xs
xsm
sm
md
lg

สวัสดีเมือง"ปาย"...ทักทายเมืองในฝัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กาลครั้งหนึ่ง...มีเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งซ่อนตัวอยู่ในหุบเขา ผู้คนในเมืองแห่งนี้ล้วนแล้วแต่อยู่กินกันอย่างเรียบง่ายตามวิถีชนเผ่า มีสายน้ำไหลพาดผ่านเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงคนในชุมชนมาช้านาน และลำน้ำสายสำคัญสายนั้นได้กลายเป็นชื่อของของเมืองแห่งนี้ในกาลต่อมา

เมืองที่ว่าก็คือ...เมืองปาย


แม้ฟังแล้ว จะออกแนวนิทานสมัยเด็กไปสักนิด แต่บรรยากาศของเมืองปายเมื่อหลายปีก่อนนั้นดูๆไปก็คล้ายกับเมืองในนิยายไม่น้อย เพราะทั้งสวยงาม สงบร่มเย็น เต็มไปด้วยรอยยิ้มและน้ำมิตรจิตใจของชาวบ้าน จนหลายๆคนต้องมนต์เมืองปาย หนีความวุ่นวายของเมืองกรุงไปลงหลักปักฐานกันอยู่ที่นั่น

มาวันนี้เมืองปายเปลี่ยนไปตามสายตาของหลายๆคน ไม่ใช่ยูโธเปีย ยูโธปายเหมือนในอดีต แต่กระนั้นเมืองในหุบเขาแห่งนี้ ก็ยังคงมีเสน่ห์อันชวนหลงใหลชวนให้ผู้สนใจเดินทางไปสัมผัสอยู่มากมาย เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์แห่งยุคสมัย ที่หากใครเสาะค้นหาเจอก็จะพบว่า

ส่วนที่ว่าปายมีเสน่ห์ แล้วอะไรล่ะ?..คือเสน่ห์แห่งเมืองปาย

นี่เป็นคำถามที่บังเอิญแว่วเข้ามาในหู แต่ก็ทำให้ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ได้ฉุดคิดขึ้นมาว่าเสน่ห์แห่งเมืองเล็กๆท่ามกลางหุบเข้าที่ล้อมรอบนั้น อย่างแรกก็คงจะเป็นธรรมชาติของที่ตั้งเมือง เนื่องจากปายเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่แตกต่างจากอำเภออื่นๆ เพราะถูกโอบล้อมด้วยขุนเขาเหมือนดังแอ่งกระทะ ทำให้เมื่อมองไปทางใดก็เห็นแต่ขุนเขาสูงตระหง่านที่ทอดตัวสลับทับซ้อน จากภูเขาที่เห็นเป็นสีเขียวของแมกไม้ ไล่หลังไปก็มีภูเขาอีกลูกที่สีหม่นลงไป ไล่หลังไปอีกก็มีภูเขามารองรับอีกลูกที่ดูสีหม่นลงและภูเขาลูกต่อๆไปก็มีสีที่หม่นลงไปเรื่อยๆ

นอกจากเสน่ห์ของที่ตั้งเมืองปายแล้ว วิถีชีวิตและความผสมผสานก็ทำให้ปายเป็นเมืองในฝันของใครหลายๆคน นักท่องเที่ยวที่มาเยือนจะได้เห็นถึงความผสมผสานของวัฒนธรรมต่างๆที่หลากหลายแต่อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมคนเมือง ไทยใหญ่ จีนยูนนาน ไทยบางกอก ฝรั่งแบ็คแพ็กเกอร์ อาร์ตติสต์ ฮิปปี้ ขี้ยา ฯลฯ

สำหรับ"ผู้จัดการท่องเที่ยว"การกลับไปเยือนปายครั้งนี้ มีความพิเศษตรงที่ เรามีโอกาสไปยัง"ศูนย์วัฒนธรรมจีนยูนนาน"หมู่บ้านจีนยูนนาน สันติชล ต.เวียงใต้ หมู่บ้านที่มีชนเชื้อชาติจีนอาศัยอยู่ ซึ่งสิ่งที่เรียกความสนใจของพวกเราได้นอกเหนือจากรูปแบบสถาปัตยกรรมในแบบจีนๆแล้วก็คือ เสียงกรี๊ดกร๊าดที่ดังมาจาก "ชิงช้า" แต่ชิงช้าที่นี่ไม่เหมือนกับชิงช้าที่เรามักเห็นกันตามสนามเด็กเล่น ชิงช้าแบบจีนยูนนานจะคล้ายล้อกันหันที่หมุนเป็นวงกลมด้วยแรงคน นั่งได้ทั้งหมด 4 คนด้วยกัน

นักท่องเที่ยวที่มาเยือนที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้จะต้องแวะมาลองนั่ง "ผู้จัดการท่องเที่ยว" เองเมื่อได้ยินคำชักชวนจากเด็กๆที่มาคอยบริการหมุนชิงช้าให้ซึ่งก็คือลูกหลานชาวจีนยูนนานนั่นเอง และยังมีคำคะยั้นคะยอจากพวกเรากันเอง จึงทำให้ต้องลองกันสักหน่อย

กรี๊ดดด...เสียงดังมาจากทางด้านหลัง หนึ่งในอาสาสมัครที่ลองเล่นชิงช้าจีนยูนนานร้องออกมาด้วยความเสียวไส้ ถึงชิงช้าจะดูไม่สูงนักแต่เมื่อหมุนกลับหลัง ไม่รู้ว่าจะลงตอนไหนจะเร็วแค่ไหน บางครั้งบางตอนก็พาเราไปหยุดอยู่บนยอดที่สูงที่สุด และด้วยเพราะชิงช้าอันนี้ไม่ใช้เครื่องจักรแต่เป็นแรงคนจึงทำให้เสียวมากขึ้น และเด็กๆที่มาหมุนชิงช้าเมื่อได้ยินเสียงกรีดร้องก็ยิ่งคึกคัก หมุนกันไม่ยอมหยุดเลยทีเดียว

หลังจากสนุกสนานกับเครื่องเล่นเสียวไส้แล้ว ก็ให้ค่าแรงเด็กๆเล็กน้อยเพื่อแสดงความขอบคุณ จากนั้น"ผู้จัดการท่องเที่ยว" ก็ตรงดิ่งไปยังร้านขายชาที่ขึ้นชื่อของหมู่บ้านจีนยูนนาน นอกจากชาแล้วที่นี่ยังมีชุดอุปกรณ์ชงช้าครบชุดจำหน่าย และยังมีของเล็กๆน้อยๆเช่น เครื่องรางให้โชค ผลไม้อบแห้งที่มีชื่อน่ารักๆอาทิ บ๊วยแห่งความคิดถึง บ๊วยความรักไว้กินแกล้มกับน้ำชา หรือจะเป็นรองเท้าจีนยูนนานก็น่าสนใจไม่หยอก

รองเท้าจีนยูนนาน เป็นรองเท้าแบบดั้งเดิมที่ชาวจีนยูนนานได้ตัดเย็บไว้ใช้เอง โดยแม่บ้านที่ว่างเว้นจากการทำเกษตร พวกเธอก็จะมานั่งรวมกลุ่มตัดเย็บรองเท้าด้วยผ้าหลากสีสวยงาม และต้องขอบอกว่าทั้งหมดเป็นการเย็บด้วยมือล้วนๆเลย เมื่อก่อนจะเย็บเพื่อใช้ในครอบครัว แต่ด้วยความสวยงามคงทนและแปลกตา จึงนำมาจำหน่ายเป็นการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย

เมื่อชมๆชื้อๆของติดไม้ติดมือกันพอหอมปากหอมคอแล้ว ก็ได้เวลาลองลิ้มชิมรสอาหารจีนยูนนานทีเด็ดของหมู่บ้านจีนยูนนานสันติชล เมนูที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว"สั่งมาสวาปามเช่น ขาหมูยูนนาน ที่ออกรสเผ็ดเล็กๆเค็มหน่อยๆ ไม่เหมือนกับขาหมูบ้านเรา กินคู่กับหมั่นโถร้อนๆเข้ากันที่สุด ลาบยูนานที่ดูผิดตาจากลาบอีสานและลาบเหนือตรงที่ใส่ผัดกาดดองลงไปด้วย รสชาติออกเปรี้ยวๆ รสจัดทีเดียวเชียว และยังมีเมนูยูนนานอีกหลายเมนูที่รสเด็ดน่าลองไม่แพ้กันเช่น ยำสาวน้อยยูนนาน ผัดผักถั่วไส้หมู ผัดเม็ดถั่วลันเตาใส่เต้าหู้ หลังจากอิ่มหนำสำราญพุงกันแล้วตามด้วยช้าร้อนๆแก้เลี่ยนเป็นอันเสร็จพิธี

จากหมู่บ้านจีนยูนนาน"ผู้จัดการท่องเที่ยว" ไปต่อยัง "บ้านดินดอยลีซอ" ต.เวียงใต้ เช่นกัน แต่ไม่ใช้บ้านของลีซอนักฟุตบอลชื่อดังหรอกนะ แต่เป็นที่อยู่ของชาวเขาเผ่าลีซอ แต่ก่อนชาวลีซอจะปลูกบ้านโดยใช้ไม้ไผ่ยกพื้นสูง เพื่อใช้ชั้นล่างเลี้ยงหมู แต่เพราะขี้หมูส่งกลิ่นเหม็นและไม่ค่อยถูกสุขลักษณะ จึงได้ย้ายเล้าหมูไปเลี้ยงที่อื่น บ้านเลยเปลี่ยนมาปลูกติดดิน และเปลี่ยนมาใช้ดินเป็นส่วนสำคัญในการสร้างบ้าน โดยใช้ดินผสมกับฟางนำมาสร้างเป็นผนังบ้านส่วนหลังคาจะใช้พวกแฝก ใบตองตึง หรือหญ้าคา ซึ่งบ้านดินจะเย็นในหน้าร้อนและดินก็ทำให้บ้านแข็งแรงอยู่ได้นานกว่า 50 ปี

นอกจากนี้แล้ว ที่บ้านดินลีซอยังมีการแสดงของเผ่าลีซอให้ได้ชมกันด้วย ซึ่งนักแสดงจะแต่งชุดชนเผ่าลีซอที่ดัดแปลงแล้วเพื่อให้เหมาะสม แต่ก็ไม่ต่างไปจากเดิมซะทีเดียว การแสดงโดยการเต้นของหนุ่มสาวชาวลีซอจะล้อมวงกันเต้น ท่าจะมีลักษณะคล้ายๆกันต้องสังเกตที่เท้าจะเปลี่ยนตามเสียงดนตรีซึ่งภายในวงล้อมของหนุ่มสาวชาวลีซอจะมีผู้เป่าเครื่องดนตรีโดยใช้อุปกรณ์ 4 ชิ้น ได้แก่ซึง ขลุ่ย แคน แคนใหญ่ ซึ่งการเต้นนี้จะแสดงเฉพาะในโอกาสสำคัญๆเท่านั้นเช่นวันตรุษจีน

เที่ยวหมู่บ้านต่างถิ่นกันมา 2 ที่แล้ว ก็ต้องไปเข้าวัดเข้าวาขอพรเอาฤกษ์เอาชัยในปีหมูทองกันสักหน่อย "ผู้จัดการท่องเที่ยว" จึงไปยัง "วัดน้ำฮู" ต.เวียงใต้ วัดชื่อดังของเมืองปาย ที่เขาว่ากันว่ามีน้ำออกมาจากเศียรพระ แม้เมื่อไปถึงยังวัดน้ำฮู "ผู้จัดการท่องเที่ยว" จะไม่ได้ดูน้ำที่ไหลออกมาจากเศียรพระแบบตาต่อตา แต่ก็ได้ดูวิดีโอที่เขาถ่ายไว้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

เมื่อดูวีดีโอและนมัสการกราบไหว้หลวงพ่ออุ่นเมืองภายในอุโบสถแล้ว ก็ออกมาสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระพี่นางสุพรรณกัลยา เข้ากระแสหนังเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่กำลังมาแรงพอดิบพอดี

สุดท้ายก่อนจะจากเมืองปายก็พลาดไม่ได้ที่จะไปยัง "วัดพระธาตุแม่เย็น" ต.แม่ฮี้ ซึ่งนอกจากจะได้กราบไหว้ขอพรองค์พระธาตุแม่เย็นแล้ว ยังได้ชมวิวทิวทัศน์มุมกว้างของอำเภอปายได้ทั่วถึงอีกด้วย ก็วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาสูงนี่นา

และท้ายสุด"ผู้จัดการท่องเที่ยว" แวะไปที่ "สะพานประวัติศาสตร์ ท่าปาย" ที่สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อพ.ศ. 2485 ขณะที่ญี่ปุ่นเรืองอำนาจอยู่ในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงกำลังพลและอาวุธสู่พม่าเช่นเดียวกับสะพานข้ามแม่น้ำแควที่กาญจนบุรี ในอดีตสะพานนี้เคยถูกใช้เป็นเส้นทางเดินทางของประชาชนทั่วไป กระทั่งสะพานนี้ทรุดโทรมลง จึงได้มีการสร้างสะพานคอนกรีตใหม่ข้างๆสะพานเดิม

หลังเก็บรูปที่ระลึกสะพานประวัติศาสตร์แล้วก็โบกมือลาอำเภอปาย พร้อมความอิ่มอกอิ่มใจทั้งจากผู้คนที่มีมิตรไมตรีและจากธรรมชาติที่เหมือนถูกโอบอุ้มไว้ด้วยขุนเขาและแมกไม้ และตลอดทางพันกว่าโค้งก็ทำให้ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ได้เพลิดเพลินกับภูมิประเทศที่สวยงามน่าหลงใหล ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมปายจึงกลายเป็นเมืองในฝันของใครหลายหลายคน

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

"ปาย" เป็นอำเภอเล็กๆในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ถูกโอบล้อมไปด้วยขุนเขา สูงตระหง่านเป็นรอยต่อชายแดนไทย-พม่า ฤดูหนาวอากาศเย็นจัด เมืองเล็กๆแห่งนี้มักปกคลุมด้วยสายหมอก ละอองน้ำจางๆยามเช้า บรรยากาศเงียบสงบ ทุ่งนาสีเขียว ท้องฟ้าสีคราม แสงแดดอุ่นๆ แลเห็นต้นสนไม้ยืนต้นเมืองหนาวสูงใหญ่เป็นทิวแถวตามเชิงเขา และวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของผู้คน

สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงาน ททท.ภาคเหนือเขต 1 โทร.0-5324-8604, 0-5324-8607, 0-5324-1466 ในช่วงฤดูท่องเที่ยวควรโทรสอบถามที่พักก่อนล่วงหน้า ส่วนผู้ที่สนใจ "ศูนย์วัฒนธรรมจีนยูนนาน" สอบถามได้ที่โครงการวิจัยฯ การท่องเที่ยวโดยชุมชนจีนยูนนาน โทร.08-1883 -2138 และ "บ้านดินดอยลีซอ" สอบถามโทร.08-9036-9223

 
ที่พัก               ร้านอาหาร               เทศกาลและงานประเพณี               การเดินทาง

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

สัมผัสสายลมหนาวแห่งเมืองปายที่ "เดอะควอเตอร์"
เสน่ห์ปาย...เมืองใต้สายหมอก
แอ่วปายสัมผัสกลิ่นไอเมืองสามหมอก
น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากเศียรพระแห่งวัดน้ำฮู
เยือนขุนเขาพันโค้งไปหยอกเมฆ ที่ “เมืองสามหมอก”
ท่องโลกใต้ดิน อันซีนฯ“ถ้ำแม่ฮ่องสอน
เที่ยวถ้ำที่แม่ฮ่องสอน/วินิจ รังผึ้ง
สัมผัส “แม่ฮ่องสอน” ไม่ต้องผ่าน “ทางพันโค้ง” !!!
ขี่จักรยานชมเมืองปายในสายฝน

 


กำลังโหลดความคิดเห็น