xs
xsm
sm
md
lg

ตะลุยแดนอีสาน ตามรอย"กะปอมยักษ์" (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในช่วงปิดเทอมใหญ่นี้ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" มีทริปเดินทางพิเศษมาแนะนำพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากจะให้ลูกๆ ได้ใช้เวลาในช่วงปิดเทอมแบบสนุกสนานคือได้ท่องเที่ยวแถมยังได้ความรู้ไปด้วย นั่นก็คือการท่องเที่ยวไปใน "เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยกะปอมยักษ์ จากอีสานสู่สะหวันนะเขต" ที่ทาง ททท.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 4 ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เขาจัดขึ้น

"กะปอมยักษ์" นั้นเป็นชื่อที่ชาวอีสานใช้เรียกไดโนเสาร์นั่นเอง โดยในภาคอีสานนั้นถือเป็นแหล่งที่ขุดค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์มากที่สุดในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร ฯลฯ

ซึ่งก็ค้นพบมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป แต่เหตุที่พบไดโนเสาร์ในภูมิภาคนี้เป็นจำนวนมากก็มีการสันนิษฐานว่าสภาพแวดล้อมแถบนี้ในสมัยโบราณนั้นมีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มน้ำใหญ่ เป็นแหล่งอาศัยของไดโนเสาร์และสัตว์ดึกดำบรรพ์ เมื่อสัตว์เหล่านั้นตายลง ก็จะถูกตะกอนแม่น้ำกลบฝังไว้จนกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์ในที่สุด

สำหรับเส้นทางตามรอยกะปอมยักษ์ที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนมาแล้วนั้นก็เริ่มต้นกันที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นแหล่งค้นพบไดโนเสาร์แห่งแรกของไทย และยังพบกระดูกไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ของโลกอีกหลายชนิดด้วยกัน เช่น ไดโนเสาร์กินพืช "ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน" (Phuwiangosaurus Sirindhornae) ไดโนเสาร์กินเนื้อ "สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส" (Siamotyrannus Isanensis) หรือ ไทรันสยาม

ที่ภูเวียงนี้มีความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์ให้ชมหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการชม "หลุมขุดค้นซากฟอสซิลไดโนเสาร์" ของจริงทั้ง 9 หลุมในบริเวณอุทยานแห่งชาติภูเวียง ซึ่งมีหลุมที่เหมาะสำหรับการเดินชมอยู่ 4 หลุมคือ หลุมขุดค้นที่ 1 (ประตูตีหมา) ซึ่งเป็นหลุมที่พบกระดูกของ "ภูเวียงโกซอรัส" และไดโนเสาร์ตัวเล็กเท่าไก่

หลุมขุดค้นที่ 2 (ถ้ำเจีย) เป็นหลุมที่พบกระดูกไดโนเสาร์ชนิดเดียวกับหลุมที่ 1 และเป็นหลุมที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาฯ ได้เคยเสด็จมาเยี่ยมชม หลุมขุดค้นที่ 3 (ห้วยประตูตีหมา) ซึ่งพบชิ้นกระดูกไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่หลายชิ้น และหลุมขุดค้นที่ 9 (ลานหินลาดยาว) ซึ่งขุดพบกระดูกสะโพกด้านซ้ายและโคนหางของไทรันสยาม

และอีกแบบหนึ่งก็คือการไปชม "พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง" ที่อยู่ห่างจากอุทยานแห่งชาติภูเวียงประมาณ 3 ก.ม. โดยเมื่อเข้าไปด้านในแล้วก็จะได้พบกับหุ่นจำลองโครงกระดูกไดโนเสาร์ตัวใหญ่ยักษ์ยืนอ้าปากกว้างอยู่กลางพิพิธภัณฑ์ มีการจำลองสวนไดโนเสาร์

โดยนำเอาบรรยากาศของป่าดึกดำบรรพ์โลกล้านปีรวมทั้งไดโนเสาร์ชนิดต่างๆ ที่สำรวจพบที่ภูเวียงแห่งนี้มาให้ชมและเห็นภาพของยุคไดโนเสาร์อย่างชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งยังมีการจัดแสดงวิวัฒนาการของมนุษย์ และภูมิประเทศของภูเวียงให้ชมกัน

ตามรอยไดโนเสาร์กันต่อมาที่ภูกุ้มข้าว ที่อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์กันบ้าง โดยที่จังหวัดนี้ถือเป็นแหล่งใหญ่ในการค้นพบไดโนเสาร์ เพราะเป็นแหล่งพบซากไดโนเสาร์กินพืชจำนวนมากและสมบูรณ์ที่สุดในเมืองไทย โดยพบไดโนเสาร์ "ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน" ซึ่งแม้จะพบเป็นที่แรกที่ภูเวียง แต่ซากโครงกระดูกที่สมบูรณ์ที่สุดก็อยู่ที่กาฬสินธุ์นี่เอง

สำหรับการค้นพบซากไดโนเสาร์ที่ภูกุ้มข้าวนี้ มีที่มาจากการที่พระครูวิจิตรสหัสคุณ เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน ได้พบกระดูกไดโนเสาร์เมื่อปี พ.ศ.2513 แต่คิดว่าเป็นไม้กลายเป็นหิน จึงยังไม่ได้มีการสำรวจแต่อย่างใด จนอีกเกือบสิบปีต่อมาจึงได้มีคณะนักธรณีวิทยาเดินทางมาสำรวจธรณีวิทยาในบริเวณนี้ จึงได้ทราบว่านั่นคือกระดูกของไดโนเสาร์

และจากการขุดค้นต่อมา จึงได้พบกับโครงกระดูกไดโนเสาร์กินพืชจำนวนมากที่สุดเท่าที่มีการขุดค้นในประเทศไทย โดยพบกระดูกมากกว่า 650 ชิ้น ประกอบด้วยไดโนเสาร์กินพืชอย่างน้อย 7 ตัว พบชิ้นส่วนต่างๆ เกือบครบทุกส่วน รวมทั้งฟันและส่วนของหัวกะโหลกหลายชิ้น

เมื่อมีซากกระดูกไดโนเสาร์จำนวนมาก ทางกรมทรัพยากรธรณีวิทยาก็ได้สร้างอาคารครอบหลุมขุดค้นไว้ เพื่อป้องกันซากฟอสซิลจากแดดและฝน ดังนั้นจึงมีการจัดภายในให้เป็นส่วนแสดงเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับไดโนเสาร์ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นมาของไดโนเสาร์ ประวัติการขุดค้น และไดโนเสาร์ชนิดต่างๆ ฯลฯ

ไม่ไกลจากหลุมขุดค้นนี้ก็ยังเป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์สิรินธร" พิพิธภัณฑ์บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ที่รวบรวมเรื่องราวของไดโนเสาร์ไว้อย่างครบถ้วนที่สุด เป็นศูนย์วิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุด อีกทั้งยังถือเป็นพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์อีกด้วย

"ผู้จัดการท่องเที่ยว" ได้เข้าไปชมภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ซึ่งจัดแสดงเรื่องราวตั้งแต่กำเนิดโลก กำเนิดสิ่งมีชีวิต การวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต และวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต นอกจากนั้นก็ยังมีการจัดแสดงฟอสซิลในยุคและแหล่งต่างๆ ที่ค้นพบทั่วโลกเป็นการเรียกน้ำย่อย ก่อนจะเริ่มให้เราทำความรู้จักกับไดโนเสาร์ชนิดต่างๆ จากทั่วโลก

แต่ที่เป็นไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์สิรินธรนี้น่าจะอยู่ที่การจำลองโครงกระดูก และรายละเอียดต่างๆ ของไดโนเสาร์ที่พบในประเทศไทยทั้ง 8 ชนิด โดยทั้ง 8 ชนิดที่ว่านั้นก็ได้แก่ "อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ" ไดโนเสาร์กินพืชที่เก่าแก่ที่สุดในโลก "ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน" ไดโนเสาร์กินพืชชนิดแรกที่พบในไทย "ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ" ไดโนเสาร์ปากนกแก้วชนิดแรกที่พบในไทย "ฮิปซิโลโฟดอน" ไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็กของไทย

"สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส" ไดโนเสาร์วงศ์ไทรันโนซอริเดที่เก่าแก่ที่สุดในโลก "กินรีมิมัส" ไดโนเสาร์นกกระจอกเทศตัวแรกของไทย "สเตโกซอร์" ไดโนเสาร์กินพืชที่มีแผ่นกระดูกขนาดใหญ่เรียงเป็นแถวอยู่บนหลังตัวแรกของไทย และ "สยามโมซอรัส สุธีธรนี" ไดโนเสาร์ที่มีการศึกษาวิจัยเป็นชนิดแรกของไทย

ตื่นตาตื่นใจกับไดโนเสาร์ทั้ง 8 แล้ว ก็มาสรุปปิดท้ายกันที่ข้อสันนิษฐานว่า เหตุใดไดโนเสาร์จึงสูญพันธุ์ไปจากโลก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็ได้ให้คำตอบไว้หลายแนวทาง เช่น มีอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนโลก หรือจะเป็นภูเขาไฟระเบิดครั้งมโหฬาร รวมทั้งข้อสันนิษฐานที่ว่าถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรุกราน

ถัดจากจุดนี้ก็จะเป็นห้องปฏิบัติการโบราณชีววิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลัง โดยกระดูกไดโนเสาร์ที่ค้นพบทั่วประเทศจะถูกส่งมาที่นี่เพื่อทำความสะอาดและซ่อมแซมส่วนที่แตกหัก จากนั้นจึงศึกษากระดูกนั้นเพื่อระบุชนิดและอายุ อีกทั้งยังมีห้องที่รวบรวมซากดึกดำบรรพ์เหล่านี้ไว้โดยเฉพาะ โดยนักวิจัยก็จะนั่งทำงานของตัวเองไปในห้องนี้ ขณะที่ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ก็จะสามารถชมวิธีการทำงานของนักวิจัยผ่านกระจกได้

และปิดท้ายกันที่ส่วนจัดแสดงเรื่องราวของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เกิดขึ้นแทนที่ไดโนเสาร์ รวมถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ที่เกิดขึ้นหลังจากยุคไดโนเสาร์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ และยังคงอาศัยอยู่บนโลกมาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" เข้าใจคำกล่าวที่ติดไว้หน้าห้องจัดแสดงที่ว่า"ผู้อยู่รอด คือผู้ที่รู้จักปรับตัวเข้าหาสภาพแวดล้อม ไม่ใช่ปรับสภาพแวดล้อมไปตามความต้องการที่ไม่สิ้นสุด"

เรียกได้ว่ามาที่นี่แล้วจะได้ความรู้ครบเครื่องเรื่องไดโนเสาร์ แต่สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะไปชมนั้นก็ต้องอดใจรออีกนิดหนึ่ง เพราะตอนนี้พิพิธภัณฑ์สิรินธรยังไม่เปิดให้เข้าชมอย่างเต็มรูปแบบ โดยนักท่องเที่ยวสามารถมาชมหลุมขุดค้นซากไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าวได้ แต่สำหรับพิพิธภัณฑ์สิรินธรยังต้องรอประมาณปลายเดือนเมษายนจึงจะเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการ

เส้นทางตามรอยกะปอมยักษ์ยังไม่จบเพียงเท่านี้ แต่ในตอนหน้า "ผู้จัดการท่องเที่ยว" จะพาไปตามล่าหาไดโนเสาร์กันต่อที่จังหวัดมุกดาหาร และข้ามสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ไปตามรอยกันไกลถึงแขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว จะน่าสนใจอย่างไรนั้น โปรดติดตามอ่านได้ในตอนต่อไป
*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 


ผู้ที่สนใจ "เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยกะปอมยักษ์ จากอีสานสู่สะหวันนะเขต" สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 4 โทร.0-4251-3490 ถึง 2


อ่าน ตะลุยแดนอีสาน ตามรอย"กะปอมยักษ์" ตอนจบ ได้ที่นี่


ที่พักในจังหวัดขอนแก่น                 ร้านอาหารในจังหวัดขอนแก่น

ที่พักในจังหวัดกาฬสินธุ์                  ร้านอาหารในจังหวัดกาฬสินธุ์

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

แวะ จ.ขอนแก่น ชมไดโนเสาร์อีสานที่ภูเวียง
“พระมหาธาตุแก่นนคร” พระธาตุเก้าชั้นกลางเมืองขอนแก่น
เที่ยวนครขอนแก่น เมืองเสียงแคนดอกคูน
เรื่องเล่าเก้าหลุม จากซากไดโนเสาร์ที่ ภูเวียง
ย้อนอดีตสู่โลกล้านปี…ที่ภูเวียง
ตะลุยโลกล้านปี เยือนถิ่นไดโนเสาร์ ที่ “ภูเวียง”

เยือน"กาฬสินธุ์" เบิ่งของดีเมืองน้ำดำ
ท่องแดนดินถิ่นไดโนเสาร์ ที่ “ภูกุ้มข้าว” จ.กาฬสินธุ์
“ภูกุ้มข้าว” แดนนี้(อดีต)มากมีไดโนเสาร์
กำลังโหลดความคิดเห็น