xs
xsm
sm
md
lg

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และ พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลได้ทำการตกแต่งพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท (ส่วนต่อเติม) จากงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับรายการตกแต่งพระที่นั่งฯ ในวงเงิน 500 ล้านบาท ซึ่งสำนักพระราชวัง ได้กราบบังคมทูลพระกรุณา ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ในการที่ รัฐบาล ได้ น้อมเกล้าฯ ถวาย การสนับสนุนงบประมาณ ดังกล่าวแล้ว ซึ่งนับว่า เป็นพระที่นั่งแห่งแรกที่มีการจัดสร้างในรัชกาลปัจจุบัน และในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทส่วนต่อเติมว่า"พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร"

สำหรับพระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร เป็นพระที่นั่งองค์ใหม่ที่สร้างขึ้น เพิ่งเสร็จเรียนร้อยทันงานเฉลิมฉลองการครองราชย์สมบัติครบ 60 ปี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามว่า พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร

พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร มีความสูงเท่ากับตึก 11 ชั้น ซึ่งสูงกว่าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท 4 ชั้น ภายในปูพื้นด้วยหินอ่อน สั่งตรงจากประเทศอิตาลี มีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทาน “กูบช้างทองคำ” “กูบช้างถมทอง” “กูบช้างคร่ำทอง” และ “กูบช้างเงิน”ป็นเครื่องประดับภายใน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้พระราชทาน “บุษบกทองคำ” และ “บานไม้จำหลัก” ที่เคยประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทย้ายมาประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งองค์ใหม่ด้วย

ส่วนผู้ที่ได้รับคัดเลือกจากรัฐบาลให้เข้าไปวาดภาพตกแต่งภายในพระที่นั่งองค์ใหม่นี้ คือ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรม พ.ศ.2543 ผู้ที่มีผลงานสวยสดงดงามและมีชื่อเสียงของเมืองไทย วาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ประดับในพระที่นั่งดังกล่าว

ทั้งนี้พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร จะใช้เป็นสถานที่เลี้ยงพระกระยาหารค่ำพระราชอาคันตุกะ ในวันที่ 13 มิ.ย. นี้

ส่วน "พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท" นั้นเป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อพ.ศ. 2419 หลังเสด็จประพาสสิงค์โปร์ เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นใหม่ ในพระบรมมหาราชวัง ตามธรรมเนียมโบราณที่กษัตริย์มักนิยมสร้างปราสาทมาทุกสมัย และเพื่อเตรียมใช้เพื่อเฉลิมฉลองการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี ซึ่งพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จ้างสถาปนิกชาวอังกฤษจากสิงคโปร์ ชื่อ มิสเตอร์ ยอน คลูนิช ทำหน้าที่เป็นนายช่างออกแบบถวายตามพระราชดำริ โดยสร้างตามแบบอย่างศิลปกรรมตะวันตก มีหลังคากลมซึ่งเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนั้น

แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กราบบังคมทูลพระกรุณาว่าสมควรสร้างเป็นปราสาทจึงจะเหมาะสม เพราะเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา มีการสร้างปราสาทเรียงกัน 3 องค์ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีการสร้างอยู่แล้ว 2 องค์ คือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน กับ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท นอกจากนี้การสร้างพระมหาปราสาทนั้นถือกันมาแต่โบราณว่า เป็นการเฉลิมพระเกียรติยศของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าที่ทรงสร้างด้วย จึงมีพระราชดำริเห็นชอบและโปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทย และสถาปัตยกรรมตะวันตก คือ เป็นปราสาท 3 ชั้น 3 องค์ เรียงกัน มีมุขกระสันเชื่อมต่อกัน ลักษณะผสมแบบศิลปะไทยกับยุโรป องค์พระที่นั่งเป็นแบบสถาปัตยกรรมยุโรป แต่หลังคาเป็นยอดปราสาทแบบไทย 3 ยอด ยอดทรงมณฑปซ้อน 7 ชั้น มีมุมไม้สิบสองทั้ง 4 มุม หลัง คาเป็นหลังคาชั้นลด 2 ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสี มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์

สำหรับลักษณะอาคารที่ปรากฏในปัจจุบันมีรายละเอียดดังนี้ คือ องค์กลาง - ชั้นบน เป็นหอพระบรมอัฐิ มีมุขเด็จสำหรับเสด็จออกด้านหน้า ชั้นกลาง เป็นท้องพระโรงหน้า ผนัง ห้องพระโรงหน้า ผนังห้องแขวนพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ชั้นล่าง เป็นกองรักษาการณ์มหาดเล็กรักษาพระองค์

องค์ตะวันออก - ชั้นบน เป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุ ชั้นกลาง เป็นห้องรับรองพระราชอาอันตุกะ ผนัง ห้องแขวนพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 ร่วมกับสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมราชโอรสที่ 5 ชั้นล่าง เป็นห้องรับแขก

องค์ตะวันตก - ชั้นบน ประดิษฐานพระอัฐิพระมเหสีและพระบรมราชวงศ์ ชั้นกลาง เป็นห้องรับแขก ชั้นล่าง เป็นห้องสมุด

มุขกระสันด้านตะวันออก - ชั้นบน เป็นเฉลียงเชื่อม ชั้นกลาง เป็นห้องโถงแบ่งเป็นสองตอน ตอนในเป็นห้องรับรอง ผนัง ประดับพระบรมฉายาลักษณ์พระราชินีในรัชกาลที่ 4,5 และ 7 ชั้นล่าง เป็นห้องโถง
ท้องพระโรงกลาง - อยู่ต่อจากท้องพระโรงหน้า สำหรับเสด็จออกให้คณะทูตานุทูตเข้าเฝ้าฯ และใช้ ประกอบพระราชพิธีการกุศล หรือพระราชกรณียกิจอื่นๆ ในรัชกาลที่ 5 ใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนางด้วย ภายใน ประดิษฐานพระแท่นพุดตานถน ซึ่งเป็นพระราชบัลลังก์ประจำพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มีภาพเขียนประวัติ ความเจริญทางพระไมตรีของไทยกับอังกฤษและฝรั่งเศส

ท้องพระโรงหลัง - อยู่หลังถัดจากท้องพระโรงกลาง ในรัชกาลที่ 5 เป็นที่สำหรับฝ่ายในเข้า เฝ้าในพระราชพิธีที่จัดในท้องพระโรงกลาง

ในปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ท้องพระโรงกลางในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นสถานที่เสด็จออกให้คณะทุตานุทูตต่างประเทศเฝ้าฯ ถวายพระราชสาส์นและอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นที่ถวายหรือพระราชทานเลี้ยงรับรองพระราชอาคันตุกะ และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ

สำหรับในวันที่ 10 มิ.ย. 49 นี้ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท จะใช้เป็นสถานที่จัด "พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี"
กำลังโหลดความคิดเห็น