xs
xsm
sm
md
lg

"นครวัด" สิ่งมหัศจรรย์แห่งมนุษยชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : แมวลาย



ในที่สุดฉันพร้อมที่จะตายได้แล้ว...


ถ้ายึดเป็นจริงเป็นจังกับคำกล่าวของอาร์โนลด์ ทอยน์บี นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่บอกไว้ว่า "See Angkor and Die" ตอนนี้ฉันก็พร้อมตายได้ทันที เพราะได้ไปชมนครวัดมาด้วยตาตัวเองเรียบร้อยแล้ว (แต่ถ้าเลือกได้ขอยังไม่ตายจะดีกว่านะ เพราะสำหรับฉันทั้งชีวิตนี้ได้เห็นแค่นครวัดอย่างเดียวคงไม่พอ)

หลังจากที่ไปชมปราสาทบายนในนครธมกันมาเมื่อตอนที่แล้ว ก็ถึงคราวที่จะได้มายลหนึ่งในเจ็ดของสิ่งมหัศจรรย์ของโลก (ยุคปัจจุบัน) ที่ "นครวัด" กันบ้าง โดยปราสาทนครวัดนั้นสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1656-1693) ใช้เวลาสร้างถึง 37 ปี เพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไวษณพนิกาย ซึ่งนับถือพระวิษณุหรือพระนารายณ์เป็นใหญ่ และด้วยความที่ตัวปราสาทสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นทิศของคนตาย นักประวัติศาสตร์จึงสันนิษฐานว่าที่นี่น่าจะเป็นที่เก็บพระศพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ด้วย

ฟังเขาเล่ามาก็มากแล้ว แต่เมื่อได้มายืนแตะขอบนครวัดด้วยตัวเองจริงๆ ความรู้สึกตื่นเต้นก็เกิดขึ้นมาได้อีก ฉันยื่นบัตรเข้าชมแบบวันเดียวให้เจ้าหน้าที่ชาวเขมรเจาะรูเป็นสัญลักษณ์การเข้าชม ก่อนจะเดินไปตามเส้นทางที่มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวปราสาท ซึ่งเป็นสะพานข้ามคูน้ำขนาดใหญ่ที่ขุดล้อมรอบกำแพงปราสาท อธิบายก่อนว่าการสร้างปราสาทนี้สร้างตามคติอินเดียโบราณที่เชื่อว่าโลกล้อมรอบด้วยมหาสมุทร และมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของโลก

ดังนั้นคูน้ำด้านนอกจึงเปรียบเสมือนว่าเป็นมหาสมุทรที่อยู่ล้อมรอบโลก และองค์ปรางค์ปราสาททั้ง 5 ยอดนั้นก็เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของโลกนั่นเอง ส่วนระเบียงคดและซุ้มประตูรอบๆ ก็หมายถึงภูเขาใหญ่น้อยที่อยู่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ คติความเชื่อเหล่านี้ที่บ้านเราก็รับมาเป็นคติการสร้างศาสนสถานหลายๆ แห่งเช่นกัน

เมื่อเดินข้ามสะพานผ่านกำแพงศิลาเเลงชั้นนอกเข้ามาแล้ว ก็ต้องเดินบนทางปูลาดด้วยหินความยาวประมาณ 300 เมตร กว่าจะถึงเขตเทวาลัยชั้นแรก เดินมาก็ตั้งนานแล้วฉันก็ยังเห็นว่าปรางค์ปราสาทนี้มีแค่ 3 ยอดเท่านั้นเอง แล้วอีกสองยอดหายไปไหนกัน คำตอบก็คือจะต้องไปยืนดูอยู่ตรงมุมด้านซ้ายหรือขวาที่ทำมุมเฉียงๆ กับตัวปราสาท เพื่อจะได้เห็นปรางค์อีกสององค์ซึ่งถูกบังซ้อนกันอยู่อย่างสนิท นับเป็นฝีมือการคำนวณของช่างเขมรที่สุดยอดอีกแล้ว

เมื่อเข้ามาถึงซุ้มประตูชั้นแรก เราก็จะได้เห็นเทวรูปพระวิษณุแปดกร สลักจากหินทรายตั้งอยู่เบื้องหน้า แต่มือบางมือรวมทั้งเศียรที่เห็นนั้นเป็นของที่ทำขึ้นใหม่ ส่วนเศียรของจริงนั้นอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่พนมเปญ เมื่อผ่านจุดนี้ไปแล้ว ขอแนะนำให้เดินไปทางขวามือเพื่อชมภาพแกะสลักบนระเบียงคดเสียก่อนจะขึ้นไปบนปรางค์ประธาน

ภาพสลักบนระเบียงคดนี้ก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับมหากาพย์ของอินเดียทั้งหลาย รวมความยาวทั้ง 4 ด้านได้ประมาณ 600 เมตร ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเดินดูแบบไม่รู้เรื่องรู้ราว ระยะทาง 600 เมตรนี้ก็จะเป็นหนทางที่ไกลพอดู แถมบางคนอาจรู้สึกเหมือนว่าเป็นการเดินแบบไม่มีจุดหมายอีกต่างหาก แต่หากผู้ชมพอจะมีพื้นฐาน หรืออย่างน้อยก็มีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องมหากาพย์เหล่านี้บ้าง ภาพสลักเหล่านี้ก็กลายเป็นของล้ำค่าขึ้นมาทันที

เพราะฉะนั้นขอแนะนำให้เดินตามผู้รู้ หรือมีหนังสือสักเล่มหนึ่งที่อธิบายรูปและเรื่องราวที่สลักเสลาลงบนก้อนหินเหล่านี้อย่างละเอียดลออสักหน่อย แล้วคุณก็จะได้รับรู้เรื่องราวของสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร ส่วนหนึ่งของมหากาพย์มหาภารตะ ได้เห็นภาพกองทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ที่จะไปรบกับพวกจาม รวมทั้งได้เห็นภาพ "เสียมกุก" หรือภาพที่เชื่อว่าเป็นภาพชาวสยามที่ไปช่วยรบในกองทัพเขมร ซึ่งภาพนี้คนไทยแทบทุกคนต้องเรียกร้องว่าอยากจะดู

และต้องไม่พลาดภาพสลักการกวนเกษียรสมุทร ฝ่ายอสูรยึดพญานาควาสุกรีทางด้านหัว เทวดายึดด้านหาง พันร่างพญานาคเข้ากับภูเขามันทระแล้วร่วมมือกันกวนเกษียรสมุทรหรือทะเลน้ำนมเพื่อให้ได้น้ำอมฤตมา โดยมีพระนารายณ์บัญชาการอยู่ตรงกลาง การกวนเกษียรสมุทรนี้ทำให้เกิดของวิเศษหลายสิ่งขึ้นมา รวมทั้งนางอัปสราด้วย โดยในภาพก็ได้สลักรูปนางอัปสราตัวเล็กๆ ลอยร่ายรำอยู่เหนืออสูรและเทวดาเหล่านั้นด้วย นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีภาพสลักเรื่องราวมหากาพย์รามายณะหรือรามเกียรติ์ และอีกหลายรายละเอียดที่เล่าตรงนี้ไม่หมด แต่อยากให้ได้ดูกัน

เมื่อเดินชมภาพสลักรอบระเบียงคดแล้ว เราก็ลอดผ่านซุ้มประตูชั้นใน เตรียมตัวปีนป่ายขึ้นสู่ปรางค์ทั้งห้าองค์ด้านบน ถ้าจะขอใช้คำว่าตะเกียกตะกายก็คงไม่ผิด เพราะลักษณะอาการก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ใช้ทางขึ้นด้านทิศตะวันตกที่เขาทำบันไดให้เดินได้อย่างสะดวก ก็คงต้องไต่กันอย่างลำบากนิดหนึ่งแต่ก็ไม่เกินความสามารถ

มีคนคำนวณมาให้เรียบร้อยว่าบันไดทางขึ้นสู่ปรางค์ด้านบนนั้นมีความชันประมาณ 55 องศา ก็ไม่ชันมากจนเกินจะปีนได้สะดวก แต่เนื่องจากขั้นบันไดแต่ละขั้นนั้นกว้างแค่ประมาณหนึ่งฝ่ามือตามขวางเท่านั้น การปีนจึงต้องอาศัยความเป็นผู้ดีตีนแดงตะแคงตีนปีนขึ้นไป ด้วยเส้นทางเช่นนี้ การปีนป่ายขึ้นไปจึงเป็นเหมือนการบังคับให้ต้องแสดงอาการนอบน้อมต่อเทพเจ้าที่สิงสถิตอยู่ที่นี่ไปโดยปริยาย และหากใครไต่ไปถึงด้านบนแล้ว ก็จะสามารถชมวิวรอบๆ นครวัดไปได้ไกลเลยทีเดียว

แม้จะได้ขึ้นไปจนถึงปรางค์ประธานด้านบนแล้ว แต่ก็ยังเหมือนมาไม่ถึงนครวัดอยู่ดีถ้ายังไม่ได้ชมนางอัปสรากว่าสองพันองค์ที่ถูกสลักเสลาด้วยฝีมือช่างเขมรชั้นเยี่ยมให้เหมือนมีชีวิต ร่ายรำอยู่ทุกซอกทุกมุมของปราสาท มีให้ได้ชมความงามกันตั้งแต่ซุ้มประตู ตามเสาบนระเบียงคด อยู่บนองค์ปรางค์ อยู่ในทุกหนทุกแห่งที่ปราสาทนครวัดนี้

ชาวเขมรเชื่อว่านางอัปสรานั้นเป็นเทพธิดาแห่งความดีงาม รวมทั้งเป็นผู้ที่คอยดูแลศาสนสถานอีกด้วย ดังจะได้เห็นนางอัปสราอยู่ในปราสาทหินต่างๆ แทบทุกแห่งของเขมร เรื่องราวของเหล่าอัปสราในนครวัดนี้หากจะว่ากันจริงๆ ก็คงจะเป็นเรื่องยาวพอดู เพราะเทพธิดาเขมรกว่าสองพันองค์นี้ต่างมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา ท่าทาง การแต่งกาย ทรงผม ฯลฯ คือมีทั้งนางอัปสรายิ้มเห็นฟัน นางอัปสราลิ้นสองแฉก นางอัปสราเซเลอร์มูน นางอัปสรานุ่งมินิสเกิร์ต และอีกหลากหลายอัปสราในท่วงท่าต่างๆ

ก็ต้องลองไปชมกันดูเพื่อหา "อัปสราในดวงใจ" ของแต่ละคนกันเอาเอง แต่ขอเตือนว่าอาจจะยากสักหน่อย เพราะบางทีเมื่อคิดว่าองค์นี้แหละสวยที่สุด แต่เดินไปอีกสองสามก้าวก็ต้องเปลี่ยนใจเพราะเจอองค์ที่สวยกว่า กลายเป็นว่าเดินจนทั่วปราสาทแล้วก็ยังสรุปไม่ได้ว่าชอบองค์ไหนมากกว่ากัน

ในที่สุดก็ถึงเวลาที่จะต้องโบกมือลานครวัด ปราสาทที่โลกยกย่องให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ น่าทึ่งว่ากำลังจากสองมือมนุษย์เดินดินธรรมดาจะสามารถสร้างสิ่งที่ใหญ่โตอลังการเหล่านี้ขึ้นมาได้ "นครวัด" จึงกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก แต่ท้ายที่สุดแล้ว ฉันว่ามนุษย์ผู้สร้างนั่นแหละที่เป็นสิ่งอัศจรรย์ที่สุดบนพื้นพิภพนี้

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

การเดินทาง โดยทางรถยนต์ เส้นทางที่สะดวกที่สุดคือเข้าทาง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ผ่านด่านคลองลึกเข้าสู่ประเทศกัมพูชาที่ด่านปอยเปต แล้วผ่านจังหวัดบันเตียเมียนเจย สู่จังหวัดเสียมเรียบ(เสียมราฐ) ระยะทาง 154 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง สภาพถนนไม่ดีนัก หรือหากไม่อยากนั่งรถ ก็สามารถนั่งเครื่องบินไปลงที่สนามบินเสียมเรียบได้

การเที่ยวชมปราสาทขอมในเขมรนั้นจะเสียค่าเที่ยวชม 20 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1 พันบาท) ต่อวัน (เที่ยวได้ทุกปราสาทและทุกโบราณสถานในเสียมเรียบ) ถ้าอยากเที่ยวนานๆ สามารถซื้อตั๋วแบบ 3 วัน ราคา 40 เหรียญ ส่วนค่าวีซ่าเข้าเขมรก็อยู่ที่ 20 เหรียญเช่นกัน

สำหรับผู้สนในเที่ยวนครวัด-นครธม สามารถเดินทางไปเที่ยวเองหรือติดต่อได้กับบริษัททัวร์ทั่วไป หรือที่ สีสันทัวร์ ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2693-1021 ถึง 2

กำลังโหลดความคิดเห็น