หลังจากที่ได้ไปตามรอยกะปอมยักษ์ หรือไดโนเสาร์กันที่จังหวัดขอนแก่นและกาฬสินธุ์กันไปเมื่อตอนที่แล้ว ในทริปนี้ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ก็ยังต้องเดินทางต่อไปใน "เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยกะปอมยักษ์ จากอีสานสู่สะหวันนะเขต" ซึ่งในวันนี้เราจะไปตามหาร่องรอยของไดโนเสาร์กันที่ "อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ" จังหวัดมุกดาหารกัน
ที่อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบนี้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่โด่งดังแห่งหนึ่งของจังหวัดมุกดาหาร และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์อีกด้วย
ร่องรอยของไดโนเสาร์ที่อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบนี้แม้จะมีไม่มากนัก แต่ก็ถือว่าน่าสนใจ โดยได้พบกระดูกไดโนเสาร์ชิ้นเล็กๆ บนลานมุจลินท์ ลานหินเรียบที่ทอดยาวไปไกลกว่า 1,200 เมตร โดยซากกระดูกที่พบนี้สันนิษฐานว่าจะเป็นไดโนเสาร์กินพืช พบอยู่ 2 จุดด้วยกัน มีระยะห่างกันประมาณ 500 เมตร
กระดูกไดโนเสาร์ทั้งสองจุดที่ว่านี้ หากไม่มีคนบอก "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ก็คงไม่รู้ เพราะบนลานหินกว้างนี้ กระดูกไดโนเสาร์ก็เป็นเหมือนจุดสีขาวๆ อยู่บนลานหินเท่านั้น แต่สำหรับนักธรณีวิทยาคงสังเกตได้ง่าย เพราะการแยกความแตกต่างระหว่างกระดูกสัตว์ดึกดำบรรพ์ออกจากหินหรือดินนั้นเป็นบทเรียนแรกๆ ที่จะต้องเรียนรู้
สำหรับกระดูกไดโนเสาร์จุดแรกบนลานมุจลินท์นั้น เหลือเพียงแต่รอยสีขาวๆ ไว้ให้เห็น เพราะส่วนที่เป็นกระดูกนั้นโดนพวกเห็นแก่ตัวกะเทาะเอาไปสะสมที่บ้านเสียแล้ว ส่วนในจุดที่สองยังคงมีชิ้นส่วนกระดูกให้เห็น สันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นกระดูกส่วนหางหรือไม่ก็กระดูกขา และเชื่อว่าคงเป็นกระดูกของไดโนเสาร์ที่ล้มตายที่อื่นและถูกกระแสน้ำพัดพาเศษกระดูกมาที่บริเวณนี้
นอกจากร่องรอยของไดโนเสาร์แล้ว ที่นี่ก็ยังมี "ถ้ำฝ่ามือแดง" อยู่ที่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติมุกดาหาร 1 (ห้วยสิงห์) ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติมุกดาหารประมาณ 8 กิโลเมตร รอยฝ่ามือแดงนี้สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของมนุษย์โบราณอายุมากกว่า 5,000 ปี เสียอีก โดยรอยฝ่ามือที่มีนั้น 2 มือ เป็นลักษณะการจุ่มสีแล้วทาบลงไปบนผนังหิน ส่วนอีก 4 มือ เป็นการวางมือทาบบนผนังหินแล้วใช้สีทับ เป็นร่องรอยการสื่อความหมายของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ไหนๆ เราก็ได้มาที่อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบกันแล้ว ก็ออกเดินเที่ยวเสียหน่อยดีกว่า เพราะที่นี่ก็มีอะไรน่าสนใจมิใช่น้อย นั่นก็คือประติมากรรมหินที่มีรูปร่างแปลกตา ที่เรียกว่า "กลุ่มหินเทิบ" ซึ่งเป็นหินทรายที่มีอายุนับร้อยล้านปีวางทับซ้อนกันอยู่เป็นรูปร่างๆ ต่างๆ สามารถจินตนาการไปได้ตามที่ตาเห็น เช่น รูปจานบิน เห็ด เก๋งจีน มงกุฎ หัวจระเข้ หอยสังข์ ฯลฯ
ที่เกิดเป็นประติมากรรมธรรมชาติได้อย่างนี้ก็เนื่องจากว่า เมื่อก่อนบริเวณนี้เคยจมอยู่ใต้น้ำมาก่อน เมื่อโลกโก่งตัวขึ้นมาก็เกิดแดดเผาน้ำ ลมพัด เซาะทำให้หินแต่ละก้อนกลายเป็นรูปร่างลักษณะต่างๆ กัน นอกจากนั้นบนลานหินก็ยังมีเศษกรวดทราย ซึ่งก็ไม่ใช่ว่ามีใครขนทรายขึ้นมา แต่เป็นเพราะลมและฝนที่ยังกัดกร่อนพื้นหินตรงนี้ตลอดเวลา ทำให้กินกร่อนออกมาเป็นเศษกรวดทรายอย่างที่เห็น
และนอกจากกลุ่มหินเทิบรูปร่างแปลกตาเหล่านี้แล้ว ในช่วงประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคม บนลานมุจลินท์ยังละลานตาไปด้วยดอกไม้ป่า ซึ่งเป็นพืชขนาดเล็กจำพวกดอกหญ้า เช่น ดอกสร้อยสุวรรณา หยาดน้ำค้าง ดุสิตา ฯลฯ และหากมาในหน้าน้ำก็อย่าพลาดชมน้ำตกต่างๆ เช่น น้ำตกวังเดือนห้า น้ำตกขนาดเล็กเกิดจากสายธารที่ไหลผ่านลานหินมุจลินท์ และน้ำตกภูถ้ำพระ อยู่ใกล้กับภูถ้ำพระ ซึ่งภายในมีลักษณะเป็นถ้ำมีพระพุทธรูปไม้หลายองค์และรูปปั้นสัตว์ต่างๆ ซึ่งชาวบ้านนำไปเก็บไว้
คราวนี้ข้ามไปดูไดโนเสาร์ฝั่งประเทศลาว ที่แขวงสะหวันนะเขตกันบ้าง ครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ได้ใช้บริการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่สอง เพื่อข้ามไปยังแขวงสะหวันนะเขต แขวงที่ใหญ่เป็นอันดับที่สองของลาว แต่มีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศลาว
การที่มีการตั้งพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ขึ้นที่แขวงสะหวันนะเขตก็เพราะมีการขุดค้นพบซากกระดูกไดโนเสาร์มากมายที่แขวงนี้ ดังนั้นไดโนเสาร์จึงเป็นตัวสร้างชื่อให้กับแขวงสะหวันนะเขตไม่น้อย เพราะนักท่องเที่ยวทั้งชาวลาวและชาวต่างชาติก็นิยมมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นจำนวนมาก แถมในเมืองสะหวันนะเขตก็ยังสร้างบรรยากาศของการเป็นเมืองไดโนเสาร์ด้วยการนำเอาไดโนเสาร์คอยาวมาตั้งไว้กลางวงเวียนบนถนนใหญ่ ใครผ่านไปผ่านมาก็ได้ชมไดโนเสาร์กันทุกคน
"ผู้จัดการท่องเที่ยว" ขอเท้าความเกี่ยวกับไดโนเสาร์ก่อนเข้าชมภายในพิพิธภัณฑ์สักนิดหนึ่งว่า การค้นพบซากกระดูกไดโนเสาร์ในประเทศลาวนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่ในปี พ.ศ.2479 นักธรณีศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า "โรเฟ" ได้มาทำแผนที่ธรณีศาสตร์ทางภาคใต้ของประเทศลาว และในระหว่างนั้นท่านก็ได้พบซากกระดูกส่วนสะโพกและกระดูกหางของไดโนเสาร์ที่บ้านตั่งหวาย เมืองชนบุลี และได้ตีพิมพ์ข้อมูลนี้ลงในเอกสารหลายฉบับ โดยรายงานว่าที่ประเทศลาวนี้มีไดโนเสาร์สองขา ชนิดกินหญ้า (กินพืช) และชนิดสี่ตีน ภายหลังไดโนเสาร์ที่โรเฟค้นพบนี้ก็ได้ชื่อว่า Tangvayosaurus Hoffeti
แต่ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง โรเฟถูกทหารญี่ปุ่นฆ่าตาย และภายหลังจากนั้นมาอีก 55 ปี คณะค้นคว้าด้านสัตวศาสตร์และพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศสและชาวลาวได้ค้นพบสถานที่ที่มีซากกระดูกซึ่งโรเฟได้ศึกษาไว้แล้วในเขตเมืองพะลานไช และบริเวณใกล้เคียงกับบ้านตั่งหวาย นอกจากนั้นคณะค้นคว้ากลุ่มนี้ได้พบซากกระดูกของไดโนเสาร์เพิ่มเติมอีกด้วย
หลังจากนั้นก็มีการขุดค้นพบกระดูกไดโนเสาร์เรื่อยมา เช่นในปี พ.ศ.2534 ก็ได้มีการค้นพบซากกระดูกไดโนเสาร์ชนิด 4 ขา ซึ่งกระดูกที่พบนี้เป็นกระดูกขาหลัง และกระดูกหาง 39 ท่อน นอกจากนั้น ในจุดบริเวณใกล้กับบ้านตั่งหวายประมาณ 500 เมตร ก็ได้พบซากกระดูกไดโนเสาร์เกือบครบถ้วน โดยในเวลานี้กำลังขุดค้นอยู่ หากจัดการเรียบร้อนแล้วก็อาจจะเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ในอนาคต
แต่สรุปแล้วซากกระดูกไดโนเสาร์ที่พบนี้ก็พบทั้งหมด 4 ชนิดด้วยกัน คือไดโนเสาร์สองเท้าชนิดกินพืช รูปร่างคล้ายกิ้งก่า ไดโนเสาร์สี่เท้าชนิดกินหญ้า ไดโนเสาร์สองเท้าชนิดกินเนื้อ และไดโนเสาร์ปากนกแก้ว
คราวนี้มาว่ากันด้วยเรื่องของข้าวของภายในพิพิธภัณฑ์กันบ้างดีกว่า ที่พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ของลาวนี้ แม้จะมีขนาดเล็ก คือเป็นอาคารชั้นเดียว มีห้องจัดแสดงเพียงห้องเดียว แต่ข้าวของภายในพิพิธภัณฑ์ก็นับว่าไม่ธรรมดา เพราะกระดูกไดโนเสาร์ที่พบนั้นเป็นชิ้นเบิ้มๆ ทั้งนั้น โดยภายในอาคารชั้นเดียวนี้เป็นที่รวบรวมบรรดาซากกระดูกไดโนเสาร์ที่พบตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศลาว รวมถึงซากฟอสซิลปลา หอย และเต่า ซึ่งรวมๆ แล้วก็เป็นสิบตู้ที่จัดแสดงอยู่ภายใน
แม้ที่พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่สะหวันนะเขตจะมีพื้นที่น้อย ไม่มีโครงกระดูกไดโนเสาร์จำลองดูน่าเกรงขามเหมือนอย่างของเรา แต่ที่นี่ก็แก้ปัญหาอย่างน่ารักด้วยการวาดรูปไดโนเสาร์ลงบนผนังพิพิธภัณฑ์ แล้วก็นำเอากระดูกที่ขุดค้นได้ไปติดประกอบไว้ในรูปภาพเสียเลย ก็เป็นการอธิบายที่เห็นภาพและเข้าใจง่ายดี แถมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากอีกต่างหาก แถมเจ้าหน้าที่ที่นี่ก็ยังน่ารักและเต็มใจให้ข้อมูลอย่างเต็มที่อีกต่างหาก การมาชมพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่สะหวันนะเขตนี้จึงประทับใจ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ไม่น้อย
ตามรอยกะปอมยักษ์กันมาถึง 3 จังหวัดกับอีก 1 ประเทศ ตอนนี้ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ก็เริ่มจะมีความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์มากขึ้นจนชักจะอยากย้อนยุคกลับไปเห็นโลกล้านปีขึ้นมาตงิดๆ ส่วนพ่อแม่พี่น้องท่านไหนที่อยากจะให้ลูกหลานได้สนุกสนานแถมได้ความรู้ในช่วงปิดเทอมนี้ละก็ ไม่ควรพลาดเส้นทางนี้เป็นอย่างยิ่ง "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ขอบอก
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ผู้ที่สนใจ "เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยกะปอมยักษ์ จากอีสานสู่สะหวันนะเขต" สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 4 โทร.0-4251-3490 ถึง 2
อ่าน ตะลุยแดนอีสาน ตามรอย"กะปอมยักษ์" ตอน 1 ได้ที่นี่
ที่พักในจังหวัดมุกดาหาร ร้านอาหารในจังหวัดมุกดาหาร
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
เที่ยว"ภูผาเทิบ"อันซีนมุกดาหาร
“มุกดาหาร” เมืองสำราญชายฝั่งโขง
เที่ยวแบบบ้าน ๆ มุกดาหาร-สะหวันนะเขต (1)
เที่ยวแบบบ้าน ๆ มุกดาหาร-สะหวันนะเขต (จบ)