หากพูดถึงดินแดน“ปากน้ำ”ส่วนใหญ่จะรู้จักกับพื้นที่ปากน้ำเจ้าพระยาที่ไหลบรรจบกับอ่าวไทยในจังหวัดสมุทรปราการ ในขณะที่อีกหลายๆคนต่างก็คุ้นเคยกับวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นอย่างดี
แต่หากพูดถึง“เกาะปากน้ำ”ในจังหวัดระนองแล้ว หากไม่ใช่คนระนองหรือคนในพื้นที่ใกล้เคียงส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยรู้จักมักคุ้น ซึ่งเกาะปากน้ำหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า“เกาะคณฑี”นั้น ปัจจุบันคือหนึ่งในพื้นที่อันทรงคุณค่าของจังหวัดระนอง ที่ทางจังหวัดและชาวบ้านบนเกาะได้ร่วมกันอนุรักษ์ไว้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน
เกาะคณฑีหรือเกาะปากน้ำ ตั้งอยู่ใน ต. ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง บริเวณปากอ่าวแห่งทะเลอันดามันใกล้ๆกับเกาะสองของพม่า(ชาวบ้านมักเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า ปากน้ำ)
สำหรับความเป็นมาของชื่อเกาะคณฑีนั้น ตามบันทึก(จากเรื่องเล่า)ของเกาะระบุว่ามี 2 ที่มา ที่มาแรกคือ มาจากกระแสน้ำ 2 สายจากหน้าเกาะและหลังเกาะที่ไหลมาบรรจบกัน ก่อนไหลลงสู่คลองท่าด่าน( ท่าเรือสำหรับเดินทางเข้าสู่ตัวเมือง) ซึ่งสายน้ำมีลักษณะคล้ายคนโทใส่น้ำ นายอำเภอท่านหนึ่งจึงตั้งชื่อเกาะแห่งนี้ว่า เกาะคณฑี
ส่วนอีกที่มานั้น ว่ากันว่า ในอดีตที่เกาะแห่งนี้มีจระเข้และปลาฉลามชุกชุม มาวันหนึ่งมีโจรพาผู้หญิงมาข่มขืนและฆ่า ชาวบ้านจึงเรียกเกาะแห่งนี้ว่า เกาะคณฑี(โดยไม่ระบุเหตุผล) ส่วนศพของผู้หญิงคนนั้นได้นำไปทิ้งไว้ที่เกาะที่อยู่ใกล้ๆกันจึงได้ชื่อว่า“เกาะผี”(ปัจจุบันคือ เกาะสะระณีย์)
และนั่นก็คือ 2 ที่มาของชื่อเกาะคณฑีที่วันนี้ยังไม่สามารถหาที่มาอย่างแน่ชัดได้ ในขณะที่หลักฐานการตั้งถิ่นฐานบนเกาะระบุว่า เกาะแห่งนี้มีผู้อยู่อาศัยมานานนับร้อยปีแล้ว โดยยุคแรกเริ่มชาวประมงเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนได้ใช้เกาะคณฑีเป็นจุดแวะพัก ต่อมาก็ได้มีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนบ้านเกาะคณฑีขึ้นมา เนื่องจากเกาะแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรเป็นจำนวนมาก ส่วนในปัจจุบันเกาะคณฑีประกอบด้วย 3 เชื้อชาติหลักๆคือ ไทย จีน และพม่า
ลุงประสิทธ์ รุ่งเรืองพันธ์ อายุ 65 ปี คนเก่าคนแก่แห่งเกาะคณฑีเล่าว่า หนึ่งในหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันความเป็นชุมชนเก่าแก่ของที่นี่ก็คือ ภาพถ่ายเมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จมายังเกาะคณฑีเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว (ภาพถ่ายไม่ได้ระบุว่าพระองค์ท่านเสด็จมา พ.ศ.ไหน แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นปีที่ รัชกาลที่ 5 เสด็จเยือนระนองใน พ.ศ.2433) ซึ่งในภาพได้ปรากฏว่ามีหมู่บ้านตั้งอยู่เรียงรายบนเกาะแห่งนี้แล้ว
นอกจากรัชกาลที่ 5 จะเสด็จมาที่เกาะแห่งนี้แล้ว ความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะเคยถูกใช้เป็นที่พักทหารของญี่ปุ่น(ปัจจุบันพื้นที่นั้นคือโรงเรียนปากน้ำ) อีกทั้งยังเป็นสุสานฝังศพของทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในสงคราม
ครั้นพอมีเครื่องบินมาทิ้งระเบิด หรือมีการยิงปืนใหญ่เข้ามา ชาวบ้านบนเกาะต่างก็ต้องหนีเอาตัวรอดหลบกระสุนกันจ้าละหวั่น โดยส่วนใหญ่จะไปหลบในหลุมหลบภัยของหมู่บ้าน
“พอเสียงสัญญาณเตือนมา ลุงกับป้าและชาวบ้านแถบนี้ก็รีบวิ่งเข้าไปหลบในหลุมหลบภัยข้างหลังบ้าน ตอนนั้นเขาขุดดินเป็นโพรงถ้ำลงไป หลุมหนึ่งเข้าไปอยู่ได้ประมาณ 30-40 คน สักพักเครื่องบินก็ทิ้งระเบิดลงมา บ้านช่องพังพินาศหมด นี่ถ้าไม่ได้ไปอยู่ในหลุมหลบภัยบางทีอาจไม่รอดมาถึงทุกวันนี้”
ลุงสุ่น ขจรแสงเจริญ อายุ 83 ปี รำลึกความหลังเมื่อครั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ฟัง ที่ถึงแม้ว่าลุงสุ่นกับภรรยาจะปลอดภัย แต่สงครามครั้งนั้นก็ได้พรากหลานสาวของลุงไป 1 คน เช่นเดียวกับครอบครัวอื่นๆที่ประสบกับความสูญเสียเช่นกัน
สำหรับหลุมหลบภัยที่ลุงสุ่นกับภรรยาใช้เป็นที่กำบังกายนั้น ปัจจุบันถูกทิ้งร้าง ต้นไม้ใบหญ้าขึ้นเขียวครึ้มอยู่ในป่าละเมาะบริเวณหลังบ้านของลุงสุ่น อย่างไรก็ตามได้มีนักท่องเที่ยวบางคนเสนอให้ปรับปรุงหลุมหลบภัยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในเกาะ พร้อมด้วยการจัดแสดงนิทรรศการในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นบนเกาะแห่งนี้ ในขณะที่นักท่องเที่ยวบางคนก็ค้านว่านี่คือรอยอดีตกับเจ็บปวดของชาวเกาะ เพราะฉะนั้นควรปล่อยทิ้งไว้เฉยๆและฟังตำนานอันมีลมหายใจจากคนเฒ่าคนแก่ที่เคยผ่านเหตุการณ์ครั้งนั้นมาจะดีกว่า
นอกจากรอยอดีตจากสงครามแล้ว บนเกาะคณฑียังมีอดีตที่ยังมีลมหายใจอย่าง บ่อน้ำโบราณ(บ่อบาดาล)อายุเกือบร้อยปีที่ยังมีให้เห็นอยู่หลายบ่อ โดยเฉพาะที่หลังบ้านของลุงประสิทธ์ที่เป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ กว้างและลึกประมาณ 6 เมตร ที่น่าแปลกก็คือแม้ว่าเกาะคณฑีจะติดทะเลอันดามันแต่น้ำบาดาล(จากภูเขา)ของที่นี่กลับใสและจืดสนิท)
ศาลเจ้าเซ่งโบ๊เก้าที่ปัจจุบันคือจุดขึ้น-ลงเรือของเกาะ ซึ่งเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ สร้างไล่เลี่ยกับชุมชนบนเกาะ และมีเทวรูปโบราณที่นำมาจากเมืองจีนตั้งแต่สมัยที่สร้างศาลเจ้า นอกจากนี้ชาวบ้านที่นี่ยังเชื่อว่า รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จขึ้นเกาะคณฑีที่ศาลเจ้าแห่งนี้
ส่วนสภาพบ้านเรือนบนเกาะนั้นส่วนใหญ่ยังคงลักษณะแบบดั้งเดิม ฟากที่ติดทะเลก็จะเป็นเรือนไม้(มีปูนบ้าง)หลังเล็กบ้างใหญ่บ้างตั้งอยู่เรียงรายพร้อมด้วยพื้นที่จอดเรือ ถัดเข้ามาเป็นกลุ่มบ้านที่มีทางเดินเชื่อมถึงกัน มีทั้งอาคารไม้และปูน โดยชาวเกาะคณฑีจะใช้จักรยานหรือไม่ก็เลือกเดินเท้าไปมาหาสู่กัน สำหรับรถมอเตอร์ไซค์นั้นยังกล้ำกรายมาไม่ถึง เพราะชาวเกาะบอกว่าเสียงดังและมีมลภาวะ
ในขณะที่เรื่องของอาหารการกิน เกาะคณฑีถือว่ามีอาหารหลายอย่างที่ขึ้นชื่อ ไม่ว่าจะเป็น ทอดมัน ห่อหมก กะปิ(เคย) เหยแก๋( เคยเค็ม ) น้ำเคย ข้าวเหนียวขนุน รวมถึงอาหารโบราณอย่าง แฮจีหวัก(คล้ายกุ้งชุบแป้งทอด) ชุนเปี๊ยะ(คล้ายเปาะเปี๊ยะทอด) ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถซื้อหากับผู้ผลิตได้โดยตรง
หันมาดูทางด้านแหล่งท่องเที่ยวหลักๆบนเกาะคณฑีกันบ้าง จุดแรกคือ วัดปากน้ำ ที่มีความแปลกตาด้วยการผสมผสานศิลปกรรมในหลากหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ไทย จีน และพม่า(อาทิราวบันไดโบสถ์ด้านหน้าเป็นพญานาค ส่วนด้านหลังเป็นมังกร ในขณะที่เจดีย์มีรูปทรงแบบพม่า)
ลุงประสิทธิ์บอกว่า วัดปากน้ำคือสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีของชนชาติต่างๆบนเกาะแห่งนี้ ที่นอกจากโบสถ์สไตล์ศิลปกรรมผสมแล้ว วัดปากน้ำยังมีสังขารของ พระครูสุทธิบุญญาคม(พ่อหลวงลอย) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำประชารังสฤษดิ์ ในโลงแก้วให้พุทธศาสนิกชนกราบไหว้บูชา ซึ่งถึงแม้ว่าท่านจะมรณภาพไปแล้ว แต่ว่าด้วยบุญญาธิการและความศักดิ์สิทธ์ทำให้สังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย
ถัดจากวัดปากน้ำออกไปทางฝั่งทะเลก็จะเป็นป่าชายเลนชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วย ต้นแสม โกงกาง นกนานาชนิด ลิงแสม ปู ปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ โดยมีสะพานคอนกรีตทอดยาวให้ผู้สนใจเดินเที่ยวชมป่าชายเลน ซึ่งชาวบ้านที่นี่ต่างก็ช่วยกันดูแลรักษาป่าชายเลนชุมชนกันอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ก็ยังมีรูปเคารพกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ให้ผู้ที่ไปเยือนได้สักการะบูชา และมีจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นเกาะสองของพม่าได้อย่างชัดเจน ในขณะที่ยามเย็นที่นี่คือจุดชมอาทิตย์อัสดงที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง
สำหรับเสน่ห์สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เกาะคณฑีน่าเที่ยวชมอยู่เสมอก็คือ ความเป็นอยู่อันเรียบง่ายของชาวบ้านที่ไร้การเสริมแต่งสีสันจนเกินงาม แต่ว่าก็เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มและอัธยาศัยไมตรี โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและค้าขาย ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถไปเที่ยวตามที่ต่างๆบนเกาะได้อย่างปลอดภัยเพราะปราศจากโจรผู้ร้าย เนื่องจากชาวเกาะอยู่กันอย่างเครือญาติและต่างก็ช่วยกันดูแลรักษาชุมชน เพราะพวกเขาต่างภาคภูมิใจในชุมชนของตัวเองที่ถึงแม้จะเป็นชุนชนเล็กๆบนเกาะเล็กๆ แต่หากใครได้ไปเยือนก็จะรู้ว่าน้ำใจไมตรีของคนบนเกาะแห่งนี้ช่างยิ่งใหญ่เสียนี่กระไร
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ปัจจุบันการท่องเที่ยวบนเกาะคณฑีเป็นในลักษณะเข้าไปเดินเที่ยวชมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่เรียบง่าย แบบไปเช้า-เย็นกลับ ชุมชนแห่งนี้ปัจจุบันยังคงไร้ซึ่งการแต่งแต้มสีสันที่เกินจริงและไร้ซึ่งจริตของการท่องเที่ยวแบบชุมชนจัดตั้งที่มุ่งแต่หวังผลกำไรเป็นหลัก อีกทั้งยังไม่มีที่พักบนเกาะ โดยการเดินทางสู่เกาะคณฑี จากท่าเรือ ต.ปากน้ำ สามารถนั่งเรือไปขึ้นที่ท่าเรือศาลเจ้าเซ่งโบ๊เก้า ใช้เวลาประมาณ 5 นาที สนนราคา 10 บาท/คน ผู้สนใจรายละเอียดของเกาะคณฑีเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ เทศบาลตำบลปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง โทร. 0-7782-3017