งานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่รู้จักและโด่งดังไปทั่วประเทศและทั่วโลก ก็เพราะความวิจิตรงดงามของเทียนแต่ละต้นที่แกะสลัก
ด้วยความที่เมืองอุบลฯ นั้นอยู่ในพื้นที่ที่เป็นป่า มีผึ้งอาศัยทำรวงรังอยู่มากมายจนได้ชื่อว่า “ดงอู่ผึ้ง” ชาวบ้านจึงนำขี้ผึ้งที่มีอยู่มากมายมาประดิดประดอยเป็นลวดลายต่างๆ ประดับลงบนต้นเทียนเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในวันเข้าพรรษา โดยในสมัยก่อนนั้นประเพณีแห่เทียนพรรษาที่อุบลฯ เป็นเพียงงานบุญที่จัดขึ้นตามหมู่บ้านเท่านั้น
จนมาในสมัยที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการที่จังหวัดอุบลฯ จึงได้เริ่มให้มีการจัดงานแห่เทียนพรรษาขึ้นมาแทนงานบุญบั้งไฟที่มีเรื่องต่อยตีกันอยู่เป็นประจำ และยังให้มีการประกวดต้นเทียนเพื่อสนับสนุนให้ช่างทำเทียนที่มีฝีมือมีกำลังใจสืบทอดทำเทียนต่อไป ซึ่งในความวิจิตรของเทียนแต่ละต้นนั้น ก็แฝงไปด้วยความยากลำบากของช่างทำเทียนที่แกะประติมากรรมเทียนด้วยความศรัทธา
วิชัย ทาดี ช่างแกะสลักเทียนมือฉมังจากวัดพระธาตุหนองบัว จ.อุบลราชธานี ผู้มีประสบการณ์ในการแกะสลักเทียนมาเกือบ 30 ปี เล่าให้ฟังว่า เดิมทีนั้นเป็นเพียงลูกมือของอาจารย์ผู้สอนอยู่ถึงประมาณ 10 กว่าปี ต้องเรียนรู้ทุกขั้นตอนตั้งแต่การต้มเทียน กรองเทียน ฟอกเทียน ทำโครงเหล็ก ขึ้นแบบ ขึ้นหุ่น ไปจนกระทั่งลงมือแกะสลักต้นเทียน จนกระทั่งเมื่อเรียนรู้และฝึกฝนจนชำนาญแล้วจึงออกมาแกะเทียนเอง ซึ่งต้องยอมรับว่าการแกะเทียนนั้นยาก ต้องอาศัยความชำนาญ ความคิดสร้างสรรค์และสมาธิอย่างมาก
“สำหรับการแกะเทียนของชุมชนวัดหนองบัวในปีนี้ ได้แกะสลักเทียนเป็นเรือสุพรรณหงส์เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ในลำเรือนั้นก็จะมีเรื่องของพุทธประวัติบางส่วน โดยได้คัดเลือกทศชาติเรื่องพระมหาชนกตอนที่นางมณีเมขลามาอุ้มพระมหาชนกขึ้นจากน้ำมาแกะสลักบนต้นเทียน ซึ่งต้องใช้เวลาในการแกะนานกว่า 40 วันเลยทีเดียว” วิชัย เล่า
การแกะสลักเทียนโดยเฉพาะช่วงลำต้นเทียนนั้น จะต้องใช้ความละเอียดอ่อนและพิถีพิถันเป็นพิเศษ ความยากอีกขั้นหนึ่งก็อยู่ที่การแกะลายกนกเปลว และลายไทยต่างๆ ให้ออกมาอ่อนช้อยที่สุด และที่สำคัญที่สุดก็คือเราไม่ใช้พิมพ์แกะเลย แต่เป็นฝีมือของคนแกะล้วนๆ ทั้ง 25 คน ที่ทำเพื่อร่วมในงานแห่เทียนเข้าพรรษาในปีนี้
ด้าน แก้ว อาจหาญ ช่างติดพิมพ์มือฉกาจ จากวัดบูรพาราม จ.อุบลราชธานี อธิบายถึงการทำต้นเทียนแบบติดพิมพ์ที่แตกต่างกับการแกะสลักต้นเทียนให้ฟังว่า การติดพิมพ์นั้นจะเป็นการนำขี้ผึ้งเหลวมาเทใส่พิมพ์ซึ่งมีลวดลายต่างๆ จากนั้นนำมาแกะตามลวดลายนั้นๆ แล้วจึงนำไปติดบนโครงที่ทำเป็นรูปต่างๆ เช่น ตัวละครในชาดก เพื่อให้เกิดเป็นลวดลายที่อ่อนช้อยงดงาม
สำหรับตนเองนั้น ได้เริ่มแกะเทียนตั้งแต่ตอนอายุ 13 ปี โดยได้ไปช่วยพระทำที่วัด ในการติดพิมพ์นั้นจะว่าง่ายก็ง่ายจะว่ายากก็ยาก และจะต้องใช้แรงงานจำนวนมาก จึงเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีภายในชุมชนได้ด้วย เพราะการติดพิมพ์ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สามารถมาช่วยกันได้ แต่ความยากที่สุดของการติดพิมพ์ก็คือเรื่องของอากาศ เพราะถ้าอากาศร้อนมากเทียนก็จะละลาย หากอากาศเย็นเกินไปเทียนก็จะไม่ติด และในการทำเทียนประเภทติดพิมพ์นี้จะมีความซับซ้อนขึ้นทุกปี ใช้ต้นเดียวลายเดียวแต่ต้องติดถึง 3 ชั้นเพื่อให้ลายนูนออกมาทำให้เห็นได้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น
แก้ว กล่าวต่อว่า สำหรับปีนี้ทางชุมชนวัดบูรพาได้ส่งเทียนเข้าร่วมประกวดในประเภทเทียนติดพิมพ์ โดยจะทำเป็นเรื่องพุทธประวัติตอนที่พระนางสิริมหามายาทรงประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ และจะมีเรื่องของซุ้มเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปีด้วย
"ปัจจุบันช่างติดพิมพ์ในจังหวัดอุบลฯมีจำนวนลดลงเพราะมีการซื้อตัวกันข้ามจังหวัด แต่สำหรับผมไม่ยอมไปไหนเพราะเชื่อว่าไม่มีที่ไหนสำคัญเท่าอุบลฯ ผมภูมิใจที่มีส่วนดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ และคนต่างชาติก็เข้ามาชมเยอะด้วย และก็คิดว่าจะทำงานติดพิมพ์เทียนไปจนตราบชั่วชีวิต เพราะแม้ตอนนี้จะมีผู้สืบทอดที่ไว้ใจได้ แต่ก็ยังต้องคอยประคับประคองกันไป ยังไม่สามารถปล่อยทิ้งได้ในตอนนี้" แก้ว กล่าว
นอกจากที่ชุมชนต่างๆ จะได้อวดฝีมือการแกะสลักและการติดพิมพ์ในขบวนแห่เทียนพรรษาแล้ว ความพิเศษของประเพณีแห่เทียนพรรษาในวันเข้าพรรษาของจังหวัดอุบลฯ อีกอย่างหนึ่งในครั้งนี้ ก็คือการได้จัดให้มีงานแกะสลักประติมากรรมเทียนนานาชาติ โดยมีประติมากรจาก 9 ประเทศมาร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะบนต้นเทียน
ศราวุฒิ ดวงจำปา ตัวแทนประติมากรจากประเทศไทย กล่าวถึงผลงานของตนเองเองว่า งานชิ้นนี้มีชื่อว่า “รู้รักสามัคคี” เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครองราชย์ครบ 60 ปี โดยทำเป็นรูปแบบร่วมสมัย ซึ่งได้แนวความคิดมาจากงานการประชุมเทียน 9 ชาติ ผลงานนี้จะมีลักษณะเป็นโครงเหล็กรูปเก้าอี้ ที่นำมาชุบขี้ผึ้ง และมีผ้าคลุมเก้าอี้ซึ่งนำมาชุบขี้ผึ้งเช่นกัน ประดับด้วยธงชาติของทั้ง 9 ชาติที่มาเข้าร่วมแกะประติมากรรมเทียน พร้อมด้วยธงฉลองสิริราชสมบัติของในหลวง โดยธงแต่ละผืนจะมีความยาว 3-4 นิ้ว นอกจากนี้ก็จะมีดอกบัวตูม 9 ดอก ที่แสดงถึงความสามัคคีในแต่ละชาติและแฝงมุมมองทางศาสนาไว้ด้วย
เนื่องจากการแห่เทียนคืองานบุญ เมื่อรวมกันถึง 9 ชาติก็ถือเป็นความสามัคคีของโลก ที่นำเก้าอี้มาใช้ในงานครั้งนี้ เพราะเกิดความคิดที่ว่าเก้าอี้ก็คือสัญลักษณ์ของคน ซึ่งถือว่าคนที่มานั่งเก้าอี้ในงานครั้งนี้ไม่ได้มาเพื่อเข้าร่วมประกวด แต่เรามาเพื่อร่วมเฉลิมฉลองแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทั่วโลกได้ประจักษ์
เรียกว่าประติมากรรมเทียนแต่ละแบบที่ดูวิจิตรงดงามอ่อนช้อยด้วยลายละเอียดทุกขั้นทุกตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย กว่าจะได้มา เพราะเทียนแต่ละต้นต่างก็แฝงไปด้วยชีวิต ความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของช่าง และความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทำให้ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาสืบทอดมาจนทุกวันนี้ แต่นับวัน ช่างที่มีฝีมือก็มีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มั่นใจนักว่าจะมีผู้สืบทอดหรือไม่
วิชัย ช่างแกะสลักเทียน กล่าวว่า “ปัจจุบันช่างแกะสลักเทียนเหลือน้อย ผมเองมีลูกศิษย์ที่มาเรียนมาช่วยงานอยู่หลายคน แต่ก็ไม่รู้ว่าเขาจะนำวิชาที่ได้ไปใช้อีกนานแค่ไหน บางครั้งลูกมือลูกน้องก็ท้อแท้ สู้บ้างไม่สู้บ้าง เราก็ต้องคอยให้กำลังใจช่วยๆกันร่วมไม้ร่วมมือกัน เพราะการทำเทียนอยู่ที่ใจไม่ใช่ว่าอยากจะชนะการประกวดแต่เพียงอย่างเดียว”
“อยากจะให้คนรุ่นหลังได้ฝึกฝนเรียนรู้และตั้งใจ ต้องดูงานเทียนให้เข้าใจจะได้ช่วยสืบสานวัฒนธรรมให้ดีขึ้น อย่าให้มันหดหายไป” วิชัย กล่าวทิ้งท้าย