xs
xsm
sm
md
lg

ท่อง “สวิตเซอร์แลนด์”(1)...บุกคุกลับใต้ปราสาทชิลยอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : มินนี่ เดอะ เม้าส์

ภาพหมอกฟุ้งๆ มองเห็นผู้คนหน้าตาดี บ้านเรือนสวยงาม เบื้องหลังเป็นม่านเขาสลับซ้อนทับกันไปมา ปกคลุมด้วยเกล็ดน้ำแข็งขาวโพลน ล่องลอยเข้ามาในแวบแรกที่รู้ตัวว่าฉันจะได้เดินทางไปสัมผัส “สวิตเซอร์แลนด์” ในความเป็นจริงกับเขาเสียที...หลังจากที่ฝันมาแสนนาน

สวิตเซอร์แลนด์ประเทศเล็กๆ มีพื้นที่แค่ 41,200 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่บนที่ราบสูงเต็มไปด้วยเนินเขาใหญ่น้อย ทั้งเทือกเขาแอลป์ (Alps) ในตอนใต้ และทิวเขายูรา (Jura mountains) ทางตอนเหนือ แถมมีทะเลสาบแทรกอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ อีก 1,484 แห่ง และธารน้ำแข็งอีก 140 สาย

สีครามของท้องน้ำ สีขาวของหิมะ และสีเขียวของต้นหญ้าที่แซมด้วยสีสันมากมายจากดอกไม้นานาพันธุ์ เมื่อจุดเด่นถูกนำมาขยายเป็นจุดขาย ทำให้ภาพของ “สวิตเซอร์แลนด์” กลายเป็นดินแดนแห่งความฝันของผู้คนเกือบค่อนโลก

“ห้ามหลับเด็ดขาด !!” เพื่อนสาวว่าที่สะใภ้สวิสของฉันกำชับมาอย่างหนักแน่นระหว่างเดินทางข้ามเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางจากมองเทรอซ์ (Montreux) สู่เวเวย์ (Vevey) 2 เมืองเล็กๆ ที่ทรงเสน่ห์ทางฟากตะวันตกของประเทศ

ไร่องุ่นเรียงราย ถนนเลียบทะเลสาบวกขึ้นลง วิวทิวทัศน์ 2 ข้างทางขยับขึ้นลงทั้งมุมสูงมุมต่ำ เสียงแชะๆๆ จากกล้องถ่ายรูปทั้งของฉันและเพื่อนร่วมทางแข่งกันดังแทบไม่มีจังหวะให้หยุดพัก ฉันชักเริ่มเห็นใจชัตเตอร์กลัวว่าจะพังคามือ...แต่จะให้ทำยังไงก็มันสวยเกินจะเก็บไว้คนเดียว

จากมองเทรอซ์ห่างออกไปแค่ 3 กิโลเมตร ฉันแล่นรถมาบนทางหลวงไล่ไปตามไหล่เขาเหนือทะเลสาบเจนีวา หรือที่คนแถบนี้ซึ่งใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลักเรียกว่า “ลาคเลอมอง” (Lac L’man) ฉันมองลงมาเบื้องล่างเห็นปราสาทหินหลังใหญ่ตั้งอยู่ริมน้ำ แต่พินิจดีๆ เหมือนว่าสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่หลังนี้ลอยอยู่เหนือน้ำเสียมากกว่า

“ปราสาทชิลยอง” (Castle of Chillon) หรือในภาคภาษาฝรั่งเศสคือ “ชาโต เดอ ชิลยอง” (Château de Chillon) ยืนสงบนิ่งอยู่บนแนวก้อนหินที่ล้อมรอบด้วยน้ำมานานกว่า 800 ปี นับเป็นปราสาทยุคกลางของยุโรปที่มีสภาพดีที่สุดถึงปัจจุบัน และกลายเป็น “The Must” ที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่งสำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์โบร่ำโบราณ

ฐานปราสาทที่มีหินก้อนใหญ่รองรับอยู่นั้น เชื่อว่าสร้างมาตั้งแต่ยุคทองสัมฤทธิ์ (Bronze Age) ซึ่งในยุโรปกลางตรงกับช่วงปี 1800-1600 ก่อนคริสตศักราช ต่อมาถูกชาวโรมันครอบครอง จากหลักฐานเสาหินแบบโกธิกในห้องใต้ดิน จนกระทั่งปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าถูกต่อเติมสร้างเป็นปราสาทขนาดใหญ่ในช่วงศตวรรษที่ 11–13 เป็นสมบัติของเคานต์ซาวอย (Counts of Savoy) ขณะนั้นปกครองทางตอนเหนือของอิตาลีและกินพื้นที่เข้ามาทางตอนใต้ของสวิตเซอร์แลนด์ในปัจจุบัน
คุกใต้ดินใช้สถาปัตยกรรมแบบโกธิกน่าจะสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยโรมัน
เดิมทีชิลยองถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นด่านเก็บค่าผ่านทางระหว่างเทือกเขาแอลป์ที่รู้จักกันดีว่า la route d'Italie หรือถนนสู่อิตาลีนั่นเอง ด้านหน้าปราสาทที่ติดถนนเป็นป้อมปราการมีหอคอย 3 ยอดห่างออกมาจากฝั่งเชื่อว่าเป็นที่พักของท่านเคานต์แห่งซาวอย ส่วนอีกด้านหันหน้าเข้าหาทะเลสาบ ซึ่งเงียบสงบร่มเย็นคาดว่าน่าจะเป็นที่ประทับของเจ้าชาย และฝั่งด้านติดทะเลสาบนั้นยากแก่การลอบเข้าโจมตีของศัตรู

ทันทีที่ก้าวเข้าไปในชิลยอง ฉันเอ่ยถามถึง “ดันเจียน” (dungeon) หรือคุกใต้ดินกับไกด์สาวประจำปราสาทแห่งนี้โดยไม่ลังเล

ก็เพราะในคุกใต้ดินของชิลยองมีร่องรอยบุคคลสำคัญของโลกประทับไว้...เขาคือ “ลอร์ด ไบรอน” กวีและนักวิจารณ์ชาวอังกฤษ สัญลักษณ์แห่งความเพ้อฝัน และการแสวงหาเสรีภาพของยุคโรแมนติก...ถ้ายังนึกไม่ออก ลองนึกถึง “ดอน ฮวน” (Don Juan) ชายสเปนที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของหนุ่มเจ้าชู้ก็ด้วยฝีมือของลอร์ด ไบรอนผู้นี้

ต้นศตวรรษที่ 19 ขณะที่ยุคโรแมนติกกำลังเฟื่องฟู มีกวีหลายคนได้เยี่ยมเยียนปราสาทชิลยองแห่งนี้ โดยแต่ละคนกลับออกไปพรรณนาเป็นทั้งข้อเขียนและบทกวีต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นรุสโซ (Jean-Jacques Rousseau), เชลลีย์ (Percy Bysshe Shelley), ฮิวโก (Vigtor Hugo), ดูมาส (Alexandre Dumas), ชาร์ล ดิสเกนส์ (Charles Dickens) และแน่นอนว่ารวมถึงลอร์ดไบรอน ที่สลักชื่อของเขาเองลงบนเสาต้นที่ 3 ในคุกส่วนที่เคยขังฟรังซัวส์ โบนิวาร์ด (François Bonivard)

โบนิวาร์ดเป็นทั้งนักบวชและนักการเมืองเรียกร้องให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้ให้เจนีวาเป็นอิสระจากซาวอย เขาจึงถูกจับล่ามโซ่ตรึงเข้ากับเสาต้นที่ 5 ในคุกใต้ดินแห่งนี้ระหว่างปี 1532-1536 และโชคดีที่กองทัพสวิสจากเบิร์นเข้ามายึดอำนาจของเคานต์แห่งซาวอยในปี 1536 ทำให้โบนิวาร์ดเป็นอิสระ และกลับไปใช้ชีวิตที่เหลือด้วยความรักชาติยิ่งชีพที่เจนีวา

เรื่องราวของโบนิวาร์ดช่างจับใจลอร์ด ไบรอนไม่น้อย และหลังจากได้เห็นสภาพคุกที่เคยขังฮีโร่ของเขา ลอร์ดไบรอนก็ได้แรงบันดาลใจกลับมาแต่งบทกวีชื่อว่า “นักโทษแห่งชิลยอง” (The Prisoner of Chillon) ซึ่งนับเป็นอีกผลงานชิ้นเอกของยอดกวีแห่งอังกฤษผู้นี้เลยทีเดียว

ลายเซ็นสลักของลอร์ด ไบรอนเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวของการลงไปผจญภัยใต้ดันเจียนที่ทั้งเย็นและมืดสลัว ทางปราสาทจัดแสดงติดกรอบรอบชื่อไว้เป็นอย่างดี และดูเหมือนว่าตามเสาหินในคุกใต้ดินนั้นมีลายเซ็นสลักชื่อผู้คนไว้มากมาย ไม่แน่ใจว่าทั้งหมดคือนักโทษที่เคยถูกขังอยู่ที่นี่เมื่อหลายร้อยปีก่อน หรือว่าจะมีแขกผสมโรงร่วมสลักด้วยก็ไม่รู้

ยังไม่ทันจะมีโอกาสได้พินิจหาชื่อแปลกๆ บนเสาหิน ไกด์สาวประจำปราสาทก็เร่งให้ฉันเดินขึ้นไปด้านบน พอดีเหลือเกินว่าช่วงที่ฉันไปตรงกับวันอาทิตย์ ปราสาทเลยแน่นขนัดเป็นพิเศษ ทั้งทัวร์ยุโรปและเอเชีย ดังนั้นเราจึงไม่สามารถอ้อยอิ่งได้นานในพื้นที่ที่ได้รับความนิยมอย่างคุกใต้ดินแห่งนี้....ติดตามต่อตอนหน้า...
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“ปราสาทชิลยอง” เปิดรอรับนักท่องเที่ยวทุกวันยกเว้นแค่วันคริสต์มาสและปีใหม่ การเดินทางสู่ชิลยองนั้นมีหลายรสชาติบรรยากาศให้เลือกสรร แต่เส้นทางที่แนะนำคือ “เรือ” จะนั่งมาจากโลซานน์, มองเทรอซ์, เจนีวาหรือเมืองอื่นๆ ที่เลียบทะเลสาบเจนีวาล้วนมีบริการรับส่งถึงปราสาทได้อย่างง่ายดาย สามารถเช็คตารางเวลารับส่งและจุดจอดรับได้ที่http://www.cgn.ch/Horaires/index.php

ส่วนผู้ที่ไม่ชอบทางน้ำสามารถใช้ทางรถไฟลงที่สถานีมองเทรอซ์ จากนั้นนั่งรถโดยสารประจำทางมีป้ายจอดหน้าปราสาทพอดี รถออกทุก 10-20 นาที หรือจะเดินจากมองเทรอซ์สู่ปราสาทโดยใช้ถนนเล็กๆ เลียบทะเลสาบ ระยะทางแค่ 3 กิโลเมตรค่อยๆ เดินตามสไตล์ชาวสวิสที่นิยมใช้บริการ 2 เท้าก้าวเดินเป็นชีวิตจิตใจก็เป็นทางเลือกที่โรแมนติกไม่น้อย

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับชิลยองคลิกเข้าไปดูได้ที่ http://www.chillon.ch/en/index.html

กำลังโหลดความคิดเห็น