xs
xsm
sm
md
lg

อ่าวคุ้งกระเบน ป่าชายเลนทรงคุณค่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“มีประโยชน์มาก เมื่อเริ่มมีศูนย์ฯ(ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน) อะไรก็ดีขึ้น ป่าชายเลนสมบูรณ์ขึ้น ส่วนพันธุ์สัตว์น้ำ มีปูไข่นอกกระดอง ทางศูนย์ฯจะเอากระชังลอยน้ำไว้ ถ้าสมาชิกได้ปูนอกกระดองก็นำไปคืนศูนย์ฯจะได้ขยายพันธุ์ออกมาอีก โดยเขี่ยไข่ออกมา จะได้เป็นตัวให้เราจับต่อไป...”

นายกิมเหล็ง คุมคณะ ประธานกลุ่มเครื่องมือประมงพื้นบ้านอ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี

จากคำกล่าวของนายกิมเหล็งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หลังการถือกำเนิดของ“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน” ผืนป่าชายเลน สัตว์น้ำ ได้มีความอุดมสมบูรณ์และเพิ่มปริมาณมากขึ้น นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีอาชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการเพาะเลี้ยงและจับสัตว์น้ำไปขาย

สำหรับป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนต้องถือว่า“ฟ้ามาโปรด”อย่างแท้จริง เพราะจากเดิมที่เคยเป็นป่าชายเลนเสื่อมโทรมจนแทบจะร้างไร้ประโยชน์ แต่แล้วในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2524 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่จังหวัดจันทบุรี พระองค์ท่านได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีว่า

"ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสม จัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมงและการเกษตร ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเล และจังหวัดจันทบุรี"

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้พระราชทานเงินที่ราษฎรจังหวัดจันทบุรีทูลเกล้าฯถวายในโอกาสนั้นเป็นทุนเริ่มดำเนินการ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 จังหวัดจันทบุรีได้จัดตั้ง“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน” ขึ้นที่ ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งยังเป็นสถานที่ฟื้นฟูดูแลสภาพแวดล้อมของชายฝั่งทะเลให้มีสภาพสมบูรณ์ โดยมีพื้นที่ครอบคลุมชายฝั่งทะเลกว่า 2,000 ไร่

นับแต่นั้นมาป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนได้พลิกฟื้นกลายเป็นป่าอันอุดมสมบูรณ์ มากไปด้วยระบบนิเวศที่หลากหลายในอันดับต้นๆของเมืองไทย นอกจากนี้ศูนย์ฯพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนยังเป็นห้องเรียนธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่นแห่งภาคตะวันออก ซึ่งมีรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือรางวัลกินรี ประเภทองค์กรส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว ใน ปีพ.ศ.2545 การันตีในคุณภาพ

ตื่นตาตื่นใจกับสัตว์น้ำนานาพันธุ์

หลังจากที่“ผู้จัดการท่องเที่ยว”ได้ยินกิตติศัพท์ของอ่าวคุ้งกระเบนมาช้านาน ครั้นเมื่อได้มายืน ณ ศูนย์ศึกษาฯอ่าวคุ้งกระเบน แต่ก่อนที่เราจะออกกำลังกายชมสีสันของพืชและสัตว์บนสะพานไม้ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติของอ่าวคุ้งกระเบนอันร่มรื่น ทางเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯแนะนำว่าควรแวะที่ “สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา”ก่อน เพื่อเรียกน้ำย่อยรับออร์เดิร์ฟเติมความรู้ให้ตัวเอง

เมื่อได้ฟังดังนั้นเราก็จึงรีบจ้ำอ้าวเข้าไปในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำฯทันที ซึ่งในนั้นได้แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 4 กลุ่ม คือ ปลาเศรษฐกิจ ปลาสวยงาม ปลาในแนวปะการัง และปลาที่มีรูปร่างแปลก ที่ถือว่าได้ว่าเป็นพันธุ์ปลาที่หายากในแถบทะเลตะวันออก อาทิ ปลาการ์ตูน ( นีโม) ปลาผีเสื้อลายไขว้ หอยมือเสือ ปลาสิงโต ปลานกขุนทองปากหนา ปะการังเขากวาง ปะการังดอกแดง ฯลฯ

สำหรับสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำหลังนี้แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่โต แต่ว่าภายในกลับเต็มไปด้วยมีสีสันของโลกใต้ทะเลที่ชวนน่าตื่นตาตื่นใจอยู่มากหลายทีเดียว

สนุกเพลิดเพลินบนทางเดินศึกษาธรรมชาติ

ครั้นได้รับออร์เดิร์ฟอาหารสมองแล้ว “ผู้จัดการท่องเที่ยว”มุ่งหน้าไปยังเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่เป็นสะพานไม้ทอดตัวหายเข้าไปในผืนป่าชายเลนที่ดูร่มครึ้มและดูไม่แปลกแยกกับสภาพแวดล้อม

สำหรับสะพานไม้สายนี้ยาวประมาณ 1,600 เมตร ซึ่งหากเดินชมพันธุ์ไม้ ปู ปลา แบบเรื่อยๆเอื่อยๆสบายอารมณ์ก็ใช้เวลาประมาณ 1.5-2 ชั่วโมง แต่หากว่าจะเดินชมกันแบบเพ่งพินิจพิจารณา งานนี้เห็นที่ต้องใช้เวลาเป็นวันๆทีเดียว และหากใครอยากได้ความรู้แบบเจาะลึกแน่นเอี๊ยดก็ควรติดต่อให้เจ้าหน้าที่ของทางศูนย์มานำชมด้วย เพราะเจ้าหน้าที่แต่ละคนเข้าขั้นระดับกูรูป่าชายเลนทั้งนั้น

ว่าแล้วเราก็ออกเดินลุยถั่วเข้าไปในเส้นทางศึกษาธรรมชาติทันที โดยระหว่างทางจะมีศาลาให้ความรู้ในเรื่องราวต่างๆของป่าชายเลน รวมถึงป้ายสื่อความหมายพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ไปเป็นระยะๆตลอดเส้นทาง

ส่วนที่สร้างความเพลิดเพลินในจิตใจได้เป็นอย่างดีก็เห็นจะเป็นระบบนิเวศของป่าชายเลนอันหลากหลายแต่ว่าต่างก็อยู่ร่วมกันอย่างผสมกลมกลืนเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน นั่นโกงกางใบเล็ก โน่นโกงกางใบใหญ่ที่โผล่รากออกมาช่วยหายใจเต็มผืนเลน นอกจากนี้ก็มี ต้นฝาด ต้นฝาดแดง แสมขาว แสมดำ ลำพู ลำแพน ตะบูน ประสัก ฯลฯ ส่วนที่น่าเศร้าใจในช่วงแรกก็เห็นจะเป็น ตอแสม ขนาดเขื่องที่ถูกไฟจากน้ำมือมนุษย์เผาตายสนิท...นี่แหละหนาฤทธิ์เดชของคนที่หากไม่อนุรักษ์ไว้ อนาคตบางทีป่าชายเลนแห่งนี้จะสูญสิ้นไปจากเมืองไทยก็ได้

นอกจากต้นไม้สารพัดชนิดแล้ว สิ่งที่ทำให้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว”ต้องเหลียวมองตามแทบทุกครั้งเมื่อเห็นพวกมันก็คือ ปลาตีนที่วิ่งดุ๊กๆไปมาในดินเลน ปูสีสันสดใสที่รู้สึกได้ถึงความไม่ชอบมาพากลก็จะวิ่งมุดข้ารูในทันที

ส่วนปูก้ามดาบหรือที่หลายๆคนเรียกว่าปูผู้แทนเพราะลักษณะการชูก้ามเหมือนการยกมือของส.ส.ในสภา แต่การชูก้ามของปูก้ามดาบเป็นการชูก้ามเพื่อแสดงอำนาจประกาศศักดา หรือเพื่อเรียกร้องความสนใจของตัวเมีย แต่การยกมือของส.ส.นั้น ส่วนใหญ่เป็นการยกมือที่ไร้ศักดิ์ศรี เพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นได้ขายตัวให้กับพรรคการเมืองบางพรรคไปหมดแล้ว

แหม...ป่าชายเลนที่อ่าวคุ้งกระเบนนี่ดูเพลินจนทำให้เราคิดเพลินเตลิดออกไปในเรื่องการเมืองจนได้ แต่ว่าก่อนที่จะไปไกลกว่านั้น ทางเดินได้พามาถึงยังต้นปู่แสม(ขาว) อายุกว่า 200 ปี ที่ทางศูนย์สร้างสะพานล้อมรอบต้นแสมขาวโบราณขนาดใหญ่ร่วมสิบคนโอบที่หลงเหลืออยู่

จากนั้นทางเดินได้พาทอดยาวออกสู่ปากอ่าวที่ด้านหนึ่งเป็นป่าโกงกางตามธรรมชาติที่ขึ้นหนาทึบ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นป่าโกงกางที่ปลูกขึ้นอย่างเป็นระเบียบ ในขณะที่อีกด้านหนึ่งเป็นปากอ่าวอันเวิ้งว้างที่มีศาลาชมวิวให้หยุดยืนพักเหนื่อยรับลมเย็นจากท้องทะเล ที่เราขอบอกว่าได้อารมณ์คืบก็ทะเลศอกก็ทะเลไม่น้อยทีเดียว

ครั้นเมื่อเดินต่อไปอีกหน่อย “ผู้จัดการท่องเที่ยว”ก็ได้พบกับ สะพานแขวนที่เป็นทั้งจุดชมวิวและมุมถ่ายรูปอันยอดเยี่ยม ส่วนถัดไปเป็นศาลาโกงกางที่มากไปด้วยดงโกงกางขึ้นอย่างหนาแน่น แถมแต่ละต้นต่างก็มีขนาดใหญ่โตซึ่งถ้าไม่อนุรักษ์น่ากลัวโดนตัดไปขายเกลี้ยงป่านานแล้ว เพราะตัวอย่างของการไม่อนุรักษ์ใส่ในในทรัพยากรมีให้เห็นชัดเจนที่อนุสรณ์ “หมูดุด” หรือ“พะยูน”หรือที่บางคนเรียกว่า “วัวทะเล” ซึ่งเจ้าสัตว์ชนิดนี้ในอดีตถือเป็นเจ้าแห่งอ่าวคุ้งกระเบนแต่มาวันนี้สูญพันธุ์กลายเป็นตำนานมีแค่รูปปั้นเอาไว้ให้ดูต่างหน้านั้น

และศาลาสุดท้ายคือศาลาเชิงทรง ที่เป็นป่ารอยต่อระหว่างป่า
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติถัดยังคงคงพาซอกซอนผ่านผืนป่าชายเลนอันกว้างใหญ่มาสู่ช่วงปลาย ก่อนจะผ่านศาลาประมง จุดสาธิตบ่อกุ้งกุลาดำระบบปิดที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ

ชายเลนกับป่าชายหาดและป่าบก ที่เป็นจุดส่งท้ายในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน ผืนป่าอันทรงคุณค่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เปรียบดังพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิต ซึ่งจากการที่ได้เดินชมอย่างหนำใจนั้น “ผู้จัดการท่องเที่ยว”ได้ทั้ง อาหารตา อาหารใจ รวมไปถึงอาหารสมองจากป่าชายเลน และแถมยังได้ซื้ออาหารปากอย่างหอยทะเลสดๆที่จับจากชาวบ้านแถวนั้นกลับไปลวกกินกับน้ำจิ้มซีฟู้ดรสเด็ดอีกต่างหาก
**********************************************************************************

“ศูนย์ศึกษาและพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน” อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เปิดทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น. การเดินทางจากตัวเมืองจันทบุรี ไปตาม ถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข 3) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 301 จะมีแยกเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามทางหลวงหมายเลข 3399 อีกประมาณ 18 กม. ก็จะถึงยังที่ทำการศูนย์ ผู้สนใจ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอ่าวคุ้งกระเบน โทร. 0-3938-8116-8
กำลังโหลดความคิดเห็น