"ถึงสระบุรีแล้วเลี้ยวขวา เลี้ยวขวาไปก็ถึงโคราช เมืองหญิงกล้าเก่งกาจ ประวัติศาสตร์งดงามหนักหนา จะเป็นลาวก็ไม่ใช่ เป็นไทยเปิ้งกะต๊ะกะเติ้งดูกวนตา เขาเรียกพวกฉันว่า คนอีสาน คนบ้านนอกคอกนา"
แหม!! "ผู้จัดการท่องเที่ยว" กำลังฮัมเพลง "เหน่อโคราช" ของน้าหงา : สุรชัย จันทิมาธร พร้อมๆ กับการหักพวงมาลัยรถวิ่งเข้าสู่เมืองโคราช จ. นครราชสีมา ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของการออกเที่ยวของเราในทริปนี้
เหตุที่เราเลือกมาเที่ยวที่โคราช ก็เพราะด้วยความที่ที่นี่มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นป่าเขา ลำเนาไพร แหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม
มีโบราณสถานที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในโบราณสถานที่สำคัญและเก่าแก่น่าสนใจมากที่สุดก็เห็นจะหนีไม่พ้น"ปราสาทหินพิมาย"
ที่ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ที่ได้ชื่อว่าเป็นปราสาทหินที่มีความงดงามอลังการ จัดว่าเป็นปราสาทขอมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แถมยังว่ากันว่าเป็นต้นแบบในการสร้างปราสาทนครวัดที่ยิ่งใหญ่ในกัมพูชาอีกด้วย
ซึ่งเมื่อ"ผู้จัดการท่องเที่ยว"ได้มาประจักษ์เห็นแจ้งด้วยตัวเองแล้วก็ต้องขอบอกว่า ปราสาทหินพิมายมีสิ่งที่น่าสนใจให้เดินชมมากมาย เริ่มจากสิงห์ตัวโตที่ตั้งตระง่านอยู่ด้านนอกยืนที่ดูๆไปคล้ายกับยืนต้อนรับแขกอยู่ที่มุมทั้ง2 ด้านของหัวบันได
จากนั้นเดินไปตามทางสะพานนาคราช ที่สร้างขึ้นตามความเชื่อที่ว่าเป็นเสมือนการเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์และโลกสวรรค์ แล้วก็เดินตรงเข้าสู่ "ซุ้มประตู" หรือ "โคปุระ" ที่ดูแข็งแกร่งและงดงามไปด้วยทับหลังรูปนางอัปสร 8 นางร่ายรำอยู่ ดูแล้วอ่อนช้อยมีชีวิตชีวา
พอเดินพ้นจากโคปุระออกมาย่างเข้าสู่ระเบียงคดด้านหน้า เราก็ได้เห็นถึงความวิจิตรของปรางค์ปราสาทที่ถือว่าเป็นจุดเด่นของที่นี่ตั้งเรียงรายอยู่ด้วยกัน 3 องค์
โดยปรางค์ที่ใหญ่โดดเด่นสวยงามและสมบูรณ์ที่สุดตั้งอยู่ตรงกลาง คือ ปรางค์ประธาน ก่อสร้างด้วยศิลาทรายสีขาวล้วน และงดงามไปด้วยศิลปกรรมแบบขอม มีลวดลายจำหลักรูปพญาครุฑแบกบนยอดปราสาททั้ง 4 ด้าน ซึ่งสวยงามมากและปราสาทหินที่อื่นๆไม่มี
และมีปรางค์พรหมทัต สร้างด้วยศิลาแลงภายในมีประติมากรรมรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ศิลปะแบบบายนที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นรูปของท้าวพรหมทัตประดิษฐานอยู่ ส่วนอีกปรางค์สร้างด้วยหินทรายสีแดง จึงเรียกว่า ปรางค์หินแดง สร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ 17
หลักจากที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" ใช้เวลาเดินชมความงดงามของของปราสาทหินพิมายกันอย่างเต็มที่ก็ควรแก่เวลาที่จะต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่อไป
แล้วเจ้ารถคู่กายก็เคลื่อนล้อตรงไปยัง"บ้านปราสาท" ที่ตั้งอยู่ที่ อ. โนนสูง ซึ่งที่บ้านปราสาทแห่งนี้มีแหล่งโบราณคดีที่น่าสนใจ และยังมีไฮไลต์เด็ดที่ว่าหากนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบสัมผัสกับชีวิตของวิถีชาวบ้านอย่างใกล้ชิด
เพราะที่นี่มีกิจกรรมบ้านพักโฮมสเตย์ไว้คอยต้อนรับนักท่องเที่ยว แถมยังเป็นผ่านการประเมินมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยปี 2548 แล้วด้วย
และทันทีที่รถของ"ผู้จัดการท่องเที่ยว" เลี้ยวเข้าสู่หมู่บ้านปราสาท เราก็เห็นบรรดาคุณลุง คุณป้า คุณน้า คุณอา และพี่น้องๆ ชาวบ้านปราสาท มายืนคอยต้อนรับด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม พร้อมกับมาลัยพวงน้อย
หลังจากรับมาลัยน้ำใจเป็นที่เรียบร้อย การเที่ยวท่องชมหมู่บ้านปราสาทของเราก็เหมือนจะเริ่มขึ้นทันที แต่ว่าช้าก่อนเพราะว่าเราได้ติดต่อขอพักโฮมสเตย์ที่นี่ด้วย
ฉะนั้นเราจึงต้องไปดูบ้านพักกันก่อน ซึ่งบ้านพักโฮมสเตย์ของที่นี่ส่วนใหญ่ ลักษณะเป็นบ้านไม้แบบต่างจังหวัด ปลูกสร้างแยกห่างจากกันเป็นหลังๆ ดูแล้วน่าอยู่ดี
สำหรับบ้านที่เราได้พักนั้นเป็นบ้านของลุงสมและป้าวุ้นใจดี ที่พอเราไปถึงบ้านทั้งลุงสมและป้าวุ้นก็รีบจัดแจงเอาน้ำเอาท่ามาต้อนรับให้หายเหนื่อย แล้วก็ให้รีบเอากระเป๋าและข้าวของเก็บเสียให้เรียบร้อย
เพราะเดี๋ยวเราจะออกทัวร์ให้ทั่วหมู่บ้านกัน ซึ่งลุงสมอาสาเป็นไกด์พาเราเที่ยวชม โดยพาไปดูสิ่งที่น่าสนใจอย่างแรกคือ "แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท"
เป็นแหล่งโบราณคดีที่ขุดแต่งใหม่เป็นแห่งที่ 2 ต่อจากบ้านเชียง สำหรับการจัดแสดงแบ่งออกเป็นส่วนของห้องพิพิธภัณฑ์ที่ภายในจัดแสดง
เรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของบ้านปราสาท วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนการจัดแสดงโครงกระดูกและสิ่งของเครื่องใช้พวก ถ้วยโถโอชาม และเครื่องประดับต่างๆที่ขุดค้นพบ
ออกจากพิพิธภัณฑ์ก็ไปดูหลุมขุดค้นของจริงกัน โดยมีสามหลุมด้วยกันซึ่งอยู่กระจายกันไป คือ หลุมขุดค้นที่ 1 จัดแสดงการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ฝังอยู่ในชั้นดินตามแต่ละสมัยกว่า 3,000 ปี
ซึ่งฝังอยู่ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป รวมไปถึงยังมีพวกภาชนะ กำไลเปลือกหอย ลูกปัด แหวนสำริด กำไลสำริด เครื่องประดับต่างๆ ของผู้ตายฝังร่วมไปด้วยกับผู้ตายด้วย
หลุมขุดค้นที่ 2 พบร่องรอยของ กู่ธารปราสาท พบเศียรพระพุทธรูป และพบรูปปั้นดินเผาผู้หญิงครึ่งตัวเอามือกุมท้องลักษณะคล้ายตั้งครรภ์
และชิ้นส่วนลายปูนปั้นประดับปราสาท และหลุมขุดค้นที่ 3 มีโครงกระดูกในชั้นดินที่ 5.5 เมตร เป็นผู้หญิงทั้งหมด ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นโครงกระดูกของผู้หญิงที่ถูกประหารชีวิตและนำศีรษะไปแห่ประจาน
หลังจากได้ศึกษาความเป็นมาของบ้านปราสาทกันจนจุใจแล้ว ลุงสมก็พาเราเดินชมหมู่บ้าน พาไปดูวิถีชีวิตของชาวบ้านปราสาทว่าเขาอยู่ เขากินกันอย่างไร อย่างที่ถูกใจเราเป็นอย่างมากก็เห็นจะเป็นการทำหัตกรรมพื้นบ้าน
ที่ชาวบ้านนำเอาต้นกกมาแปรรูปเป็นสินค้าโอทอปอย่างหมวก กระเป๋า แฟ้มเอกสาร เสื่อ ไปดูกลุ่มแม่บ้านที่พากันปลูกม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าขายกัน
จากนั้นไปดูการทำเครื่องดนตรีไทย อย่างพิณ ซอด้วง ซออู้ แถมยังได้ฟังเพลงพื้นบ้านเพราะๆ จากเหล่านักดนตรีมืออาชีพอีกต่างหาก และยังได้อิ่มอร่อยไปกับขนมไทยพื้นบ้านที่กลุ่มสตรีทำมาให้ชิมและให้ลองทำ
งานนี้กว่าเราจะเดินเที่ยวหมู่บ้านจนทั่วก็เล่นเอาตะวันตกดินพอดี เป็นอันได้เวลากลับไปพักผ่อน เพราะป้าวุ้นได้ทำกับข้าวอร่อยๆรอท่าไว้แล้ว และอาหารมื้อเย็นนี้ก็เอร็ดอร่อยไปด้วยรสชาติของอาหารและการสนทนาอย่างออกรสออกชาติของลุงสมและป้าวุ้น
ที่พูดคุยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีความเป็นอยู่ของคนที่บ้านปราสาทให้เราฟัง ว่า พวกเขามีความสุขทั้งกายและใจกับวิถีชีวิตที่เรียบง่าย อยู่แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในหมู่บ้าน
และที่สำคัญลุงสมบอกว่าความสุขอีกอย่างที่ได้รับการ คือการที่ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวและพักที่โฮมสเตย์บ้านปราสาท
"ผู้จัดการท่องเที่ยว" เองก็มีความรู้สึกไม่แตกต่างจากลุงสมและป้าวุ้นเท่าไหร่นัก เพราะการที่ได้มีโอกาสมาเที่ยวที่บ้านปราสาท ทำให้เราได้ทั้งความรู้ ความสุข สนุกสนาน
ที่ชาวบ้านที่น่ารักต่างหยิบยื่นมิตรไมตรีด้วยความจริงใจให้กับนักท่องเที่ยวแปลกหน้าอย่างเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือความประทับใจที่ไม่อาจซื้อหาด้วยเงินตรา
แต่หากว่าต้องใช้ใจและความรู้สึกเข้าไปสัมผัส จึงจะค้นพบกับดัชนีความสุขที่เปี่ยมล้นแฝงปนอยู่ในความเรียบง่ายและความพอเพียง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
"ปราสาทหินพิมาย" ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เปิดให้เข้าชมทุกวัน 07.00-18.00 น. ค่าเข้าชมชาวไทยคนละ 10 บาท ชาวต่างชาติคนละ 40 บาท มียุวมัคคุเทศน์นำชมฟรี (เฉพาะวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ และช่วงปิดเทอม) ติดต่อสอบถามโทร. 0-4447-1568
"โฮมสเตย์บ้านปราสาท" ตั้งอยู่ที่ หมู่ 7 บ้านปราสาทใต้ ต.ธารปราสาท อ.โนนสูง จ. นครราชสีมา อยู่ห่างจากตัวเมือง 46 กม. มาตามทางหลวงหมายเลข 2 (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ถึงหลักกม.ที่ 44 จะมีทางแยกซ้ายเข้าไปอีก 2 กม. สำหรับบ้านพักโฮมสเตย์มีอยู่ 34 หลังคาเรือน
(รับนักท่องเที่ยวได้หลังคาเรือนละ 3 คน) อัตราการเข้าพักชาวไทย 300 บาท/คน/คืน ชาวต่างชาติ 400 บาท/คน/คืน (รวมอาหาร 2 มื้อ) หากต้องการให้จัดเพิ่มคิด 50 บาท/คน/1 มื้อ และมีรถอีแต๋นนำเที่ยวคันละ 500 บาท(นั่งได้10-15 คน) ติดต่อได้ที่ผู้ใหญ่เทียม ละอองกลาง โทร. 0-4436-7075, 0-9581-7870 และ จรัญ จอมกลาง โทร. 0-4436-7070, 0-1725-0791
หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สนง.ททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 1 โทร. 0-4421-3666, 0-4421-3030