xs
xsm
sm
md
lg

"คชาภรณ์" อาภรณ์สำหรับช้างต้นคู่พระบารมี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เนื่องในวโรกาสปีมหามงคล ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมศิลปากร ได้จัดทำ "คชาภรณ์" ให้กับช้างต้นช้างสำคัญในรัชกาลที่ 9 ขึ้น เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติในหลวง ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งโครงการเฉลิมพระเกียรติที่น่าสนใจ

ทั้งนี้ก่อนอื่นจะพาไปรู้จักกับ "ช้างต้น" กันเสียก่อน สำหรับช้างต้นนั้นก็คือช้างที่ได้รับการขึ้นระวางให้เป็นช้างหลวงส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเมื่อก่อนนั้นช้างต้นแบ่งเป็น 3 ประเภท หนึ่งคือช้างศึกที่ใช้ออกรบ สองคือช้างสำคัญที่มีลักษณะเป็นช้างมงคลตามตำราคชลักษณ์ แต่ไม่สมบูรณ์หมดทุกส่วน และสามคือช้างเผือกที่ลักษณะถูกต้องตามตำราคชลักษณ์ทุกประการ แต่ในระยะหลัง ความต้องการใช้ช้างศึกในการสงครามก็ลดน้อยลงเพราะมีอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ เข้ามา ดังนั้น ช้างต้นในยุคนี้จึงมักหมายถึงเพียงช้างเผือกเท่านั้น

สำหรับช้างต้นในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีอยู่ทั้งหมด 6 ช้างด้วยกัน (ลักษณะนามช้างต้นเรียกเป็นช้าง 1 ช้าง) และช้างต้นที่ถือเป็น "พระยาช้างต้น" ในรัชกาลนี้ก็คือ พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวนาถบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกมลาสนวิสุทธวงศ์ สรรพมงคลลักษณคเชนทรชาติ สยามราษฎรสวัสดิ ประสิทธิ์รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการ ปรมินทรพิตรสารศักดิเลิศฟ้า


และเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 60 ปีในครั้งนี้ พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างคชาภรณ์ขึ้นใหม่ให้แก่พระเศวตรอดุลยเดชพาหนฯ พระยาช้างต้นในรัชกาลของพระองค์ เนื่องจากคชาภรณ์ชุดเก่านั้นทำไว้นานแล้วตั้งแต่พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ยังเป็นเด็กอยู่

"คำว่าคชาภรณ์ก็คืออาภรณ์ประดับช้างต้น หรือช้างสำคัญของในหลวง ถ้าเป็นเจ้านายที่เป็นคนก็จะมีอาภรณ์อย่างพระชฎา ผ้าโจง สนับเพลา มีฉลองพระองค์ พระมหาสังวาลต่างๆ ส่วนช้างต้นนั้นก็ถือว่ามียศเทียบชั้นเจ้าฟ้า จึงต้องมีอาภรณ์สำหรับช้างต้น เช่น ผ้าปกกระพอง ตาข่ายกุดั่น มีคชาภรณ์ มีผ้านากคลุมหลัง มีสำอาง มีวลัยงา คือทองที่ประดับงาเป็นช่วงๆ ก็เหมือนปะวะหล่ำกำไล คชาภรณ์นี้ก็ทำให้กับพระเศวตฯ ช้างเดียวเพราะท่านเป็นพระยาช้างต้น คือเป็นประมุขช้างของพระเจ้าแผ่นดิน" นิยม กลิ่นบุบผา นายช่างศิลปกรรม 9 ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านศิลปกรรม (ช่างสิบหมู่) ผู้ออกแบบ กล่าว

สำหรับเครื่องคชาภรณ์ของพระเศวตฯ แต่ละชิ้นนั้น นิยมอธิบายว่า จะมีผ้าปกกระพอง ทำด้วยผ้าเยียรบับใช้คลุมบริเวณศีรษะ และตาข่ายแก้วกุดั่น ซึ่งก็คือทองแกมแก้ว โดยวัสดุที่ใช้จะเป็นทองคำทำเป็นตาข่าย ประดับด้วยลูกปัดเพชรรัสเซีย คลุมบริเวณหน้าผาก นอกจากนั้นข้างๆ หูก็จะห้อยพู่จามจรี (พู่หู) ตัวพู่เป็นขนจามรีแท้ๆ มาจากประเทศธิเบต ส่วนจงกลพู่ก็จะเป็นทองประดับแก้ว และจะมีสร้อยคอที่เรียกว่า เสมาคชาภรณ์ ตัวเหรียญเสมาเป็นรูปพระมหามงกุฎอุณาโลมทำจากทองคำ และสายสร้อยก็ทำด้วยทองคำเช่นกัน

ส่วนผ้าคลุมหลัง เรียกว่าพระนาด ทำด้วยผ้าเยียรบับ มีกันชีพซึ่งเหมือนกระเป๋าที่ใช้ใส่อาวุธหรือเสบียงอาหารในสมัยโบราณ มีปักดิ้นเป็นตราสัญลักษณ์พระมหามงกุฎอุณาโลม พานหน้าพานหลังซึ่งเป็นสายรั้งสัปคับ (แท่นประทับสำหรับพระมหากษัตริย์ที่ใช้ประทับบนหลังช้างเวลาออกศึก) ทำจากผ้าสักหลาดปักดิ้น และสำอาง ที่คล้องท้ายหางไว้ไม่ให้หลุดทำจากโลหะชุบทอง และวลัยงา หรือประดับงา เป็นเครื่องประดับสวมงาทำทองคำลงยาฝังพลอย

การออกแบบเครื่องคชาภรณ์เหล่านี้ นิยมเล่าว่า "ลวดลายที่ทำนี้ก็ใช้จากเค้าโครงเดิม ไม่ผิดธรรมเนียมประเพณีเดิม แต่ทำให้สวยขึ้น ซึ่งคชาภรณ์ของเดิมของพระเศวตฯ นั้นก็มี แต่เป็นคชาภรณ์เมื่อตอนท่านยังเป็นเด็ก คือมันเล็กเหมือนกับผู้ใหญ่ใส่เสื้อเด็ก ตอนนี้ท่านก็อายุ 60 แล้ว ในหลวงก็ทรงเห็นความสำคัญ เพราะช้างเชือกนี้เป็นช้างสำคัญที่จะมาต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เป็นพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้ทำขึ้น"

นิยม ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของช้างเผือกว่า ตามหลักพระพุทธศาสนาก็ถือว่าช้างเผือกนี้ไม่เทียบเท่าสัตว์เดรัจฉานทั่วไป แต่มีบรรดาศักดิ์เทียบเท่าเจ้าฟ้า เป็นผู้ที่มีวาสนาสูงจึงได้เกิดเป็นช้างเผือก แต่อาจมีกรรมบางประเภทจึงไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ พระพุทธองค์เองในอดีตชาติก็เคยเกิดเป็นช้างเผือกมาก่อน และสิ่งของบางอย่างนั้นถือว่าเป็นของ "ประดับ" บารมีเท่านั้น แต่สำหรับช้างเผือกนี้จะนับว่าเป็นของ "คู่" พระบารมีของพระเจ้าอยู่หัวเลยทีเดียว

ในส่วนของเรื่องค่าใช้จ่ายของการจัดทำคชาภรณ์นั้น ใช้งบประมาณไปกว่า 4 ล้านบาท โดยใช้ทองคำ 96.5% หนักกว่า 5,953 กรัม หรือหนัก 391 บาท เพชรรัสเซีย จำนวน 810 เม็ด และพลอยจำนวนกว่า 1,000 เม็ด เลยทีเดียว โดยในขณะนี้กรมศิลปากรก็ได้จัดทำคชาภรณ์ขึ้นเสร็จเรียบร้อยและได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว

สำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องราวของช้างต้น หรืออยากทราบรายละเอียดของช้างต้นช้างอื่นๆ ในแผ่นดินของรัชกาลที่ 9 หรือช้างต้นในรัชกาลอื่นๆ ก็สามารถไปหาความรู้กันได้ที่ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติช้างต้น" ซึ่งจะมีข้อมูลเกี่ยวกับกำเนิดของช้างมงคล รวมทั้งโบราณวัตถุที่เกี่ยวกับช้างต้นมาจัดแสดง มีการให้ข้อมูลในเรื่องของการคล้องช้างหรือวิธีจับช้างแบบต่างๆ มีการจัดแสดงเกี่ยวกับพิธีขึ้นระวางช้างต้นในรัชกาลปัจจุบันซึ่งเป็นภาพที่ไม่สามารถหาชมได้ง่ายๆ

นอกจากนั้นแล้วก็ยังจะได้เห็นโรงช้างต้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 ซึ่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติช้างต้นแห่งนี้ และได้รับรู้ถึงความเกี่ยวพันระหว่างช้างเผือกกับพระมหากษัตริย์ไทยที่มีมาทุกยุคทุกสมัยอีกด้วย

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เป็นช้างเผือกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับการน้อมเกล้าฯถวาย เมื่อปี 2501 โดย นายแปลก ราษฎรจังหวัดกระบี่ เป็นผู้คล้องได้ เมื่อ พ.ศ.2499 จากป่าจังหวัดกระบี่ ในขณะอายุได้ 9 ปี หลังจากนั้น ได้รับการโปรดเกล้าฯ ขึ้นระวาง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2502 ปัจจุบันยืนโรงอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล เป็นช้างที่มีคชลักษณะ หรือลักษณะพิเศษที่เป็นมงคล คือ มีสีกายดังดอกกมุท หรือบัวสายแดง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติช้างต้น ตั้งอยู่บริเวณข้างรัฐสภา ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพ 10300 เปิดทำการทุกวัน ในเวลา 09.00-16.00 น. อัตราค่าเข้าชมคนละ 5 บาท มีบริการนำชมสำหรับผู้ที่มาชมเป็นหมู่คณะ สอบถามโทร.0-2282-3336

กำลังโหลดความคิดเห็น