xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวทั่วไทย ตามรอย"พระนเรศวร"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของเหล่าทหารหาญและประชาชนไทยเพราะเป็น "วันกองทัพไทย" (ที่ปรับเปลี่ยนใหม่จากวันที่ 25 ม.ค. เป็น 18 ม.ค.) นอกจากนี้ยังเป็นวันรำลึก "สมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ที่ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อสมเด็จพระมหาอุปราชา แห่งกรุงหงสาวดี เมื่อปี พ.ศ.2135 ตรงกับวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จุลศักราช 954 ซึ่งเป็นหนึ่งในชัยชนะอันสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทย

มาวันนี้แม้กาลเวลาจะล่วงเลยมานานกว่า 400 ปี แต่ว่าวีรกรรมและความกล้าหาญเสียสละของสมเด็จพระนเรศวรยังตราตรึงอยู่ในจิตใจของปวงชนชาวไทย โดยในหลายสถานที่ในบ้านเราที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับของสมเด็จพระนเรศวรต่างก็ได้สร้างอนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆไว้เป็นที่ระลึก เพื่อให้ลูกหลานชาวไทยได้จดจำในวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ท่าน

เยือนพิษณุโลกจังหวัดที่ประสูติ

จังหวัดพิษณุโลกเป็นแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ เพราะมีการระบุว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงประสูติที่จังหวัดนี้ภายใน "พระราชวังจันทร์" ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.2535 ทางกรมศิลปากรได้ขุดพบซากแนวอิฐเขตพระราชวังในบริเวณโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม (เดิม) ในเขตอำเภอเมือง

สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของพระราชวังจันทร์นั้น ควรแวะสักการะ "ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ที่ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม(เดิม) ตัวศาลเป็นศาลาทรงไทยโบราณตรีมุข มีพระรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขนาดเท่าองค์จริง ประทับนั่งพระหัตถ์ทรงพระสุวรรณภิงคารหลั่งน้ำในพระอิริยาบถประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง

นอกจากนี้ที่ "วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร" อันเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระพุทธชินราชยังมีพระบรมรูปประทับยืนของสมเด็จพระนเรศวรพร้อมด้วยพระสุพรรณกัลยาและพระเอกาทศรถไว้ให้นักท่องเที่ยวได้สักการบูชาอีกด้วย

พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี

"พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์" ตั้งอยู่ที่ ต.ดอนเจดีย์ อ.ดอนเจดีย์ อยู่ห่างจากตัวเมืองสุพรรณบุรีราว 31 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 322 สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่หนึ่งซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่กระทำ "ยุทธหัตถี" ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรและพระมหาอุปราชา จึงสร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ

ที่นี่เป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรขณะทรงพระคชาธารออกศึก ตั้งตระหง่านรอการสักการะจากลูกหลานไทย และยังมี "องค์เจดีย์" ซึ่งภายในองค์เจดีย์ได้มีการสร้างห้องแสดงประวัติศาสตร์ ทั้งภาพแสงสีเสียงและ หุ่นจำลองการยกทัพของพม่า และไทย หลายร้อยตัว เป็นสิ่งที่สร้างความเพลิดเพลินและให้ความรู้ได้เป็นอย่างดี

ด้านหลังของพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นที่ตั้งของ "พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวร" โดยรอบพระตำหนักจะมีภาพปั้นนูนต่ำ แสดงเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวร มีรูปปั้นของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระสุพรรณกัลยา ซึ่งมักมีผู้นิยมไปสักการะบูชาอยู่เป็นนิจ

"พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช"ทุ่งภูเขาทอง จ.อยุธยา

ที่อยุธยาราชธานีเก่าของไทยก็มี "พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช" เช่นกัน เป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นที่กระทำยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรและพระมหาอุปราชา บริเวณใกล้เคียงยังเป็นที่ตั้งของ "เจดีย์ภูเขาทอง" เป็นโบราณสถานเก่าแก่ตั้งอยู่ กลางทุ่งภูเขาทอง เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยม ขนาดใหญ่ 4 ชั้น กว้าง 80 เมตร สูงจากพื้นถึงยอด 64 เมตร

พระบรมราชานุสาวรีย์ฯนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าของเจดีย์ภูเขาทอง แห่งทุ่งภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยา จ. พระนครศรีอยุธยา บริเวณฐานพระบรมราชานุสาวรีย์มีรูปนูนต่ำเป็นเรื่องราวพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รวมทั้งมีไก่เป็นฝูงใหญ่ตั้งอยู่ด้วย เชื่อกันว่าบริเวณนี้เดิมเป็นทุ่งโล่งที่มีการตั้งทัพข้าศึก และเกิดการทำการยุทธหัตถีในหลายครั้งหลายสมัย องค์อนุสาวรีย์อยู่ในท่าที่สมเด็จพระนเรศวรทรงม้าศึก ประดิษฐานบนแท่นเป็นลานหินสีขาว

โดยในบริเวณใกล้เคียงยังมีสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งมีความน่าสนใจทางด้านประวัติศาสตร์ไม่แพ้กันนั่นก็คือ "พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย" วีรสตรีของแผ่นดิน ภายในมีพระรูปสมเด็จพระสุริโยทัยหล่อด้วยสำริด มีขนาดหนึ่งเท่าครึ่งขององค์จริงประทับบนหลังพระคชาธาร นอกจากนี้ยังสามารถเที่ยวชมแหล่งโบราณสถานต่างๆในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้อีกด้วยเป็นการซึมซับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาได้เป็นอย่างดี

"เจดีย์ยุทธหัตถี" จ.กาญจนบุรี

อีกหนึ่งสถานที่ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อ เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะในสงครามยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็คือ "เจดีย์ยุทธหัตถี" อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เจดีย์องค์นี้ตั้งอยู่ในที่ดอน มีบริเวณกว้างเป็นป่าละเมาะล้อมรอบด้วยเจดีย์ ลักษณะเจดีย์มีฐานกว้างประมาณ 12 เมตร ส่วนยอดหักพังไปคงเหลือสูงเพียง 7 เมตร มีรูปทรงแบบโอคว่ำ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากพม่ามีบัวซ้อนกันหลายชั้น ก่ออิฐเรียงซ้อนกันเป็นลักษณะของเจดีย์สมัยอยุธยา

ในพื้นที่บริเวณเจดีย์ยุทธหัตถีและบริเวณใกล้เคียงมีการขุดพบ กระดูกช้าง กระดูกม้า กระโหลกช้าง และกระดูกคนอยู่มากมาย อันแสดงว่าสถานที่แห่งนี้จะต้องเป็นที่กระทำสงครามครั้งยิ่งใหญ่แต่จะเท็จจริงอย่างไรก็คงอยู่ที่การพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์

ในจังหวัดกาญจนบุรียังมีสถานที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งมีความสำคัญในฐานะเป็นเส้นทางเดินทัพครั้งสมัยอยุธยาซึ่งก็คือ "ด่านเจดีย์สามองค์" อ.สังขละบุรี ที่มีเจดีย์ขนาดย่อมสามองค์ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า พระเจดีย์สามองค์นี้เป็นสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ ปรากฎชื่อเกี่ยวเนื่องเหตุการณ์สำคัญๆหลายครั้งเช่นการเสียกรุงศรีอยุธา การกู้ชาติ ในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรก็ปรากฏว่าเป็นเส้นทางเดินทัพของพระองค์เช่นกัน

"พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชราชานุสรณ์" เมืองงาย อนุสรณ์แห่งการสวรรคต

แม้ประเด็นดินแดนที่สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าทรงสวรรคต ณ ที่ใดกันแน่ที่เมืองหางในประเทศพม่า หรือที่เวียงแหงในเชียงใหม่ หรือที่เมืองงายในเชียงใหม่เช่นกัน ซึ่งก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้

แต่กระนั้นด้วยแรงศรัทธาของประชาชนที่ ต. เมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ก็ได้ร่วมใจกันสร้าง "พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชราชานุสรณ์" ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่า ณ บริเวณสถานที่ก่อสร้างพระสถูปเจดีย์นี้ เป็นสถานที่ซึ่งพระองค์ได้เสด็จฯ กรีฑาทัพ และพักแรม แล้วพระองค์ฯก็ทรงประชวรเป็นละลอกที่พระพักตร์กลายเป็นพิษเสด็จสวรรคต

สำหรับตัวสถูปพระเจดีย์ฯ เป็นเจดีย์ฐาน 8 เหลี่ยม กว้าง 10.30 ม. สูง 25.12 ม. ฐานด้านหนึ่งประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และแต่ละด้านของฐานมี่แผ่นศิลาสลักลวดลายเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระองค์ สลับกับแผ่นหินอ่อนที่เล่าพระราชประวัติของพระองค์ และประวัติการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์ฯ

ซึ่งจะมีประชาชนแวะเวียนมากราบไหว้สักการะองค์พระสถูปเจดีย์ฯ อยู่เสมอ และรอบๆ บริเวณสถูปพระเจดีย์จะมีบรรดาไก่ที่เป็นปูนปั้นตั้งอยู่เต็มบริเวณ เพราะส่วนใหญ่ผู้คนที่มากราบไหว้ มักจะนำไก่มาถวายท่าน ด้วยเชื่อว่าพระองค์รักการชนไก่

และด้านหลังขององค์พระสถูปเจดีย์ฯ จะเป็นที่ตั้งของ "ค่ายหลวงที่ประทับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" (จำลอง) ที่ทางกรมศิลปากรจัดสร้างขึ้น ซึ่งภายในค่ายจำลอง มีพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และสมเด็จพระสุพรรณกัลยา ประดิษฐานอยู่ให้กราบไหว้

สำหรับสถานที่ที่เกี่ยวเนื่องกับพระนเรศวรตามที่นำเสนอหรือที่อื่นๆ นอกจากจะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีความงดงามทางศิลปะ มีชื่อในเรื่องของศรัทธาบุญบารมี รวมถึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ซึ่งเปรียบดังอนุสรณ์เตือนใจให้ปวงชนชาวไทยตระหนักในวีรกรรมความกล้าหาญ ความเสียสละ และพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หนึ่งในพระมหากษัตริย์ที่คนไทยไม่เคยลืมเลือน

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ตามรอยพระนเรศวร รำลึกวีรกรรมกู้ชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น