xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอย 2 กษัตริย์นักพัฒนา "พระจอมเกล้า-พระปิ่นเกล้า"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง


ประเทศไทยเพิ่งจะผ่านพ้นงานพระราชพิธีอันเป็นมงคล เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา


มีการสำรวจกันว่า ในช่วงเวลานั้น ดัชนีความสุขของคนไทยทั้งประเทศพุ่งสูงปรี๊ด มองไปทางไหนก็เห็นผู้คนหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ใส่เสื้อเหลือง พูดคุยกันถึงแต่เรื่อง เมื่อวันที่ในหลวงและพระราชินีเสด็จออกมหาสมาคมพร้อมแย้มพระสรวลโบกพระหัตถ์ทักทายประชาชนที่ลานพระบรมรูปทรงม้า รวมถึงความงดงามอลังการของขบวนเรือพระราชพิธี และเรื่องราวที่พระราชาธิบดีและพระประมุขซึ่งเป็นพระราชอาคันตุกะได้ทรงทำอะไรบ้าง จนมาถึงวันนี้ก็ยังมีหลายๆ คนรวมทั้งฉันด้วยที่ไม่อยากให้บรรยากาศแห่งความปราบปลื้มจางลง

ถือเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจเป็นอย่างมากที่ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถ และปกครองคนทั้งชาติได้อย่างดียิ่งอย่างเช่นในหลวงของเรา ซึ่งหากย้อนกลับไปในอดีตแล้ว เมืองไทยเราก็ล้วนแล้วแต่มีกษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถทั้งสิ้น อย่างกับทริปภัสสรสัญจร ครั้งที่ 9 ที่ฉันได้ร่วมทริปไปเรียนรู้เรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สองกษัตริย์ในอดีต ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงมีพระปรีชาสามารถมากเช่นกัน

สำหรับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นั้น ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระองค์ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นวังหน้า หรือพระมหาอุปราช แต่รัชกาลที่ 4 ทรงยกย่องให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ มีศักดิ์เสมอพระมหากษัตริย์ เรียกว่าให้ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่สอง

รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถหลายด้าน ทั้งศาสนา ศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี ประวัติศาสตร์ โดยเมื่อพระองค์ยังผนวชอยู่ก่อนขึ้นครองราชย์ ก็ทรงศึกษาภาษาอังกฤษจนเชี่ยวชาญ ทำให้ทราบถึงวิทยาการสมัยใหม่ของชาวตะวันตก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศในยุคที่เริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามามากขึ้น ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ นั้น ก็ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่สองที่สามารถช่วยงานพระเชษฐาได้ดียิ่ง เนื่องจากทรงรอบรู้ในหลายด้านเช่นเดียวกัน

ในการตามรอยของทั้งสองพระองค์นั้น ฉันขอเริ่มที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ด้วยการมาชม "วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร" ซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างขึ้นด้วยเหตุผลที่ว่า ตามโบราณราชประเพณีแล้ว ถือกันว่า เมืองหลวงจะต้องมีวัดสำคัญ 3 วัด ด้วยกัน คือวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐ์ ขณะนั้นกรุงรัตนโกสินทร์ยังขาดอยู่เพียงวัดเดียวคือวัดราชประดิษฐ์ พระองค์จึงโปรดฯ ให้สร้างขึ้น

และเนื่องจากพระองค์เป็นผู้ก่อตั้งคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย จึงทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างวัดขึ้นเพื่อถวายแด่พระสงฆ์นิกายธรรมยุติ รวมทั้งทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างวัดธรรมยุติกนิกายขึ้นใกล้กับพระบรมมหาราชวัง เพื่อพระองค์และข้าราชบริพารที่ต้องการทำบุญกับวัดธรรมยุติไม่ต้องเดินทางไปไกลนัก

วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามนี้ แม้จะถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4 แต่ก็ไม่ได้มีขนาดใหญ่โต หรือมีวิหาร มีอุโบสถที่วิจิตรมากมายนัก แต่เป็นวัดที่มีพื้นที่เพียง 2 ไร่เศษ ฉันเองเมื่อได้เข้าไปในวัดนี้ยังรู้สึกว่าคับแคบกว่าหลายๆ วัดที่เคยเห็น

การก่อสร้างวัดนั้นก็น่าสนใจ อย่างที่รู้กันว่าพื้นดินในเขตฝั่งพระนครนั้นเป็นดินอ่อน การสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ จึงต้องระวังการทรุดตัว สำหรับการสร้างพระอุโบสถที่วัดแห่งนี้ใช้วิธีวางท่อนซุงเรียงเป็นลูกระนาดเป็นฐาน จากนั้นจึงใช้ไหหรือตุ่มวางรองอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีโบราณ การวางซุงเป็นลูกระนาดจะทำให้ซุงไม่จมลึกลงมากเท่ากับการตอกเสาเข็ม และการใช้ตุ่มหรือไหวางคว่ำเป็นฐานนั้น แรงดันอากาศภายในจะทำให้สามารถรับน้ำหนักได้มาก

ในการสร้างนั้นจำเป็นต้องใช้ไหจำนวนมาก รัชกาลที่ 4 จึงมีการประกาศบอกบุญให้ประชาชนนำไหกระเทียมมาขายให้พระองค์เพื่อเป็นการร่วมทำพระราชกุศล รวมทั้งมีการจัดละครการกุศล เก็บค่าผ่านประตูเป็นไหกระเทียม ที่สำคัญพระองค์ได้บอกเหตุผลอย่างชัดเจนว่าต้องการนำไหกระเทียมมาเพื่อเป็นฐานการก่อสร้างวัด มิใช่เพื่อจะนำมาใส่เงินใส่ทองแล้วฝัง จึงให้ประชาชนมาชมการนำไหลงฝังด้วย การทำเช่นนี้ก็เป็นการป้องกันไม่ให้มีคนมาขุดค้นภายหลัง

สำหรับสิ่งก่อสร้างในวัดก็มี พระวิหาร ซึ่งอย่างที่บอกว่าวัดราชประดิษฐ์ฯ นี้มีพื้นที่น้อย จึงไม่มีพระอุโบสถ แต่มีมหาสีมาล้อมพระอารามไว้ จึงใช้พระวิหารเป็นที่ทำสังฆกรรมต่างๆ พระวิหารภายนอกประดับด้วยหินอ่อนซึ่งทำจากประเทศไทย ภายในมีพระประธานนามว่า "พระพุทธสิหังคปฏิมากร" พระพุทธรูปปางสมาธิ ขนาดไม่ใหญ่นัก โดยรัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้สร้างจำลองขึ้นจากพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปที่พระองค์ทรงโปรดในพุทธลักษณะอันงดงาม รวมทั้งมีพระราชศรัทธาเป็นพิเศษ

อีกสิ่งที่น่าสนใจในพระวิหารก็คือ จิตรกรรมฝาผนังฝีมือของขรัวอินโข่ง ที่วาดเป็นรูปพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งนับเป็นภาพวาดที่มีค่ายิ่ง เพราะทำให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงเรื่องราวในอดีต อย่างเช่นพระราชพิธีเดือนอ้าย หรือเดือนธันวาคม จะมีพิธีตรุษเลี้ยงขนมเบื้อง ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว

และที่น่าสนใจสุดๆ ฉันว่าเป็นรูปจำลองเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปดูสุริยุปราคา ตามความจริงนั้นพระองค์เสด็จไปที่หว้ากอ เมืองประจวบคีรีขันธ์ แต่ในภาพนี้ได้วาดฉากให้เป็นการทอดพระเนตรที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ภาพนี้อยู่ด้านข้างประตูพระวิหาร หากใครได้เข้าไปกราบพระประธานแล้วก็อย่าลืมแวะชมจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ด้วย

ในด้านหลังพระวิหารมีเจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่ ภายนอกประดับด้วยหินอ่อน ด้านหน้าองค์เจดีย์ประดิษฐานรูปหล่อของสมเด็จพระสังฆราชสา (สา ปุสฺสเทว มหาเถระ) ซึ่งการสร้างวิหารและมีเจดีย์อยู่ด้านหลังนี้ถือเป็นแบบแผนการสร้างวัดของรัชกาลที่ 4 เพราะถือว่าเมื่อไหว้พระประธานในพระวิหารแล้ว ก็จะได้ไหว้พระเจดีย์ไปด้วยพร้อมกัน

ออกจากวัดราชประดิษฐ์ไปต่อกันที่พระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว ซึ่งมีการสร้างและปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 มากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวัดพระแก้ว พระมณฑป พระเจดีย์ทองสององค์ พระพุทธปรางค์ปราสาท หรือปราสาทพระเทพบิดร ฯลฯ โดยการปฏิสังขรณ์นี้ก็เป็นการซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย และเสริมรายละเอียดการตกแต่งให้งดงามยิ่งขึ้น

และสำหรับบางคนที่เมื่อเดินชมบริเวณพระศรีรัตนเจดีย์ และปราสาทพระเทพบิดรแล้วก็อาจจะสงสัยว่า ทำไมถึงต้องมีปราสาทหิน หรือนครวัดจำลองมาไว้ที่นี่ด้วย ฉันก็จะขอเฉลยให้ฟังว่า เรื่องนี้ก็เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 4 อีกเช่นกัน

ในขณะนั้นเขมรยังเป็นของประเทศสยาม และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็ทรงโปรดปราสาทหินของเขมรมาก จึงมีรับสั่งให้รื้อปราสาทตาพรหมของเขมรมาไว้ที่สยาม แต่คณะที่ทรงส่งไปดำเนินการกลับไม่สามารถทำหน้าที่ได้สำเร็จ ซ้ำยังโดนชาวเขมรทำร้าย จนเมื่อเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง ได้เป็นผู้ไปเจรจา จึงเข้าใจว่าปราสาทเหล่านี้เป็นของรักของหวงของชาวเขมร จึงกราบทูลแก่รัชกาลที่ 4 พระองค์จึงโปรดให้สร้างนครวัดจำลองขึ้นแทนในพระบรมมหาราชวัง

ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปแล้ว คราวนี้มาถึงเรื่องของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวบ้าง ซึ่งหากจะพูดแบบชาวบ้านแล้วก็ต้องบอกว่าพระองค์ทรง "ทันสมัย" มากทีเดียว ทั้งด้านพระราชดำริและการปฏิบัติพระองค์ เช่นทรงมีพระราชดำริว่าพวกฝรั่งต่างชาติจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเทศไทยมากขึ้น พระองค์จึงทรงศึกษาภาษาอังกฤษ และขนบธรรมเนียมของชาวตะวันตก รวมทั้งยังมีพระสหายชาวต่างประเทศมากมาย จึงสามารถช่วยในเรื่องการต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้นก็ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารเรือเป็นพระองค์แรก และเป็นผู้วางรากฐานกิจการทหารเรือให้เข้าสู่ระบบสากล รวมทั้งทรงเป็นผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่และทหารต่างด้าว ทรงจัดวิธีฝึกทหารแบบตะวันตกขึ้น นอกจากนั้นยังทรงแตกฉานภาษาอังกฤษถึงขนาดสามารถแปลตำราต่างประเทศในเรื่องของปืนใหญ่ และเครื่องจักรกลต่างๆ มาเพื่อเป็นตำราฝึกอีกด้วย

สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงเป็นที่รักของประชาชนเท่าๆ กับสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เนื่องจากทรงมีอุปนิสัยที่ไม่ถือพระองค์ นอกจากนั้นโปรดกีฬาบนหลังม้า สามารถทรงม้าและทรงช้างได้อย่างสง่างาม ขอเรียกภาษาชาวบ้านอีกครั้งว่าทรงเป็นกษัตริย์ที่ "สมาร์ท" และเป็นที่ชื่นชมของสตรีสมัยนั้นด้วย นอกจากนั้นยังโปรดดนตรี และนาฏศิลป์ โดยพระองค์ทรงมีพระสนมเป็นชาวลาว และโปรดการแอ่วแคนเป็นอย่างยิ่ง ใครที่อยากเห็นแคนที่เคยทรงเล่นก็สามารถไปชมได้ที่พระที่นั่งบูรพาภิมุข ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

สำหรับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินั้น เมื่อก่อนก็คือวังหน้า ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ โดยพระองค์ได้สร้างพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ขึ้นเป็นที่ประทับ ลักษณะเป็นอาคารทรงยุโรป 2 ชั้น ชั้นบนเป็นที่ประทับ มีห้องทรงพระอักษรและห้องสมุด ห้องรับแขก ห้องเสวย ห้องพระบรรทม และห้องแต่งพระองค์และห้องสรง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงโปรดฯ ให้จัดห้องเสวยเดิมในพระนั่งอิศเรศราชานุสรณ์ให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ และปัจจุบันพระที่นั่งองค์นี้ก็มีการจัดแสดงเครื่องเรือนยุโรป และจีน ตลอดจนของสะสมต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 4-5 ตามลักษณะที่เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มาแต่เดิม

และนี่ก็เป็นเรื่องราวของกษัตริย์สองพี่น้อง ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถ และเป็นที่รักและเคารพของประชนชาวไทยมาจนถึงปัจจุบัน

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับทริป "ภัสสรสัญจร" ครั้งต่อไปได้ที่ โทร.0-1343-4261, 0-2711-1449 กด 1
กำลังโหลดความคิดเห็น