xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตที่เลือกแล้ว ของ"นางรำแก้บน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางรำแก้บนกับท่วงท่าที่อ่อนช้อยและชุดรำอันงดงาม
"แต่งเครื่องเต็มยศสวยสดสง่า ประดับประดาเครื่องทรงแพรวพราว ท่วงท่าอ่อนช้อยงดงาม ยามเยื้องย่างร่ายรำ"

เหล่านี้ล้วนเป็นคุณสมบัติของ "นางรำ" ทั้งสิ้น หากทว่าในโลกของการแสดงสวมบทนางรำ ซึ่งเป็นเหมือนฉากละครฉากหนึ่ง ที่สร้างความสุขให้กับผู้ชม กับการยืนอยู่ในโลกความเป็นจริง ย่อมมีความแตกต่างกัน

ยิ่งถ้าเป็น "นางรำแก้บน" ตามศาลหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสถานที่ต่างๆด้วยแล้ว ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจน่าค้นหามากขึ้นไปอีก เพราะพวกเธอเหล่านี้คือผู้ที่ปลดเปลื้องภาระในจิตใจของผู้คนมากมายที่มาบนบานศาลกล่าว ขอโน่นขอนี่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขาเคารพ

ยามสมหวังก็ต้องมีการแก้บนสักหน่อย หนึ่งในความนิยมของการแก้บนที่แพร่หลายนอกเหนือจากการจุดธูป เทียนถวายของกินของใช้ ที่เชื่อว่าเหล่าเทพยดาจะพึงพอใจก็เห็นจะเป็นรำแก้บนนี่เอง
เพราะผู้ขอไม่ต้องลงแรงอะไร เสียเพียงค่าใช้จ่ายตามความเหมาะสม ในการรำแต่ละครั้งใช้เวลาเพียงไม่นานจึงเป็นที่น่าสนใจว่าเมื่อสลัดคราบนางรำออกแล้วพวกเธอมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร
นางรำแก้บนเปรียบเสมือนผู้ปลดเปลื้องภาระในจิตใจของผู้คนที่บนบานสานกล่าว
เปิดม่านนางรำ

นางรำเป็นคำที่บัญญัติขึ้นมา เพื่อใช้เรียกขานเหล่าบรรดาหญิงสาว ที่มีหน้าที่ร่ายรำ ระบำ ฟ้อน ในงานหรือพิธีต่างๆ

นงเยาว์ ตรีไชยยุทธ หัวหน้าคณะนงเยาว์นาฏศิลป์ ได้บอกเล่าถึงชีวิตนางรำของเธอ ในฐานะเป็นผู้หนึ่งที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงนางรำมานานว่า สำหรับตัวเธอนั้น ก่อนที่จะผันตัวเองมาเป็นอยู่เบื้องหลัง แต่ก่อนนี้ก็เป็นนางรำอาชีพมาก่อน
พอถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกอิ่มตัวกับการเป็นนางรำ แต่ก็ยังรักด้านนี้อยู่ เลยคิดว่าเราเองก็มีทุนเลยมาเปิดคณะรำเป็นของตัวเองโดยรำประจำอยู่ที่ "ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ" ซึ่งคณะที่ได้รับเลือกให้มารำที่นี่ก็มีด้วยกัน 4 คณะ
หมุนเวียนกันไปคณะละหนึ่งสัปดาห์ คณะเธอมีด้วยกันทั้งหมด 15 คน ตัวแสดงก็เป็นผู้หญิงเกือบทั้งหมด มีเพียงวงดนตรีกับนักแสดงที่เป็นตัวตลกเท่านั้น ที่เป็นผู้ชาย
เหล่านางรำที่ศาลท่านท้าวมหาพรหม
"คณะของเราจะมีละครชาตรีในช่วงเช้า และช่วงบ่ายจะเป็นละครรำ คนดูก็ไม่ได้มากมายอะไร ส่วนมากจะเป็นคนที่เขามาไหว้ศาลหลักเมืองแล้วแวะดู ส่วนรายได้ตรงนี้บอกได้เลยว่าน้อยมาก ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับลิเกยิ่งสู้ไม่ได้เลยลิเกเขามีแม่ยก ได้ทีเป็นกอบเป็นกำ"

"ส่วนของเราได้หน้างานจากผู้มีน้ำใจก็ครั้งละ 20 บาท รอบหนึ่งฟลุ๊คจริงๆ ก็ได้ที่หลักร้อย มีบ่อยครั้งเหมือนกันที่เด็กที่ตั้งใจจะมาเรียนรำ แต่พอเขาเห็นว่าค่าตอบแทนตรงจุดนี้น้อย พอเขารำเป็นก็หนีไปอยู่กับคณะลิเกเสียหมดแต่เราก็ไม่ได้ห้ามอะไร เพราะว่าถ้าใครมีที่ไปดีกว่า เราก็ยินดีด้วย อย่างน้องๆที่มีอยู่ในคณะตอนนี้"

"หลังจากเลิกงานแสดงที่ศาลหลักเมือง หรือช่วงที่ไม่มีงานนอกเข้ามา ก็จะปล่อยให้เขาออกไปรับงานเอง อย่างที่ศาลหลักเมืองตรงนี้เป็นงานของรัฐ ไม่ค่อยมีใครอยากจะทำแล้ว เพราะว่าได้ค่าตอบแทนน้อย มีบ่อยครั้งที่ช่วงไหนไม่มีใครจ้างเราก็ต้องควักเนื้อตัวเองจ่ายให้เด็กๆไป ยิ่งถ้าใครมีลูกเล็กจะไม่ให้ก็สงสารเด็ก เพราะพ่อแม่ก็เอามาเลี้ยงกันอยู่หลังคณะนี่แหละ"
ก่อนรำก็ต้องจุดธูปไหว้ครูกันก่อน
"บางคนโชคดีหน่อยอยู่ในวงการมานาน ก็มีคนพอรู้จักบ้างก็อาศัยคนในวงการเดียวกันคอยบอกงานให้ยิ่งถ้ารู้จักกับคณะลิเกยิ่งดีใหญ่เพราะถ้าวันไหนเราว่างพอมีเวลาไปกับคณะเขาได้แล้วคณะเขาขาดคนก็จะตามเราไปช่วยเล่นเงินลิเกวันหนึ่งอาจจะเป็นเงินทั้งเดือนของนางรำเลยก็ได้"นงเยาว์ในวันนี้อยู่ในวัย 50 ปี แต่ทว่ายังคงมีเค้าความงาม สมัยเป็นสาวรุ่นปรากฏให้เห็น"

นงเยาว์ เล่าถึงชีวิตนางรำต่อไปอีกว่า อย่างลิเกคนจะแน่นเพราะมีแม่ยกตลอด ส่วนคณะนางรำจะเขินกันมาก ถ้าเขาออกรำแล้วไม่มีใครดู มันก็เหมือนคนป่วยที่ขาดกำลังใจ จะไม่ออกก็ไม่ได้เพราะว่าเรามีสัญญากันอยู่ กับทางมูลนิธิศาลหลักเมืองอย่าง 8 โมงเช้า ต้องเริ่มโหมโรงทันที ที่ได้ยินเสียงเคารพธงชาติเสร็จ

"เราต้องออกรำแม้ว่าจะมีคนดู หรือไม่มีก็จะต้องรำ แต่เราจะถือกันว่ามารำให้เทพท่านดู จะเขินอายแค่ไหนก็ต้องรำ ร้องๆ รำๆ กันอยู่ คิดเป็นรอบได้กันรอบละ 550 บาท พวกเราในคณะแทบทุกคน ก็เคยบนบานอยู่บ้างเหมือนกันที่ศาลหลักเมือง ส่วนใหญ่จะขอหวยกับท่าน คนอื่นเขาถูกได้เงินอื้อ แต่คนในคณะเราไม่มีใครเคยถูกสักครั้ง ยังเคยมานั่งพูดกันเล่นๆ ขำๆ เลยว่า สงสัยศาลท่านกลัวถ้าเราถูกหวย รวยแล้วจะไม่มีใครมารำถวายให้ท่านดู"

"คณะพี่ส่วนใหญ่นางรำที่มี จะอาศัยว่าเป็นคนที่รู้จักกันมาสมัยสาวๆ ใครที่รักการรำอยู่เราก็ไม่ทิ้ง หอบหิ้วกันมาเลยไม่ค่อยมีนางรำที่เป็นเด็กสาวสักเท่าไหร่ ต่างจากบางที่ ที่เดี๋ยวนี้โดนนางรำที่เป็นสาวรุ่น เป็นนักศึกษาแย่งอาชีพไปหมดแล้ว"

"อย่างของพี่ก็มีบ้างครั้งเหมือนกัน โชคดีที่มีหลานสาวเรียนอยู่ที่ วิทยาลัยนาฏศิลป์ ของกรมศิลปากร ถ้าวันไหนเรามีคิวรำใกล้ๆ เขาว่างก็จะชักชวนเพื่อนๆมาช่วยกันรำให้ เราก็มีค่าตอบแทนให้พอเป็นค่าขนม ครั้งละ 100-200 บาทบ้าง แรกๆเขาก็อายเพื่อนเพราะว่าโดนล้อว่าเชยร่ำเรียนอะไรที่โบราณ พี่ก็จะบอกเขาว่าให้ภูมิใจในสิ่งที่บรรพบุรุษคิดสร้างมา"

"ตัวพี่เองทุกวันนี้ก็ยึดถือแนวคิด "เศรษฐกิจพอเพียง"ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เพราะคงจะวนเวียนอยู่ในวงการนี้จนตาย ไม่หวังร่ำรวยขอแค่ไม่อดอยาก เพียงแค่ได้เผยแพร่สิ่งที่ครูบาอาจารย์พร่ำสอนมา อนุรักษ์ให้คงอยู่ได้ต่อไปก็ภูมิใจแล้ว"นงเยาว์กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม และแววตาที่แฝงความมุ่งมั่นเต็มเปี่ยม
นางรำยามสวมบทบาทในละครรำ
ขณะที่ มณเฑียร ทรัพย์สิริ ในวัย 68 ปี หนึ่งในนางรำ แห่งคณะนงเยาว์นาฏศิลป์ ก็ได้บอกเล่าถึงชีวิตของนางรำในวัยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานของเธอให้ฟัง

"ป้าเริ่มหัดรำตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก แต่มาเอาจริงเอาจังเมื่ออายุ12 ที่เข้ามารำได้เป็นเพราะว่า พ่อของป้าท่านเป็นลิเกมาก่อน และแม่ก็เป็นนางรำ ชีวิตเลยผูกพันกับการรำเรื่อยมา ความเป็นอยู่ของนางรำสมัยนี้ ถ้าเทียบกับแต่ก่อนดีกว่าเยอะ เพราะสมัยป้ายังสาว จำได้ว่ามีช่วงหนึ่ง รัฐเขาไม่สนับสนุน
แต่เดี๋ยวนี้สมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงให้บำรุงศิลปวัฒนธรรม ดั้งเดิมของไทยก็เร่งฟื้นฟูกัน จากเดิมที่เด็กๆรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักของดีของชาติ หลงใหลตามวัฒนธรรมต่างชาติ แต่ตอนนี้ดีขึ้น" ป้ามณเฑียรพูดคุยขณะที่ อยู่ในชุดทรงเครื่องนางรำ จะขาดก็เพียงยังไม่ได้สวมชฏาเท่านั้น บนใบหน้าแต้มแต่งด้วยเครื่องสำอาง หลายสีสันเพื่อเตรียมพร้อมที่จะรำในรอบต่อไป

ป้ามณเฑียรยังเล่าต่อไปว่า เวลาออกรำ เราก็จะมีการไหว้ครูกันก่อน เพื่อขอให้งานราบรื่น ซึ่งก็หมายถึงรายได้และความอยู่รอดของเราด้วย อย่างหนึ่งก็เพื่อช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย อันที่จริงการรำ ก็เป็นการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่ง อายุจนปูนนี้แล้วยังไม่มีโรคภัยมาเบียดเบียนเลย

"เรื่องคนดูถูกอาชีพเราประมาณว่า "เต้นกินรำกิน" ก็ยังมีอยู่ แต่ก็น้อยกว่าเดิม อาจจะเป็นเพราะว่ายุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป แม้จะรักการรำแต่ก็รู้ดีว่าสักวัน ร่างกายย่อมไม่เอื้ออำนวย ก็เลยมีอาชีพเสริมที่บ้าน เปิดเป็นร้านขายของชำ อาชีพนางรำเพียงอย่างเดียว มันก็ไม่พอจุนเจือความเป็นอยู่ของครอบครัว"
นางรำในชุดยืนเครื่องมีทั้งตัวพระและตัวนาง
"อย่างในคณะรำของเรา ก็มีอาชีพเสริมเหมือนกัน ซึ่งก็เป็นจุดที่เหนือกว่าที่อื่น ตรงที่ว่าเรามีหัวหน้าคณะเก่ง ปักผ้า ปักเลื่อมเป็นและสวย ก็อาศัยว่าสอนใครรับได้มาก ก็จะมีรายได้เพิ่มจากการปักเลื่อม เย็บผ้า หรืออย่างที่เวลาชุดชำรุด เราก็ไม่ต้องไปจ้างใครที่ไหนทำกันเองได้"

"ยิ่งถ้าว่างนั่งปักเรื่อยๆจนได้เป็นชุดเครื่องทรง ราคาขายก็อยู่ที่ตัวละ 6,000-7,000 บาท ขายให้คนในคณะเดียวกันบ้าง คนต่างคณะบ้าง มีที่เขาปักไม่เป็นเยอะ ใครไม่มีเงินสดก็ผ่อนกันไป ตัวเรากับอาชีพนางรำคงจะรำไปจนกว่าจะตายกันไปข้าง"

รำด้วยใจรัก

อร (นามสมมุติ) เป็นอีกคนหนึ่ง ที่ได้ใช้วิชาการร่ายรำ ในการดำรงชีพ อรเป็นนางรำมานานกว่า10ปี รำประจำอยู่ที่ศาลท่านท้าวมหาพรหม อรเล่าถึงชีวิตนางรำของตัวเธอเองและเพื่อนพ้องในฟังว่า สำหรับเธอนั้นเริ่มฝึกรำมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ในช่วงปิดเทอมพ่อจะส่งไปอยู่กับครูที่สอนรำ

"ส่วนตัวแล้วแรกๆก็ไม่ได้ชื่นชอบอะไร แต่ว่าพ่อชอบเพราะพ่อเป็นลิเกเก่า ฝึกนานเข้าเราก็ชอบไปเอง ในวงการรำจะมีแบบนี้เยอะมาก ประเภทเชื้อไม่ทิ้งแถว ก็เรียนรำควบคู่ไปกับการเรียนหนังสือด้วย ตอนที่เรียนจบออกมาใหม่ๆ ก็ทิ้งการรำๆไปเลย ไปทำงานบริษัทเอกชนอยู่ระยะหนึ่ง แต่ก็ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงให้เราหันกลับมารำอีก พอดีทางคณะที่เรารู้จัก เขามารำถวายท่านท้าวมหาพรหมเป็นประจำก็เลยมากับเขาด้วย"
ชีวิตหน้าฉากแสดงเป็นเจ้าหญิงแต่ชีวิตจริงเธอคือคนธรรมดา
"รายได้ในการรำต่อวัน ก็ไม่ได้แน่นอนอะไร เพราะส่วนใหญ่คนที่มาจ้างรำ จะเป็นชาวต่างชาติมากกว่า คนไทยที่จะจ้างมีน้อยมาก อัตราค่าจ้างก็จะได้เป็นรอบ ทางศาลจะมีมูลนิธิท่านท้าวมหาพรหม คอยเป็นคนจัดการเรื่องนางรำอยู่ ที่พระพรหมตอนนี้มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 คณะ"

"คณะหนึ่งจะมีกัน 8 คน ในหนึ่งวันจะมีมารำ 2 คณะแบ่งเป็นกะเช้า กะบ่าย รายได้ก็จะอยู่ที่100-200 ต่อหนึ่งเที่ยว รายได้เฉลี่ยต้องเดือนมันก็ไม่แน่นอน เพราะว่าเราไม่ได้ออกรำทุกวัน คิดเป็นเดือนก็ประมาณ 7,000-10,000 บาท
มีวันหยุดเยอะก็ได้น้อย เพราะต้องเปลี่ยนเวรให้คนอื่น คณะอื่นเขาขึ้นบ้าง ส่วนใหญ่นางรำที่ศาลท่านท้าวมหาพรหม เดี๋ยวนี้เป็นเด็กนักเรียนนักศึกษาก็มีมาก เพราะเรียกเงินได้เยอะเวลานักท่องเที่ยวเห็นสาวๆแล้วมันดูมีชีวิตชีวา"

"คนที่มาบนและแก้บน ที่ศาลท่านท้าวมหาพรหม ส่วนใหญ่จะเป็นชาวฮ่องกง สิงคโปร์ ที่บินมาเพื่อจะให้รำถวาย พวกนี้จะไม่เหมือนคนไทยที่ บนสำเร็จแล้วค่อยมาแก้ แต่ต่างชาติเขาบินมาโดยตรง มาถึงก็จองคิวรำถวายเลย รายได้หลักของเราจึงจะมาจากต่างชาติซะมากกว่า บางคณะจะได้เป็นเปอร์เซ็นต์ จะมีลูกค้าจองมาก จองน้อยเราก็ได้เท่าเดิม"
นางรำที่มีลูกเล็กในบางครั้งก็ต้องหอบหิ้วมาเลี้ยงในคณะ
"ถ้าจะพูดว่ารายได้ ณ จุดนี้มันเพียงพอที่จะสามารถ เลี้ยงตัวเราได้หรือเปล่านั้น ก็บอกได้เพียงแค่ว่า พออยู่ได้ โชคดีหน่อยตรงที่ว่า ตอนนี้มีสามีแต่ยังไม่มีลูก เลยไม่ต้องมีภาระที่จะต้องมาส่งเสียเลี้ยงดู กับแฟนสองคนก็ช่วยกันหากินไปตามอัตภาพ ส่วนงานอดิเรกที่ทำเสริมจากการรำ ที่ศาลท่านท้าวมหาพรหม ก็มีรับรำงานนอกบ้าง จะเป็นงานบวช งานศพเรารับหมด มีคนจ้างเราก็รับถ้าเกี่ยงงานก็ไม่มีกิน"

"เป็นนางรำแม้ในยุคปัจจุบันนี้เชื่อไหมคะว่ายังมีบ้างคนที่มาดูถูก แต่เราไม่ได้คิดอะไร ทำมาหากินสุจริตไม่ได้ขอใครกิน ข้อดีของนางรำยุคนี้คือถ้าเป็นงานนอกเจ้าภาพจะบริการดี สุภาพกับเราจนเกรงใจ ได้ประหยัดหน่อยตรงที่ เครื่องแต่งกายก็เป็นชุดของทางคณะ เรียกว่า "ชุดยืนเครื่อง" ในการรำแต่ละครั้ง ที่ศาลท่านท้าวมหาพรหมนั้น จะต่างจากการรำงานข้างนอก"

"เพราะการรำในแต่ละรอบ ใช้เวลาไม่นานเพียงครั้งละ 5 นาทีเท่านั้น แต่ถ้าเป็นงานนอกจะกินเวลากว่า30นาที ที่ต่างกันแบบนี้ เพราะว่าค่าจ้างที่จ้างเราไม่เหมือนกัน อย่างในพระพรหม4คน ก็ตกอยู่ที่ 360 บาท แต่งานนอกทั้งวงจะได้ขั้นต่ำก็ 4,000 บาท"
ศาลท่านท้าวมหาพรหมหนึ่งในสถานที่ที่นิยมมารำแก้บน
อรแจกแจงเรื่องราวของนางรำให้ฟังเธอยังบอกต่อไปอีกว่า

"คุณสมบัติของนางรำคือความตั้งใจ ถ้ามีความตั้งใจจริงก็อยู่ในวงการได้นาน ส่วนเรื่องการโดนนักท่องเที่ยวลวนลามนั้นอรบอกว่า อย่างการรำที่ศาลท่านท้าวมหาพรหม นักท่องเที่ยวจะไม่สามารถล่วงเกินนางรำได้เลย เขาจะมีขอบเขตให้เรา ฉะนั้นเรื่องที่จะกลัวว่านางรำโดนลวนลามนั้นไม่มี แต่ถ้าเป็นติดต่อนอกรอบ พูดประมาณว่าต้องการเลี้ยงดูปูเสื่อ ก็เคยได้ยินมาบ้างแต่ก็น้อยมาก"

"ถ้างานนอกก็จะมีทางเจ้าภาพ จะต้องเป็นคนคอยเซฟในเรา อย่างเช่น มานั่งคอยระวังอยู่ด้านหน้าเวที แต่ที่ศาลท่านท้าวมหาพรหม ส่วนมากจะออกแนวฝรั่งมาขอถ่ายรูป แล้วจะมีโอบเราก็ต้องค่อยๆบอกเขาว่า ไม่ได้นะประเพณีไทยไม่มีทำอย่างนี้ไม่ได้ เขาก็เข้าใจ"
ป้ามณเฑียรกำลังลงมือปักผ้าเป็นอีกหนึ่งรายได้นอกเหนือจากการรำ
"สำหรับนางรำรุ่นใหม่ ที่คิดจะเข้าสู่อาชีพนางรำอย่างเต็มตัว ก็อยากจะฝากไว้ว่า ขอให้ตั้งใจจริงไม่ใช่คิดเพียงแต่ว่ารำไป เพื่อแลกเงินค่าจ้างเท่านั้น แต่ให้รำเพราะใจรักในการรำจะดีกว่า เวลารำก็รำให้เต็มที่ อย่างตอนนี้มีนางรำที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเกิดขึ้นเยอะ เราก็ถือว่าน้องๆเขาเข้ามา เพื่อให้วงการเราสามารถอยู่รอดได้ ถือว่าเป็นงานอดิเรกของเขา"อรพูดทิ้งทายฝากถึงนางรำรุ่นใหม่ ก่อนที่จะจบการสนทนากัน

นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สุจริตและใช้ความสามารถที่ฝึกฝนมาอย่างเต็มที่ เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์ศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมของไทยให้คงอยู่ ในวิถีของโลกที่เปลี่ยนแปลงรุดหน้าเป็นสังคมแห่งเทคโนโลยี พวกเธอเหล่านี้ก็ยังเลือกที่จะยืนอยู่ในเวทีที่มีเสียงดนตรีปี่พาทย์ มากกว่านิยมแนวดนตรีสมัยใหม่ เพราะพวกเธอคือ "นางรำแก้บน"

กำลังโหลดความคิดเห็น