xs
xsm
sm
md
lg

เหยาะย่าง"เมืองฮำ" โค้งคำนับวิถีไทลื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : รพี อัสดง
เมืองเชียงรุ่งที่วันนี้มีการพัฒนาทางวัตถุอย่างรวดเร็ว
หลังการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่ภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุง ในปี พ.ศ.2501 สิบสองปันนา ดินแดนที่ถูกจีนผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของมณทลยูนนาน เมื่อ 9 ปี ก่อนหน้านั้น นับเป็นหนึ่งในเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง

เพราะนอกจากสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะถูกลิดรอนลงกว่าครั้งเก่าก่อนแล้ว จีนยังนำนำระบอบคอมมิวนิสต์เข้ามาใช้แทนระบอบอำนาจเจ้าฟ้าที่มีมาช้านานในดินแดนสิบสองปันนา
การแสดงชุดพื้นเมืองอีกหนึ่งกิจกรรมหลักในการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เชียงรุ่ง
สิบสองปันนา อาณาจักรไทลื้อ

สำหรับสิบสองปันนาแล้ว นี่คือหนึ่งในเมืองแห่งทัศนียภาพอันงดงาม ที่ธรรมชาติได้บรรจงจัดสรร แต่งแต้ม มืองนี้มีมหานที อย่าง "แม่น้ำโขง" หรือ "แม่น้ำล้านช้าง" ไหลผ่าน แบ่งแยกเมืองออกจากกันฝั่งละค่อนครึ่ง

ในอดีตสิบสองปันนาเป็นอาณาจักรอันรุ่งโรจน์ของชาวไทลื้อ(ไตลื้อ) ก่อนที่ชาวไทลื้อส่วนหนึ่งจะอพยพย้ายถิ่นไปตั้งถิ่นฐาน รกราก อยู่ในหลายพื้นที่ในอุษาคเนย์ รวมถึงในหลายจังหวัดทางภาคเหนือของไทย

อย่างไรก็ดีแม้จะอพยพไปปักหลักตั้งถิ่นฐานตามส่วนต่างๆ ของอุษาคเนย์ แต่กระนั้นสิบสองปันนาก็ยังคงเป็นดินแดนที่มีชาวไทลื้ออาศัยอยู่มากกว่าที่ใดๆ
ตลาดเมืองอำที่ยังอบอวลไปด้วยสีสันของความเป็นไทลื้อ
และที่น่าสังเกตก็คือ สิบสองปันนา นั้น หากมองในมุมหนึ่ง อาจถือได้ว่า จีนแผ่นดินใหญ่ "โค้งคำนับ" หรือ "ให้เกียรติ" ด้วยการตั้งเป็น "เขตปกครองตนเอง" เพราะหลังจากยุคสมัยของเหมาเจ๋อตุง ผ่านพ้นไป จวบจนวันนี้รัฐบาลจีนได้มอบอิสระ ให้แก่เขตดังกล่าวมากพอควร ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ของชาวไทลื้อ ล้วนถูกรื้อฟื้นให้คืนกลับมาอย่างภาคภูมิ

แต่เมื่อพลิกมองอีกมุม ก็อาจตั้งข้อสังเกตได้อีกเช่นกันว่า สิ่งที่จีนทำนั้น นับเป็น "กลยุทธ์รุกคืบ" ที่แนบเนียนยิ่งนัก เนื่องจาก นานวันเข้า วัฒนธรรมที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมา ก็ได้ถูกผนวกรวมเข้ากับโลกทุนนิยมไปแล้ว หรืออีกนัยหนึ่ง คงไม่ผิด หากจะกล่าวว่า วันนี้ "สิบสองปันนา" เปรียบเสมือนปลายหาง ที่จำต้องสะบัดไปตาม "หัว" พญามังกร ที่ประกาศก้องว่าจะเป็นจ้าวเศรษฐกิจของภูมิภาค

เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากการที่เมืองเอกแห่งดินแดนอย่าง"เชียงรุ่ง"หรือ"เชียงรุ้ง"หรือที่ในสำเนียงจีนเรียก ว่า "จิ่งหง" ได้ขานรับนโยบายจากรัฐบาลจีนในลักษณะ"ก้าวกระโดด" กลายสภาพเป็น "เมืองตากอากาศ" ของชาวจีนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ(โดยเฉพาะชาวไทย)ไปอย่างสมบูรณ์แบบก็ว่าได้

ความทันสมัย สถานบันเทิง ห้างร้าน โรงแรมใหญ่น้อย มีให้พบเห็นได้เต็มท้องถนนในเมืองเชียงรุ่ง นอกจากนี้ยังมีการแสดงโชว์แก่นักท่องเที่ยว เล่าความเป็นมาของสิบสองปันนาอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยนักแสดงระดับมืออาชีพ ขณะที่สภาพความเป็นจริง ชาวไทลื้อ ซึ่งเคยเป็นประชากรหลักของเมือง ต้องถอยร่นออกไป ยังเมืองอื่นๆ
ในเมืองฮำสามารถพบบ้านชาวไทลื้อแบบดั้งเดิมได้ทั่วไป
ใครบางคนถึงขั้นยกตัวอย่างว่า "เชียงรุ่งวันนี้ คล้ายกับเชียงใหม่ของไทย ที่มีไว้เพื่อให้คนเมืองมาพักผ่อนหย่อนใจ" ตามด้วยคำพูดที่ตรงไปตรงมาแฝงแววเสียดสี เจ็บๆ คันๆ ว่า "รู้สึกเหมือนวันนี้วัฒนธรรมของชาวไทลื้อในเชียงรุ่งกำลังถูกกระทำชำเรา"

เมื่อเชียงรุ่ง หาวิถีแบบ"ไทลื้อ"แท้ๆน้อยลงทุกทีๆ "เมืองฮำ" จึงเป็นจุดหมายปลายทาง ที่เราต้องการไปสัมผัส พบเห็นวิถีชีวิต ของชาวพื้นเมืองดั้งเดิมด้วยตาตนเอง
ทั้งแม่ค้าลูกค้าต่างใส่ชุดพื้นเมืองสีม่วงสดใสดูประหนึ่งนัดกันว่า
เมืองฮำ ในวันแห่งการเติบโต

แม้เมืองเอกอย่างเชียงรุ่ง ไม่หลงเหลือร่องรอยหมู่บ้านไทลื้อ ให้พบเห็น แต่เมืองอื่นๆ ในสิบสองปันนา ก็ยังคงมีหมู่บ้านชาวไทลื้ออีกมาก ที่ยังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เมืองฮำ เมืองเล็กๆ ในสิบสองปันนา ที่ห่างจากตัวเมืองเชียงรุ่งไปทางทิศใต้ราว 30 กิโลเมตร ก็นับเป็นหนึ่งในหลายเมือง ที่ยังคงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมตามวิถีไทลื้อ

แต่ความน่าสนใจของ ฮำ ใช่จะมีเพียงเท่านั้น เพราะเมืองเล็กๆ นี้ เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะทุกวันนี้รัฐบาลจีนได้ดึงเมืองฮำ เข้าสู่เส้นทางการเดินเรือ ซึ่งเป็นการนำสินค้าจากจีนล่องมาตามแม่น้ำโขง จากแผ่นดินมังกร สู่ผืนดินแห่งอุษาคเนย์ จากไม่กี่ปีก่อนหน้า ผู้อำนวยการท่าเรือเชียงรุ่งเคย เคยตั้งเป้าไว้ว่า จะผลักดันให้ท่าเรือสิบสองปันนา เป็นท่าเรือหลักที่มีรถปั้นจั่น หรือ เครื่องยกแบบเคลื่อนที่ได้ ทั้งจะมีการสร้างท่าเรือแห่งใหม่ เพื่อรองรับสินค้าและการบริการตู้คอนเทนเนอร์ ขยายเส้นทางเดินเรือไปยัง ท่าเรือ ก่อนจะแวะด่านกวนเหล่ย เพื่อมุ่งตรงสู่อุษาคเนย์

และนับจากวันนั้น เพียงไม่ถึงครึ่งรอบนักษัตร เมืองฮำก็มีท่าเรือที่สามารถขนย้ายสินค้าได้หลายตู้คอนเทนเนอร์ในคราวเดียว นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยในเรื่องของเส้นทางการเดินเรือ แต่หากจะว่ากันถึงนโยบายทางเศรษฐกิจของจีน ที่มีการท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งจุดขาย การเร่งฟื้นฟูวัฒนธรรม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เสพ ชม สัมผัส จึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่รัฐบาลส่งเสริมและผลักดัน

เป็นเช่นนี้แล้ว ผู้ที่เอาความรู้สึกของคนเมือง ซึ่งถวิลหาความเป็นชนบทมาชี้วัด แล้ววาดหวังไว้ว่า มาย่ำเมืองฮำ เพื่อจะได้พบวิถีชีวิตขนานแท้แบบดั้งเดิม อาจจะผิดหวังอยู่บ้างสักหน่อย แต่ถ้าคุณไปเยือนเพื่อเปิดรับประสบการณ์ เรียนรู้วิถีชีวิตพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียง เมืองเล็กๆ นี้ ก็คงไม่ทำให้เสียรสชาติจนเกินไปนัก

กาดเมืองฮำ หรือตลาดเมืองฮำ เรียกได้ว่าเป็นน้ำจิ้มรสเด็ด เพราะคึกคักไปด้วยชาวไทลื้อ ที่มา "จ่ายตลาด" ฝ่ายพ่อค้าแม่ค้าก็นำผักผลไม้ อาหารคาวหวาน เครื่องแกง เครื่องปรุง เครื่องเทศ และสินค้าอื่นๆ มาวางแผงกันหนาตา ผู้คนจำนวนไม่น้อย ล้วนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบบไทลื้อ มีเป็นส่วนน้อยที่สวมเสื้อยืด กางเกงยีนส์ หรือแต่งกายสมัยใหม่

นอกจากนั้น ยิ่งพิศยิ่งพินิจ จากหัวตลาดถึงท้ายตลาด ก็ยิ่งรู้สึก ราวกับเดินอยู่ในตลาดยามเช้าตามแถบชนบทในเมืองไทยก็มิปาน อีกทั้งรถสามล้อเครื่องที่จอดรอผู้โดยสารเป็นตับ ก็หน้าตาไม่ห่างไกลจากตุ๊กตุ๊กบ้านเราเท่าไหร่นัก เมื่อเดินย่ำที่กาดเมืองฮำ จนหนำใจ จุดหมายปลายทางสุดท้ายของเราในทริปนี้ ก็คือ "หมู่บ้านกาหลั่นป้า" ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวไทลื้อที่เก่าแก่มีอายุยาวนานเป็นพันปีแล้ว แต่ว่ายังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิต บ้านเรือน การแต่งกาย และความเป็นอยู่ที่ยังอนุรักษ์ไว้ให้เป็นแบบดั้งเดิมตามนโยบายของรับบาลแผ่นดินใหญ่
วัดสวนมอน วัดสำคัญในหมู่บ้านไทลื้อ กาหลั่นป้า
ท่องกาหลั่นป้า

"เฮาก็คนไทเหมือนกันเน้อ คนไทด้วยกันทั้งหมดนี่ล่ะ"

เสียงของพ่อคำปัน และแม่คำอิ๋น ชาวไทลื้อที่หมู่บ้านกาหลั่นป้าของเมืองฮำ ในเขตปกครองตนเองเขตสิบสองปันนา ดังขึ้นแทบจะพร้อมเพรียงกัน หลังจากที่เราหลีกหนีความจอแจของวิถีไทลื้อ(ไตลื้อ)ยุคใหม่มุ่งหน้าสู่เมืองฮำ(เรื่องราวของเมืองฮำส่วนหนึ่งนำเสนอไปในตอนที่แล้ว) เมืองเล็กๆแต่มากไปด้วยวิถีไทลื้ออันน่ายล

นอกจากการเอ่ยทักทายที่แทบจะพร้อมเพรียงกันแล้ว 2 สามี-ภรรยาวัยเลยแซยิดนิดๆ คู่นี้ ยังยิ้มแย้มด้วยความปลื้มปิติ เมื่อได้ทราบจากคำบอกเล่าของชาวคณะผู้มาเยือนว่า

"พวกเรามาจากเมืองไทย"
บรรยากาศบ้านไทลื้อแบบดั้งเดิมในหมู่บ้านกาหลั่นป้า
ชั่วขณะแรก ให้นึกประหลาดใจ เออหนอ พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยทั้งสอง รู้จักเมืองไทยด้วยหรือนี่ นักท่องเที่ยวชาวไทยคงมาเยือน "เมืองฮำ" แห่งนี้บ่อยกระมัง แต่เมื่อเพิ่มข้อมูลไปอีก ว่าขบวนของเรา มาจากกรุงเทพฯ หรือ "แบงค็อก" ความงุนงงก็ปรากฏขึ้นในแววตาผู้อาวุโสทั้งสอง แม้จะยกชื่อเมืองต่างๆ นานาของสยามเมืองยิ้ม ขึ้นมาสักกี่สิบคำ พ่อคำปันและแม่คำอิ๋น ก็ยังงวยงงอยู่อย่างนั้น ในที่สุด กลุ่มคนต่างถิ่นจึงถึงบางอ้อ เขาคงนึกว่า "ไทย" ของเรา กับ "ไท" ของเขา เหมือนกันนั่นเอง ครั้นพอบอกชื่อถิ่นย่านบ้านเกิดเมืองนอนออกไป นั่นแล จึงได้รู้ ว่า พ่อคำปัน แม่คำอิ๋น ไม่คุ้นชื่อเมืองไทยเอาเสียเลย

แต่ไม่ว่าจะไทแบบไหนในเมืองฮำ กับ นักท่องเที่ยวชาวไทยอย่างเราๆ ก็สื่อสารกันได้สนุกสนาน สำคัญกว่านั้น ยังสามารถพูดคุยกันได้ด้วยภาษาไทย เป็นอย่างนี้แล้ว จะไม่ให้เห็นด้วยกับประโยคที่ว่า "เฮาก็คนไทเหมือนกันเน้อ" ได้อย่างไร แม้สำเนียงพูดของคนที่นี่คล้าย "คำเมือง" ของคนเมืองเหนือบ้านเรา แต่หลายๆ คำค่อนข้างจะฟังยากอยู่สักหน่อยก็เถอะ ทว่ารอยยิ้มและอัธยาศัยไมตรีของเจ้าถิ่นทุกคน ก็มีอานุภาพมากพอที่จะช่วยให้เจ้าบ้านและคนแปลกหน้ากลมกลืนกันได้ ในเวลาอันรวดเร็ว
คุณยายชาวไทลื้อกำลังกรอด้ายอยู่ใต้ถุนบ้าน
บรรยากาศอบอุ่น ฉันมิตรสหาย เช่นนี้เอง นักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวนไม่น้อย จึงหลงใหล หมู่บ้านชาวไทลื้อ ในหมู่บ้านกาหลั่นป้า เมืองฮำ ในสิบสองปันนาเป็นหนักหนา

หมู่บ้านกาหลั่นป้าในเมืองฮำ คือชุมชนไทยลื้อแห่งสิบสองปันนา ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่มีอายุยาวนานเป็นพันปีของพี่น้องไทลื้อ แต่ว่ายังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตแบบเก่า ทั้งเรื่องการแต่งกาย เรื่องบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และความเป็นอยู่ที่ยังอนุรักษ์ไว้ให้เป็นแบบดั้งเดิมให้มากที่สุด ถึงกับห้ามมิให้มีการสร้างสิ่งก่อสร้างใดๆ ที่ไม่ได้เป็นแบบไทลื้อไว้ในหมู่บ้านเลย

เอกลักษณ์ของบ้านชาวไทลื้อนั้น ดูได้จากหลังคาบ้านที่จะเป็นกระเบื้องดินขอวางซ้อนๆ กัน บางบ้านจะมีหน้าจั่วเป็นรูปนกยูง ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของชาวไทลื้อ บ้านแต่ละหลังเป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง มีรั้วไม้โปร่งเตี้ยๆ ที่กั้นพื้นที่ระหว่างบ้านใกล้เคียง
สาวไทลื้อยุคใหม่ในสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง
สำหรับบ้านแต่ละหลังในหมู่บ้านนี้ จะมีวิถีชีวิตของชาวไทลื้อให้เราได้เห็นกันอยู่บ้าง เช่นมีคุณยายกำลังนั่งกรอด้ายอยู่ใต้ถุนบ้าน บ้านอีกหลังหนึ่งก็มีคุณลุงกำลังก้มหน้าก้มตาเขียนตัวอักษรไทลื้อลงบนใบลาน และมีหนุ่มสาวไทลื้อนั่งเล่นดนตรีและร้องเพลงกันอย่างสนุกสนาน และคุณป้าไทลื้อบางบ้านยังเชื้อเชิญให้เราขึ้นไปบนบ้านจิบน้ำชาแก้เหนื่อยอีกต่างหาก สิ่งเหล่านี้บางสิ่งอาจเป็นการจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชมก็จริง แต่ก็ถือว่าเป็นการแสดงให้เราได้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวไทลื้อที่นับวันจะถูกความเป็นเมืองดูดกลืนไป

และนอกจากบ้านแบบไทลื้อแต่ละหลังที่จะได้ชมแล้ว ที่นี่ก็ยังมีวัดที่เป็นเหมือนศูนย์รวมของชาวไทลื้อในหมู่บ้านกาหลั่นป้านี้ นั่นก็คือวัดสวนมอน วัดของชาวไทลื้อที่เก่าแก่ที่สุดในสิบสองปันนา วัดแห่งนี้เป็นศิลปะแบบไทลื้อที่สวยงามมากทีเดียว และมีเจดีย์สีทองเหลืองอร่าม เคียงคู่กับอุโบสถ ซึ่งวัดสวนมอนนั้นก็ถือเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่เป็นวัดพุทธแบบเถรวาท อีกทั้งพระประธานด้านในพระอุโบสถก็ยังเป็นพระพุทธรูปที่มาจากประเทศไทยอีกด้วย

หากใครได้ชมครบทั้งหมู่บ้านและวัดแล้ว จะเลือกซื้อหาของฝากของที่ระลึกวางขายอยู่ทั่วไปตามหน้าบ้านแต่ละหลังต่อก็ได้ นับเป็นการซื้อของที่สนุกสนาน เพราะภาษาที่ฟังได้บางคำที่คล้ายกับคำเมือง แต่บางคำก็เป็นภาษาจีนที่คนไทยอาจไม่เข้าใจ แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการซื้อของแต่อย่างใด
อีกมุมหนึ่งของวัดสวนมองที่มองไปเห็นเจดีย์สีทองเหลืองอร่าม
และนี่ก็คือชุมชนไทลื้อของเมืองฮำในปัจจุบัน แม้วันนี้ ภาพเตาฟืน ที่ใช้หุงหาอาหารจะเปลี่ยนเป็นเตาแก๊ส ชานนอกบ้านที่เคยใช้ตากข้าวตากปลาแห้ง จะมีห้องน้ำห้องส้วมปูกระเบื้องอย่างดีมาแทนที่

แม้"ใจบ้าน" หรือผีประจำหมู่บ้านที่ชาวไตลื้อเคารพนับถือ จะแปรสภาพจากกิ่งไม้ที่มัดรวมกัน มาเป็นสถูปปูน แม้"เสื้อบ้าน" หรือศาล"ผีประจำบ้าน"จะไม่มีให้เห็นแล้วในบ้านบางหลัง

แม้ทีวี เครื่องทำน้ำเย็น โทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่นดีวีดี จะมีให้เห็นอยู่ในบ้านใต้ถุนสูง แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ จะมีประจำในแต่ละครัวเรือนมากถึง 20 หลังคาเรือน จากจำนวนรวมของทั้งสองหมู่บ้านที่มีอยู่ทั้งสิ้น 86 หลังคาเรือน

เครื่องอำนวยความสะดวกมากมายไหลบ่า มาสู่หมู่บ้านไทลื้อ ที่เมืองฮำ พร้อมๆ กับ การเข้ามาของ "โฮมสเตย์" ที่แทบทุกทัวร์ซึ่งมาเยือนที่นี่ ต้องบรรจุไว้ในโปรแกรม
ไปเที่ยวหมู่บ้านกาหลั่นป้าอาจได้ชมดนตรีพื้นเมืองกันสดๆ
"เราไม่มีสิทธิ์อะไรจะมาฟูมฟาย กับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทุกสิ่งย่อมหมุนไปตามกาลเวลา ใครบ้างจะห้ามหรือทัดทานกระแสที่ไหลบ่าของโลกได้ หากชาวไตลื้อจะมีสิ่งซึ่งคนเมืองมีบ้าง นั่นไม่ใช่เรื่องผิด เราทุกคนมีหน้าที่เพียงบันทึกเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้"

ใครบางคนกล่าวไว้อย่างน่าฟัง เพราะเมื่อโลกหมุนไปวันๆ สรรพสิ่งย่อมแปรเปลี่ยนผันไปตามกาลเวลา

การเปลี่ยนแปลงของวิถีชาวไทลื้อทั้งในเมืองเชียงรุ่งหรือเมืองฮำ...ย่อมไม่อยู่เหนือกฏเกณฑ์

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

เมืองฮำ เป็นหนึ่งในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงรุ่งไปทางทิศใต้ราว 30 กิโลเมตร ภาษาทางการที่ใช้คือภาษาจีนกลาง ใช้สกุลเงินหยวน โดย 1 หยวนประมาณ 5 บาท ส่วนเวลาจะเร็วกว่าเมืองไทย 1 ชั่วโมง

การเดินทางไปเมืองฮำ จากเมืองไทยเดินทางสู่เมืองเชียงรุ่ง โดยสามารถไปได้ทั้งทางรถยนต์ ทางเรือ และทางเครื่องบิน จากนั้นต่อรถโดยสารสู่เมืองฮำ

กำลังโหลดความคิดเห็น