โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
ถ้าพูดถึงชาวมอญขึ้นมา หลายคนอาจจะนึกถึงมอญพระประแดง (สมุทรปราการ) มอญเกาะเกร็ด (นนทบุรี) หรือมอญสามโคก (ปทุมธานี) แต่หลังจากที่ฉันได้ร่วมทางไปกับสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขาจัดโครงการ "รู้จักแล้วจะรักมอญ" หรือที่เรียกเป็นภาษามอญว่า "แตม-ชาน-โมน" นั้น ก็ทำให้ฉันรู้ว่า ในกรุงเทพฯ ก็มีชุมชนชาวมอญอยู่เช่นกัน นั่นก็คือที่ชุมชนมอญบางกระดี่ เขตบางขุนเทียนนี่เอง
ฉันมาเยี่ยมชุมชนชาวมอญบางกระดี่ในวันพระใหญ่ขึ้น 15 ค่ำพอดี ซึ่งก็เป็นโอกาสดีที่ฉันจะได้เห็นภาพวิถีชีวิตของชาวมอญที่ต่างก็ออกมาทำบุญตักบาตรกันที่วัดบางกระดี่ วัดศูนย์รวมของชาวมอญบางกระดี่กันตั้งแต่เช้า ที่เขาบอกว่าชาวมอญยังคงยึดมั่นในพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่นนั้นเห็นจะจริง เพราะบนศาลาการเปรียญนั้นมีผู้คนที่มาร่วมทำบุญตักบาตรอยู่เต็มไปหมด การแต่งกายนั้นก็ยังคงเป็นแบบมอญ ผู้ชายมีผ้าขาวม้าพาดบ่า หรือบางคนก็ผูกผ้าไว้ที่เอว ส่วนผู้หญิงก็นุ่งผ้าถุงและมีผ้าคล้องคอ บ้างก็พาดเป็นผ้าสไบทิ้งชาย ดูแล้วเป็นเอกลักษณ์กลมกลืนกันดี
และในวันพระนี่เอง ที่ชาวมอญจะได้มา "ทำบุญตักบาตร ถือศีล กินแกงรวม" ทำบุญร่วมกัน สำหรับการทำบุญตักบาตรและถือศีลนั้นพุทธศาสนิกชนก็คงจะรู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่การกิน "แกงรวม" นี่สิ ถ้าไม่ใช่ชาวมอญบางกระดี่ก็คงจะไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรกันแน่
แม้ฉันจะไม่ได้เป็นคนมอญบางกระดี่ แต่ในฐานะที่เป็นผู้ซึ่งได้ลิ้มรสแกงรวมมาแล้วก็จะขออธิบายให้ฟังว่า แกงรวมนั้นก็คือกับข้าวที่ชาวบ้านนำไปทำบุญตักบาตรพระที่วัดนั่นเอง ชาวบ้านแต่ละคนก็จะทำกับข้าวมาคนละอย่างทั้งแกงเผ็ดแกงจืด ของผัดของทอด และเมื่อจะนำอาหารนั้นถวายพระ ทางวัดก็จะนำชามใบใหญ่มาให้ใส่อาหาร แต่ชาวบ้านหลายคนอาหารก็หลายอย่าง ชามที่ใส่ไม่พอ จึงต้องแยกประเภทโดยการรวมแกงจืดเข้าด้วยกันหม้อหนึ่ง แกงเผ็ดไว้อีกหม้อหนึ่ง ดังนั้นแกงไก่จึงอาจจะรวมอยู่กับแกงปลาดุก มีแกงส้มปนอยู่ด้วย รวมถึงแกงเขียวหวานลูกชิ้นก็จะรวมอยู่ในหม้อเดียวกัน
และหลังจากที่พระสงฆ์ฉันเช้าเรียบร้อยแล้ว แกงที่ยังอยู่ในหม้อก็จะถูกนำมาปรุงใหม่เพื่อทำเป็นแกงรวมให้ชาวบ้านที่มาทำบุญได้กินกันเป็นอาหารกลางวัน ที่ว่านำมาปรุงใหม่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าต้องมาใส่น้ำปลาน้ำตาลเพิ่มรสชาติกันใหม่ เพียงแต่นำมาอุ่นให้ร้อนและใส่ใบกะเพราลงไปเพื่อเพิ่มกลิ่นเพิ่มความหอมเท่านั้น ก็จะได้แกงรวมหนึ่งหม้อ
ฉันลองถามคุณลุงชาวมอญคนหนึ่งว่า แกงรวมที่ได้รสชาติเป็นอย่างไรบ้าง คุณลุงบอกว่า "รสชาติอร่อยอย่างบอกไม่ถูก" แหม... พูดมาอย่างนี้ก็เล่นเอาฉันอยากจะลองชิมแกงรวมขึ้นมาทันที และเมื่อได้ลองกินเข้าจริงๆ ก็เป็นอย่างที่คุณลุงว่า คืออร่อยอย่างบอกไม่ถูก เพราะว่าแกงรวมนี้รวมกันหลายแกง และแต่ละแกงก็อร่อยๆ ทั้งนั้นจนบอกไม่ถูกว่าอร่อยจากแกงอะไร เมื่อนำมารวมกันเข้าก็กลายเป็นความอร่อยอย่างบอกไม่ถูกจริงๆ ซึ่งถ้าใครอยากชิมก็ต้องมาที่ร่วมทำบุญที่วัดบางกระดี่ที่นี่ที่เดียว
และการที่ฉันมาเยี่ยมชมชุมชนชาวมอญบางกระดี่ในวันนี้ ก็ไม่ได้จะมาเพื่อกินแกงรวมอย่างเดียวหรอกนะ แต่ฉันยังตั้งใจจะมาชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนมอญบางกระดี่ด้วย เนื่องจากที่นี่เป็นชุมชนชาวมอญที่เรียกว่ายังคงยึดถือวิถีชาวมอญแบบดั้งเดิมไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพบ้านเรือนหรือการดำเนินชีวิต และที่น่าสนใจก็คือ มีโครงการที่จะส่งเสริมให้ชุมชนมอญบางกระดี่นี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารการท่องเที่ยวบ้านมอญบางกระดี่ขึ้น และร่วมกันจัดทำพิพิธภัณฑ์ชุมชนในบ้านที่มีความพร้อมขึ้นกลายแห่งด้วยกัน
และพิพิธภัณฑ์หลังแรกที่เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์ชุมชนบางกระดี่นี้ก็คือ "ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมอญ บางกระดี่" พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่รวบรวมเอาข้าวของเก่าแก่ทั้งหลายมาจัดแสดงไว้ แทนที่จะทิ้งไปหรือขายเป็นของเก่า ก็นำมาจัดแสดงเพื่อให้คนที่ไม่ใช่ชาวมอญ หรือชาวมอญรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเห็น ได้ทราบถึงความเป็นอยู่ของชาวมอญสมัยก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นตู้กับข้าว เตาไฟ ถ้วยชามที่ปัจจุบันชาวมอญบางบ้านอาจไม่ใช้แล้ว คัมภีร์อักษรมอญ เครื่องประดับโบราณ ฯลฯ นอกจากนั้นในพิพิธภัณฑ์ยังจัดเป็นมุมต่างๆ ที่จำลองให้เห็นวัฒนธรรมของชาวมอญ ทั้งการเกิดการตายไว้ให้ชมด้วย
หลังจากเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ข้าวของในพิพิธภัณฑ์เริ่มมีมากเสียจนล้น จนต้องขยายที่จัดแสดงมาที่บ้านข้างๆ ซึ่งมีข้าวของประเภทพระพุทธรูปและเครื่องดนตรีมอญโบราณ ที่นี่ฉันได้เห็นเครื่องดนตรีอย่างจะเข้ หรือที่เรียกให้ถูกควรจะเรียกว่าจระเข้มากกว่า เพราะเป็นการแกะไม้ให้เป็นรูปจระเข้ทั้งตัวประดับกระจกสวยงาม อีกทั้งยังมีกลองหน้าตาโบราณที่ทำที่แขวนเป็นรูปสัตว์ดูแล้วคล้ายครึ่งมังกรครึ่งม้าดูแปลกตาแต่ก็สวยงามและหาชมได้ยาก
หลังจากที่ได้เห็นเครื่องดนตรีกันไปแล้ว หากอยากจะฟังดนตรีแบบมอญก็ต้องมาที่ "บ้านทะแยมอญ" ซึ่งคำว่าทะแยมอญนี้เป็นคำเรียกวงดนตรีพื้นบ้านของชาวมอญในประเทศไทย คำว่า "ทะแย" นั้นน่าจะมาจากคำว่า "แตะเหยห์" เป็นภาษามอญแปลว่า ขับร้อง แต่คนไทยเรียกเพี้ยนไปเป็นทะแยจนมาถึงปัจจุบัน
ที่บ้านทะแยมอญนี้ ฉันได้ชมการแสดงทะแยมอญจาก "คณะหงส์ฟ้ารามัญ" วงทะแยมอญแห่งบ้านมอญบางกระดี่ที่ที่มีอยู่เพียงวงเดียวในกรุงเทพฯ และน่าจะเป็นวงเดียวในเมืองไทยด้วย คณะหงส์ฟ้ารามัญนี้มี คุณลุงกัลยา ปุงบางกระดี่ เป็นหัวหน้าคณะ การแสดงทะแยมอญที่ฉันได้ชมนี้ก็เป็นเหมือนลำตัด หรือเพลงฉ่อยของพื้นบ้านไทยนี่เอง โดยจะมีวงดนตรีแบบมอญและมีชายหญิงร้องเพลงโต้ตอบกันรวมทั้งร่ายรำประกอบ ซึ่งเรื่องราวที่ร้องกันในเพลงนั้นก็มักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนา คติสอนใจต่างๆ หรือเป็นการเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิง
เครื่องดนตรีของวงทะแยมอญนั้นก็น่าสนใจมิใช่น้อย โดยประกอบด้วย จะยาม (จะเข้) ปุงตัง (เปิงมาง) อะโลด (ขลุ่ย) หะเด (ฉิ่ง) และโกรเจิกป๊อย (ซอสามสายมอญ) ซึ่งเป็นซอที่หน้าตาเหมือนไวโอลินเปี๊ยบ แต่ท่าทางการเล่นเหมือนซอธรรมดา ดูแปลกตาแต่ก็ไพเราะดีเหมือนกัน
ไม่ไกลจากบ้านทะแยมอญ ฉันก็เดินไปเจอกับ "พิพิธภัณฑ์ภาพมอญบ้านชวา" บ้านที่รวบรวมเอาภาพทั้งเก่าทั้งใหม่ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวมอญบางกระดี่ที่รวบรวมมาจากชาวบ้านในชุมชนมาจัดแสดงไว้ ภาพเหล่านั้นก็มีทั้งภาพการบวช ภาพงานวันสงกรานต์ ภาพการแข่งเรือในคลองสนามชัย ซึ่งแม้บางภาพจะเป็นรูปถ่ายที่อายุไม่มากนัก แต่ก็ทำให้เห็นความเป็นไปของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวมอญบางกระดี่ได้ดี และจะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ต่อไปในอนาคต
ฉันได้คุยกับพี่วรพจน์ บุญกลั่น เจ้าของพิพิธภัณฑ์ภาพมอญถึงที่มาของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่า เกิดจากความคิดที่อยากจะให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมในชุมชนได้เห็นว่าเรามีของดีอยู่เยอะ ทั้งในเรื่องของประเพณีวัฒนธรรมที่ยังรักษาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น จึงเก็บรวบรวมภาพเก่าเหล่านี้จากชาวบ้านมาจัดแสดงไว้ แต่ในขณะนี้พิพิธภัณฑ์ก็ยังไม่สมบูรณ์ดีนัก โดยตั้งใจว่าจะจัดให้เป็นหมวดหมู่ ทำคำบรรยายภาพให้อ่านเข้าใจ และน่าจะเสร็จสมบูรณ์ช่วงวันสงกรานต์นี้
ในหมู่บ้านมอญบางกระดี่ยังมีพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งทั้งที่มีอยู่แล้วและกำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น "บ้านทำนา" ที่จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของชาวบางกระดี่สมัยก่อน "บ้านฉัตร-ธง" ที่มีการสาธิตการทำธงกระดาษ หรือเรียกในภาษามอญว่า "นู" ซึ่งเป็นธงที่ใช้สำหรับบูชาพระ นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีบ้านรักษ์ภาษามอญ บ้านแส้ บ้านขนมหวาน และพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจอีกหลายแห่งทีเดียว
แม้พิพิธภัณฑ์บางแห่งจะยังไม่สมบูรณ์ ไม่มีคำบรรยายหรืออธิบายรายละเอียดมากนัก แต่ต้องขอชมเชยลุงป้าน้าอาเจ้าของบ้านที่เต็มใจให้ข้อมูล อธิบายข้าวของแต่ละชิ้นที่มีอยู่ให้ฟังด้วยตัวเอง ซึ่งสำหรับฉันแล้วนับว่าดียิ่งกว่าการอ่านรายละเอียดเอาเองจากป้ายเสียอีก และการได้พูดคุยกับเจ้าบ้านนี่แหละที่ถือเป็นเสน่ห์ของพิพิธภัณฑ์ชุมชนซึ่งหาไม่ได้จากพิพิธภัณฑ์ทันสมัย และทำให้ฉันที่เพิ่งจะได้รู้จักกับคนมอญบางกระดี่นั้น...รักชาวมอญเข้าเสียแล้วสิ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ผู้ที่สนใจเยี่ยมชมชุมชนมอญบางกระดี่ โปรดติดต่อล่วงหน้าที่คณะกรรมการการท่องเที่ยวบ้านมอญบางกระดี่ สอบถามรายละเอียดโทร. 08-3155-0987, 08-1645-5445, 08-1923-2384, 08-6603-3038, 08-1810-1830
การเดินทางไปยังชุมชนมอญบางกระดี่ หากขับรถมาทางถนนพระราม 2 มุ่งหน้าจังหวัดสมุทรสาคร หลังจากลงสะพานวงแหวนถนนพระราม 2 จะมีทางแยกเข้าถนนบางกระดี่ทางซ้ายมือ วิ่งไปตามถนนบางกระดี่จนเจอสะพานสูงข้ามคลองสนามชัย ลงสะพานไปจะเจอวัดบางกระดี่อยู่ทางขวามือ ส่วนชุมชนมอญบางกระดี่จะอยู่ริมคลองสนามชัยใกล้กับวัด
ถ้าพูดถึงชาวมอญขึ้นมา หลายคนอาจจะนึกถึงมอญพระประแดง (สมุทรปราการ) มอญเกาะเกร็ด (นนทบุรี) หรือมอญสามโคก (ปทุมธานี) แต่หลังจากที่ฉันได้ร่วมทางไปกับสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขาจัดโครงการ "รู้จักแล้วจะรักมอญ" หรือที่เรียกเป็นภาษามอญว่า "แตม-ชาน-โมน" นั้น ก็ทำให้ฉันรู้ว่า ในกรุงเทพฯ ก็มีชุมชนชาวมอญอยู่เช่นกัน นั่นก็คือที่ชุมชนมอญบางกระดี่ เขตบางขุนเทียนนี่เอง
ฉันมาเยี่ยมชุมชนชาวมอญบางกระดี่ในวันพระใหญ่ขึ้น 15 ค่ำพอดี ซึ่งก็เป็นโอกาสดีที่ฉันจะได้เห็นภาพวิถีชีวิตของชาวมอญที่ต่างก็ออกมาทำบุญตักบาตรกันที่วัดบางกระดี่ วัดศูนย์รวมของชาวมอญบางกระดี่กันตั้งแต่เช้า ที่เขาบอกว่าชาวมอญยังคงยึดมั่นในพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่นนั้นเห็นจะจริง เพราะบนศาลาการเปรียญนั้นมีผู้คนที่มาร่วมทำบุญตักบาตรอยู่เต็มไปหมด การแต่งกายนั้นก็ยังคงเป็นแบบมอญ ผู้ชายมีผ้าขาวม้าพาดบ่า หรือบางคนก็ผูกผ้าไว้ที่เอว ส่วนผู้หญิงก็นุ่งผ้าถุงและมีผ้าคล้องคอ บ้างก็พาดเป็นผ้าสไบทิ้งชาย ดูแล้วเป็นเอกลักษณ์กลมกลืนกันดี
และในวันพระนี่เอง ที่ชาวมอญจะได้มา "ทำบุญตักบาตร ถือศีล กินแกงรวม" ทำบุญร่วมกัน สำหรับการทำบุญตักบาตรและถือศีลนั้นพุทธศาสนิกชนก็คงจะรู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่การกิน "แกงรวม" นี่สิ ถ้าไม่ใช่ชาวมอญบางกระดี่ก็คงจะไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรกันแน่
แม้ฉันจะไม่ได้เป็นคนมอญบางกระดี่ แต่ในฐานะที่เป็นผู้ซึ่งได้ลิ้มรสแกงรวมมาแล้วก็จะขออธิบายให้ฟังว่า แกงรวมนั้นก็คือกับข้าวที่ชาวบ้านนำไปทำบุญตักบาตรพระที่วัดนั่นเอง ชาวบ้านแต่ละคนก็จะทำกับข้าวมาคนละอย่างทั้งแกงเผ็ดแกงจืด ของผัดของทอด และเมื่อจะนำอาหารนั้นถวายพระ ทางวัดก็จะนำชามใบใหญ่มาให้ใส่อาหาร แต่ชาวบ้านหลายคนอาหารก็หลายอย่าง ชามที่ใส่ไม่พอ จึงต้องแยกประเภทโดยการรวมแกงจืดเข้าด้วยกันหม้อหนึ่ง แกงเผ็ดไว้อีกหม้อหนึ่ง ดังนั้นแกงไก่จึงอาจจะรวมอยู่กับแกงปลาดุก มีแกงส้มปนอยู่ด้วย รวมถึงแกงเขียวหวานลูกชิ้นก็จะรวมอยู่ในหม้อเดียวกัน
และหลังจากที่พระสงฆ์ฉันเช้าเรียบร้อยแล้ว แกงที่ยังอยู่ในหม้อก็จะถูกนำมาปรุงใหม่เพื่อทำเป็นแกงรวมให้ชาวบ้านที่มาทำบุญได้กินกันเป็นอาหารกลางวัน ที่ว่านำมาปรุงใหม่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าต้องมาใส่น้ำปลาน้ำตาลเพิ่มรสชาติกันใหม่ เพียงแต่นำมาอุ่นให้ร้อนและใส่ใบกะเพราลงไปเพื่อเพิ่มกลิ่นเพิ่มความหอมเท่านั้น ก็จะได้แกงรวมหนึ่งหม้อ
ฉันลองถามคุณลุงชาวมอญคนหนึ่งว่า แกงรวมที่ได้รสชาติเป็นอย่างไรบ้าง คุณลุงบอกว่า "รสชาติอร่อยอย่างบอกไม่ถูก" แหม... พูดมาอย่างนี้ก็เล่นเอาฉันอยากจะลองชิมแกงรวมขึ้นมาทันที และเมื่อได้ลองกินเข้าจริงๆ ก็เป็นอย่างที่คุณลุงว่า คืออร่อยอย่างบอกไม่ถูก เพราะว่าแกงรวมนี้รวมกันหลายแกง และแต่ละแกงก็อร่อยๆ ทั้งนั้นจนบอกไม่ถูกว่าอร่อยจากแกงอะไร เมื่อนำมารวมกันเข้าก็กลายเป็นความอร่อยอย่างบอกไม่ถูกจริงๆ ซึ่งถ้าใครอยากชิมก็ต้องมาที่ร่วมทำบุญที่วัดบางกระดี่ที่นี่ที่เดียว
และการที่ฉันมาเยี่ยมชมชุมชนชาวมอญบางกระดี่ในวันนี้ ก็ไม่ได้จะมาเพื่อกินแกงรวมอย่างเดียวหรอกนะ แต่ฉันยังตั้งใจจะมาชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนมอญบางกระดี่ด้วย เนื่องจากที่นี่เป็นชุมชนชาวมอญที่เรียกว่ายังคงยึดถือวิถีชาวมอญแบบดั้งเดิมไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพบ้านเรือนหรือการดำเนินชีวิต และที่น่าสนใจก็คือ มีโครงการที่จะส่งเสริมให้ชุมชนมอญบางกระดี่นี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารการท่องเที่ยวบ้านมอญบางกระดี่ขึ้น และร่วมกันจัดทำพิพิธภัณฑ์ชุมชนในบ้านที่มีความพร้อมขึ้นกลายแห่งด้วยกัน
และพิพิธภัณฑ์หลังแรกที่เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์ชุมชนบางกระดี่นี้ก็คือ "ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมอญ บางกระดี่" พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่รวบรวมเอาข้าวของเก่าแก่ทั้งหลายมาจัดแสดงไว้ แทนที่จะทิ้งไปหรือขายเป็นของเก่า ก็นำมาจัดแสดงเพื่อให้คนที่ไม่ใช่ชาวมอญ หรือชาวมอญรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเห็น ได้ทราบถึงความเป็นอยู่ของชาวมอญสมัยก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นตู้กับข้าว เตาไฟ ถ้วยชามที่ปัจจุบันชาวมอญบางบ้านอาจไม่ใช้แล้ว คัมภีร์อักษรมอญ เครื่องประดับโบราณ ฯลฯ นอกจากนั้นในพิพิธภัณฑ์ยังจัดเป็นมุมต่างๆ ที่จำลองให้เห็นวัฒนธรรมของชาวมอญ ทั้งการเกิดการตายไว้ให้ชมด้วย
หลังจากเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ข้าวของในพิพิธภัณฑ์เริ่มมีมากเสียจนล้น จนต้องขยายที่จัดแสดงมาที่บ้านข้างๆ ซึ่งมีข้าวของประเภทพระพุทธรูปและเครื่องดนตรีมอญโบราณ ที่นี่ฉันได้เห็นเครื่องดนตรีอย่างจะเข้ หรือที่เรียกให้ถูกควรจะเรียกว่าจระเข้มากกว่า เพราะเป็นการแกะไม้ให้เป็นรูปจระเข้ทั้งตัวประดับกระจกสวยงาม อีกทั้งยังมีกลองหน้าตาโบราณที่ทำที่แขวนเป็นรูปสัตว์ดูแล้วคล้ายครึ่งมังกรครึ่งม้าดูแปลกตาแต่ก็สวยงามและหาชมได้ยาก
หลังจากที่ได้เห็นเครื่องดนตรีกันไปแล้ว หากอยากจะฟังดนตรีแบบมอญก็ต้องมาที่ "บ้านทะแยมอญ" ซึ่งคำว่าทะแยมอญนี้เป็นคำเรียกวงดนตรีพื้นบ้านของชาวมอญในประเทศไทย คำว่า "ทะแย" นั้นน่าจะมาจากคำว่า "แตะเหยห์" เป็นภาษามอญแปลว่า ขับร้อง แต่คนไทยเรียกเพี้ยนไปเป็นทะแยจนมาถึงปัจจุบัน
ที่บ้านทะแยมอญนี้ ฉันได้ชมการแสดงทะแยมอญจาก "คณะหงส์ฟ้ารามัญ" วงทะแยมอญแห่งบ้านมอญบางกระดี่ที่ที่มีอยู่เพียงวงเดียวในกรุงเทพฯ และน่าจะเป็นวงเดียวในเมืองไทยด้วย คณะหงส์ฟ้ารามัญนี้มี คุณลุงกัลยา ปุงบางกระดี่ เป็นหัวหน้าคณะ การแสดงทะแยมอญที่ฉันได้ชมนี้ก็เป็นเหมือนลำตัด หรือเพลงฉ่อยของพื้นบ้านไทยนี่เอง โดยจะมีวงดนตรีแบบมอญและมีชายหญิงร้องเพลงโต้ตอบกันรวมทั้งร่ายรำประกอบ ซึ่งเรื่องราวที่ร้องกันในเพลงนั้นก็มักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนา คติสอนใจต่างๆ หรือเป็นการเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิง
เครื่องดนตรีของวงทะแยมอญนั้นก็น่าสนใจมิใช่น้อย โดยประกอบด้วย จะยาม (จะเข้) ปุงตัง (เปิงมาง) อะโลด (ขลุ่ย) หะเด (ฉิ่ง) และโกรเจิกป๊อย (ซอสามสายมอญ) ซึ่งเป็นซอที่หน้าตาเหมือนไวโอลินเปี๊ยบ แต่ท่าทางการเล่นเหมือนซอธรรมดา ดูแปลกตาแต่ก็ไพเราะดีเหมือนกัน
ไม่ไกลจากบ้านทะแยมอญ ฉันก็เดินไปเจอกับ "พิพิธภัณฑ์ภาพมอญบ้านชวา" บ้านที่รวบรวมเอาภาพทั้งเก่าทั้งใหม่ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวมอญบางกระดี่ที่รวบรวมมาจากชาวบ้านในชุมชนมาจัดแสดงไว้ ภาพเหล่านั้นก็มีทั้งภาพการบวช ภาพงานวันสงกรานต์ ภาพการแข่งเรือในคลองสนามชัย ซึ่งแม้บางภาพจะเป็นรูปถ่ายที่อายุไม่มากนัก แต่ก็ทำให้เห็นความเป็นไปของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวมอญบางกระดี่ได้ดี และจะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ต่อไปในอนาคต
ฉันได้คุยกับพี่วรพจน์ บุญกลั่น เจ้าของพิพิธภัณฑ์ภาพมอญถึงที่มาของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่า เกิดจากความคิดที่อยากจะให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมในชุมชนได้เห็นว่าเรามีของดีอยู่เยอะ ทั้งในเรื่องของประเพณีวัฒนธรรมที่ยังรักษาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น จึงเก็บรวบรวมภาพเก่าเหล่านี้จากชาวบ้านมาจัดแสดงไว้ แต่ในขณะนี้พิพิธภัณฑ์ก็ยังไม่สมบูรณ์ดีนัก โดยตั้งใจว่าจะจัดให้เป็นหมวดหมู่ ทำคำบรรยายภาพให้อ่านเข้าใจ และน่าจะเสร็จสมบูรณ์ช่วงวันสงกรานต์นี้
ในหมู่บ้านมอญบางกระดี่ยังมีพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งทั้งที่มีอยู่แล้วและกำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น "บ้านทำนา" ที่จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของชาวบางกระดี่สมัยก่อน "บ้านฉัตร-ธง" ที่มีการสาธิตการทำธงกระดาษ หรือเรียกในภาษามอญว่า "นู" ซึ่งเป็นธงที่ใช้สำหรับบูชาพระ นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีบ้านรักษ์ภาษามอญ บ้านแส้ บ้านขนมหวาน และพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจอีกหลายแห่งทีเดียว
แม้พิพิธภัณฑ์บางแห่งจะยังไม่สมบูรณ์ ไม่มีคำบรรยายหรืออธิบายรายละเอียดมากนัก แต่ต้องขอชมเชยลุงป้าน้าอาเจ้าของบ้านที่เต็มใจให้ข้อมูล อธิบายข้าวของแต่ละชิ้นที่มีอยู่ให้ฟังด้วยตัวเอง ซึ่งสำหรับฉันแล้วนับว่าดียิ่งกว่าการอ่านรายละเอียดเอาเองจากป้ายเสียอีก และการได้พูดคุยกับเจ้าบ้านนี่แหละที่ถือเป็นเสน่ห์ของพิพิธภัณฑ์ชุมชนซึ่งหาไม่ได้จากพิพิธภัณฑ์ทันสมัย และทำให้ฉันที่เพิ่งจะได้รู้จักกับคนมอญบางกระดี่นั้น...รักชาวมอญเข้าเสียแล้วสิ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ผู้ที่สนใจเยี่ยมชมชุมชนมอญบางกระดี่ โปรดติดต่อล่วงหน้าที่คณะกรรมการการท่องเที่ยวบ้านมอญบางกระดี่ สอบถามรายละเอียดโทร. 08-3155-0987, 08-1645-5445, 08-1923-2384, 08-6603-3038, 08-1810-1830
การเดินทางไปยังชุมชนมอญบางกระดี่ หากขับรถมาทางถนนพระราม 2 มุ่งหน้าจังหวัดสมุทรสาคร หลังจากลงสะพานวงแหวนถนนพระราม 2 จะมีทางแยกเข้าถนนบางกระดี่ทางซ้ายมือ วิ่งไปตามถนนบางกระดี่จนเจอสะพานสูงข้ามคลองสนามชัย ลงสะพานไปจะเจอวัดบางกระดี่อยู่ทางขวามือ ส่วนชุมชนมอญบางกระดี่จะอยู่ริมคลองสนามชัยใกล้กับวัด