xs
xsm
sm
md
lg

พญานาคหอยแครง / ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี

พญานาคเปลือกหอยแครง งานพุทธศิลป์ภูมิปัญญาพื้นบ้านลาว
หอยแครง เป็นหนึ่งในเมนูคู่วงเมรัย ที่ผมมักสั่งมากินแกล้มเสมอ

หอยแครงลวก หากลวกได้ที่จะเนื้อนุ่มชุ่มหวาน ยิ่งกินกับน้ำจิ้มรสแซ่บ ยิ่งเด็ดสะระตี่

หอยแครงเผา หากเผาได้ที่เนื้อแห้งนอกนุ่มในเคี้ยวหนึบ ยิ่งกินกับน้ำจิ้มรสแซ่บ ยิ่งเด็ดสะระตี่

ส่วนเปลือกหอยแครงเมื่อกินเสร็จแล้วไม่โยนทิ้งก็ทิ้งไว้ในจานรอให้พนักงานเสิร์ฟมาเก็บไปทิ้งต่อไป

สำหรับบางคนแล้วเปลือกหอยแครงอาจดูเป็นของไร้ค่า แต่ที่เมืองแก่นท้าว เมืองปากลาย(และน่าจะมีเมืองอื่นๆด้วย)ในประเทศลาว เปลือกหอยแครงคือหนึ่งในองค์ประกอบงานพุทธศิลป์ ซึ่งภูมิปัญญาพื้นบ้านลาวได้นำเปลือกหอยแครงไปสร้างเป็นเกล็ดพญานาคตามวัดหลายๆแห่ง เกิดเป็นพญานาค(เปลือก)หอยแครงที่ดูแปลกตาแต่ว่าก็มีเสน่ห์ชวนมองไม่น้อย...

1...

ณ ด่านชายแดนบ้านนากระเซ็ง ต.อาฮี อ.ท่าลี่ จ.เลย

สะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำเหือง แม้ไม่ยิ่งใหญ่เท่าสะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่ข้ามแม่น้ำโขงจากหนองคายไปยังเมืองเวียงจันทน์ แต่ว่าในเรื่องของการเชื่อมมิตรภาพระหว่างบ้านใกล้เรือนนั้นถือว่าไม่แตกต่างกัน

วันที่ 28 ตุลาคม 2547 สะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย-ลาว ได้ทำพิธีเปิดใช้อย่างเป็นทางการขึ้นโดยรัฐบาลของสองประเทศ พร้อมๆกับการเปิดด่านการค้าชายแดนถาวร

นับแต่นั้นมาสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำเหืองถือเป็นหนึ่งในเส้นทาง(เชื่อม)เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนที่สำคัญระหว่างเมืองเลยกับเมืองปากลาย ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของแขวงไชยบุรี(ไซยะบุลี) แห่งสปป.ลาว

ฝั่งไทยส่งวัสดุก่อสร้าง และสินค้าอาหารสำเร็จรูปไปขาย ส่วนฝั่งลาวก็ส่งพืชผลทางการเกษตรมาขายที่บ้านเรา

สะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำเหืองจึงทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาวระหว่างเมืองเลยและเมืองปากลายดูคึกคักขึ้นมาถนัดตา นอกจากนี้ก็ยังทำให้ภาคการท่องเที่ยวทางระหว่างเลยกับลาวพลอยคึกคักขึ้นมาด้วย เพราะนี่คือหนึ่งในเส้นทางสู่เมืองหลวงพระบาง มรดกโลกทางวัฒนธรรมอันสุดแสนจะคลาสสิค(เลย-แก่นท้าว-ปากลาย-ไชยบุรี-หลวงพระบาง)

จากชายแดนฝั่งไทยผมเห็นป้ายบอกระยะทางไปหลวงพระบางเด่นหรา

“หลวงพระบาง 363 (กม.)”
งานนี้ผมไม่ได้ตีตั๋วไปไกลถึงหลวงพระบาง แต่ว่าเลือกเดินทางไปยังเมืองปากลาย กับททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 5 เพื่อสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวและสัมผัสกับบรรยากาศอันสงบเรียบง่ายของชนบทเมืองลาว

เมื่อรถตู้จากฝั่งลาวมารับ คณะของเราค่อยๆเคลื่อนขบวนจากฝั่งไทยสู่ฝั่งลาว

รถตู้ติดแอร์แต่ร้อนระยับขยับจากวิ่งซ้ายมาวิ่งขวา สวนกับรถสกายแล็ป พาหนะยอดฮิตที่คนลาวนิยมนั่งเข้า-ออก จากชายแดนไทย-ลาวไปเป็นระยะๆ...

2...

เส้นทางช่วงแรกเต็มไปด้วยการก่อสร้าง ทั้งสร้างทาง สร้างอาคารต่างๆ แต่พอรถวิ่งไปสักพักบรรยากาศก็เข้าสู่สภาพปกติของชนบทแห่ง สปป.ลาว ที่ทิวทัศน์ 2 ข้างทางมีทั้งป่าเสื่อมโทรม ไร่ ภูเขา และบ้านเรือน

ถนนลูกรังมีคดเคี้ยวบ้างขึ้นๆลงๆบ้าง แต่ไม่ถึงกับทุลักทุเลสมบุกสมบัน

คนนั่งรถก็หัวสั่นหัวคลอนบ้าง แต่ไม่ถึงกับหัวโขกหลังคารถ

ผมนั่งรถตู้ติดแอร์ไปปาดเหงื่อไปได้สักประมาณชั่วโมงกว่าๆก็ถึงยังเมืองแก่นท้าว สารถีรถตู้พาคณะไปยังวัดจอมแจ้ง(อายุกว่า 200 ปี) ทั้งเพื่อพักรถและเพื่อให้พวกเราลงไหว้พระและเดินยืดเส้นยืดสาย เล่นเอาชาวลาวที่อยู่แถวๆวัดจอมแจ้งออกจะงงๆเล็กน้อย...ซึ่งจะว่าไปก็น่างงอยู่หรอกเพราะจู่ก็มีรถ 5-6 คัน และคนเกือบ 30 คน ลงไปเดินดูโน่นดูนี่ในวัด หยิบกล้องกันมาถ่ายรูปกันแบบเอาเป็นเอาตายเหมือนคนไม่เคยเจอวัด เท่านั้นยังไม่พอยังถามซอกแซกอีกต่างหาก

แต่ชาวลาวที่นั่นก็ดีเหลือหลาย เข้ามาต้อนรับขับสู้อย่างดี ส่วนหนึ่งไปหาน้ำท่ามาต้อนรับ อีกส่วนหนึ่งก็กุลีกุจอไปเปิดประตูสิม(โบสถ์)ในพวกเราเข้าไปชมภายใน

สำหรับวัดนี้ถือเป็นวัดแบบชาวบ้าน ที่พระประธาน ลวดลายจิตรกรรมฝาผนัง หลังคาสิมสังกะสี หรือองค์ประกอบอื่นๆล้วนสร้างอย่างเรียบง่าย

หลังเดินเข้าโน่นออกนี่ที่สิมอยู่พักใหญ่ ผมก็มายืนหลังพิงราวบันไดหัวพญานาคหอบแฮ่กๆเพื่อพักกายพักเหนื่อย แต่เมื่อพิงไปได้สักพักผมเริ่มรู้สึกว่าที่ลำตัวช่วงพญานาคนั้นมันมีผิวสัมผัสแปลกๆ มันออกมาในแนวเป็นตุ่มๆหยักๆ ไม่เหมือนกับลำตัวพญานาคตามวัดบ้านเราที่จะค่อนข้างเรียบเพราะผิวสัมผัสเป็นกระเบื้องหรือปูน

เมื่อรู้สึกแปลกๆจึงหันหลังไปดู เห็นตามลำตัวพญานาคช่วงต้นๆตั้งแต่หัวมายังคอนั้นประดับตกแต่งด้วยเปลือกหอยแครง พร้อมทาสีสันสดใสเขียวปรื๋อ

เออ...มันแปลกดีนะ ลำตัวพญานาคทำด้วยเปลือกหอยแครง

ตัวผมแม้ไม่เคยเห็นพญานาคตัวเป็นๆและไม่เคยสัมผัสกับเกล็ดหรือลำตัวพญานาค แต่จากได้การลองลูบลำตัวพญานาคที่ทำจากเปลือกหอยแครงดูก็รู้ว่าเป็นผิวสัมผัสที่แปลกและเก๋ไม่น้อยทีเดียว แต่น่าเสียดายที่เปลือกหอยแครงเกล็ดพญานาคมีแค่ช่วงๆต้นๆเท่านั้น ส่วนช่วงกลางและท้ายก็เป็นเกล็ดปูนตามปกติ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุผลกลใด(หรืออาจเป็นเพราะว่าประเทศลาวไม่มีพื้นที่ติดทะเลเปลือกหอยแครงจึงหาได้ค่อนข้างยาก)

ผิดกับพญานาค 7 เศียรตัวเขียวปรื๋อที่แผ่พังพานให้กับพระพุทธรูปปางนาคปรกที่ตั้งอยู่ข้างๆกัน ซึ่งพญานาค 7 เศียรตัวนี้ที่แผ่พังพานและม้วนขดตัวเป็นฐานให้กับพระพุทธรูปนั้นเกล็ดเป็นเปลือกหอยแครงสีเขียวปรื๋อไปทั้งตัว

จากวัดจอมแจ้งผมไปเที่ยวต่อยังวัดศรีภูมิ(วัดสีพูมประดิดถาราม) หรือวัดกลาง ที่เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคูเมืองแก่นท้าวอายุกว่า 600 ปี ที่ท้าวแก่นเป็นผู้สร้างขึ้น ซึ่งก็ได้พบกับราวบันไดพญานาคที่ลำตัวเลื้อยออกมาจากสิมก็มีเกล็ดเป็นเปลือกหอยแครงทาสีเขียวอีกแล้ว ส่วนพญานาค 7 เศียรที่แผ่พังพานและขดตัวเป็นฐานให้พระพุทธรูปปางนาคปรกที่อยู่ตรงข้ามสิมในวัดศรีภูมิก็เป็นพญานาคเกล็ดเปลือกหอยแครงลำตัวเขียวปรื๋อเช่นเดียวกับที่วัดจอมแจ้ง

แรกเริ่มเดิมที ผมคิดว่าพญานาคเปลือกหอยแครงจะเป็นงานพุทธศิลป์ลักษณะเฉพาะตัวที่มีที่เมืองแก่นท้าวเท่านั้น แต่ว่าเมื่อเดินทางต่อไปยังเมืองปากลายก็พบลักษณะของพญานาคเกล็ดเปลือกหอยแครงเช่นเดียวกัน

นับได้ว่าชาวลาวสามารถประยุกต์เปลือกหอยแครงที่ใครๆหลายๆคนมองไม่เห็นคุณค่ามาตกแต่งเป็นลำตัวพญานาคได้อย่างน่าชม ถือเป็นหนึ่งในงานพุทธศิลป์พื้นบ้านที่แม้จะดูเรียบง่ายแต่ว่าก็มีเสน่ห์ชวนชม ซึ่งคงเป็นเฉกเช่นเดียวกับอุปนิสัยส่วนใหญ่ของชาวลาวที่เรียบง่ายแต่ก็มากไปด้วยความจริงใจและน้ำมิตรไมตรี อันถือเป็นเสน่ห์แห่งนิสัยใจคอที่น่าคบไม่น้อยทีเดียว...

3...

หอยแครง เป็นหนึ่งในเมนูคู่วงเมรัย ที่ผมมักสั่งมากินแกล้มเสมอ

หอยแครงลวก หากลวกได้ที่จะเนื้อนุ่มชุ่มหวาน ยิ่งกินกับน้ำจิ้มรสแซ่บ ยิ่งเด็ดสะระตี่

หอยแครงเผา หากเผาได้ที่เนื้อแห้งนอกนุ่มในเคี้ยวหนึบ ยิ่งกินกับน้ำจิ้มรสแซ่บ ยิ่งเด็ดสะระตี่

แต่ว่าหลังกลับมาจากการไปทัวร์เมืองแก่นท้าวและปากลายในแขวงไชยบุรี ผมเล่าเรื่องนี้ให้ไอ้สัน(ดาน)ฟังในวงเมรัย พร้อมๆกับบอกมันว่าช่วงนี้งดกินหอยแครงลวกและหอยแครงเผาแกล้มเหล้าไปสักพัก เพราะเมื่อได้เห็นคนลาวนำเปลือกหอยแครงที่เราแคะเนื้อหอยแล้วโยนทิ้ง นำไปสร้างเป็นงานพุทธศิลป์นั้นก็ละอายใจอยู่นิดๆ ซึ่งไอ้สัน(ดาน)มันก็เห็นดีเห็นงามด้วย ว่าสมควรไว้อาลัยแด่เปลือกหอยแครงที่เราทิ้งขว้างกันด้วยการงดสั่งหอยแครงลวกและหอยแครงเผามากินแกล้มเหล้าสักพัก ว่าแล้วไอ้สัน(ดาน)มันก็หันไปตะโกนบอกเด็กเสิร์ฟว่า

“ขอยำหอยแครงรสแซ่บมากินแกล้มเหล้าจานนึง”
กำลังโหลดความคิดเห็น