หลังจากการประกาศผลรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยหรือรางวัลกินรี ครั้งที่ 6 ประจำปี 2549 ไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งแบ่งเป็นประเภทรางวัลดังนี้คือ รางวัลประเภทแหล่งท่องเที่ยว รางวัลประเภทที่พักนักท่องเที่ยว รางวัลประเภทรายการนำเที่ยว รางวัลประเภทองค์กรส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว รางวัลประเภทโครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว และรางวัลประเภทการสื่อสารและประชาสัมพันธ์
นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีอีกรางวัลหนึ่งซึ่งมีความน่าสนใจไม่น้อย นั่นก็คือ "รางวัลมัคคุเทศก์ดีเด่น" ซึ่งได้มอบให้พร้อมกับการมอบรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในครั้งนี้ โดยรางวัลนี้จะพิจารณาจากมัคคุเทศก์ที่มีใบอนุญาตถูกต้องทั่วประเทศแบ่งตามภาคต่างๆ ซึ่งในวันนั้นผู้ที่ขึ้นรับรางวัลในงานที่ดูแปลกตาและโดดเด่นที่สุดก็เห็นจะไม่มีใครเกิน อาแป อามอ มัคคุเทศก์ชาวอาข่าประเภทนำเดินป่า จากจังหวัดเชียงราย ที่มาในชุดกึ่งสากลคือท่อนล่างเป็นสากลส่วนท่อนบนเป็นเสื้อประจำเผ่า
นอกจากชุดของเขาจะดูโดดเด่นในงานแล้ว ผลงานของ อาแป หัวหน้าหมู่บ้านชาวอาข่า อายุ 42 ปี ก็ถือว่ามีความโดดเด่นเช่นกัน
อาแป สามารถพูดได้ถึง 4 ภาษา คือภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และภาษาชนเผ่าอาข่า ซึ่งเขาได้เล่าให้ฟังถึงอาชีพเดิมว่า ก่อนที่จะกลายมาเป็นมัคคุเทศก์ที่มีรางวัลการันตีในวันนี้ว่า แต่เดิมก็เป็นเพียงชาวไร่ชาวนาธรรมดา ทำไร่ทำสวนหาของป่าเข้าไปขายในเมือง แต่ในปี พ.ศ.2533 หลังจากที่ผลผลิตทางการเกษตรเริ่มลดน้อยลงและคุณภาพไม่ดีเช่นเดิม อาแปจึงหันเหอาชีพของตนเองเข้าสู่วงการการท่องเที่ยวในตอนนั้น
"ที่เปลี่ยนจากการทำเกษตรมาเป็นมัคคุเทศก์ก็เพราะว่า ผมเคยเห็นมัคคุเทศก์ที่เป็นคนจากข้างนอกพาฝรั่งมาเที่ยวที่หมู่บ้าน ก็รู้สึกสงสัยว่าเขาคุยกับฝรั่งได้ยังไง ก็เลยให้ฝรั่งช่วยสอนภาษาอังกฤษให้ จากนั้นก็ลงมาอยู่ที่ในเมือง มาเป็นลูกหาบและเรียนรู้ภาษาอังกฤษไปด้วย และหลังจากที่ภาษาอังกฤษเริ่มดีขึ้นแล้วจึงเริ่มอาชีพมัคคุเทศก์ พานักท่องเที่ยวเที่ยวป่าได้ แล้วก็ได้เข้าสมัครอบรมมัคคุเทศก์ที่จังหวัดเชียงรายด้วย" อาแป กล่าว
สำหรับเส้นทางการเดินป่าที่อาแปนำเที่ยวนั้นก็อยู่ในเขตตำบลดอยฮาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นหมู่บ้านชาวอาข่าบนภูเขา ห่างจากตัวเมืองเชียงราย 23 กิโลเมตร มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,500 เมตร และอาแปก็เป็นหัวหน้าหมู่บ้านชาวอาข่าแห่งนี้ด้วย
"การนำเที่ยวก็จะมีตั้งแต่ทริป 1 วัน ไปจนถึง 6 วัน 7 คืน ส่วนมากจะเป็นการเดินป่า 8-10 กิโลเมตร เดินไปด้วยศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติไปด้วย เพราะเส้นทางเดินนั้นจะเป็นป่าดงดิบ มีหลายอย่างให้เรียนรู้ ทั้งเรื่องของต้นไม้หรือดอกกล้วยไม้ป่า รวมทั้งเรื่องของการดำรงชีพในป่า การทำอาหารด้วยอุปกรณ์ธรรมชาติ เช่น ต้มข้าวต้มในกระบอกไม้ไผ่ ปรุงอาหารทุกอย่างในกระบอกไม้ไผ่ และหากเป็นการเดินป่าที่มีการพักค้างคืนก็จะได้เรียนรู้การสร้างที่พักชั่วคราวจากใบตองตึงในป่าเพื่อเป็นที่พักค้างคืนด้วย ซึ่งกิจกรรมอย่างนี้ฝรั่งจะชอบมาก"
นอกจากนี้ก็ยังมีเส้นทางท่องเที่ยวใกล้เคียงเช่น การเที่ยวชมน้ำตกห้วยแก้ว น้ำตก 3 ชั้น ความสูง 10 เมตร การชมไร่ชา เที่ยวบ่อน้ำพุร้อนโดยการเดินป่าเข้าสู่หมู่บ้านชาวมูเซอและชาวอาข่า รวมทั้งเยี่ยมหมู่บ้านชาวเขาเผ่าอื่นๆ ด้วย
การที่ได้มาเป็นมัคคุเทศก์นำนักท่องเที่ยวเที่ยวภายในหมู่บ้านนั้น ไม่ได้เกิดประโยชน์เฉพาะตัวของอาแปเพียงคนเดียว แต่ยังช่วยทำให้เศรษฐกิจของชาวบ้านจากเดิมที่เคยทำการเกษตรเพียงอย่างเดียว มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำหัตถกรรมงานฝีมือขายนักท่องเที่ยว เช่น เสื้อหรือกระเป๋าผ้าฝ้ายที่ทอมือ ก็เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน รวมทั้งยังเปิดให้มีโฮมสเตย์ภายในหมู่บ้าน เป็นการสร้างรายได้ให้ชาวบ้านได้ด้วย
และนอกจากในเรื่องของการท่องเที่ยวแล้ว ที่หมู่บ้านอาข่าในตำบลดอยฮางนี้ก็ยังมีโครงการพัฒนาการศึกษาของเด็กๆ ชาวเขาที่โรงเรียนบ้านโป่งน้ำร้อน โดยจะเป็นการให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนที่เรียนดี ซึ่งได้รับงบสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น และงบอีกบางส่วนมาจากนักท่องเที่ยวเอง โดยอาแปบอกว่ารายได้จากการที่นักท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวมาพักที่โฮมสเตย์ก็จะถูกหัก 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อร่วมเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กๆ ด้วย ทั้งนี้ในโรงเรียนจะมีการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ม.3 มีครูคนไทย 7 คน ส่วนครูสอนภาษาอังกฤษก็ต้องรอครูอาสาสมัครมาสอนภาษาอังกฤษให้ ตรงนี้อาแปบอกมาว่า ถ้าใครสนใจจะมาเป็นครูอาสาก็สามารถติดต่อมาได้เลย
จากประสบการณ์ในการเป็นมัคคุเทศก์มากว่า 15 ปี อาแปก็ได้รับรางวัลที่ถือว่าเป็นการเชิดชูเกียรติจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยเริ่มต้นจากการได้รับจดหมายจาก ททท.ให้เข้าร่วมการประกวดมัคคุเทศก์ จึงลองเข้าประกวดดูเพื่อหาเป็นการหาประสบการณ์ แล้วจากนั้นจึงมีการคัดเลือกตัวแทนจากทางภาคเหนือ ซึ่งอาแปก็ได้เป็นผู้ได้รับคัดเลือกให้เข้ามาแข่งกับตัวแทนจากภาคอื่นๆ โดยในการแข่งขันนั้นแต่ละคนก็ต้องนำเสนอผลงานของตัวเองที่ผ่านมาว่าได้มีประสบการณ์ด้านการนำเที่ยวอะไรมาบ้าง มีวิธีการทำงานอย่างไร
เชื่อว่ารางวัลที่อาแปได้รับในครั้งนี้ ไม่ได้มาจากความชำนาญและประสบการณ์ในการนำเที่ยวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่การที่ได้ช่วยพัฒนาหมู่บ้าน ส่งเสริมรายได้ให้แก่คนในหมู่บ้าน รวมทั้งส่งเสริมด้านการศึกษาของเด็กๆ ชาวเขา น่าจะเป็นส่วนช่วยให้อาแปได้เป็นมัคคุเทศก์ดีเด่นสมรางวัล
"การที่ได้รางวัลในครั้งนี้ก็ภูมิใจและดีใจมาก ถือว่าเป็นรางวัลของชีวิตเลยก็ว่าได้" นี่คือความรู้สึกที่อาแปกล่าวให้ฟัง
นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่ผู้นำหมู่บ้านชาวอาข่าอยากทำเพิ่มเติมตอนนี้ก็คือ "พิพิธภัณฑ์ผลไม้" โดยอาแปเล่าว่า"เวลาที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยว เราก็เอาผลไม้เอาสับปะรดมาเลี้ยง เขาก็มองขึ้นไปบนฟ้า ถามว่าต้นสับปะรดนี้อยู่ที่ไหน เพราะเขาไม่รู้จัก แล้วยังมีพวกผลไม้ป่าอีกมากที่เขาไม่รู้จัก อย่าง ลำไย ลิ้นจี่ แล้วก็พวกพืชสมุนไพร ภูมิปัญญาชาวบ้านต่างๆ เหล่านี้ ก็อยากจะนำมารวบรวมไว้เป็นความรู้"
ในขณะนี้การท่องเที่ยวในหมู่บ้านอาข่า ที่ตำบลดอยฮางนี้ยังเป็นที่รู้จักและที่นิยมอยู่ในหมู่ชาวต่างชาติเท่านั้น สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยยังคงมีน้อยอยู่ อาจเพราะยังไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ จึงยังไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยมากนัก ดังนั้น หากมีผู้ที่สนใจการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ รวมทั้งยังได้รู้จักกับชนเผ่าอาข่าและชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่จังหวัดเชียงรายนี้ อาแปก็ยินดีที่จะพาเที่ยวเสมอ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ติดต่อสอบถามรายละเอียดการท่องเที่ยวได้ที่ อาข่า ฮิลล์ เฮ้าส์ โฮมสเตย์ 97/7 ตำบลดอยฮาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 57000 โทรศัพท์ 08-9997-5505, 0-5391-8442 หรือ www.akhahill.com