xs
xsm
sm
md
lg

"ขบวนเรือพระราชพิธี" มรดกทางวัฒนธรรมหนึ่งเดียวในโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายๆคนคงทราบดีว่า ในงานฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การแสดงขบวนเรือพระราชพิธี ในเย็นวันที่ 12 มิถุนายน 2549 ตั้งแต่บริเวณท่าวาสุกรีจนไปสิ้นสุดบริเวณวัดอรุณราชวราราม ถือเป็นหนึ่งในการแสดงไฮไลท์ที่จะปรากฏต่อสายตาชาวไทยและชาวโลก ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าที่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในโลกที่เมืองไทย

สำหรับขบวนเรือพระราชพิธีครั้งนี้ เป็นการแสดงการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ หรือ “พยุหยาตราชลมารค” (การเสด็จพระราชดำเนินทางบก เรียกว่า “พยุหยาตราสถลมารค”) ที่เป็นประเพณีสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สืบต่อกันมานับแต่โบราณ ซึ่งจากบันทึกของหม่อมราชวงศ์ แสงสูรย์ ลดาวัลย์ ได้อธิบายถึงมูลเหตุของเรือที่ใช้ในกระบวนพยุหยาตราฯ ไว้ว่ามาจากเรือรบที่ใช้ในศึกสงคราม รวมถึงเรือส่งกำลังพล เรือส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ เรือส่งเสบียงดังที่บันทึกเอาไว้ว่า

...เรือพระราชพิธีที่ใช้ในกระบวนเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคนี้ แท้จริงก็คือ เรือรบที่โบราณท่านใช้รบในลำแม่น้ำ...

และเมื่อสงครามทางน้ำห่างหายไป เรือเหล่านี้จึงถูกนำมาใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำในพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งพระมหากษัตริย์เลือกที่จะใช้เรือรบหลวงต่างๆเหล่านี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพภายใต้พระบารมี จึงเกิดเป็นกระบวนพยุหยาตราชลมารคขึ้นมา

โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค หมายถึง ริ้วกระบวนที่จัดขึ้นในการที่พระเจ้าอยู่หัวสมัยโบราณเสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์และที่เป็นการพระราชพิธี ดังเช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า กระบวนพยุหยาตราชลมารค น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยว่ากันว่า เริ่มจากการที่ พระร่วงได้นำเรือออกไปลอยกระทงหรือกระทำพิธี “จองเปรียง” ณ กลางสระน้ำ พร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามเพ็ญเดือนสิบสอง

ต่อมาอีกราว 100 ปี ในยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตามพงศาวดารได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรเมื่อคราวเสด็จไปตีเมืองเมาะตะมะ เสด็จพระราชดำเนินจากกรุงศรีอยุธยาโดยชลมารค พอได้เวลาฤกษ์ พระโหราราชครูอธิบดีศรีทิชาจารย์ ก็ลั่นกลองฆ้องชัยให้พายเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ อันเป็นเรือทรงพระพุทธปฏิมากรทองนพคุณ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุถวายพระนามสมญา “พระพิชัย” นำกระบวนออกไปก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล

ครั้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อพระองค์เสด็จแปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่างๆ มีการจัดกระบวนพยุหยาตราฯที่เรียกว่า “ขบวนเพชรพวง” เป็นริ้วกระบวนยิ่งใหญ่ 4 สาย พร้อมริ้วเรือพระที่นั่ง ตรงกลางอีก 1 สาย มีเรือทั้งสิ้นไม่ตำกว่า 100 ลำ ซึ่งนับเป็นกระบวนพยุหยาตราฯที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์และนับเป็นต้นแบบสำคัญของกระบวนพยุหยาตราฯในสมัยต่อๆ มา

ทั้งนี้สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ปรากฏกระบวนพยุหยาตราฯ ครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โดยเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานผ้าพระกฐิน ณ วัดบางหว้าใหญ่ และวัดหงส์ เมื่อวันพุธ เดือน 11 แรม 4 ค่ำ เบญจศก พ.ศ. 2325

ส่วนในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน มีกระบวนพยุหยาตราฯเกิดขึ้นมาแล้ว 14 ครั้ง โดยครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2500 ซึ่งทางราชการได้จัดขึ้นเนื่องในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ส่วนกระบวนพยุหยาตราฯ ครั้งล่าสุด(ครั้งที่ 14) มีขึ้นในการจัดประชุมการค้าเสรีประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปค 2003 เมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ.2546

สำหรับการแสดงขบวนเรือพระราชพิธี ในค่ำวันที่ 12 มิ.ย.นี้ ทาง พล.ร.ต.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ ประธานฝ่ายควบคุมและอำนวยการขบวนเรือ เปิดเผยว่า ทางสำนักพระราชวังให้เรียกว่า การแสดงขบวนเรือพระราชพิธี ไม่ใช่กระบวนพยุหยาตราชลมารค เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จประทับในเรือพระที่นั่ง แต่พระองค์ท่านจะเสด็จทอดพระเนตรร่วมกับพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศที่อาคารราชนาวิกสภา

อนึ่งการแสดงขบวนเรือพระราชพิธีครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงอย่างยิ่งใหญ่อลังการอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเมืองไทย โดยจะใช้เรือ 52 ลำ ฝีพาย 2,200 นาย ประกอบด้วย เรือพระราชพิธี 4 ลำ ได้แก่ เรือสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ที่กองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากร และสำนักพระราชวัง ดำเนินการจัดสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาส พระพิธีกาญจนาภิเษก และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

ส่วนเรือประเภทต่างๆได้แก่ เรือเอกชัยเหินหาว เรือเอกชัยหลาวทอง เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือเสือทยานชล เรือเสือคำรณสินธุ์ เรืออีเหลือง เรือแตงโม เรือทอง-ขวานฟ้า เรือทองบ้าบิ่น เรือดั้ง 22 ลำ เรือแซง 7 ลำ เรือตำรวจ 3 ลำ

สำหรับผู้ที่เฝ้ารอชมการแสดงขบวนเรือพระราชพิธี ทางกองทัพเรือจะมีการซ้อมย่อยอีกครั้งในวันที่ 30 พ.ค.49 (16.00 น.) และการซ้อมใหญ่ ด้วยชุดการแต่งกายเหมือนจริง เวลาจริง ในวันที่ 2,6 มิ.ย.49 (17.00 น.) รวมถึงการซ้อมปรับสภาพ ในวันที่ 9 มิ.ย.49 (17.00 น.)ก่อนจะแสดงจริงในค่ำวันที่ 12 มิ.ย. (17.00 น.) ที่หลังจากการแสดงจะมีการลอยกระทงสายและการจุดพลุเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งผู้สนใจสามารถรับชมได้บริเวณสถานที่สาธารณะหรือร้านอาหารที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ ท่าวาสุกรี – วัดอรุณราชวราราม
 
***********************************************
 
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนขึ้นในช่วงการแสดงขบวนเรือพระราชพิธี ปี พ.ศ. 2549 ซึ่งทางสำนักพระราชวังให้เรียกว่า การแสดงขบวนเรือพระราชพิธี ไม่ใช่กระบวนพยุหยาตราชลมารค เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จประทับในเรือพระที่นั่ง แต่พระองค์ทรงเสด็จทอดพระเนตรร่วมกับพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศที่อาคารราชนาวิกสภา
กำลังโหลดความคิดเห็น