xs
xsm
sm
md
lg

ไทลื้อโลก…สืบสานตำนาน “ไทลื้อ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชนเผ่าต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทยนั้นก็มีหลากหลายเผ่าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง ม้ง มูเซอ จีนฮ่อ อาข่าไทยใหญ่ และอีกมากมายหลายชนเผ่า ซึ่งต่างก็มีความเป็นมา ความเป็นอยู่ และเอกลักษณ์ของแต่ละเผ่าที่ต่างกัน

“ไทลื้อ” ก็เป็นอีกชนเผ่าหนึ่งที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในประเทศไทยเหมือนกับชนเผ่าอื่นๆ แต่ชุมชนชาวไทลื้อถือเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีการรวมกลุ่มกันจัดกิจกรรมเพื่อกระชับความสัมพันธ์ในชุมชนอยู่เสมอ ซึ่งกิจกรรมที่ว่านั้นเป็นกิจกรรมในระดับโลกเลยทีเดียว นั่นก็คือ “งานสืบสานตำนานไทลื้อโลก”

ทำไมต้องเป็นไทลื้อโลก? ชาวไทลื้อยิ่งใหญ่ระดับโลกเชียวหรือ? เราจะไปหาคำตอบกัน

ไทลื้อมาจากไหน?

ชาวไทลื้อนั้น เดิมมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่แคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชน จีน แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองการปกครองที่ได้มีการกวาดต้อนผู้คนชาวไทลื้อลงมาทางใต้ โดยเฉพาะในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อไทยต้องทำศึกเพื่อขับไล่พม่าออกจากล้านนา และยึดเมืองเชียงแสนของพม่าได้ จากนั้นกองทัพของเจ้านายฝ่ายเหนือโดยการนำของเจ้ากาวิละ เจ้าเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้นได้ยกทัพขึ้นไปตีเมืองสิบสองปันนาแล้วจึงถือโอกาสอพยพผู้คนลงมาด้วย จนกระทั่งปัจจุบันจึงมีชาวไทลื้อก็กระจายอยู่ในประเทศจีน พม่า ลาว เวียดนาม และไทย

สำหรับในเมืองไทยนั้น ชาวไทลื้อได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ไม่ว่าจะเป็นในอำเภอสะเมิง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน อำเภอเมือง อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน และอำเภอเชียงม่วน อำเภอเชียงคำพะเยา โดยจังหวัดพะเยานั้นน่าจะเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางชาวไทลื้อในเมืองไทยก็ว่าได้ โดยวัดจากความหนาแน่นของประชากรไทลื้อ และการรักษาขนบธรรมเนียมของตัวเองไว้ได้เป็นอย่างดี

เอกลักษณ์ชาวไทลื้อ

ครูยุทธพล อุ่นตาล ครูประจำโรงเรียนเชียงคำวิทยาคมในจังหวัดพะเยา อีกทั้งยังเป็นชาวไทลื้อเต็มตัวที่สามารถอ่าน พูด และเขียนภาษาไทลื้อได้เป็นอย่างดี เล่าถึงลักษณะของชาวไทลื้อให้ฟังว่า ชาวไทลื้อส่วนมากจะตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้กับสายน้ำ ตรงไหนที่อุดมสมบูรณ์ชาวไทลื้อก็จะตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นั่นเพราะชาวไทลื้อจะชอบทำการเกษตร ปลูกผักหญ้ากินเอง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมในที่ที่ตนอยู่ แม้แต่จะเก็บฟืนมาใช้ก็จะเลือกเอาแต่กิ่งที่แห้งตาย แล้วจึงตัดแต่งมาทำเป็นฟืน

วิถีชีวิตและความเป็นอยู่หลายๆ อย่างของชาวไทลื้อสามารถเรียกได้ว่ามีเอกลักษณ์ในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ที่หากเป็นบ้านไทลื้อดั้งเดิมก็จะเป็นบ้านใต้ถุนสูง หลังคาสูงมุงด้วยหญ้าคา ฝาบ้านทำด้วยไม้ไผ่ขัดแตะ มี “ปุ้มปุก” หรือชั้นยกระดับก่อนบันไดขั้นแรก ใช้เป็นที่วางรองเท้า หรือเป็นบ้านไม้หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ดก็มี

ครูยุทธพลเล่าให้ฟังว่า เมื่อคนไทลื้อจะสร้างบ้านก็จะมีเพื่อนฝูงบ้านใกล้เรือนเคียงมาช่วยลงมือลงแรงร่วมกันสร้างจนเสร็จภายในวันเดียว คล้ายกับประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวของคนไทย จากนั้นเมื่อบ้านสร้างเสร็จก็จะมา “กินหอมตอมม่วน” หรือคล้ายกับการขึ้นบ้านใหม่ รวมทั้งเป็นการเลี้ยงขอบคุณคนที่มาช่วยสร้างบ้านด้วย

เครื่องแต่งกายของชาวไทลื้อก็โดดเด่นไม่เหมือนใครเช่นกัน โดยผู้ชายจะสวมเสื้อแขนยาว แล้วสวมทับด้วยเสื้อกั๊กที่ปักลวดลายสวยงาม ส่วนผู้หญิงจะสวมเสื้อแขนยาวที่เรียกว่า “เสื้อปั๊ด” และนุ่งซิ่น ทั้งชายและหญิงจะมีผ้าโพกศีรษะ โดยผู้เฒ่าผู้แก่ชาวไทลื้อบางคนก็ยังคงแต่งกายเช่นนี้อยู่

เรื่องภาษาก็เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของไทลื้อ เพราะคนไทลื้อมีภาษาพูดและตัวอักษรเขียนใช้เองมานาน โดยภาษาไทลื้อนั้นจัดอยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลไท (ไต) และคำบางคำก็คล้ายกับภาษาเหนือ โดยครูยุทธพลบอกว่า ภาษาเหนือน่าจะมีรากมาจากภาษาไทลื้อ คำบางคำคล้ายกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่คนอู้คำเมืองเป็นจะสามารถพูดคุยกับชาวไทลื้อในแคว้นสิบสองปันนาได้อย่างพอเข้าใจ

อีกทั้งชาวไทลื้อก็ยังคงยึดมั่นในพระพุทธศาสนา มีประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนามากมายไม่ว่าจะเป็น ประเพณีตานก๋วยสลาก (สลากภัตร์) ประเพณีสงกรานต์ และประเพณีขึ้นธาตุ เป็นต้น อีกทั้งวัดที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทลื้อก็ยังได้รับยกย่องว่างดงามมากอีกด้วย โดยจะมีเอกลักษณ์ตรงที่หลังคาโบสถ์หรือวิหารจะทำเป็นสองชั้น หลังคาชั้นล่างยาวคลุมตัวอาคาร มุมชายคาประดับด้วยไม้แกะสลักรูปสัตว์ป่าหิมพานต์ เช่นที่วิหารวัดแสนเมืองมา ในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นวิหารแบบลื้อที่เก่าแก่มีลวดลายบนหน้าบันที่งดงามมากทีเดียว

และภายในโบสถ์หรือวิหารที่นอกจากจะมีพระประธานประดิษฐานอยู่แล้ว ในวัดไทลื้อจะมีพระพุทธรูป ไม้ที่แกะสลักจากไม้ซ้อ เรียกว่าพระเจ้าไม้ซ้อองค์เล็กๆ ประดิษฐานอยู่ข้างพระประธาน อีกทั้งยังประดับด้วยตุง หรือธง แขวนอยู่หลายผืนซึ่งชาวลื้อนิยมทำบุญถวายด้วยตุงด้วยความเชื่อที่ว่าเมื่อเสียชีวิตแล้วจะ ได้เกาะชายตุงขึ้นสู่สรวงสวรรค์

สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งมีคุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรม จึงมีผู้ต้องการจะรักษาไว้ไม่ให้สูญหาย และหนทางหนึ่งที่จะรักษาไว้ได้ก็คือการจุดประกายให้มีคนเห็นความสำคัญของสิ่งๆ นั้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการจัดงาน “สืบสานตำนานไทลื้อ” ขึ้นในที่สุด

สืบสานตำนานไทลื้อ สู่ไทลื้อโลก

ครูยุทธพล หนึ่งในผู้ริเริ่มจัดงาน “สืบสานตำนานไทลื้อ” เล่าถึงที่มาให้ฟังว่า “งานสืบสานตำนานไทลื้อนั้น เราเริ่มคิดกันมาตั้งแต่ปี 37 จนมาได้มาจัดงานสืบสานตำนานไทลื้อครั้งที่ 1 ขึ้นในปี 38 เริ่มมาจากการที่ผมพานักเรียนไปที่จังหวัดสุโขทัย และได้แวะไปกินก๋วยเตี๋ยวที่ตลาด แล้วก็บอกเด็กเป็นภาษาไทลื้อว่า “สูเหย กิ๊นเข่ากันที่นี่เด้อ กิ๊นเข่าเตี๋ยวกันแล้วก็ให้ฟ้าวมาขึ้นรถ” แม่ค้าร้านก๋วยเตี๋ยวได้ยินก็ถามว่า เมื่อกี้ครูพูดภาษาอะไร ผมก็บอกว่าภาษาไทลื้อ แม่ค้าก็ถามว่าทำไมคล้ายภาษามอญ แล้วลื้อเป็นใคร เป็นชาวเขาหรือเปล่า ตรงนี้ผมก็เลยคิดว่า น่าจะทำอะไรสักอย่างให้คนอื่นๆ รู้จักไทลื้อมากขึ้น ให้เขารู้จักว่าคนไทลื้อนั้นมีภาษา มีเครื่องแต่งกาย มีอาหาร มีศิลปวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง และน่าจะรักษาเอาไว้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยด้วย”
อักษรไทลื้อ
ด้วยเหตุผลที่ว่านี้ “งานสืบสานตำนานไทลื้อ” จึงถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่จังหวัดพะเยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความผูกพันระหว่างเยาวชนรุ่นหลังกับบรรพชนไทลื้อ รวมทั้งฟื้นฟู สืบสาน และอนุรักษ์วัฒนธรรมไทลื้อ และเป็นการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมไทลื้อให้คนทั่วไปได้รู้จักกันมากขึ้น ซึ่งในปี พ.ศ.2547 ที่ผ่านมาก็ได้มีการจัดงานสืบสานตำนานไทลื้อเป็นครั้งที่ 10 แล้ว

และไม่ใช่เพียงแค่งานระดับประเทศเท่านั้น แต่ชาวไทลื้อยังได้โกอินเตอร์ด้วยการผลักดันของ ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และเป็นชาวไทลื้อในจังหวัดพะเยา ให้งานสืบสานตำนานไทลื้อได้กลายเป็น “งานสืบสานตำนานไทลื้อโลก” ซึ่งเป็นการรวมเอาชาวไทลื้อในภูมิภาคนี้ คือจีน พม่า ลาว เวียดนาม และไทยให้มาจัดกิจกรรมร่วมกัน

“สำหรับงานไทลื้อโลก เราเริ่มจัดครั้งแรกในปี 2548 ตอนนั้นลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับครูคิดว่าไหนๆ เราก็ทำสืบสานตำนานไทลื้อในไทยในระดับประเทศแล้ว ก็น่าจะทำไทลื้อระดับโลกด้วย เพราะก็มีชาวไทลื้อในหลายประเทศแถบนี้ และจุดที่เรามารวมตัวกันก็ไม่ได้รวมกันด้านการเมือง แต่เรารวมกันเรื่องเชื้อชาติ ความเป็นอยู่ที่เป็นเอกลักษณ์ มีหลายสิ่งที่น่าสนใจที่เราน่าจะมานำเสนอ ดังนั้นประเทศไทยจึงจัดงานสืบสานตำนานไทลื้อโลกขึ้นก่อนที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา” ครูยุทธพลเล่า

ครูยุทธพลกล่าวว่า ผลตอบรับในการจัดงานครั้งแรกถือว่าดีมากๆ มีผู้เข้าร่วมงานจากประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประเทศเวียดนาม เจ้าเมืองสิบสองปันนา ผู้ปกครองเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา และชาวไทลื้อจากหลายจังหวัดในภาคเหนือของไทยต่างก็มาร่วมกิจกรรมกัน โดยมีพิธีไหว้สาเทวดาเมือง ที่วัดพระธาตุสบแวน มีพิธีสืบชะตาและบายศรีสู่ขวัญให้กับพี่น้องไทลื้อที่มาจากต่างประเทศและมีขบวนวิถีชีวิตของชาวไทลื้อที่งดงามและสื่อถึงความเป็นไทลื้อที่แท้จริงโดยไม่มีกำแพงของคำว่าประเทศมาเกี่ยวข้อง เพราะทุกคนคือชาวไทลื้อที่สื่อสารเข้าใจกันได้ด้วยภาษาไทลื้อ

“สำหรับการจัดงานครั้งต่อมานั้น ก็ได้ไปจัดกันที่ศูนย์กลางของชาวไทลื้อที่แคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน และในครั้งที่ 3 ที่จะจัดขึ้นในปี 2550 นี้ ยังไม่ได้ตกลงกันว่าจะเป็นที่ใด แต่ก็น่าจะเป็นประเทศลาวหรือประเทศเวียดนาม ต้องดูกันอีกที และหากวนมาที่ประเทศไทยอีกครั้งก็อาจจะเปลี่ยนไปเป็นจัดที่จังหวัดอื่นๆ เช่น น่าน เชียงใหม่ ลำพูน เป็นต้น” ครูยุทธพล กล่าว

ชาวไทลื้อปัจจุบัน

เวลากว่า 200 ปี ที่ชาวไทลื้อเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย ระยะเวลาที่ยาวนานอีกทั้งวัฒนธรรมที่หลากหลายจากภายนอกรุกเข้ามาก็ย่อมก่อให้การเปลี่ยนแปลงต่อความเป็นอยู่ของชาวไทลื้อ ไม่เว้นแม้แต่ศูนย์กลางชุมชนไทลื้ออย่างสิบสองปันนา ที่แม้จะยังคงรักษาหมู่บ้านไทลื้ออายุกว่า 1,000 ปี ไว้ได้ แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นไปเพื่อการท่องเที่ยว

เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงของชาวไทลื้อในไทย ครูยุทธพลกล่าวว่า หากไม่มีการสืบสานและอนุรักษ์กันไว้ก็น่ากลัวว่าความเป็นไทลื้อจะหายไปเหมือนกัน แต่สำหรับชาวไทลื้อในจังหวัดพะเยานั้น ครูยุทธพลค่อนข้างจะมั่นใจว่ายังคงความเป็นไทลื้ออยู่มาก เนื่องจากในบางโรงเรียนในจังหวัดพะเยานั้นก็ได้มีการส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวในท้องถิ่นอย่างเช่นเรื่องไทลื้อมากขึ้น โดยจะมีการศึกษาในรูปแบบของกิจกรรมชุมนุมบ้าง หรืองานวันอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมบ้าง แต่สำหรับโรงเรียนเชียงคำวิทยาคมที่ครูยุทธพลสอนอยู่นั้น มีการเรียนการสอนเป็นวิชาหนึ่งเลยทีเดียว นั่นก็คือวิชาช่างศิลป์พื้นบ้าน (สล่าเมือง) เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานวิถีชีวิตและภูมิปัญญาไทลื้อในโรงเรียนเชียงคำวิทยาคมได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้น ในระดับมหาวิทยาลัยก็มีการศึกษาเกี่ยวกับไทลื้อเช่นกัน คือที่สถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย โดยวิชาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีก็คือวิชาไทลื้อศึกษา อีกทั้งยังมีวิชาอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ดังนั้นก็เชื่อได้ว่า ความเป็นไทลื้อรวมทั้งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามทั้งหลายคงจะไม่สูญหายไปอย่างง่ายดายนัก หากยังมีผู้ที่ให้ความสนใจและผู้ที่เป็นชาวไทลื้อนั้นยังให้ความสำคัญกับชาติพันธุ์ของตนเอง
*****************************************

ผู้ที่สนใจเรื่องราวของชาวไทลื้อ สามารถมาเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชาวไทลื้อได้ที่ "ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ" ที่วัดหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งนอกจากจะได้ความรู้เกี่ยวกับชนเผ่าไทลื้อแล้ว ก็ยังจะได้ชมผลงานทางวัฒนธรรม ศิลปวัตถุ และประวัติความเป็นมาของชาวไทลื้อ อีกทั้งยังมีการฝึกอาชีพของชาวไทลื้อที่มีความโดดเด่นอย่างมากในเรื่องของผ้าทอมือไทลื้อ ที่มีลวดลายและสีสันสดใส เช่น ลายดอกขอเครือ ลายดอกขอ ลายม้า ลายดอกตั้ง เป็นต้น โดยผ้าทอไทยลื้อนี้ถือเป็นหนึ่งในของฝากขึ้นชื่อของเมืองพะเยาอีกด้วย

อีกทั้งยังสามารถศึกษาได้จากวิถีชีวิตจริงของชุมชนไทลื้อ ทั้งเรื่องการแต่งกาย การย้อมผ้าได้ที่บ้านทุ่งมอก อำเภอเชียงคำ และที่บ้านท่าฟ้าใต้ อำเภอเชียงม่วน เรียนรู้การทอผ้าถุง ตุง และย่ามได้ที่บ้านหย่วน บ้านธาตุ บ้านทุ่งมอกและบ้านหนองลื้อ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยาได้

กำลังโหลดความคิดเห็น