันต่อที่ วัดเจดีย์ทอง ที่วัดนี้มีพระพุทธรูปหยกขาว ปางมารวิชัยศิลปะมอญประดิษฐานอยู่ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการของชาวไทย-รามัญ และมีเจดีย์มอญรูปแบบเจดีย์อานันทะแห่งเมืองพุกาม ประเทศพม่า ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมรายล้อมด้วยกำแพงแก้ว สร้างโดยช่างฝีมือชาวรามัญ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท ใกล้ๆกันมีเจดีย์ใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิศิลปะพม่าและมอญผสมผสมผสานกันดูแปลกตาน่าชมยิ่งนัก

และออกจากวัดเดินไปเที่ยว หมู่บ้านวัฒนธรรมบ้านเจดีย์ทอง เป็นชุมชนมอญที่อพยพเข้ามาเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยปลูกแบบเรือนมอญขวางริมน้ำ และปลูกรั้วโมกตลอดสองฝั่งบ้าน ภายในหมู่บ้านยังคงเก็บรักษาตุ่ม กระบุง เครื่องใช้พื้นบ้านไว้ และบริเวณหมู่บ้านมีการปลูกต้นมะตาด พืชผลที่นำมาปรุงอาหารตามตำรับมอญ

สุดท้ายมาเที่ยวกันที่ พิพิธภัณฑ์บ้านมอญสามเรือน ก่อตั้งขึ้นโดยบุญส่ง โคมลอย ซึ่งเป็นชาวบ้านสามเรือนเชื้อสายมอญ ที่ต้องการสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาเพื่อให้ลูกหลานชาวมอญได้รู้จักบรรพบุรุษของตัวเอง และผู้ที่สนใจจะได้รู้จักชาวมอญสามโคก ตัวพิพิธภัณฑ์มีขนาดเล็กๆ เป็นเรือนมอญขวาง สร้างด้วยไม้ตาลทั้งหลัง ภายในจัดแสดงเรื่องราวการอพยพของชาวมอญ เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ หนังสือ ศิลปวัฒนธรรมของชาวมอญไว้มากมาย ควรค่าแก่การมาเที่ยวชมและสัมผัสกับหลากวีถีชีวิตอันมีสีสัน ของเสน่ห์ของ "มอญสามโคก"

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

การเดินทางจากรุงเทพฯ มายังอ.สามโคก จ.ปทุมธานี ถ้ามาจากถนนติวานนท์ผ่านห้าแยกปากเกร็ด สี่แยกบางพูนตรงมาข้ามสะพานปทุมธานี แล้วเลี้ยวขวาที่สี่แยกสันติสุข เข้าทางหลวง 3111 ก็จะเข้าเขตพื้นที่อ.สามโคก ติดต่อสามถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สนง.จ.ปทุมธานี โทร. 0-2581-7667 ศูนย์การท่องเที่ยว กีฬาและนันทนาการจ.ปทุมธานี โทร. 0-2904-6503-4

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

รู้จัก...แล้วจะรักมอญ ที่ "บ้านมอญบางกระดี่"
กำลังโหลดความคิดเห็น