xs
xsm
sm
md
lg

“ชิโนโปรตุกีส”สถาปัตยกรรมทรงคุณค่า ความลงตัวระหว่าง ตะวันออก-ตะวันตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศิลปะยืนยาว…ชีวิตสั้น”

อมตะวาจา ของ ศ.ศิลป์ พีระศรี ยังคงใช้ได้ดีทุกยุคทุกสมัย

สำหรับหนึ่งในงานศิลปะที่อยู่ยั้งยืนยงคู่มนุษยชาติก็คือ งาน “สถาปัตยกรรม”ที่หากไม่ถูกทำลายเสียก่อนก็จะอยู่ยงคงกระพันนับร้อยนับพันปี นอกจากนี้งานสถาปัตยกรรมยังเป็นตัวบ่งบอกและสะท้อนให้เห็นได้ถึงประวัติศาสตร์ และความเป็นแห่งยุคสมัย รวมถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนและเมืองในยุคนั้นๆ

เฉกเช่นกับเรื่องราวของสถาปัตยกรรม ที่มีชื่อเรียกว่า “ชิโนโปรตุกีส” ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่มีการผสมผสานเอาความเป็นตะวันตกและตัวออกร่วมเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน และยังแฝงไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์อันน่าสนใจ

“ชิโนโปรตุกีส” สถาปัตยกรรมแห่งความผสมผสาน

สถาปัตยกรรม “ชิโนโปรตุกีส” (Sino-Portugyese) ถือกำเนิดขึ้นในดินแดนแหลมมลายูในยุคสมัยแห่งจักรวรรดินิยมของตะวันตก เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2054 ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำการค้าบริเวณเมืองท่ามะละกา และได้นำเอาศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนวิทยาการตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ด้วยเช่นกัน ซึ่งในช่วงเวลาที่ชาวโปรตุเกสอาศัยอยู่นั้น ก็ได้สร้างบ้านเรือนที่พักอาศัยไว้ ด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรมตามความรู้และประสบการณ์ของตน ทำให้ผลงานสถาปัตยกรรมเหล่านั้นมีรูปแบบแนวตะวันตก

ในขณะเดียวกันนั้นเองได้ให้ช่างชาวจีนนำแบบแปลนของบ้านเรือนนั้นไปดำเนินการก่อสร้าง แต่ด้วยความรู้และประสบการณ์ประกอบกับความเชื่อที่สืบเนื่องมาจากบริบททางสังคมของช่างชาวจีน ทำให้ผลงานการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนเพี้ยนไปจากแบบแปลนที่ชาวโปรตุเกสได้วางไว้ โดยช่างชาวจีนได้ตกแต่งลวดลายสัญลักษณ์รวมถึงลักษณะรูปแบบบางส่วนของตัวอาคารตามคติความเชื่อของจีน เกิดการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมโปรตุเกสและจีน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นท่ามกลางสังคมของกลุ่มชน 3 เชื้อชาติ อันได้แก่โปรตุเกส จีน และมาเลย์ ในดินแดนแหลมมลายูตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ต่อมาเมื่อชาวดัตช์และอังกฤษเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้ ก็ได้ปรับปรุงรูปแบบของอาคารดังกล่าว โดยดัดแปลงและสอดแทรกรูปแบบ รวมไปถึงลวดลายต่างๆ เพิ่มเติมลงไปในการก่อสร้างตามแบบของตน และก็มีชื่อเรียกลักษณะการก่อสร้างอาคารเหล่านี้ว่า สถาปัตยกรรม “ชิโนโปรตุกีส”

คำว่า “ชิโน” หมายถึงคนจีน และคำว่า “โปรตุกีส” หมายถึง โปรตุเกส แม้ว่าอังกฤษและดัตช์จะเข้ามามีอิทธิพลในการผสมผสานศิลปะของตนเข้าไปในยุคหลังด้วยก็ตาม ซึ่งการก่อสร้างบ้านเรือนในรูปแบบนี้ได้แพร่หลายไปยังดินแดนต่างๆ ในแหลมมลายู สามารถพบเห็นได้หลายที่ ไม่ว่าจะเป็นเมืองมะละกา เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย สิงค์โปร์ หรือมาเก๊า รวมไปถึงประเทศไทยของเราด้วย

ชิโนโปรตุกีสเดินทางจากปีนัง สู่ “ภูเก็ต” เมืองไทย

โดยสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย เมื่อยุคสมัยของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต ในช่วงปีพ.ศ.2444-2456 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ในช่วงนั้นถือว่าภูเก็ตมีความทันสมัยมาก ซึ่งพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ถือเป็นผู้ที่พัฒนาเมืองภูเก็ตให้มีความเจริญในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการวางผังเมืองภูเก็ตใหม่

ประกอบกับในช่วงนั้นภูเก็ตได้มีการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้าขายกับปีนังอย่างเฟื่องฟู ทำให้ศิลปวัฒนธรรม วิทยาการใหม่ๆ ตลอดจนรูปแบบการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนแบบชิโนโปรตุกีสได้แพร่หลายเข้าสู่เมืองภูเก็ต ซึ่งส่วนใหญ่อาคารชิโนโปรตุกีสจะถูกสร้างขึ้นโดยนักธุรกิจชาวจีนที่มีความร่ำรวยจากการทำธุรกิจเหมืองแร่ดีบุก แต่นอกจากที่ภูเก็ตแล้วก็ยังมีให้เห็นได้ตามจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดระนอง กระบี่ ตะกั่วป่า พังงา หรือตรัง แต่ถ้าหากให้นึกถึงภาพของอาคารบ้านเรือนสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสในประเทศไทยที่มีความงดงามและคงความสมบูรณ์ไว้ได้มากที่สุด ก็ต้องยกให้ที่ “จังหวัดภูเก็ต”

ภูเก็ต” มากด้วยความงดงามสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส

ผศ.ดร. ยงธนิศร์ พิมลเสถียร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักวิชาการผู้หนึ่งที่ได้ศึกษาและวิจัยเรื่องสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสที่จังหวัดภูเก็ตอย่างลึกซึ้ง ได้พูดถึงสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสว่า

“ผมว่าอาคารเหล่านี้มันมีเอกลักษณ์ ตรงที่มันเหมือนฝรั่ง แต่ว่าในขณะเดียวกันมันก็เห็นประตูเป็นของจีน มันน่าแปลกใจที่รูปแบบก็สวย แล้วเมื่อดูที่เรื่องของการใช้วัสดุ การใช้ฝีมือช่างมันน่าตื่นตะลึงที่ว่าร้อยปีที่แล้ว มันก้าวหน้าขนาดนี้ แล้วก็ทำได้สวย ซึ่งถ้าเก็บตรงนี้ไว้อย่างนี้อยู่ ร้อยปี ร้อยห้าสิบปี สองร้อยปีมันก็ยังทำให้คนเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าจริงๆ การรักษาลักษณะของเมืองๆ นี้ได้ตั้งแต่โบราณ แสดงว่าคนที่เข้ามาเป็นผู้ปกครองเมืองที่ทำในยุคนั้นคิดไกลมาก คิดให้ลูกหลาน หรือแม้แต่คนรุ่นหลังเห็นยังเกรง มันเข้าลักษณะของมรดกโลก ผมไปเห็นแล้วตะลึง” อ.ยงธนิศร์ถ่ายทอดความรู้สึก

อีกทั้งอาจารย์ยังได้อธิบายถึงลักษณะของสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสที่ภูเก็ตให้รู้ว่า สถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสในเขตเมืองเก่าภูเก็ต แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกันตามลักษณะการใช้งานของตัวอาคาร คือมี “อาคารสาธารณะ” ซึ่งมีทั้งอาคารราชการ สมาคม โรงเรียน และบริษัทเอกชน ตัวอาคารสาธารณะส่วนใหญ่จะเป็นอาคารก่ออิฐ ถือปูน ผนังหนา มีลวดลายที่ได้รับอิทธิพลทั้งจากสถาปัตยกรรมในยุคนีโอคลาสสิคและโรมันยุโรป รวมทั้งสมัยต่อๆ มาด้วย ซึ่งอาคารส่วนใหญ่สร้างในสมัยที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์เป็นผู้ปกครองเมือง
ลักษณะของหง่อคาขี่ คือช่องทางเดินด้านหน้าบ้านมีหลังคาคลุม
อาคารกลุ่มที่ 2 คือ “ตึกแถว” ที่มีรูปแบบรายละเอียดที่หลากหลาย แต่ว่าจะมีลักษณะพิเศษร่วมกันคือ จะมีช่องทางเดินด้านหน้าที่เรียกว่า “หง่อคาขี่” หมายถึงทางเดินกว้าง 5 ฟุตจีน ซึ่งการมีช่องทางเดินนี้ทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี และป้องกันแดดฝน มีลักษณะเป็นหลังคาทรงสูงมุงด้วยกระเบื้องดินเผาที่เรียกว่า Indian Profile คือมีร่องมุมแหลมรูปตัววี ประตูหน้าต่างชั้นล่างมีการตกแต่งลวดลายแบบจีน แต่ชั้นบนมักเป็นบานหน้าต่างขนาดใหญ่ มี 2 หรือ 3 ช่องยาวถึงพื้น เป็นบานเกล็ดมีทั้งไม้ปรับได้ หรือบานกระทุ้งเป็นเกล็ด ส่วนกรอบหน้าต่างมีการตกแต่งลวดลายปูนปั้นหลายรูปแบบที่เด่นๆ คือ เป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม โค้งเสี้ยว มักตกแต่งด้วยหินหลักช่องโค้ง หรือบางแห่งเป็นกรอบสี่เหลี่ยม ลวดลายที่พบมีทั้งที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุโรปตั้งแต่ยุคคลาสสิคประมาณ 400 ปีก่อนคริสตกาล มาจนถึงยุคอาร์ตเดโค และก็มีศิลปะจีนและอินเดียรวมทั้งลวดลายที่คล้ายลายของไทยด้วย
ส่วนอาคารกลุ่มสุดท้ายคือ “คฤหาสน์” หรือที่ในภาษาจีนฮกเกี้ยนและแต้จิ๋วเรียกว่า “อังม้อหลาว” คือ ตึกแบบฝรั่ง (อังม้อ แปลว่า ผมแดงโดยนัยคือฝรั่ง ส่วนหลาวหรือเหลา แปลว่า ตึก) อังม้อหลาวส่วนใหญ่สร้างขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 และปัจจุบันนี้ก็ยังคงหลงเหลือให้ได้เห็นในเขตเมืองเก่าภูเก็ต โดยคฤหาสน์เหล่านี้มีลักษณะเป็นตึก 2 ชั้นขนาดใหญ่ ตัวผนังก่ออิฐ ฉาบปูน มีความหนาแข็งแรงมาก มีลวดลายปูนปั้นและการตกแต่งคล้ายคลึงกับอาคารตึกแถว มีการตกแต่งอาคารที่ผสมผสานเอาหลากหลายรูปแบบ ทำให้อาคารตึกแถวในเมืองเก่าภูเก็ตมีความสวยงามแปลกตา และเป็นเอกลักษณ์ที่มีคุณค่ายิ่ง ควรค่าแก่การอนุรักษ์

ร่วมแรง ร่วมใจ ช่วยกันอนุรักษ์

และเมื่อพูดถึงเรื่องการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสที่ภูเก็ตขึ้นมา อ.ยงธนิศร์ได้บอกให้เราฟังว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีและชื่นชมเป็นอย่างยิ่งที่ชาวภูเก็ตเล็งเห็นถึงความสำคัญของสถาปัตยกรรมชิโนโปนตุกีสนี้ ซึ่งเมื่อปีพ.ศ. 2537 ทางเทศบาลนครภูเก็ต รวมทั้งหน่วยงานจากภาครัฐและองค์กรเอกชน องค์กรท้องถิ่นในเมืองภูเก็ต ได้ร่วมแรง ร่วมใจกันพัฒนาและอนุรักษ์ย่านเมืองเก่าขึ้นมา และอาจารย์เองก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในงานนี้ด้วย เพื่อที่จะส่งเสริมให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองภูเก็ตได้ตระหนักถึงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสและประวัติศาสตร์ของเมืองภูเก็ต
กลุ่มตึกแถวที่งดงามไปด้วยสถาปัตกรรมชิโนโปรตุกีส (ภาพโดย : อ.ยงธนิศร์)
สำหรับการอนุรักษ์ชิโนโปรตุกีสในเขตเมืองเก่าภูเก็ตนั้น ได้มีการกำหนดให้พื้นที่ประมาณ 210 ไร่ ซึ่งครอบคลุมถนนรัษฎา ถนนพังงา ถนนเยาวราช ถนนกระบี่ ถนนดีบุก ถนนถลาง ถนนเทพกระษัตรี ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม โดยออกเป็นประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ได้มีการควบคุมให้พื้นที่อนุรักษ์นี้ มีความสูงของอาคารไม่เกิน 12 เมตร และยังได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาอาคารในรูปแบบดั้งเดิมไว้ อย่างเช่นมีการให้เว้นช่องทางเดินด้านหน้า และคงรูปแบบอาคารลักษณะชิโนโปรตุกีสไว้ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของเมืองภูเก็ตต่อไป

เมื่อถามว่าชาวภูเก็ตที่เป็นเจ้าของตึกหรืออาคารเหล่านั้น รู้สึกอย่างไรบ้างกับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสเหล่านี้ อ.ยงธนิศร์บอกว่า “ชาวบ้านรู้ว่าบ้านแต่ละหลังที่ตัวเองอยู่นั้นมีความสำคัญ สิ่งที่พวกเขาทำคือ ซ่อมแซมบ้านของตัวเองให้สวยงามตามกำลังทรัพย์ และให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์อย่างจริงจัง จนทำให้บ้านเรือนสวยงามขึ้นมามาก ทำให้ทางเทศบาลภูเก็ตได้มีการจัดงานเมืองเก่าขึ้น เพื่อที่จะโชว์ให้คนอื่นดูว่าพวกชาวบ้านก็ช่วยกันรักษาศิลปวัฒนธรรมทางสถาปัตยกรรมตรงนี้ไว้ได้ และก็ได้มีการให้กำลังใจแก่ชาวบ้านที่ทำการอนุรักษ์บ้านของตัวเอง มีการมอบเกียรติบัตรว่าเขาอนุรักษ์ ไว้ และสมควรได้รับความนิยมชมชื่น”
ผศ.ดร.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร
“บ้านที่เขาได้รับรางวัลบางบ้านเขาดีใจ ก่อนที่เขาจะเอาเกียรติบัตรไปแปะข้างฝาบ้าน เขาจุดธูปบอกบรรพบุรุษก่อนไปวางไว้บนแท่นบูชา ซึ่งผมก็ถามว่าทำไมต้องเอาไปวางไว้ที่แท่นบูชา เขาก็บอกว่าจะได้บอกเตี่ย บอกอาม่า บอกอากงที่ล่วงลับไปแล้วว่า ที่อากงสั่งไว้ว่าให้รักษาบ้านเขาได้ทำแล้ว ตรงนี้มันทำให้ผมตื้นตัน ผมแทบร้องไห้เลย” อ.ยงธนิศร์เล่าด้วยความซาบซึ้ง

ดูเหมือนว่าการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสนี้ ชาวภูเก็ตได้ให้ความสำคัญ และรู้สึกหวงแหนในสมบัติทางศิลปวัฒนธรรมของพวกเขาเป็นอย่างมาก แต่การที่พวกเขาจะมีกำลังใจในการอนุรักษ์มากกว่านี้ อ.ยงธนิศร์บอกว่า อยากจะให้ทางรัฐบาลมองเห็นถึงคุณค่างานอนุรักษ์ที่ชาวบ้าน และชาวภูเก็ตได้ทำกันให้มากกว่านี้ ถึงตอนนี้กว่า 10 กว่าปีแล้ว แต่ทางรัฐบาลก็ยังไม่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยสักเท่าไร ชาวบ้านก็ยังต้องไปหาทุนจากข้างนอกมาซ่อมแซมบ้านเอง และถึงแม้ว่าตอนนี้ทางเทศบาลเมืองภูเก็ตจะมีการจัดตั้งมูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ตขึ้นมา เพื่อดูแลในเรื่องการอนุรักษ์ ซึ่งสามารถจะนำเงินมาช่วยได้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

“ผมว่าการซ่อมแซมอาคารที่มีความสำคัญ ที่เป็นมรดกของบ้านเมืองตรงนี้ ผมอยากให้รัฐบาลช่วยชาวบ้านบ้าง ไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือเรื่องเงินก็ได้ แต่ว่าขอให้มีมุมมองมีวิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้นสักหน่อยว่า ถ้าจะสนับสนุนให้ท้องถิ่นทำเอง ทางรัฐบาลเองควรจะใช้อำนาจเขาทำอะไรได้บ้าง อย่างเช่นอำนาจในการลดภาษี หรือสร้างแรงจูงใจ หรือกำหนดอะไรต่างๆ ตรงนี้ขึ้นมา เพราะเจ้าของบ้านที่รักษาบ้านของตัวเองไว้ถือว่าได้ช่วยประเทศชาติในการรักษามรดก ถ้าช่วยอย่างนั้นแล้วทำไมต้องไปเก็บภาษีเขาอีก ผมอยากให้รัฐบาลเอื้อหนุนบ้าง ไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลย” อ.ยงธนิศร์ กล่าวพร้อมกับได้ฝากทิ้งท้ายถึงผู้ที่สนใจอยากจะไปชมความงดงามสถาปัตยกรรมที่ภูเก็ตว่า
ธีรภาพ โลหิตกุล
“ถ้าได้ไปเดินชมแล้วอย่าลืมไปเดินดูแหล่งของกินพื้นเมืองโบราณด้วย และก็สามารถพูดคุยกับคนในพื้นที่นั้นได้อย่างสบาย เพราะว่าทุกคนมีความภาคภูมิใจของเขาอยู่แล้ว ถ้ามีเวลาก็อยากให้ทุกคนได้ไปดู เพราะถือว่าเป็นกำไรชีวิตอย่างดีมากๆ” อ.ยงธนิศร์กล่าวด้วยน้ำเสียงชวนเชิญ

ไปภูเก็ต เดินเที่ยวเมืองเก่า ชมความงาม “ชิโนโปรตุกีส”

ด้านธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดีชื่อดัง ถือว่าเป็นนักเดินทางท่องเที่ยวคนหนึ่งที่เคยได้เดินทางไปสัมผัสกับความงดงามของสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสที่ภูเก็ต ที่ถึงแม้ว่าจะเคยไปมานานร่วม 10 กว่าปี แต่ก็ยังคงจำภาพความประทับใจและเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสได้เป็นอย่างดี ได้ให้ความคิดเห็นถึงสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสที่ภูเก็ตว่า

“ผมว่าสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสที่ภูเก็ตมีเสน่ห์ และสวยที่สุดในประเทศไทย มันสะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของภูเก็ตในสมัยอดีต เวลาไปภูเก็ตผมชอบไปเดินดู ผมว่าอาคารเหล่านี้มันบอกเล่าอะไรเยอะมาก ทั้งภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ประวัติศาสตร์ สังคม ชาติพันธุ์ที่มาอยู่อาศัย รวมไปถึงลวดลายปูนปั้นที่เอามาประดับก็มีเรื่องราวความเป็นมา มีการเอาลวดลายที่เกี่ยวกับทางตะวันออก อย่างสัตว์ในเทพนิยายมาประดับ มีความสวยงามและก็มีอะไรให้เล่าเยอะมาก” ธีรภาพบอกเล่าความรู้สึก

และเมื่อถามไถ่ว่ามีมุมมองความคิดเห็นอย่างไร กับการที่ทางเทศบาลเมืองภูเก็ตและชาวภูเก็ตได้อนุรักษ์สถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสนี้ไว้ ธีรภาพบอกว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะถ้าเกิดไม่เห็นความสำคัญ รื้อทิ้งไปแล้วก็สร้างตึกทันสมัยใหม่ขึ้นมาแทน ก็เท่ากับเป็นการทำลายบันทึกทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นไปอย่างน่าเสียดายมาก

“การอนุรักษ์ตึกเหล่านี้ขึ้นมา เป็นการเสริมส่งให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ศิลป์ และสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น ทำให้คนเห็นคุณค่า ขนาดคนต่างชาติต่างเมืองยังมาดู สมควรแก่การได้รับการอนุรักษ์ไว้ เพราะสถาปัตยกรรมนั้นไม่เพียงแต่เชิดชูความสง่างามของบ้านเมือง แต่มันยังให้ปัญญาแก่ผู้คนด้วย แล้วมันจะตอบได้ว่าทำไมต้องอนุรักษ์ไว้ ไม่ใช่แค่ดูว่าสวยอย่างเดียว”

“ผมว่าเวลาไปภูเก็ตอย่าเที่ยวแต่ทะเล อยากให้ไปเดินดูสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส ผมมักจะชวนคนไปเดินดูบ้านเก่าๆ ตึกเก่าๆ เวลาที่รถสามล้อวิ่งผ่านตึกเก่าๆ มันเป็นภาพที่สะท้อนอดีตความเป็นมาของดินแดนนี้ เที่ยวทะเลก็จะได้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่ว่าถ้าเดินดูตามบ้านเมือง ตามตึกเก่า อาคารเก่าแก่ ก็จะได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมของดินแดนนั้นๆ ด้วย” ธีรภาพกล่าวเชิญชวนทิ้งท้าย

***************************************
***************************************

ผู้ที่สนใจชมความงดงามของสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสที่ภูเก็ต ทางเทศบาลนครภูเก็ตได้จัดให้มีเส้นทางเดินชมเมืองเก่าภูเก็ต เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมกับความงดงามของบ้านเรือนเก่าแก่ของภูเก็ต และสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส พร้อมกับได้สัมผัสวัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนภูเก็ต โดยเส้นทางเดินชมเมืองเก่าภูเก็ตนั้น มีระยะทางประมาณ 4.6 กม. มีช่วงเส้นทางการเดินถึง 6 ช่วงย่อยๆ ด้วยกัน สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเทศบาลนครภูเก็ต โทร. 0-7621-4325
กำลังโหลดความคิดเห็น