แม่น้ำนครนายก เป็นแม่น้ำที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอเมืองนครนายก อำเภอบ้านนา อำเภอปากพลี และอำเภอองครักษ์ ของจังหวัดนครนายก และพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัดใกล้เคียง แต่เมื่อถึงฤดูฝน บริเวณนี้กลับเกิดปัญหาน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน เนื่องจากภูมิประเทศบริเวณลุ่มน้ำเป็นหุบเขาแคบๆ และมีพื้นที่สูงชัน ทำให้เกิดน้ำไหลบ่าอย่างรุนแรง และเมื่อถึงฤดูแล้งก็กลับมีปัญหาการขาดแคลนน้ำเกิดขึ้นซ้ำอีก ทำให้ประชาชนในแถบนั้นต้องประสบปัญหาในการประกอบอาชีพไม่น้อย
"เขื่อนคลองท่าด่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" เป็นอีกหนึ่งโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเล็งเห็นว่าการสร้างเขื่อนคลองท่าด่านเพื่อกักเก็บน้ำจะสามารถบรรเทาความทุกข์ที่เกิดกับประชาชนชาวนครนายกและจังหวัดใกล้เคียงจากปัญหาน้ำท่วมในหน้าน้ำ น้ำแห้งในหน้าแล้ง รวมไปถึงช่วยแก้ปัญหาดินเปรี้ยวจนไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้
หลังจากที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร และรับทราบปัญหาในพื้นที่จังหวัดนครนายกแล้ว ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการเพื่อก่อสร้างเขื่อนคลองท่าด่าน บริเวณบ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนในแถบนั้น
ด้วยเหตุนี้ "เขื่อนคลองท่าด่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" จึงเริ่มการก่อสร้างขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เขื่อนคลองท่าด่าน เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2545 จนมาแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2548 และเริ่มกักเก็บน้ำที่ไหลจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ผ่านน้ำตกเหวนรกลงสู่อ่างเก็บน้ำเรื่อยมา
นอกจากเป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริแล้ว เขื่อนคลองท่าด่านฯ แห่งนี้ยังถือเป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดที่มีความยาวมากที่สุดในโลก หรือมีความยาวถึง 2,720 เมตรทีเดียว และมีความสูง 93 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้มากถึง 224 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับการสร้างเขื่อนคลองท่าด่านฯ นั้น เป็นการสร้างโดยวิธีคอนกรีตบดอัดแน่น (Roller Compacted Concrete: RCC) ซึ่งจะมีรูปแบบของเขื่อนด้านเปลือกนอกเป็นลักษณะการสร้างเขื่อนแบบปกติ มีความหนาข้างละประมาณ 70 ซม. ส่วนด้านในเป็นขี้เถ้าลอยซึ่งได้จากถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง ถือเป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งนำมาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
ปัจจุบันนี้เขื่อนคลองท่าด่านฯ เสร็จสมบูรณ์ลง และก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาของประชาชนในแถบลุ่มน้ำนครนายกอย่างที่กล่าวมาแล้ว และอีกด้านหนึ่งก็เป็นประโยชน์ทางอ้อมที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในบริเวณเขื่อน และแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้เคียงกับเขื่อน เช่น ท่าด่านโฮมสเตย์ การล่องแก่งแม่น้ำนครนายก และน้ำตกที่มีชื่อเสียงหลายแห่งในจังหวัดนครนายก
และเนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ทางจังหวัดนครนายก ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขื่อนคลองท่าด่านฯ อันเป็นความภาคภูมิใจของชาวจังหวัด จึงได้จัดการแข่งขันวิ่ง "เขื่อนคลองท่าด่านมาราธอน นครนายก ครั้งที่ 1" ชิงถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัลรวมกว่า 200,000 บาท ขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายนนี้ ณ เขื่อนคลองท่าด่านฯ
สำหรับประเภทการแข่งขัน ก็มีทั้งแบบมาราธอน ระยะทาง 42.195 ก.ม. แบบฮาล์ฟมาราธอน ระยะทาง 21.1 ก.ม. แบบมินิมาราธอน ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร และแบบเดิน – วิ่ง เพื่อสุขภาพ (ไม่มีการแข่งขัน)
นอกจากการแข่งขันวิ่งเพื่อสุขภาพแล้ว ในวันที่ 4 มิ.ย. ก็ยังมีกิจกรรมเสริมเพิ่มความน่าสนใจภายในงานอีกหลายรายการ เช่น จักรยานท่องเที่ยว จำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ นิทรรศการเขื่อนคลองท่าด่าน ฯ และกิจกรรมภาคบันเทิงอื่น ๆ อีกมากมาย
และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การแข่งขันในครั้งนี้ ทางจังหวัดจึงได้จัดกิจกรรมพิเศษ การแสดงดนตรี "JAZZ บนผิวน้ำ" โดยมีวงดนตรีมีฝีมือได้แก่ วง Botree วงออโต้บาห์น วงแม่น้ำ จัดแสดง ณ บริเวณท้ายเขื่อนคลองท่าด่าน ฟังเสียงดนตรีริมป่าเขาใหญ่ ชมพระอาทิตย์อัสดงบนสันเขื่อน และกินอาหารเย็นท่ามกลางม่านน้ำประกอบแสง เสียง ใครที่สนใจขอเชิญร่วมงานได้ในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้
*****************************************************
*****************************************************
เขื่อนคลองท่าด่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ 4 ต.หินตั้ง อ.เมือง จังหวัดนครนายก 26000 สอบถามโทร.0-3738-4208 ถึง 9
สอบถามรายละเอียดการแข่งขันวิ่งมาราธอนได้ที่ ศูนย์การท่องเที่ยว กีฬาและนันทนาการจังหวัดนครนายก โทร.0-3731-3283 สำนักงาน ททท.ภาคกลางเขต 8 โทร.0-3731-2282, 0-3731-2284