พูดถึงการนั่งรถไฟเที่ยวแล้ว ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกทางการท่องเที่ยวที่หลายๆคนนิยมทำกันไม่น้อย เพราะจะว่าไปแล้วการเดินทางด้วยรถไฟแม้จะช้าไปบ้างแต่ก็ค่อนข้างปลอดภัย(หากไม่ดวงแตกจริงๆเกิดอุบัติเหตุขึ้นบนรถไฟ) ส่วนที่หลายๆคนหลงเสน่ห์การเที่ยวด้วยรถไฟก็คงจะเป็นบรรยากาศฉึกกะฉัก ฉึกกะฉัก ปรู๊น ปรู๊น...ทิวทัศน์ของข้างทางที่ผ่านทุ่งนาป่าเขาบ้านเรือน หรือบรรยากาศตามสถานีที่มีสีสันอันน่าสนใจ รวมไปถึงยามที่รถไฟแล่นลอดอุโมงค์ก็นับว่าชวนให้หัวใจได้กระปลี้ประเปล่าไม่น้อย
และเพื่อเป็นการโลดแล่นไปกับรางคู่ขนานตามไม้หมอนแบบชิลล์ ชิลล์บนขบวนม้าเหล็ก ในทริปนี้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” จึงเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋าแล้วออกเดินทางสู่หัวลำโพง เพื่อขึ้นรถไฟไปตะลอนทัวร์ในเส้นทาง “สุดทางรถไฟฝั่งอันดามัน” กับ บริษัทนิวทริป ทราเวล ที่มีความโดดเด่นจนสามารถคว้ารางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยหรือรางวัลกินรีครั้งที่ 6 ไปครองในประเภทรายการนำเที่ยวยอดเยี่ยมสำหรับนักท่องเที่ยวในประเทศ (รายการ“สุดทางรถไฟฝั่งอันดามัน”)
แล้วการเดินทางก็เริ่มขึ้นในช่วงค่ำของวันที่แม้ถนนในกรุงเทพฯจะรถติดระยับ แต่บนรางคู่ขนานแล้วเส้นทางกลับสะดวกโยธิน ซึ่งพอถึงกำหนดรถออก ขบวนรถไฟตู้นอนปรับอากาศ(รถด่วนขบวน 83 กรุงเทพฯ-ตรัง)ก็ค่อยๆเคลื่อนขบวนไปตามรางคู่ขนานจากหัวลำโพงผ่านสถานีแล้วสถานีเล่า โดยช่วงแรกเราตื่นเต้นเล็กๆนั่งฟังเสียงรถไฟไปถึงดึกจนความง่วงเข้ามาทายทัก หลังจากนั้นราตรีนี้ก็ปิดฉากลงกับการหลับใหลไปตามเส้นทางสุดทางรถไฟฝั่งอันดามัน
”กันตัง” สถานีสุดท้ายแห่งอันดามัน
เช้าวันใหม่...
รถไฟแล่นเข้าสู่เมืองตรัง ก่อนที่จะแวะล้างหน้าล้างตาจิบกาแฟแล้วต่อรถจากตรังมุ่งหน้าไปยัง "สถานีกันตัง" จ.ตรัง สถานที่รถไฟสถานีสุดท้ายบนเส้นทางรถไฟฝั่งอันดามัน ซึ่งเริ่มเปิดใช้อย่างเป็นทางการมายาวนานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2456 ในสมัยที่กันตังยังเป็นจุดรับ-ส่งสินค้ากับต่างประเทศที่บริเวณท่าเรือกันตัง
แม้วันเวลาจะผ่านมาเกือบ 100 ปีแล้ว แต่สถานีกันตังก็ยังคงตั้งตระหง่านโดดเด่นชวนมองอยู่ไม่เสื่อมคลาย โดยตัวสถานีเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวทรงปั้นหยา ทาสีเหลืองสลับเทา ตัวอาคารแบ่งเป็น 2 ส่วน ด้านหน้ามีมุขยื่นตกแต่งมุมเสาด้วยลวดลายไม้ฉลุให้บรรยากาศคลาสสิคเป็นอย่างยิ่ง
ครั้นเมื่อถึงยังสถานีกันตังแล้ว จากนี้ไปเราเปลี่ยนอิริยาบถจากการนั่งรถไฟไปนั่งรถตู้(ที่ บ.ทัวร์จัดหามา)เที่ยวชมสิ่งโดดเด่นที่น่าสนใจใน อ.กันตัง เริ่มจากต้นยางพาราต้นแรกของเมืองไทย ณ ริมถนนก่อนเข้าสู่ตัวอำเภอกันตัง ซึ่งเมื่อพูดถึงยางพาราแล้ว “ผู้จัดการท่องเที่ยว”อดนึกถึง“พระยารัษฏานุประดิษฐ์มหิศรภักดี” หรือ คอซิมบี้ ณ ระนอง ไม่ได้ เพราะท่านผู้นี้มีแนวคิดและมีความพยายามที่จะนำยางพาราจากมลายูมาปลูกในเมืองไทยหลังต่อหลายครั้ง แต่ว่าก็ประสบปัญหาไม่สามารถนำมาได้ จนกระทั่ง ใน พ.ศ. 2444 พระสถลสถานพิทักษ์(คออยู่เกียด ณ ระนอง) หลานของพระยารัษฎาฯได้เดินทางไปอินโดนีเซีย แล้วนำกล้ายางพายากลับมาปลูกในเมืองไทยสำเร็จ
และนั่นก็คือจุดกำเนิดของยางพาราต้นแรกหรือในเมืองไทยที่ อ.กันตัง (ผู้รู้บางท่านก็บอกว่ายางพาราต้นนี้ไม่ใช่ต้นยางที่พระยาสถลฯนำมาปลูกในเมืองไทย แต่น่าจะเป็นหนึ่งในต้นยางจากสวนแรกมากกว่า) ซึ่งปัจจุบันยางต้นนี้ตั้งโดดเด่นเป็นหนึ่งในจุดแวะถ่ายรูปที่สำคัญของอำเภอนี้
สำหรับพระยารัษฎาฯนั้น นอกจากท่านจะเป็นผู้พัฒนากิจการและส่งเสริมการปลูกยางพาราให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งแห่งภาคใต้ จนได้รับการยกย่องให้เป็น“บิดาแห่งยางพารา” และเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่คนตรังยกย่อง ซึ่งที่“พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ” จุดท่องเที่ยวลำดับต่อไปของเรานั้น ได้บอกเล่าเรื่องราวและผลงานต่างของพระยารัษฎาฯให้นักท่องเที่ยวรับทราบกันอย่างเรียบง่าย โดยมีทั้งไกด์เด็กนักเรียนและไกด์ผู้ใหญ่นำชม
พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ มีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ เคยเป็นบ้านพักอดีตเจ้าเมืองตรังนั้นก็คือ เป็นอาคารพระยารัษฎาฯ หรือจะเรียกว่าจวนเก่าเจ้าเมืองตรังก็ย่อมได้ ตัวอาคารเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ทรงไทยประยุกต์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 มีอายุราว 100 กว่าปี ภายในมีรูปหุ่นขี้ผึ้งพระยารัษฎาฯขนาดเท่าตัวจริง ซึ่งใครไม่เคยเห็นหน้าคร่าตาท่าน ถ้ามีโอกาสไปเยือนเมืองตรังก็แวะไปชมกันได้
นอกจากนี้ในพิพิธภัณฑ์ยังได้แบ่งเป็นห้องต่างๆ เช่น ห้องโถง ห้องทำงาน ห้องนอน และยังได้จัดแสดงเครื่องมือ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของท่านอย่างครบถ้วน แต่ที่ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” คิดว่าน่าเสียดายสำหรับพิพิธภัณฑ์อันทรงความรู้เหล่านี้ก็คือความเก่าและทรุดโทรม เพราะที่นี่เป็นที่ของเอกชนจึงขาดการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐทำให้สถานที่แห่งนี้ดูไม่สมดังคุณค่าของมัน
ส่วนไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ มีสวนสาธารณะที่เรียกกันว่า “ควนตำหนักจันทร์” ซึ่งคำว่าควน เป็นภาษาถิ่น แปลว่า เนิน ที่แห่งนี้เมื่อประมาณ 100 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พร้อมด้วยรัชกาลที่ 6 ซึ่งในขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสภาคใต้ เมืองตรังก็เป็นจุดหนึ่งที่ทั้ง 2 พระองค์ทรงเสด็จมาประทับ ณ ตำหนักจันทร์แห่งนี้
ซึ่งฟังชื่อดูแล้วอาจจะคิดว่าเป็นตำหนักอาคารสวยงามใหญ่โต แต่จริงๆแล้วเป็นเพียงศาลา 8 เหลี่ยมบนยอดเนินเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันได้ปรับปรุงตกแต่งด้วยต้นไม้ ศาลานี้จึงใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป และที่บนควนตำหนักจันทร์แห่งนี้ยังเป็นที่ชมวิวทิวทัศน์อำเภอกันตังได้กว้างไกลอีกด้วย
เที่ยวมาจนออกอาการเมื่อยแล้ว จุดต่อไปทางผู้จัดจึงพา“ผู้จัดการท่องเที่ยว” ไปเที่ยวปิดท้ายวันกันที่สถานที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอันขึ้นชื่อของจังหวัดตรังกันที่ “บ่อน้ำร้อนควนแคง”ตาน้ำร้อนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติด้วยความร้อนประมาณ 70 องศาเซลเซียส ภายในมีพรุน้ำร้อนที่ได้พัฒนาให้ใช้ประโยชน์ได้จำนวน 3 บ่อ เท่าที่ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” สังเกตบ่อน้ำร้อนที่นี่ไม่ได้กลิ่นกำมะถันเลย และก็ไม่มีไอควันระเหยอีกด้วย จะเห็นก็แต่น้ำที่ผลุ ผลุ คล้ายน้ำเดือดนิดหน่อยภายในบ่อน้ำร้อนเท่านั้น ใครที่อยากจะแช่เท้าแช่น่องก็ลองแช่ขาในบ่อก็ได้ รู้สึกผ่อนคลายความเมื่อยล้าได้ไม่น้อย แถมยังช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อให้คืนนั้นเรานอนหลับอุตุทีเดียวแหละ
เที่ยวข้ามจังหวัดสู่“กระบี่”
เช้าวันถัดมา...
หลังตะลุยเที่ยวในเส้นทางสุดทางรถไฟฝั่งอันดามันที่ อ.กันตัง อย่างเพลิดเพลินร่วม 1 วันแล้ว เช้าวันใหม่ ทางคณะได้พาเราเดินทางข้ามจังหวัดไปเยือน“กระบี่” เมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก ที่งดงามไปด้วยทะเล ป่าไม้ ที่ชวนเที่ยวยิ่งนัก
สำหรับทริปนี้ไม่มีการลงเรือออกทะเล แต่เราเลือกที่จะมุ่งหน้าสู่ อ.คลองท่อม เพื่อเที่ยว ชม 2 แหล่งท่องเที่ยวฮอตฮิตที่กำลังมาแรงอย่าง “สระมรกต” และ“น้ำตกร้อนคลองท่อม” ซึ่งต่างก็มีความโดดเด่นสวยงามจนได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับอันซีนไทยแลนด์ทั้งคู่
"สระมรกต" มีลักษณะคล้ายสระว่ายน้ำสวยใสกลางใจป่า ที่กำเนิดมาจากธารน้ำอุ่น ใน ผืนป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ –บางคราม ซึ่งในการเดินทางไปชมนั้นจะต้องเดินเท้าจากทางเข้าไปประมาณ 800 เมตร แต่เห็นตัวเลขระยะทางแล้วอย่าเพิ่งทำท่าเหนื่อยไปเสียก่อน เพราะสองข้างทางนั้นเป็นป่าร่มครึ้มเย็นสบาย ตลอดทางยังมีป้ายบอกถึงชื่อและเรื่องราวของต้นไม้หรือสภาพแวดล้อมต่างๆในบริเวณนั้นด้วย เดินไปเรื่อยๆก็ถึงสะพานไม้ที่จะนำทางไปสู่สระน้ำสีเขียวราวมรกต สมชื่อจริงๆ
นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ทั้งเด็กผู้ใหญ่ ต่างก็กำลังเล่นน้ำในสระกันอย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะเด็กๆชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ผลัดกันกระโดดน้ำในท่าต่างๆอย่างสนุกสนาน แถมยังบ้ายออีกต่างหากยิ่งชมก็ยิ่งคึกกระโดดโชว์กันไม่ยอมหยุด จน “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เหนื่อยแทนเลยทีเดียว แต่ต้องขอเตือนไว้ว่า เห็นน้ำใสๆแบบนี้อย่าได้เผลอดื่มกินเข้าไปเชียว เพราะในน้ำไหลผ่านชั้นหินปูนซึ่งมีแคลเซียมคาร์บอเนตสูง อาจทำให้เกิดนิ่วได้
จากสระมรกต เรามุ่งหน้าสู่ “น้ำตกร้อนคลองท่อม”ที่อยู่ไม่ไกลกัน สำหรับน้ำตกแห่งนี้ถ้าจะบอกว่าเป็นน้ำตกร้อนก็ดูจะไม่ใช่นัก เพราะเป็นน้ำร้อนที่ซึมขึ้นมาจากผิวดิน ลักษณะคล้ายน้ำพุร้อน อุณหภูมิประมาณ 40 องศาเซลเซียส และไหลไปรวมกันตามความลาดเอียงของพื้นที่ ซึ่งบางช่วงของสายน้ำก็จะมีควันลอยกรุ่นและคราบหินปูนธรรมชาติพอกอยู่ดูแล้วก็สวยแปลกตาดี นี่ยังไม่นับรวมกับต้นไม้น้อยใหญ่ที่เขียวครึ้มและปกคลุมร่มรื่น
โดยเฉพาะบริเวณที่ธารน้ำร้อนไหลลงสู่คลองท่อมที่จะลดระดับเกิดเป็นลักษณะคล้ายชั้นน้ำตกเล็ก ๆ ให้ได้เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน แถมด้านบนยังมีแอ่งเล็กๆ ดูคล้ายอ่างอาบน้ำหลายๆแอ่งให้นักท่องเที่ยวได้ลงไปนอนแช่น้ำแร่อุ่นๆที่เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อสุขภาพ ดูๆไปก็เป็นสปาธรรมชาติที่ออกแบบมาได้อย่างมหัศจรรย์ ซึ่งถือเป็นเสน่ห์อันน่าสนใจในเส้นทาง สุดทางรถไฟฝั่งอันดามัน ตรัง-กระบี่ ที่รอคอยให้นักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบในมนต์เสน่ห์ของการเดินทางด้วยรถไฟ เดินทางไปสัมผัสเที่ยวชมกันตามหัวใจที่ไขว่คว้า
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 1 ถนน ค่ายพิทักษ์ ต.กันตัง อ.กันตัง อยู่หลังสำนักงานเทศบาลเมืองกันตัง ห่างจากท่าแพขนานยนต์ เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น เป็นอดีตจวนเจ้าเมืองเก่าที่ดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ ใน พ.ศ.2533 ปัจจุบันอยู่ในสภาพทรุดโทรม ภายในจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระยารัษฎาฯ ซึ่งหากเวลาทำการ เปิดอังคาร-อาทิตย์ 9.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์ โดยไม่เก็บค่าเข้าชม แล้วแต่จะบริจาค หากเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการให้ไกด์รุ่นเยาว์นำชมสามารถติดต่อได้ที่ โรงเรียนกันตังพิทยากร โทร.08-7525-1100
บ่อน้ำร้อนควนแคง ตั้งอยู่ที่ หมู่ 7 ต.บ่อน้ำร้อน อ.กันตัง จ.ตรัง เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 6.00-20.00 น. โทร. 08-6271-6326
สำหรับผู้ที่สนใจเที่ยวมุมมองใหม่กับการเดินทางด้วยรถไฟไปสุดทางรถไฟฝั่งอันดามันสอบถามข้อมูลได้ที่บริษัทนิวทริป ทราเวล จำกัด โทร.0-2929-0795-6
สำนักงาน ททท. ภาคใต้ เขต 2 (ตรัง) โทร.0-7534-6515-6 หรือที่สำนักงาน ททท. ภาคใต้ เขต 4 (กระบี่) โทร.0-7621-1036, 0-7621-2213, 0-7621-7138
ที่พักในจังหวัดตรัง ร้านอาหารในจังหวัดตรัง เทศกาลและงานประเพณีจังหวัดตรัง สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึกจังหวัดตรัง
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
รับปีหมู เที่ยวแบบหมูๆกับเรื่องหมูๆ ที่ "เมืองตรัง"
ปาท่องโก๋เมืองตรัง...แปลกกว่าใคร/ ปิ่น บุตรี
สวย สนุก เสียว ...เที่ยวสามอันซีนเมืองตรัง
"ประเพณี…วิถีตรัง"เอกลักษณ์อันโดดเด่น
เรื่องน่าเสียดาย ที่“พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ”/ปิ่น บุตรี
“คนตรัง” พูดเสียงดัง ใจกว้าง/ปิ่น บุตรี
“ทะเลตรัง” ความงดงามที่มิอาจถูกกลืน
"เมืองตรัง"ไม่เคยร้างกลิ่นกาแฟ
เที่ยว “ตรัง”สัมผัสมนต์ขลังเมืองสงบแห่งอันดามัน
หนีร้อนเข้าถ้ำ....สัมผัสมนต์เสน่ห์ “ถ้ำมรกต” เมืองตรัง
Unseen เมืองกระบี่ มีทั้งดูดีและน่าผิดหวัง
ท่าปอม คลองสองน้ำ / วินิจ รังผึ้ง
เที่ยว "กระบี่"...ที่ไม่ได้มีแต่ทะเล
เหตุเกิดในทะเลกระบี่ / ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
กระบี่ Seasons Change/ปิ่น บุตรี
สัมผัสมนต์เสน่ห์...ทะเลและหมู่เกาะ “กระบี่”
พายเรือเที่ยวกระบี่ ชมถ้ำผีหัวโต
เยือนมรกตแห่งอันดามันที่สวรรค์ 'เกาะพีพี'