การท่องเที่ยวและการซื้อหาของฝาก ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ออกเสียแล้ว โดยเฉพาะหากมีของฝากแปลกๆ ที่มีเฉพาะในท้องถิ่น ก็จะทำให้การท่องเที่ยวนั้นน่าดึงดูดใจมากขึ้น
และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน จึงได้มีการจัดโครงการการประกวดหมู่บ้าน 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์จากทั่วประเทศ เพื่อคัดเลือกให้เป็น หมู่บ้านหัตถกรรมเพื่อการท่องเที่ยว หรือ OTOP Village Champion (OVC) โดยในปี พ.ศ.2549 ที่ผ่านมานี้ ก็มีเพียง 60 หมู่บ้านเท่านั้นที่ได้รับคัดเลือกขึ้นมา
ทั้งนี้ หลักในการพิจารณาการคัดเลือกหมู่บ้าน OTOP Village Champion นั้น ก็มีหลักเกณฑ์อยู่ว่า คนในชุมชนนั้นๆ จะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้าน OTOP อย่างเข้มแข็ง ต้องมีผลิตภัณฑ์ OTOP ที่โดดเด่น นอกจากนั้นในหมู่บ้านก็ต้องมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว แล้วก็จะต้องสามารถรักษาอัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ของท้องถิ่นในหมู่บ้านชุมชนไว้ได้
"บ้านแม่กำปอง" หมู่บ้านเล็กๆ ท่ามกลางหุบเขาในกิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ก็ถือเป็นหมู่บ้านโอทอปแห่งหนึ่งที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้าน OTOP Village Champion
ก่อนที่จะได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้าน OTOP Village Champion หมู่บ้านแม่กำปองก็เป็นที่รู้จักในเรื่องของการเป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์ที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง โดยหมู่บ้านนี้ได้รับการการันตีด้วยตราสัญลักษณ์โฮมสเตย์มาตรฐานไทย ที่นักเดินทางสามารถมั่นใจในคุณภาพเมื่อเดินทางไปเยือนเมื่อปี พ.ศ.2547 ที่ผ่านมา
พรมมินทร์ พวงมาลา อดีตผู้ใหญ่บ้านแม่กำปอง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ริเริ่มจัดทำบ้านแม่กำปองให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เล่าถึงเรื่องการจัดทำโฮมสเตย์ในหมู่บ้านให้ฟังว่า ได้เริ่มต้นทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 สมัยที่ตัวเองมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน โดยได้มีความคิดอยากให้มีเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เนื่องจากเห็นว่าที่หมู่บ้านมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว มีต้นทุนทางธรรมชาติ ทั้งอากาศ ป่าไม้ และน้ำตกที่มีความสูง 7 ชั้น จึงได้ขอความร่วมมือจากชาวบ้านให้ร่วมกันพัฒนาน้ำตกและบริเวณหมู่บ้านให้สะอาด และจัดทำเป็นโฮมสเตย์ขึ้น จนมาถึงปัจจุบันก็มีบ้านที่เข้าร่วมโครงการโฮมสเตย์ 10 หลังคาเรือน และสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 50-60 คน ด้วยกัน
ด้วยสภาพภูมิประเทศของหมู่บ้านแม่กำปองที่ตั้งอยู่ในหุบเขา ท่ามกลางภูเขาล้อมรอบแทบทั้งสี่ด้าน ทำให้หมู่บ้านแม่กำปองมีอากาศเย็นสบาย ค่อนข้างหนาวในฤดูหนาว และมีทัศนียภาพที่สวยงาม ชาวบ้านอยู่กันแบบเรียบง่าย บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้สะอาดเรียบร้อย จัดที่หลับที่นอนให้แก่ผู้มาเยือนได้พักผ่อนอย่างสบายแต่ก็ไม่ทิ้งวิถีชีวิตของชาวบ้าน เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวที่แนะนำกันแบบปากต่อปาก
กิจกรรมในชุมชนบ้านแม่กำปองที่นักท่องเที่ยวจะได้มีส่วนร่วมนั้นก็น่าสนใจเช่นกัน โดยจะมีทั้งการท่องเที่ยวดูวิถีชีวิตของชุมชน ดูการเก็บใบชา ใบเมี่ยง การทำเมี่ยง การทำสมุนไพร การปลูกกาแฟ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน และหากนักท่องเที่ยวอยากจะชมการแสดงฟ้อนหรือการแสดงดนตรีพื้นเมืองก็สามารถทำได้เช่นกัน รวมทั้งในตอนเช้าก็จะมีการทำบุญตักบาตรร่วมกับเจ้าของบ้านอีกด้วย
ทางด้านแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ภายในหมู่บ้านก็ยังมี "น้ำตกแม่กำปอง" ซึ่งมีสายน้ำไหลตลอดทั้งปี มีความสูง 7 ชั้นด้วยกัน บนชั้นที่ 7 มีแอ่งน้ำสามารถลงเล่นน้ำได้ นอกจากนั้นก็ยังมีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ทั้งระยะใกล้และไกล โดยระยะไกลนั้นจะสามารถเดินขึ้นถึง "ดอยม่อนล้าน" ยอดเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,700 เมตร ในวันที่อากาศดีจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ทั้ง 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง
นอกจากนั้นบนยอดดอยม่อนล้านก็ยังมีสวนสน สวนสมเด็จย่า และลานของศูนย์พิทักษ์ป่าซึ่งสามารถกางเต็นท์พักแรมชมบรรยากาศบนยอดดอยได้ และที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงฤดูหนาวประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม ต้นพญาเสือโคร่งหรือต้นซากุระเมืองไทยก็จะออกดอกสีชมพูบานสะพรั่งสวยงามมากทีเดียว
และในเรื่องของสินค้าโอทอปนั้น หากผู้ที่ได้มาพักที่โฮมสเตย์หรือได้มาเที่ยวที่บ้านแม่กำปอง ก็อย่าลืมซื้อของฝากอย่าง "หมอนใบชา" ติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนทางบ้านด้วย ซึ่งหมอนใบชานี้ก็เป็นสินค้าโอทอปขึ้นชื่อ เป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาของกลุ่มแม่บ้านที่นำเอาใบชาแก่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาตากแดดให้แห้ง จากนั้นจึงนำมาอบแห้งอีกครั้งเพื่อไล่ความชื้น และนำมาเย็บใส่เป็นไส้หมอนในรูปแบบต่างๆ ทั้งหมอนอิงหลากหลายขนาด หมอนข้าง หมอนรองคอ รวมทั้งนำมาเย็บเป็นถุงดับกลิ่นอับชื้นในรถหรือในตู้เสื้อผ้า โดยลักษณะเด่นของหมอนใบชาก็คือจะมีกลิ่นหอม ช่วยให้รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย ทั้งยังทำให้หลับสบายอีกด้วย ใครที่ชอบชา รวมทั้งนิยมกลิ่นชาหอมๆ น่าจะถูกใจผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้
พรมมินทร์ ยังได้กล่าวถึงความเป็นไปในหมู่บ้านว่า วิถีชุมชนของชาวบ้านก็เรียกได้ว่าอยู่อย่างพอเพียง ปลูกผลผลิตทางการเกษตรกินกันเอง เพราะหมู่บ้านอยู่ในหุบเขา ค่อนข้างห่างไกลจากตลาด และภายในชุมชนก็มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันแบบพี่น้อง มีน้ำใจไมตรีให้กัน
ด้วยเหตุนี้ ทั้งความน่าสนใจในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งสินค้าโอทอปที่มีคุณภาพและมีเอกลักษณ์ ทำให้หมู่บ้านโฮมสเตย์แม่กำปอง ได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมเพื่อการท่องเที่ยวซึ่งมีความโดดเด่นทั้งในเรื่องของวิถีชีวิต และผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
โฮมสเตย์บ้านแม่กำปอง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ค่าใช้จ่ายในการพักโฮมสเตย์
-2 วัน 1 คืน อาหาร 3 มื้อ ราคา 550 บาท/คน
-3 วัน 2 คืน อาหาร 6 มื้อ ราคา 900 บาท/คน
หลังจากนี้คิดรายวัน อาหาร 3 มื้อ วันละ 350 บาท รวมทั้งมีบ้านพักให้เช่าเป็นหมู่คณะ ตั้งแต่ 100-1,200 บาท หากต้องการนอนเต็นท์ ค่าเช่าเต็นท์ราคา 150-200 บาท ถ้านำเต็นท์มาเอง คิดค่าบำรุงสถานที่ 50 บาท/คน สอบถามรายละเอียดได้ที่ หมู่บ้านแม่กำปอง โทร.0-5331-5111, 08-9559-4797 อบต.ห้วยแก้ว (บ้านแม่กำปอง) 0-5393-9409
การเดินทางไปยังบ้านแม่กำปอง สามารถใช้เส้นทางเชียงใหม่-สันกำแพง ทางหลวงหมายเลข 1317 ขับออกจากตัวเมืองด้านน้ำพุร้อนสันกำแพงประมาณ 50 ก.ม. ขับตรงมาจนถึงกิ่งอำเภอแม่ออน รวมระยะทางจากสามแยกทางเข้าน้ำพุร้อนสันกำแพงมาถึงหมู่บ้านแม่กำปอง 18 ก.ม.