หลายๆครั้งที่"ผู้จัดการท่องเที่ยว"มีโอกาสขึ้นไปแอ่วเชียงใหม่ จังหวัดที่มีรากฐานทางประวัติศาสตร์อันยาวนานอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย เวลาที่ผ่านไปยังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ที่หน้าศาลากลาง(หลังเก่า)คราใด ส่วนใหญ่เรามักจะแค่ยกมือไหว้ หรือหากมีเวลาหน่อยก็ละลงไปจุดธูปสักการะบูชาในลักษณะชะโงกทัวร์ ก่อนที่จะเดินทางไปเที่ยวยังจุดอื่นๆต่อไปโดยไม่ได้สนใจอันใดกับตัวศาลากลางหลังเก่า
แต่ว่าหลังจากที่ศาลากลางหลังเก่าหลังนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนให้เป็น"หอศิลปวัฒนธรรม" เราก็เริ่มให้ความสนใจกับศาลากลางหลังเก่ามากขึ้น ครั้นเมื่อโอกาสอำนวย"ผู้จัดการท่องเที่ยว" จึงไม่รอรีตีตั๋วเข้าไปชมสิ่งที่น่าสนใจในหอศิลป์ฯแห่งนี้ทันที โดยสิ่งแรกที่กระทำหลังจากเข้าหอ ศิลป์ฯไปแล้วก็คือการเดินสำรวจอาคารเก่าหลังนี้ ซึ่งเมื่อมองภายนอกมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมอันงดงาม ที่แม้จะมีการปรับปรุงให้ทันสมัยแต่ก็ยังคงไว้ด้วยกลิ่นอายแห่งความเป็นล้านนาอันน่ามอง
อาคารหอศิลป์แห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณสะดือเมือง สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2467 เพื่อใช้เป็นหอคำ ต่อมาได้มีทำการปรับเปลี่ยนให้เป็นศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลพายัพ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ และท้ายที่สุดก็ปรับเปลี่ยนให้เป็นหอศิลปวัฒนธรรมดังปัจจุบัน ซึ่งภายในได้มีการจัดแบ่งพื้นที่อาคารด้านหน้า เป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการถาวร อาคารด้านหลังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม มีลักษณะเป็นนิทรรศการหมุนเวียน โดยมีลานกิจกรรมเป็นศูนย์กลาง มีห้องจำหน่ายของที่ระลึก ห้องนิทรรศการศิลปกรรมล้านนา ห้องสารสนเทศ และห้องภัณฑารักษ์
ส่วนนิทรรศการถาวรมีอยู่ 15 ห้อง จัดแบ่งตามเนื้อหาสาระ นับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคสร้างบ้านแปงเมือง ยุคอันรุ่งเรืองและเสื่อมถอย และเปลี่ยนแปลงจวบจนมาเป็นเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน ระบบการปกครอง วิถีชีวิต ภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันน่าภูมิใจของชาวเชียงใหม่ นำเสนอด้วยแบบจำลองผสานสื่ออันทันสมัย ทั้งสไลด์ วิดีทัศน์ วอฟแวร์ หุ่นจำลอง บอร์ดกราฟฟิค และภาพประกอบคำบรรยาย เพื่อให้การชมนิทรรศการได้ทั้งความรู้และความตื่นตาตื่นใจ
ส่วนของห้องจัดนิทรรศการ แบ่งเป็น 2 ชั้น เมื่อเดินเข้ามาในตัวอาคารห้องแรกที่จะพบคือ"ห้องเชียงใหม่วันนี้"ภายในเป็นห้องฉายวีดีทัศน์เรื่อง "เชียงใหม่วันนี้" ซึ่งเป็นการเกริ่นนำภาพรวมของเชียงใหม่จากอดีตถึงปัจจุบัน มีที่นั่งให้ชมท่ามกลางห้องแอร์อันเย็นฉ่ำ ห้องที่ 2 ชื่อ "ห้องก่อนจะเป็นเมืองเชียงใหม่" จัดแสดงร่อยรอยอารยธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนล้านนา รวมถึงการตั้งถิ่นฐานของผู้คน และเครื่องมือเครื่องใช้ มีการจำลองหน้าผาที่ประตูผา จังหวัดลำปาง ซึ่งปรากฏร่อยรอยเขียนรูปมือสีแดง และหุ่นจำลองเรื่องราวของนายเชสเตอร์ กอร์แมน นักโบราณคดีที่บุกเบิกแหล่งโบราณคดี ถ้ำผี จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ห้องที่ 3 ชื่อ "ห้องอารยธรรมสองลุ่มปิง" ลำดับเหตุการณ์การรวบรวมดินแดนในแถบ2ลุ่มน้ำโดยพญามังราย ห้องที่ 4 ชื่อ"ห้องสร้างบ้านแปงเมือง"ภายในห้องจะแบ่งย่อยเป็น 4 ส่วนมีทั้งการแสดงคติความเชื่อเรื่องความความมีตัวตนของเมือง ที่มองเมืองเปรียบเหมือนร่างกายเป็นความเชื่อทางศาสนา เรื่องไตรภูมิ ที่มีอิทธิต่อการวางผังเมือง ชัยภูมิเมืองเชียงใหม่ สื่อถึงแนวคิดและความเชื่อในเรื่องไชยมังคละ 7 ประการ ของทำเลที่สร้างเมืองเชียงใหม่ ผังเมืองรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งต่างจากเมืองโบราณแห่งอื่น ๆ ในภูมิภาคใกล้เคียง การจัดวางผังเมืองสอดคล้องกับความเชื่อเรื่องทักษาเมือง การสร้างวัดชื่อเป็นมงคลตามตำแหน่งทิศ หุ่นจำลองพิธีราชาภิเษกของพระยามังราย รูปพิธีสืบชะตาเมืองพร้อมคำบรรยาย สื่อวิดีทัศน์ และสื่อซอฟท์แวร์เป็นต้น
ห้องที่ 5 ชื่อ"ห้องความสัมพันธ์กับภูมิภาค"แสดงถึงวัฒนธรรมร่วมอิทธิพลและความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่กับภูมิภาคใกล้เคียง เช่นศาสนาพุทธเถรวาท สังคมเกษตร วัฒนธรรมข้าวเหนียว เครื่องแต่งกายและการดำรงชีวิต ภาษา วรรณกรรม และความสัมพันธ์ทางการค้า
ห้องที่ 6 ชื่อ"ห้องร้อยปีล่วงแล้ว"ภายในจัดแสดงสภาพป่าไม้ หุ่นจำลองการทำป่าไม้ อุโมงค์ขุนตาลพร้อมหัวรถจักรรถไฟ ซึ่งเป็นสื่อสำคัญที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่เมืองเชียงใหม่ พร้อมด้วยห้องฉายวิดีทัศน์เรื่อง"การเปลี่ยนแปลงของเชียงใหม่ในช่วง 100 ปี นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง" เสนอถึงรูปแบบการเมืองการปกครองตลอดจนสภาพสังคมนับจากการรวมกับสยาม ห้องที่ 7 ชื่อ "ห้องสิ่งดีงามของเชียงใหม่" แสดงเอกลักษณ์อันน่าภูมิใจ ที่ชาวเชียงใหม่ได้รักษาไว้และสืบทอดมาจนปัจจุบัน
เมื่อเดินขึ้นมาบนชั้น2 ห้องที่ 8 ชื่อ"ห้องประวัติอาคาร"แสดงความเป็นมาและความสำคัญของพื้นที่ในบริเวณที่ตั้งอาคารและเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น ห้องที่ 9 ชื่อ"ห้องเจ้าหลวงเชียงใหม่" กล่าวถึงวัฒนธรรมการปกครองของระบบเจ้าเมืองเชียงใหม่นับแต่พญามังราย จนถึงเจ้าครองนครองค์สุดท้าย ห้องที่ 10 ชื่อ"ห้องชีวิตริมฝั่งแม่น้ำปิง"จัดแสดงการตั้งถิ่นฐานของพ่อค้าเชื้อสายต่างๆ ริมน้ำปิง นอกกำแพงเมือง แผนที่แสดงตำแหน่งชุมชน สภาพความเป็นอยู่ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของชุมชน และภาพตัดของสภาพภูมิประเทศ
ห้องที่ 11 ชื่อ"ห้องคนในเวียง" แสดงกาดหรือตลาดจำลองที่หน้าวัดพระสิงห์อันเป็นตลาดเก่าแก่และมีความความสำคัญในอดีต ห้องที่ 12ชื่อ"ห้องพุทธศาสนากับคนเมือง" จำลองวิหารในพุทธศาสนาอันเป็นวิถีชีวิตของชาวเชียงใหม่ พร้อมการฉายวิดีทัศน์ ห้องที่ 13 ชื่อ"ห้องพระปกเกล้า"บริเวณห้องกลางซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นห้องทำงานของเทศาภิบาล (เจ้าเมือง) จำลองบรรยากาศของห้องและใช้เป็นห้องรับรองแขกพิเศษในบางโอกาส
ห้องที่ 14 ชื่อ"ห้องสังคมเกษตรกรรม"แสดงวิถีชีวิตของชุมชนในสังคมเกษตรกรรมรอบเมือง และห้องสุดท้าย ห้องที่15 ชื่อ "ห้องคนบนดอย" แสดงสภาพภูมิประเทศวิถีชีวิตของชุมชนบนที่สูง ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางชาติพันธ์และการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ของชนเชื้อสายหลากหลายในสังคมเชียงใหม่
หลังจากที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว"ใช้เวลาชมหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่อยู่ร่วมครึ่งค่อนวัน สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกได้เมื่อเราออกไปจากหอศิลป์ฯแห่งนี้ ก็คือเรื่องราวความเป็นมาอันน่าสนใจของเมืองเชียงใหม่ศูนย์กลางแห่งอาณาจักรล้านนา ที่ ณ วันนี้หลายสิ่งหลายอย่างในเมืองเชียงใหม่ เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากมาย หอศิลป์ฯแห่งนี้จึงเป็นเสมือนบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง
**********************************************
**********************************************
อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ประกอบด้วย พ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย(เมื่อเข้าไปทางด้านหน้าจะอยู่ทางซ้าย) พระยาเม็งรายมหาราชผู้สร้างเมืองเชียงใหม่(กลาง) และพระยางำเมืองแห่งพะเยา(ขวา)
หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ตั้งอยู่ ณ ถ.พระปกเกล้า ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เปิดทำการเวลา 08.30-17.00น.ทุกวันอังคาร- วันอาทิตย์ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ปิดทำการวันจันทร์)ค่าธรรมเนียมในการเข้าชม สำหรับคนไทย ผู้ใหญ่ คนละ 20 บาท เด็ก คนละ 10 บาท สำหรับต่างชาติ ผู้ใหญ่ คนละ 90 บาท เด็ก คนละ 40 บาท โทร.0-5321-7793,0-5321-9833