xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยพระนเรศวร รำลึกวีรกรรมกู้ชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อีกไม่นานนี้ก็กำลังจะมีหนังไทยฟอร์มยักษ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยอย่างเรื่อง "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ออกโรงมาให้ชมกันแล้ว ใครจะไปดูหรือไม่ก็ว่ากันไปตามอัธยาศัย แต่ก่อนที่จะไปชมภาพยนตร์ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ก็ขอล่วงหน้าไปตามรอยสมเด็จพระนเรศวรกันถึงที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาก่อน โดยคราวนี้ได้ติดสอยห้อยตามไปกับกลุ่ม "ภัสสรสัญจร" นำทีมโดยคุณจุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ที่จะเป็นผู้พาเราไปตามรอยมหาราชอีกพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ผู้ที่ทรงกู้เอกราชคืนมาจากข้าศึก และให้เราได้มีแผ่นดินอยู่จนทุกวันนี้

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 18 ของกรุงศรีอยุธยา เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชา กับพระวิสุทธิกษัตรี และเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กับสมเด็จพระศรีสุริโยทัยด้วย เรียกว่ามีเลือดนักรบอยู่เต็มพระองค์ทีเดียว

สำหรับการตามรอยสมเด็จพระนเรศวรนั้น เราเริ่มต้นกันที่วัดใหญ่ชัยมงคล ที่มีชื่อเดิมว่าวัดป่าแก้ว หรือวัดเจ้าพระยาไทย เป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง ความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนเรศวรนั้นคงต้องเล่าย้อนไปถึงเมื่อครั้งที่พระองค์ประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นต่อเมืองพม่า และเสด็จขึ้นครองราชย์หลังจากที่พระราชบิดาสิ้นพระชนม์แล้ว

ในครั้งนั้นพระมหาอุปราชแห่งพม่าเป็นจอมทัพคุมทัพหลวงเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรเองก็ยกกองทัพไปรับข้าศึก และได้เกิดการปะทะกันขึ้น สมเด็จพระนเรศวรทรงขับพระคชาธารเข้าไปต่อสู้และวิ่งฝ่าเข้าไปในกองทัพข้าศึก โดยที่ทหารในกองทัพไม่สามารถติดตามมาได้ทัน เมื่อตกอยู่ในวงล้อมของทหารพม่าที่มีจำนวนมากกว่า สมเด็จพระนเรศวรจึงแก้ปัญหาด้วยปัญญา โดยการทรงเชิญพระมหาอุปราชให้ออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน

แม้พระนเรศวรจะทรงได้รับชัยชนะในการต่อสู้ แต่ก็ไม่สามารถจะตีกองทัพข้าศึกให้แตกได้เพราะกองทัพตามเสด็จพระองค์ไม่ทัน ทำให้พระองค์ทรงกริ้วจนถึงกับจะประหารชีวิตแม่ทัพนายกองที่ตามเสด็จด้วยให้หมด ในครั้งนั้นสมเด็จพระวันรัตน์ วัดป่าแก้วแห่งนี้ได้ถวายพระพรขอพระราชทานอภัยโทษแก่ทหารเหล่านั้นไว้

สมเด็จพระวันรัตน์ได้เปรียบเทียบเหตุการณ์ที่สมเด็จพระนเรศวรตกอยู่ท่ามกลางกองทัพข้าศึกว่า เหมือนเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าขณะกำลังจะตรัสรู้แล้วมีกองทัพมารมาผจญ แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงเอาชนะมารเหล่านั้นได้ด้วยพระองค์เอง และสมเด็จพระวันรัตน์ก็กราบทูลแนะนำให้พระองค์สร้างเจดีย์ไว้เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และเป็นที่ระลึกถึงชัยชนะในครั้งนั้น เจดีย์ที่พระองค์สร้างขึ้นก็คือพระเจดีย์ชัยมงคลนี้เอง ชื่อวัดนี้จึงกลายเป็นวัดใหญ่ชัยมงคลในเวลาต่อมา

นอกจากนั้นแล้ว ที่วัดใหญ่ชัยมงคลก็ยังได้สร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้ให้ประชาชนได้มาสักการะกันด้วย โดยภายในศาลได้ประดิษฐานพระบรมรูปของพระองค์ที่กำลังทรงหลั่งน้ำประกาศอิสรภาพ ที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" เห็นว่าน่าสนใจก็คือ ที่นี่เขาได้เตรียมเครื่องไหว้เป็นชุดไว้ให้ผู้ที่มาสักการะแล้ว โดยชุดหนึ่งจะมีสิ่งของ 3 อย่างก็คือช้าง ไก่ และดาบ หรือใครจะใช้หมวกแบบทหารโบราณไหว้ก็ได้ มีเตรียมไว้ให้แล้วเช่นกัน และใครที่ได้มาไหว้เจดีย์และได้สักการะพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรแล้วก็อย่าลืมชมสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ภายในวัดใหญ่ฯ นี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถ พระพุทธไสยาสน์ และสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย

แต่ถ้าใครที่อยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระนเรศวรตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่สมัยยังทรงพระเยาว์ จนเมื่อเจริญวัย และมาจนถึงบั้นปลายชีวิตของพระองค์ ก็ต้องมาที่วัดสุวรรณดาราราม เพราะวิหารของวัดแห่งนี้จะมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีเรื่องราวของพระนเรศวรอยู่ภายใน

วัดสุวรรณดารารามนั้นเดิมเรียกว่าวัดทอง เป็นวัดที่พระราชบิดาของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างขึ้นใกล้กับนิวาสถานเดิม แต่เมื่อคราวเสียกรุงวัดนี้ได้ถูกทำลายจนกลายเป็นวัดร้าง จนเมื่อรัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจึงได้ทรงกลับมาปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ร่วมกับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ผู้เป็นพระอนุชา
พลับพลาจตุรมุข ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วังจันทรเกษม
ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พูดถึงนั้น อยู่ด้านในวิหาร เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 (พ.ศ.2474) โดยมหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร โดยภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้มีวิธีเขียนที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมาประยุกต์ใช้ในจิตรกรรมไทย คือมีความเหมือนจริงทั้งร่างกายกล้ามเนื้อและสัดส่วน และยังถือว่าเป็นจิตรกรรมบนผนังปูนแห่งแรกของไทยอีกด้วย

ภาพเหล่านั้นก็แสดงถึงเรื่องราวตั้งแต่ที่พระองค์ต้องเสด็จไปอยู่พม่าในฐานะราชบุตรบุญธรรมของพระเจ้าบุเรงนอง การฝึกซ้อมฟันดาบระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าบุเรงนอง ณ กรุงหงสาวดี ภาพการชนไก่ระหว่างพระนเรศวรกับพระมหาอุปราช เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงตกเป็นเชลยอยู่ที่พม่า เป็นต้น

"ผู้จัดการท่องเที่ยว" ขอขยายความภาพการชนไก่เสียหน่อยว่า ผลของการชนไก่ สมเด็จพระนเรศวรเป็นฝ่ายชนะ ทำให้พระมหาอุปราชเกิดโทสะ จึงตรัสเสียดสีพระองค์ว่า "ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงนะ" สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสโต้ตอบเป็นเชิงท้าอยู่ในทีว่า "ไก่ตัวนี้อย่าว่าแต่ตีพนันชนเอาเดิมพันเลย ถึงชนเอาบ้านเอาเมืองกันเมื่อไรก็ได้"

ด้วยความเก่งกาจของมันทำให้สมเด็จพระนเรศวรโปรดไก่พันธุ์นี้มากทีเดียว จนทำให้สถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระนเรศวรที่เราได้ผ่านไปเห็น ก็จะต้องพบรูปปั้นเจ้าไก่ชนพันธุ์เหลืองหางขาวทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ที่มีผู้นำไปถวายท่านมากมาย

ทีนี้กลับมาที่ภาพจิตรกรรมฝาผนังกันต่อ เพราะต้องไม่พลาดชมภาพที่เป็นไฮไลท์โดดเด่นกว่าภาพอื่นๆ นั่นก็คือภาพการทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราช ภาพนี้เป็นภาพใหญ่ที่สุด วาดได้สวยงามและอยู่ตรงข้ามกับพระประธานพอดี

แดดกำลังแรงเต็มที่ก็เป็นเวลาที่คุณจุลภัสสรพาเรามุ่งหน้าต่อไปยัง วัดวรเชษฐาราม วัดร้างในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ใกล้กับเขตพระราชวังโบราณ เชื่อกันว่าบริเวณนี้เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระเอกาทศรถ พระอนุชา ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระนเรศวรขึ้นที่นี่ และได้สร้างวัดถวายเป็นพระราชกุศลชื่อว่าวัดวรเชษฐ์ รวมทั้งฝังพระบรมอัฐิของพระองค์ไว้ที่นี่ด้วย นอกจากนั้นก็ได้ทรงสร้างโบสถ์ วิหาร เจดีย์ไว้พร้อมกันด้วย

ปัจจุบันวัดแห่งนี้เหลือเพียงอุโบสถที่หักพังไปมาก หน้าบันของโบสถ์มีร่องรอยการประดับด้วยถ้วยชามเครื่องกระเบื้อง แต่หลุดหายไปเกือบหมดแล้ว หลังคาและเครื่องบนก็พังเสียหายไปหมดด้วยเช่นกัน ส่วนด้านข้างโบสถ์ก็คือเจดีย์ที่สร้างขึ้นมาพร้อมกันและหักพังไปตามกาลเวลาบ้างแล้ว

เดินทางกันต่อไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วังจันทรเกษมกันบ้าง ที่นี่ถือได้ว่าเป็นวังหน้าเมื่อสมัยอยุธยา วังจันทรเกษมนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เพื่อให้เป็นที่ประทับของพระนเรศวร และหลังจากนั้นวังแห่งนี้ก็ยังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระมหาอุปราชองค์อื่นๆ อีกหลายพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระเอกาทศรถ เจ้าฟ้าสุทัศน์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเจ้าเสือ ฯลฯ

ร่องรอยของพระนเรศวรที่พระราชวังแห่งนี้ก็เลือนรางไปมากแล้ว เพราะภายหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 วังแห่งนี้ถูกไฟไหม้หมดไม่มีซากโบราณสถานหลงเหลือและถูกทิ้งร้างไว้ ต่อมาได้มีการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ภายในพิพิธภัณฑ์วังจันทรเกษมปัจจุบันใช้เป็นที่เก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 4 เมื่อพระองค์มาประทับที่นี่ รวมทั้งจัดแสดงศิลปวัตถุต่างๆ ที่เก็บรวบรวมโดยพระยาโบราณราชธานินทร์

มาปิดท้ายเส้นทางตามรอยพระนเรศวรกันด้วยการสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์ภูเขาทอง ที่ทุ่งภูเขาทอง และบริเวณฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ก็มีรูปนูนต่ำเป็นเรื่องราวพระราชประวัติของพระองค์ รวมทั้งมีไก่เป็นฝูงใหญ่อีกเช่นเคย

ก่อนจะเดินทางกลับ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ขอกราบสักการะดวงวิญญาณของมหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาพระองค์นี้ ด้วยจิตใจที่สำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างแท้จริง

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมตามรอยพระนเรศวรและกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้ที่ กลุ่ม ภัสสรสัญจร โทร.0-1343-4261

การเดินทาง                    ที่พัก                      ร้านอาหาร

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ท่องแดนดินแห่งความงามที่ “พระราชวังบางปะอิน”
ทำบุญใหญ่ ไหว้พระ 9 วัด“อยุธยามหามงคล”
พายคยัก-ขี่จักรยาน...กับ 1 วัน อันคุ้มค่า ที่ 'อยุธยา มรดกโลก'
“คุ้มกรุงศรี” อิ่มนี้คุ้มค่า

กำลังโหลดความคิดเห็น