xs
xsm
sm
md
lg

'กลอนวัดโพธิ์' ขุมทรัพย์ทางภาษา มรดกทางปัญญาแห่งสยามประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




"วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ เรียกได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย" คำกล่าวนี้คงจะเคยได้ยินกันบ่อยครั้ง ซึ่งหลายๆคนเมื่อได้ยินคำกล่าวข้างต้น ต่างก็มักนึกถึงวิชาการแพทย์แผนไทย และการนวดแบบไทยของวัดโพธิ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปไกลในระดับโลก

แต่ว่าจริงๆแล้วในวัดโพธิ์ มีองค์ความรู้ต่างๆอีกมากมายหลายแขนง ด้วยเหตุนี้ทางสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) จึงได้จัดงาน "พิพิธพาเพลินมหาวิทยาลัยวัดโพธิ์" ขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา เพื่อให้องค์ความรู้ต่างๆที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยวัดโพธิ์เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยได้แบ่งองค์ความรู้ที่มีอยู่ภายในวัดโพธิ์ออกเป็นคณะวิชาต่างๆ ทั้งคณะประวัติศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ ให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้มาร่วมเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยนี้กัน

วิชาอักษรศาสตร์ก็เป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่น่าสนใจในวัดโพธิ์ เพราะที่นี่ถือเป็นที่ที่รวบรวมเอาผลงานโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน กลอนกลบท และกลอักษรต่างๆ ของนักปราชญ์ราชบัณฑิตเอาไว้มากมาย นับเป็นอีกมิติหนึ่งของวัดโพธิ์ที่หลายๆคนไม่รู้จักและอาจมองผ่านไป
โคลงกลอักษร กลโคลงพรหมพักตร์
วรรณศิลป์ ถิ่นวัดโพธิ์

ผศ.ดร.เสาวณิต วิงวอน อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ เล่าถึงการเริ่มต้นของงานวรรณศิลป์ในถิ่นวัดโพธิ์ให้ฟังว่า

"ในสมัยแรกเริ่มที่ก่อตั้งวัดโพธิ์ วัดแห่งนี้ก็เป็นวัดราษฎร์สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา ช่วงนั้นก็อาจจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับวรรณกรรมมากนัก และพอมาถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ที่ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัด ก็อาจจะเริ่มๆ มีบ้างแล้ว เพราะช่วงนั้นก็เป็นการรื้อฟื้นบ้านเมืองให้ดีเหมือนครั้งเก่า ตอนนั้นท่านเริ่มบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ซึ่งเป็นวัดใกล้พระบรมมหาราชวัง รวมทั้งโปรดฯ ให้มีจารึกการสร้างวัดพระเชตุพน มีทั้งจิตรกรรม ประติมากรรมต่างๆ"

"จนมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีการบูรณะวัดโพธิ์ครั้งใหญ่จนแทบจะเป็นการสร้างวัดใหม่เลย มีการขยายเขตวัดออกไป และมีการจารึกสรรพวิทยาการต่างๆ มากมายถึง 8 หมวดด้วยกัน ทั้งตำราการแพทย์ โบราณคดี และหนึ่งในนั้นก็คือวรรณกรรมต่างๆ เหล่านี้" อาจารย์เสาวณิต กล่าว

ที่กล่าวมานั้นทำให้เห็นได้ว่า รัชกาลที่ 3 ทรงเป็นผู้ที่มีส่วนในการส่งเสริมความรู้ให้กับประชาชนอย่างแท้จริง อาจารย์เสาวณิตได้กล่าวยกย่องพระองค์ว่า ทรงเป็นผู้ที่มองการณ์ไกล เพราะในยุคนั้นเริ่มมีวิทยาการใหม่ๆ เกี่ยวกับการพิมพ์เข้ามาในประเทศ พระองค์ทรงเห็นว่าต่อไปวิชาการต่างๆ เหล่านี้จะกระจายไปอย่างรวดเร็ว ถ้าจะปรับสภาพบ้านเมืองให้สอดคล้องกันก็ต้องเตรียมความรู้ให้กับมวลชน และทรงเล็งเห็นว่าควรจะนำความรู้ต่างๆ นี้ไว้ที่วัด เพราะว่าที่นี่เป็นสถานที่ที่ทุกคนก็เข้ามาได้ หากสร้างไว้ในวังก็มีข้อจำกัดคือบางคนไม่สามารถเข้าไปได้

และการบูรณปฏิสังขรณ์ที่ใช้เวลาถึง 16 ปี 7 เดือน ในครั้งนั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้วัดโพธิ์ได้ชื่อว่าเป็น "มหาวิทยาลัย" เท่านั้น แต่ยังทำให้วัดโพธิ์ในตอนนั้นดูงดงามจนกวีเอกอย่างสุนทรภู่ถึงกับเอ่ยชมออกมาเป็นบทกลอนว่า "…เห็นวัดโพธิ์โสภาสถาพร สง่างอนงามพริ้งทุกสิ่งอัน โอ้วัดโพธิ์เป็นวัดกษัตริย์สร้าง ไม่โรยร้างรุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์..." เรียกได้ว่าพระองค์ทรงพัฒนาวัดนี้ในทุกด้านอย่างไม่ขาดตกบกพร่องเลยทีเดียว
โคลงกลอักษร โคลงรวงผึ้ง
โคลง-ฉันท์-กาพย์-กลอน ในมหาวิทยาลัยวัดโพธิ์

สำหรับผลงานด้านอักษรศาสตร์ภายในวัดโพธิ์ที่น่าสนใจนั้น อาจารย์เสาวณิตได้แนะนำให้ผู้สนใจลองไปชมจารึกโคลงกลอนบนแผ่นหินอ่อนที่ประดับไว้ตามเสาพระระเบียงรอบพระอุโบสถ ซึ่งเป็นโคลงกลอนที่อยู่บนแผ่นศิลาจารึกและเป็นสิ่งที่รัชกาลที่ 3 ได้โปรดฯ ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตรวบรวมและจารึกไว้ เป็นโคลงกลอนที่คาดว่าน่าจะเขียนขึ้นใหม่ แต่คงใช้รูปแบบที่มีแต่เดิมหรือบางอันก็เป็นการแต่งขึ้นใหม่โดยรูปแบบที่ว่านั้นก็มีทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย

จารึกเหล่านี้ได้ประดับไว้ที่เสาพระระเบียงรอบพระอุโบสถ ทั้งพระระเบียงชั้นในและชั้นนอก นอกจากนั้นก็ยังมีจารึกสุภาษิต โคลงโลกนิติ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ประดับอยู่ที่ศาลารายรอบพระมณฑปอีกด้วย

หากใครได้เคยไปยืนอ่านโคลงกลอนที่จารึกอยู่ตามพระระเบียงเหล่านี้แล้ว ก็คงจะเห็นแล้วว่ามีหลากหลายรูปแบบยิ่งนัก ยกตัวอย่างฉันท์ที่จารึกไว้ก็เช่น วิสิโลกฉันท์ มาณะวะกะฉันท์ เป็นต้น หรือจะเป็นกลบทที่จารึกไว้ก็เช่น กลบทพยัฆค่ามห้วย (สะกดตามจารึก) กลบทพินประสานสาย กลบทเสือซ่อนเล็บ กลบทถอยหลังเข้าคลอง และอีกมากมายหลายแบบที่ต่างก็มีเนื้อหาและความไพเราะแตกต่างกันไป โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เองก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์กลอนกลบทด้วยพระองค์เองด้วย ดังจะให้ฟังเป็นตัวอย่างบางส่วน
ฉันท์ต่างๆ บนศิลาจารึกวัดโพธิ์
                            กลบทบัวบานกลีบขยาย

                                                 "เจ้างามพักตร์ผ่องเพียงบุหลันฉาย
เจ้างามเนตรประหนึ่งนัยนาทราย        เจ้างามขนงก่อคล้ายคันศรทรง
เจ้างามนาสายลดังกลขอ                 เจ้างามศอเสมือนคอสวรรณหงส์
เจ้างามกรรณกลกลีบบุษบง              เจ้างามวงวิลาสเรียบระเบียบไร"ฯลฯ


นอกจากกลอนกลบทเหล่านี้แล้ว ก็มีโคลงอยู่แบบหนึ่งซึ่งถือว่าน่าสนใจมาก นักกลอนบางส่วนอาจจะรู้จักดี แต่เชื่อว่าคนทั่วไปคงไม่ค่อยจะได้เห็นกันบ่อยนัก หรือบางคนอาจไม่เคยเห็นเลย นั่นก็คือ "โคลงกลอักษร"

โคลงกลอักษรที่ว่านั้น มีลักษณะเป็นเหมือนกับการถอดรหัส คล้ายปริศนาอักษรไขว้ เป็นรูปแบบหนึ่งของการแต่งโคลงสี่รูปแบบพิเศษที่ซ่อนคำไว้ในรูปแบบต่างๆ โดยคนอ่านจะต้องคิดเอาคำเหล่านี้ที่คนแต่งแต่งไว้มาหาวิธีเรียงร้อยคำเหล่านั้นให้อ่านออกมาเป็นโคลงสี่สุภาพที่ได้สัมผัสคล้องจอง

เรียกว่าผู้ที่จะถอดโคลงออกมาได้นั้น จะต้องรู้จักรูปแบบฉันทลักษณ์ของโคลงสี่เสียก่อน รู้ว่ามีคำบังคับเอก 7 โท 4 อยู่ตรงไหนบ้าง รู้ว่าคำสัมผัสอยู่ตรงไหนบ้าง รู้ว่าวรรคหน้าต้องมีกี่คำ วรรคหลังต้องมีกี่คำ จากนั้นจึงจะสามารถนำเอาคำจากโคลงกลอักษรมาเรียงให้ได้เป็นโคลงสี่สุภาพ
รูปหล่อของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในตำหนักวาสุกรี
โคลงกลอักษรเหล่านี้ก็มีหลายรูปแบบเช่นกัน ตัวอย่างเช่น โคลงรวงผึ้ง โคลงรังนกกระจาบ กลโคลงนกนำฝูง กลโคลงแยกทาง กลโคลงสลับห้อง และอีกมากมายหลายรูปแบบที่แต่งขึ้นตามความคิดของนักกลอนเหล่านั้น ซึ่งโคลงกลอักษรเหล่านี้ต่างก็มีวิธีอ่านที่แตกต่างกันไป โคลงบางอันอาจอ่านจากบนลงล่าง หรือบางอันอาจต้องอ่านวนเป็นวงกลม ก็ตามแต่ผู้แต่งจะคิดได้พิสดารเพียงใด

โคลงกลในรูปแบบนี้ จึงนับเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการละเล่นกับคำ เป็นการประลองไหวพริบของทั้งผู้แต่งและผู้อ่าน นับว่าเป็นรูปแบบของโคลงที่หาได้ยากแล้ว เพราะปัจจุบันก็ไม่ค่อยจะมีใครแต่งโคลงกลเหล่านี้ หรือแม้แต่จะมีผู้ที่รู้จักโคลงกลอักษรเหล่านี้ก็มีน้อยเต็มที จึงเรียกได้ว่า เป็นสมบัติมีค่าอีกชิ้นหนึ่งที่มีอยู่ภายในวัดโพธิ์ ที่หลายคนอาจจะเคยเดินผ่านไปมาโดยไม่ทันสังเกต

วันหลังถ้าใครได้ผ่านไปที่พระระเบียงของพระอุโบสถวัดโพธิ์ ก็ลองเตรียมกระดาษกับดินสอไปถอดรหัสโคลงกลอักษรเหล่านี้กัน ดูสิว่าจะยากเกินความสามารถของเราหรือไม่

'รัตนกวี' แห่งวัดโพธิ์

นอกจากโคลงกลอนต่างๆแล้ว วัดโพธิ์ยังมีตำนานของกวีเอกชั้นเยี่ยมอยู่ที่วัดแห่งนี้ นั่นก็คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส รัตนกวีแห่งวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 7 ของกรุงรัตนโกสินทร์ นับว่าเป็นพระบรมวงศ์ในราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ทรงดำรงตำแหน่งพระสังฆราช อันเป็นพระประมุขสูงสุดทางฝ่ายสงฆ์

สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสนั้น ทรงเป็นอธิบดีสงฆ์ หรือเจ้าอาวาสของวัดโพธิ์เมื่อปี พ.ศ.2356-2396 ในระหว่างนั้น พระองค์ได้ทรงนิพนธ์หนังสือต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งบทร้อยกรองและร้อยแก้ว ไม่ว่าจะเป็น โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ลิลิตตะเลงพ่าย กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ปฐมสมโพธิกถา และอีกมากมายหลายเรื่องด้วยกัน ที่ล้วนแล้วแต่มีค่ายิ่งในวงการวรรณกรรม
ผศ.ดร.เสาวณิต วิงวอน
"เจ้าอาวาสหรืออธิบดีสงฆ์ที่สำคัญๆ อย่างสมเด็จพระพนรัตน์ หรือสมเด็จพระวันรัตน์ ซึ่งเป็นอาจารย์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็เป็นผู้ชำระหรือผู้เขียนพระราชพงศาวดาร และส่วนกวีเอกผู้มีผลงานระดับโลกอย่างสมเด็จกรมพระฯ ก็จะมีผลงานหลายชิ้นด้วยกัน ท่านบวชเป็นสามเณรก็ที่วัดนี้ เป็นพระภิกษุก็ที่นี่ ขึ้นเป็นพระราชาคณะ จนกระทั่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสิ้นพระชนม์ก็ที่นี่ ไม่เคยไปอยู่วัดไหน เพราะฉะนั้นผลงานทั้งหมดของท่านสร้างขึ้นที่นี่" อาจารย์เสาวณิต กล่าว

ด้วยพระอัจฉริยภาพและผลงานของพระองค์ที่ทรงสร้างไว้เหล่านี้ ทำให้องค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นผู้มีผลงานดีเด่นระดับโลก เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2533 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 200 ปี วันประสูติของพระองค์

ปัจจุบัน ตำหนักวาสุกรีซึ่งท่านเคยประทับอยู่ในเขตสังฆาวาสของวัดโพธิ์ก็ยังคงอยู่ และยังรักษาสภาพไว้อย่างดียิ่ง โดยภายในตำหนักจะมีบุษบกซึ่งบรรจุพระอัฐิของสมเด็จมหาสมณเจ้าฯ ไว้ และมีรูปหล่อของพระองค์ รวมทั้งยังมีข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ อีกมากมายของพระองค์ที่ทางวัดโพธิ์ได้เก็บรักษาไว้

บริเวณหน้าบุษบกที่บรรจุพระอัฐิไว้นั้น มีกระดานจารึกกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ที่สมเด็จมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ด้วยพระองค์เอง และเชื่อว่าทุกคนคงเคยท่องจำกันมาแล้วเมื่อสมัยเรียนหนังสือ

"พฤกษภกาสร     อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง   สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย     มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี    ประดับไว้ในโลกา"

*************************

ผ่านมาเกือบสองร้อยปีแล้ว ที่จารึกอักษรโคลงกลอนเหล่านี้ยังคงยืนหยัดอยู่ที่เดิม อาจจะลบเลือนไปบ้างจากกาลเวลา หรือจากการซ่อมแซมที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง แต่จารึกส่วนมากก็ยังคงสามารถอ่านได้ เสียแต่ว่าไม่ค่อยจะมีใครสนใจอ่านเท่านั้นเอง แต่นี่เองที่เป็นความตั้งใจของพระมหากษัตริย์ของเรา ที่ต้องการให้ประชาชนของพระองค์ได้รับความรู้อย่างเท่าเทียมกัน
จารึกโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน บนพระระเบียงชั้นใน
"สิ่งที่รัชกาลที่ 3 ทรงทำ และเป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติมากๆ ก็ตรงที่แต่ก่อนนั้นสรรพวิทยาเหล่านี้จะเป็นของแต่ละตระกูล ดังนั้นการที่ทรงนำมาจารึกไว้ให้ประชาชนได้เรียนรู้ ไม่ได้หวงกันไว้เหมือนสมัยก่อน จึงเป็นเหมือนการเปิดการศึกษาสู่ทวยราษฎร์ ประชาชนคนไหนรักวิชาการก็มาเล่าเรียนได้ เหมือนเป็นการเปิดความคิดระบบใหม่"

"ความเป็นมหาวิทยาลัยที่เราคิดว่าทันสมัย คิดว่าเริ่มเมื่อได้รับอิทธิพลตะวันตกเข้ามา จริงๆ แล้วมันเริ่มมาตั้งแต่ตอนในรัชสมัยของท่านนี่เอง" อาจารย์เสาวณิตกล่าวปิดท้าย

แม้ "มหาวิทยาลัยวัดโพธิ์" อาจจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้รับการรับรองจากทบวงมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด แต่สรรพวิทยาการทั้งหลายที่รอให้ผู้ใฝ่รู้เข้าไปศึกษาได้ภายในวัดนั้น มากมายพอจะเรียกได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยได้จริงๆ

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

"วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม" หรือวัดโพธิ์นี้ เดิมชื่อว่า วัดโพธาราม เป็นวัดโบราณที่ราษฎรสร้างมาตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี อยู่ที่ตำบลบางกอก ปากน้ำเจ้าพระยา เมืองธนบุรี ชาวบ้านเรียกกันว่า "วัดโพธิ์" มาจนทุกวันนี้

มาในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสถาปนาเมืองธนบุรีเป็นนครหลวง ได้ทรงกำหนดเขตเมืองหลวงทั้งสองฝั่ง มีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในเขตกลางเมืองหลวง วัดโพธารามตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาจึงอยู่ในเขตพระมหานคร และได้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง มีพระราชาคณะปกครองตั้งแต่นั้นมา

จนในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นเสวยราชสมบัติ และได้ย้ายเมืองหลวงมายังฝั่งพระนคร มีการสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ จึงทรงปฎิสังขรณ์วัดโพธารามที่อยู่ในบริเวณเดียวกันไปด้วย โดยได้รวบรวมช่างฝีมือเยี่ยมมาร่วมสร้างจนวิจิตรงดงามบริบูรณ์ด้วยศิลปะอันประณีตทั้งสิ้น และภายหลังวัดนี้ก็ได้ถือว่าเป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 1

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ดูของดี ที่ “วัดโพธิ์” 
เที่ยว“วัดโพธิ์” สัมผัสวัดเก่า ในมุมมองใหม่
เที่ยว“ท่าเตียน”ชุมชนเก่าแก่คู่วัดโพธิ์
 
กำลังโหลดความคิดเห็น