xs
xsm
sm
md
lg

"โฮจิมินห์"...ซินจ๋าว (จบ) ตอน : สงครามมีแต่ผู้แพ้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : เหล็งฮู้ชง

"เอ็งมาข้ามุด เอ็งหยุดข้าแหย่ เอ็งแย่ข้าตี เอ็งหนีข้าตาม"

นี่คือยุทธวิธีการรบแบบกองโจร ซึ่งหนึ่งในประเทศที่ทำสงครามกองโจรแล้วประสบผลเป็นที่รู้จักดี ก็คือ"เวียดนาม"โดยเฉพาะช่วงสงครามเวียดนาม(ค.ศ.1957-1975)ที่แม้จะเป็นสงครามระหว่างเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ แต่ว่าศัตรูๆหลักของเวียดนาม(เหนือ)กลับเป็นทหารอเมริกัน

ในยุคนั้นอเมริกานับเป็นผู้สนับสนุนหลักของเวียดนามใต้ ที่ถึงแม้จะเป็นประเทศมหาอำนาจที่เพียบพร้อมไปด้วยกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัย แต่เมื่อมาเจอกับสงครามกองโจรของกองทัพปลดปล่อยประชาชนหรือพวกเวียดกงเข้า กองทัพอเมริกันที่ถนัดการรบตามตำราก็กระเจิดกระเจิง แพ้พ่ายพังพาบไปอย่างหมดรูป

มาวันนี้ สงครามเวียดนามยุติลงกว่า 30 ปีแล้ว แต่ทางรัฐบาลเวียดนามได้อนุรักษ์ร่องรอยสงครามบางส่วนไว้เพื่อการท่องเที่ยว โดยหนึ่งในรอยสงครามอันโดดเด่นเป็นดังเครื่องหมายแห่งสงครามกองโจรก็คือ"อุโมงค์กู๋จี" ที่เป็นภูมิปัญญาเวียดนามอันเรียบง่ายแต่ว่าก็แฝงไว้ด้วยอันตรายทุกฝีก้าว

อุโมงค์กู๋จี ตั้งอยู่ในอำเภอกู๋จี(อำเภอหนึ่งของเมืองไซ่ง่อน) อำเภอชายแดนที่อยู่ห่างจากกัมพูชาประมาณ 30 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวเมืองไซ่ง่อนราวๆ 70 กิโลเมตร เดิมกู๋จีเป็นเมืองพักผ่อนที่มากไปด้วยผลไม้นานาชนิด มีอากาศเย็นสบายคล้ายกับชุมพรบ้านเรา แต่เมื่อมีสงครามเกิดขึ้นเมืองกู๋จีก็ร้อนเป็นไฟ ชาวบ้านธรรมดาต้องมาช่วยทหารจับอาวุธต่อสู้กับศัตรู

ปฐมบทของการขุดอุโมงค์กู๋จีเริ่มขึ้นในสงครามเวียดนามรบฝรั่งเศส(ช่วงค.ศ.1940) ช่วงนั้นมีการขุดอุโมงค์บ้างเล็กน้อย กระทั่งมาถึงยุคเวียดนาม(เหนือ)รบกับอเมริกา ได้มีการขุดอุโมงค์เพิ่มมากขึ้น ทั้งเพื่อเป็นทางหนีทีไล่ เป็นที่พัก ที่อยู่ ที่กบดาน ที่ล่อและลอบสังหารศัตรู โดยชาวบ้านและเวียดกงใช้เพียง 2 มือจับพลั่วจับเสียมขุดดินลึกลงไปถึง 3 ชั้น คือ ชั้น 1 ลึก 3 เมตร ชั้น 2 ลึก 6-8 เมตร และชั้น 3 ลึก 10-12 เมตร

"เมื่อสงครามยืดเยื้ออุโมงค์กู๋จีก็ได้ขยายอาณาเขตแผ่ไพศาลออกไปมากขึ้น จากหมู่บ้านเป็นตำบล จากตำบลสู่อำเภอไปจนถึงจังหวัด กลายเป็นชุมชนใต้ดินที่มีเครือข่ายโยงใยในใต้ดินคล้ายรังปลวก ในนั้นมีทั้ง ที่พัก ตลาด โรงเรียน โรงครัว ห้องประชุม ห้องพยาบาล ฯลฯ ที่เป็นดังชุมชนขนาดย่อมใต้พื้นดิน"

คุณตั้มไกด์ชาวเวียดนามเล่าให้ฟัง เมื่อผมและคณะทัวร์เดินทางมาถึงยังพื้นที่ท่องเที่ยวของอุโมงค์กู๋จี ที่หากดูผ่านๆจะเห็นเป็นเพียงป่าโปร่งธรรมดาๆเท่านั้น ไม่มีวี่แววว่าจะมีทางซอกซอยอยู่ที่ในใต้ดินแต่อย่างใด จนเมื่อคุณตั้มบอกเจ้าหน้าที่คนหนึ่งให้สาธิตการลงอุโมงค์ให้กับนักท่องเที่ยวเท่านั้นแหละ ปริศนาแห่งนักรบปีศาจ ไป-มา ไร้ร่องรอย ก็กระจ่างแจ้งขึ้นมาทันที เพราะบนพื้นดินธรรมดาๆที่มากไปด้วยใบไม้ปกคลุม จู่ๆเจ้าหน้าที่คนนั้นก็แกะพื้นตรงเบื้องหน้ายกขึ้น มองเห็นเป็นช่องสี่เหลี่ยมขนาดพอดีตัว จากนั้นเขาก็หย่อนตัวหายลงไปในพื้นดิน พร้อมๆกับเลื่อนแผ่นพื้นดินมาปิดปากทางเข้า กลายเป็นพื้นดินธรรมดาๆที่ไม่มีที่ท่าว่าจะมีอุโมงค์ลึกลับซับซ้อนอยู่ข้างล่างแต่อย่างใด

หลังดูเจ้าหน้าที่กลายเป็นเวียดนามดำดินหายไปต่อหน้าต่อตา ทีนี่ก็ถึงคิวไทยดำดินอย่างผมบ้าง โดยจุดลงมุดใต้ดินของนักท่องเที่ยวนั้นง่ายกว่าของเจ้าหน้าที่เยอะเลย เพราะเป็นทางลงมีเพิงปกคลุมชัดเจน ครั้นเมื่อผมเดินตามเจ้าหน้าที่ลงไป ก็พบกับโถงดินเล็กๆนำทางลงสู่รูในชั้น 1 ที่ในนั้นยังมีทางแยกไปอีกหลายสาย บางสายก็นำลงไปสู่ชั้น 2 บางสายก็เป็นทางตันที่ทำไว้ดักศัตรู

ตลอดเส้นทางที่ผมเดินในอุโมงค์กู๋จีนั้น มันทั้งอึดอัด ทั้งคับแคบ มีขนาดแค่พอดีตัว เดินสวนกันไม่ได้ แถมยังต้องเดินโก้งโค้ง ย่อเข่า อย่างสุดเมื่อย เผลอแป๊บเดียวเท่านั้น เหงื่อแตกซิกๆ หายใจขัดฟืดฟาดเนื่องจากอากาศไม่พอ เรียกว่ารู้ซึ้งเลยว่ารสชาติการอยู่ในอุโมงค์นั้นมันทุกข์ยากสาหัสขนาดไหน

"สมัยก่อนคนที่อยู่ในอุโมงค์บากลำยากกว่านี้หลายเท่า เพราะข้างบนทหารอเมริกันจะทิ้งบอมบ์ตลอด ส่วนบนพื้นดินก็มีทั้งรถถังและทหารราบที่กระหน่ำยิง ด้วยเหตุนี้พวกเวียดกงกับชาวบ้านจึงจำเป็นต้องเลือกรบด้วยวิธีนี้ที่แม้จะลำบากยากเข็น แต่เมื่อต้องเลือกระหว่างเป็นกับตาย พวกเขาเลือกที่จะมีชีวิตอยู่"คุณตั้มอธิบายให้ฟัง

ใครที่ท้อแท้เมื่อได้มาเห็นการต่อสู้เพื่ออยู่รอดของชาวเวียดนามแล้ว บางทีกำลังใจอาจจะไหลมาเทมาก็เป็นได้

สำหรับสิ่งน่าสนใจในพื้นที่อุโมงค์กู๋จียังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะที่นี่ยังมีการสาธิตการทำอาวุธแบบภูมิปัญญาเวียดนาม อย่างกับดัก หลุมขวาก และอาวุธต่างๆ(ที่เก็บจากเศษอาวุธทิ้งแล้วของอเมริกันมาทำใหม่) ที่น่าทึ่งและน่าหวาดเสียวไม่น้อยทีเดียว นอกจากนี้ก็ยังมีอาวุธของอเมริกันอย่าง รถถัง ซากระเบิดจากเครื่องบินบี 52 หุ่นนักรบเวียดกงชาย-หญิง ตั้งแสดงไว้ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปคู่เป็นที่ระลึกอีกด้วย

หลังเพลิดเพลินกับอุโมงค์กู๋จี คุณตั้มพาผมกับคณะทัวร์กับเข้าสู่ตัวเมืองไซ่ง่อนอีกครั้ง เพื่อกินมื้อเที่ยงและออกเที่ยวตามรอยสงครามกันต่อที่ ทำเนียบประธานาธิบดี ที่ดูภายนอกเป็นอาคารสมัยใหม่ธรรมดาๆ แต่ว่าสำหรับคนเวียดนามแล้วนี่คืออาคารประวัติศาสตร์ที่สำคัญไม่น้อยเพราะเกี่ยวข้องกับการต่อสู้และการรวมชาติเวียดนาม

ภายในตัวอาคารมีการแบ่งเป็นห้องต่างๆ อาทิ ห้องประชุม ห้องรับรองแขก จุดชมวิวบนดาดฟ้าที่มองออกไปเห็นเฮลิคอปเตอร์ตั้งเด่นหราอยู่กลางลานจอด ส่วนที่น่าสนอีกห้องหนึ่งก็คือชั้นใต้ดิน ที่มีห้องลับมากมาย ทั้งเอาไว้บัญชาการและเป็นทางหนีทีไล่ของเจ้าหน้าที่ระดับสูง แต่สุดท้ายทำเนียบก็ถูกยึดจนได้ในวันไซ่ง่อนแตก( 30 เม.ย. ค.ศ. 1975) ซึ่งเวียดนามเหนือกำชัยชนะเบ็ดเสร็จต่อเวียดนามใต้ กลายเป็นประเทศเวียดนามเพียงหนึ่งเดียวตั้งแต่นั้นมา

จากทำเนียบคุณตั้มพาไปปิดทริปตามรอยสงครามไซ่ง่อนกันที่ พิพิธภัณฑ์สงคราม ที่ภายนอกโดดเด่นไปด้วยการจัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ในสงครามเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็น เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ รถถัง ระเบิด ที่ดูแล้วก็เพลินดี แต่ว่าเมื่อเดินเข้าไปชมภาพถ่ายสมัยสงครามในอาคารนั่นแหละ ความรู้สึกเปลี่ยนเป็นเศร้าสลดทันที เพราะแต่ละภาพได้แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของสงครามออกมาอย่างเต็มเปี่ยม

ในอาคารพิพิธภัณฑ์ได้แบ่งพื้นทีการจัดแสดง เป็นส่วนต่างๆ อาทิ ส่วนแสดงอาวุธ ประติมากรรมแม่ ห้องรักระหว่างรบที่ดูแล้วอบอุ่นปนโศกเศร้า ห้องแสดงภาพการสู้รบ แสดงภาพการหนีตาย ห้องแสดงภาพการเสริมกำลังทหารที่มีทหารไทยไปช่วยร่วมรบด้วย ห้องแสดงภาพของนักข่าวดังๆในสงครามเวียดนาม ห้องแสดงภาพกึ่งปรัชญาเกี่ยวกับสงคราม รวมไปถึงการจำลองคุกในมัยสงครามมาให้ชมที่มีทั้ง การทรมานนักโทษหลากหลายรูปแบบ ที่เห็นแล้วอดสยองไม่ได้

ส่วนที่ยังความสลดให้กับผมเป็นอย่างมากก็เห็นจะเป็นภาพการหนีตาย ความสูญเสีย และความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากสงคราม โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับเด็ก ผู้หญิง และคนแก่นั้น หลายๆ ภาพเห็นแล้วอดน้ำตาคลอไม่ได้ ซึ่งบทสรุปของสงครามนั้นก็อยู่ในภาพสุดท้ายบริเวณทางออก ที่เป็นภาพอาวุธและชุดของทหารกงไว้ข้างๆต้นไม้ตายซาก ที่เป็นการบอกให้โลกรู้ว่า"สงครามมีแต่ผู้แพ้"เท่านั้น...

*******************************************
*******************************************

นครโฮจิมินห์ หรือไซ่ง่อน เป็นอดีตเมืองหลวงแห่งเวียดนามใต้ ปัจจุบันเป็นเมืองท่าสำคัญของเวียดนาม ซึ่งล่าสุดสายการบินบางกอกแอร์เวย์สได้เปิดเที่ยวบินตรง กรุงเทพฯ-โฮจิมินห์ สัปดาห์ละ 3 เที่ยว โดยผู้สนใจสามารถสอบถามได้ที่ 1771

ไซ่ง่อน ใช้เวลาเดียวกับประเทศไทย ใช้เงินสกุลดอง ตก 1 บาท ประมาณ 400-450 ดอง นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวตามรอยสงครามแล้ว ไซ่ง่อนยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ อาทิ เจดีย์จักรพรรดิหยก ย่านเจอะเลิ้งหรือไชน่าทาวน์ ตลาดเบ็นถันห์ เจดีย์จักรพรรดิหยก วิหารนอเตรอดาม และย่านปารีสตะวันออกกลางตัวเมือง ส่วนซินจ๋าวเป็นภาษาเวียดนามหมายถึง"สวัสดี"

กำลังโหลดความคิดเห็น