ในเช้าวันอาทิตย์ที่26 ธันวาคม 2547 ท่ามกลางท่ามกลางท้องทะเลอันงดงามแถบหมู่เกาะอันดามัน ใครเลยจะรู้ว่า จะเกิดเหตุการณ์เลวร้ายขึ้น คลื่นยักษ์ “สึนามิ”ได้โถมเข้าสู่ชายฝั่งอันดามัน นำความโศกเศร้าและความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมาสู่มวลมนุษย์ แต่หลังจากความมืดมัวผ่านพ้นไปท้องทะเลก็กลับมางดงามอีกครั้งด้วยเห็นน้ำใจที่หลั่งเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างไม่ขาดสาย
เพื่อเป็นการหวนรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวทางกระทรวงคมนาคมนำโดย วันชัย ศารทูลทัต ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้มีแนวคิดริเริ่มจัดสร้างอนุสาวรีย์ (ใต้น้ำ)ขึ้นบริเวณอ่าวต้นไทร เกาะพีพี ซึ่งหากต้องการไปชมต้องดำน้ำแหวกว่ายฝ่าเกลียวคลื่นลงไปชม ซึ่งอนุสาวรีย์แห่งนี้พึ่งเสร็จสมบูรณ์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา เมื่อมีพิธีมอบแผ่นอะครีลิคชิ้นสุดท้ายแก่น้ำดำน้ำ ณ ชายหาดหน้าโรงแรมพีพี คาบาน่า บนเกาะพีพีเพื่อนำลงไปติดยังอนุสาวรีย์(ใต้น้ำ)
สำหรับอนุสาวรีย์แห่งนี้มีแนวคิดมาจากการที่ธรรมชาติซึ่งมีความงดงามในหมู่เกาะอันดามันและผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ คราใดที่ธรรมชาติถูกทำลาย ความโหดร้ายจะมาเยือนมนุษย์อย่างไม่รู้ตัว
รูปแบบของอนุสาวรีย์จึงถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นแท่นหินแกรนิต 3 แท่น เรียงตัวกันเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ห่างกัน 5,395 เซนติเมตร โดยระยะห่างนี้มีความหมายแอบแฝงหมายถึงจำนวนผู้เสียชีวิตที่สามารถระบุชื่อและสัญชาติได้
แท่นหินมีรูปทรงคล้ายปิรามิดตัดยอด ฐานด้านล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง 150 เซนติเมตร ยาว 150 เซนติเมตร ซึ่งด้านบนเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร แท่นหินตรงกลางเป็นแท่นหินแกรนิตเช่นกัน มองจากด้านบนมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 80 เซนติเมตร จัดสร้างเป็นแผ่นหินแกรนิตยกสูงข้างต่ำข้าง โดยด้านสูงมีความสูง 80 เซนติเมตร และด้านต่ำ สูง 20 เซนติเมตร
บนแท่นหินแกรนิตจารึกคำไว้อาลัยจากจากสถานทูตต่างๆ จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลีใต้ สมาพันธรัฐสวิส สวีเดน ฝรั่งเศส สาธารณรัฐเยอรมัน ฟินแลนด์ อิตาลี สเปน เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ค ใต้ฐานของแท่นหินแกรนิต จารึกปรัชญาชีวิตจากนักปราชญ์ของชนชาติต่างๆเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจในการดำรงชีวิตของมนุษย์ส่วนแท่นหินแกรนิตตรงกลาง จะบอกเล่าเรื่องราวของเหตุการณ์ในวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547
ความหมายแท่นหินแกรนิตทั้งสามแท่งถือเป็นตัวแทนแห่ง ดิน น้ำ และอากาศเปรียบเสมือนโลกของเราที่ประกอบด้วยพื้นดิน น้ำ และอากาศ พื้นดินเป็นแหล่งกำเนิดของป่าเขาลำเนาไพร พืชพรรณธัญญาหาร แม่น้ำลำคลอง สัตว์ป่า และอาหาร ส่วนพื้นน้ำ เป็นแหล่งกำเนิดของสรรพชีวิต และยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคของมนุษย์และบรรดาสัตว์น้อยใหญ่บนโลกใบนี้ และอากาศเป็นสิ่งซึ่งมนุษย์ตลอดจนสรรพสัตว์ใช้ในการหายใจเพื่อดำรงชีพ
การเรียงตัวเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าของแท่นหินนั้น เปรียบได้กับความสมดุล ระหว่างดิน น้ำ และอากาศ ซึ่งต่างมีระบบนิเวศน์พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จะขาดหรือเสียสมดุลในสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปเสียไม่ได้ ซึ่งเปรียบได้กับ สามเหลี่ยมแห่งความสมดุล
แท่นหินแกรนิตตรงกลาง เปรียบเสมือนมนุษย์ที่เป็นศูนย์กลางของโลกใบนี้อาศัยอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมของดิน น้ำ และอากาศ มนุษย์เป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลายหากมนุษย์ทำลายความสมดุล ทำลายความเป็นธรรมชาติและระบบนิเวศน์ของดิน น้ำและอากาศแล้วจะทำให้เกิดภัยธรรมชาติย้อนกลับมาทำลายมวลมนุษย์