xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวไปเรียนไป ใน“อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ หว้ากอ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระบรมรูปของรัชกาลที่ 4 ในอาคารพันพินิจจันทรา
วันที่ 18 สิงหาคมนี้เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” ของไทยเรา สงสัยกันไหมว่าทำไมต้องเป็นวันนี้ด้วย...

ก็เพราะว่าในวันที่ 18 สิงหาคม เมื่อปี พ.ศ.2411 มีสิ่งที่สำคัญเกิดขึ้น คือเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เสด็จมาทอดพระเนตรเหตุการณ์สุริยุปราคาที่หมู่บ้านหัววาฬ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพระองค์ได้ทรงคำนวณวันเวลาของการเกิดสุริยุปราคาด้วยพระองค์เอง และคำนวณไว้ล่วงหน้าถึงสองปีโดยไม่คลาดเคลื่อนแม้แต่วินาทีเดียว
อาคารดาราทัศนีย์เมื่อมองจากด้านนอก
จึงนับเป็นพระปรีชาสามารถในด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะทางด้านดาราศาสตร์ของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ทำให้พระองค์ได้รับยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และต่อมาคณะรัฐมนตรีจึงยกให้วันนี้เป็นวันวิทยาศาสตร์ของไทยด้วยประการฉะนี้

เพราะฉะนั้น ในวันนี้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” จึงมายืนอยู่ที่ “อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์” เพื่อจะมาศึกษาหาความรู้ในวันวิทยาศาสตร์เสียหน่อย และหากมาที่นี่แล้ว สิ่งที่ไม่ควรพลาดชมเลยก็คืออาคารดาราศาสตร์และอวกาศ เพราะถือเป็นจุดกำเนิดของอุทยานฯ แห่งนี้เลยทีเดียว

หลังจากที่แวะสักการะพระบรมราราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว เราก็มุ่งหน้าสู่อาคารดาราศาสตร์และอวกาศ ที่เห็นด้านหน้าเป็นอาคารทรงสูงเหมือนหอดูดาว อาคารนี้ใช้จัดแสดงเกี่ยวกับนิทรรศการทางด้านดาราศาสตร์ อวกาศ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกัน และมีชื่อเรียกคล้องจองกันว่า พันทิวาทิตย์ พันพินิจจันทรา และดาราทัศนีย์ เพราะไหมล่ะ?

เราเริ่มต้นการชมกันที่อาคารดาราทัศนีย์กันก่อน ลักษณะของอาคารนี้เป็นทรงสูงเท่ากับตึกเจ็ดชั้น ด้านในเป็นบันไดเวียนค่อยๆ ไต่ระดับความสูงขึ้นไปด้านบน รวมทั้งมีนิทรรศการเกี่ยวกับพัฒนาการทางดาราศาสตร์ แนวคิดของปราชญ์ในสมัยโบราณที่เกี่ยวกับดวงดาว และหากเดินขึ้นไปถึงชั้นบนสุดก็จะสามารถชมวิวรอบๆ อุทยานฯ ได้ด้วย
ชมปลาหลากหลายพันธุ์ได้ที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหว้ากอ
จากอาคารดาราทัศนีย์ มีทางเดินเชื่อมไปยังอาคารพันพินิจจันทรา เมื่อผ่านเข้าไปก็จะพบกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 4 ที่ทำจากไฟเบอร์กลาส อยู่ในท่าประทับยืน รวมทั้งยังมีอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับดาราศาสตร์ของรัชกาลที่ 4 อย่างเช่นแผนที่ดาว และกล้องส่องดูดาวของพระองค์ด้วย นอกจากนั้นภายในอาคารแห่งนี้ยังเป็นที่จัดแสดงเรื่องราวของดาราศาสตร์ในยุคสมัยต่างๆ ของไทย เริ่มจากยุคสุโขทัย อยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์

จากนั้น “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ก็มาท่องอวกาศกันในอาคารพันทิวาทิตย์ เรียนรู้เรื่องราวของดาวเคราะห์ดาวฤกษ์ที่เราคุ้ยเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ฯลฯ แล้วก็ยังมีการจำลองบรรยากาศของดาวอังคาร ฝาแฝดของโลกมาให้ดูกันด้วย

ขึ้นชื่อว่าเป็น “อุทยาน” วิทยาศาสตร์ ก็ย่อมไม่ได้มีแค่เรื่องราวเกี่ยวกับดาราศาสตร์ให้เราได้ชมกันเพียงเท่านั้น เพราะยังมีสิ่งที่น่าสนใจภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ นี้อีกแห่งหนึ่งก็คือ “พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหว้ากอ” ที่แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่โต หรือมีปลาแพงๆ มากมายเท่ากับสยามโอเชียนเวิลด์ที่กรุงเทพฯ อันโด่งดัง แต่ก็มีดีไม่แพ้กัน ที่สำคัญเข้าชมฟรีเสียด้วยสิ
เด็กให้ความสนใจการให้อาหารปลาในอุโมงค์ใต้ทะเล
สำหรับพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่นี่ก็ก่อสร้างมาไม่นานนัก ตัวอาคารก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2545 และจากนั้นก็ได้จัดสร้างนิทรรศการและจัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มให้ความรู้แก่ผู้เข้าชมมาตลอด

ภายในพิพิธภัณฑ์ก็มีการจัดแสดงนั้นแบ่งเป็น 6 ส่วนด้วยกัน เราไปชมพร้อมๆ กันในแต่ละส่วนเลยดีกว่า เริ่มจากส่วนแรก “อัศจรรย์โลกสีคราม” ที่เป็นการปูพื้นก่อนเข้าชมในพิพิธภัณฑ์ด้วยเรื่องของการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตในทะเล และมีการให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศที่หลากหลายของจังหวัดประจวบฯ ด้วย
มารู้จักดาวเคราะห์เพื่อนบ้านของเราให้มากขึ้น
ในส่วนถัดไป เป็น “จากขุนเขาสู่สายน้ำ” ให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศแหล่งต้นน้ำ ป่าต้นน้ำ และมีพันธุ์ปลาน้ำจืดให้ดูกันด้วยแม้จะอยู่ติดทะเลก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นปลากะโห้ ปลาแรด หรือปลาชะโด ฯลฯ ก้าวเข้าสู่ห้องต่อไปเลยอย่ารอช้า ในส่วนของ “สีสันแห่งท้องทะเล” นั้น จัดแสดงเรื่องเกี่ยวกับป่าชายเลน หาดทราย หาดหิน และพันธุ์ปลาทะเลต่างๆ ตรงส่วนนี้ค่อยมีสีสันขึ้นมาหน่อยเพราะมีการจำลองเอาปะการังใต้ทะเลมารวมไว้กับเจ้าปลาเหล่านี้ด้วย

มาถึงส่วนถัดไปที่เป็นไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์กันแล้ว กับส่วนของ “เปิดโลกใต้ทะเล” ที่จัดแสดงให้ดูใต้ทะเลลึกในรูปแบบของตู้ปลาขนาดใหญ่มาก หรือที่เรียกว่า Big Tank เราสามารถเดินลงบันไดวนไต่ระดับความลึกลงไปเรื่อยๆ พร้อมกับได้ดูปลามากมายภายในตู้ปลายักษ์นี้ทั้งปลากระเบน ปลากะพง ปลานกขุนทอง และอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนที่ว่าเป็นไฮไลท์นั้นก็อยู่ตรงที่อุโมงค์ใต้ทะเลยาวประมาณ 15 เมตร จำลองบรรยากาศให้เหมือนอยู่ใต้ทะเลลึก เขาบอกว่าอุโมงค์ใต้ทะเลที่แรกในประเทศไทยนั้นก็อยู่ที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหว้ากอนี่แหละ

และสิ่งที่พิเศษและเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ ที่มาชมก็คือ จะมีมนุษย์กบมาการสาธิตการให้อาหารปลาในอุโมงค์ปลาและใน Big Tank ตอนช่วงสิบเอ็ดโมงและบ่ายสองโมงของทุกวัน เพราะฉะนั้นหลังจากเดินชมพิพิธภัณฑ์จนเกือบๆ สิบเอ็ดโมง “ผู้จัดการท่องเที่ยว” จึงต้องรีบรุดลงไปยังอุโมงค์ใต้ทะเล แต่ก็ยังไปไม่ทันเด็กๆ ที่มาจากโรงเรียนต่างๆ ที่มารอดูมนุษย์กบกันเต็มแล้ว เป็นผู้ใหญ่ย่อมไม่แย่งเด็ก “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เลยยืนแอบๆ ดูอยู่ข้างๆ ก็ทันได้เห็นนักประดาน้ำกำลังให้อาหารปลา โดยมีเด็กๆ ยืนมองอ้าปากค้างอย่างตื่นตาตื่นใจ
ทั้งสนุกทั้งได้ความรู้ที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหว้ากอ
อยู่ใต้ทะเลกันมานาน คราวนี้ออกมาสู่แสงสว่างกันบ้าง ในส่วนของพิพิธภัณฑ์แสดงตัวอย่างสัตว์น้ำ อย่างพวกหอย ปะการัง กัลปังหา เม่น ปลาดาว ฯลฯ และส่วนของกิจกรรมปฏิบัติการ ที่เด็กๆ สามารถสัมผัสตัวปลาได้ เช่น ปลิงทะเล ปลาดาว แมงดาทะเล เป็นต้น

และนอกจากแหล่งเรียนรู้ทั้งสองที่กล่าวมานี้แล้ว ในอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้าฯ ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ อีก เช่น สวนผีเสื้อที่มีผีเสื้อพันธุ์พื้นเมืองนานาชนิดให้ได้ชมในบรรยากาศของสวนอันร่มรื่น แถมมีน้ำตกจำลองให้พักผ่อนหย่อนใจกันด้วย

และในวันที่ 18-22 สิงหาคมนี้ ทางอุทยานฯ ก็ยังได้จัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นด้วย ซึ่งนอกจากจะมีการถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 4 แล้ว ก็ยังมีกิจกรรมอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแข่งขันการพัฒนาหุ่นยนต์ Robot การประกวดทำ HomePage และการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ ฯลฯ ใครสนใจเชิญได้เลยที่อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ แห่งนี้
ด้านนอกพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ
แม้ทั้งสองที่นี้จะเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ก็จริง แต่ก็ไม่ได้มีบรรยากาศที่น่าเบื่อเหมือนอยู่ในห้องเรียน น่าดีใจจังที่จังหวัดประจวบมีอะไรสนุกๆ แถมมีความรู้มากมายอย่างนี้ให้เด็กๆ และผู้ใหญ่ๆ อย่าง “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ได้มาเรียนรู้กัน ไม่แน่นะ ในวันวิทยาศาสตร์ที่จะถึงนี้ ถ้าใครพาลูกพาหลานมาดูที่ “อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์” แห่งนี้ ก็อาจจะเป็นการจุดประกายให้ต่อมวิทยาศาสตร์ของเด็กๆ โตขึ้น กลายมาเป็นนักวิทยาศาสตร์มากความสามารถในอนาคตก็เป็นได้

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 4 ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 77000 เปิดให้เข้าชมทุกวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในเวลา 09.00-16.00 น. สอบถามรายละเอียดโทร.0-3266-1726, 0-3266-1098

การเดินทาง จากกรุงเทพ สามารถขับรถโดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 ( สายธนบุรี ปากท่อ ) ผ่านจังหวัดสมุทรสงคราม แล้วเลี้ยวซ้ายสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ( ถนนเพชรเกษม) ผ่านจังหวัด เพชรบุรี และอำเภอหัวหิน มุ่งสู่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมระยะทาง 281 ก.ม. จากนั้นเดินทางต่อไปยังอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศใต้ประมาณ 10 ก.ม.

คลิกดู ที่พัก และ ร้านอาหาร ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

เที่ยวทุ่งดูนก ชมคลอง เข้าถ้ำ ที่ "เขาสามร้อยยอด"
เที่ยวเขตทหาร “กองบิน 53” ย้อนตำนานสมรภูมิรบ
“ประจวบคีรีขันธ์” มนต์ขลังแห่งทะเลและขุนเขา
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง

กำลังโหลดความคิดเห็น