xs
xsm
sm
md
lg

สงบจิตใจในแดนธรรม ที่ "พุทธมณฑล"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชื่อกันว่า พระพุทธศาสนาจะมีอายุยืนยาวอยู่ถึง 5,000 ปี...

และในปีพุทธศักราชที่ 2500 ซึ่งเรียกกันว่าเป็นช่วง "กึ่งพุทธกาล" นั้น ประเทศไทย ได้สร้างสถานที่แห่งหนึ่งขึ้นเพื่อเป็น "พุทธานุสรณียสถาน" ในโอกาสที่พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทยนั้น เจริญรุ่งเรืองมาครบ 2500 ปี พอดี สถานที่แห่งนั้นก็คือ "พุทธมณฑล" นั่นเอง

และในวันวิสาขบูชาที่จะถึงนี้ (12 พฤษภาคม) ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธศาสนาจะมีอายุครบ 2,549 ปี "วาไรตี้ท่องเที่ยว" จึงจะพาไปรู้จักกับพุทธมณฑล ดินแดนแห่งธรรมมะในจังหวัดนครปฐมแห่งนี้

อย่างที่กล่าวแล้วว่า พุทธมณฑลนั้นสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่พระพุทธศาสนาได้ถือกำเนิดและดำรงอยู่มายาวนานถึง 2,500 ปี รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นผู้ริเริ่มโครงการ และได้จัดเตรียมสถานที่เพื่อสร้างพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณใต้ฐานองค์พระประธานเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2498 และได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ.2500

ในตอนนั้นก็ได้มีการเวนคืนที่ดิน และสร้างถนนหลายสายเข้าพุทธมณฑล และมีการออกแบบและจัดวางแผนผังและสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ตามมา รวมไปถึงพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่เห็นเด่นเป็นสง่า เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของพุทธมณฑลด้วย

พระพุทธรูปองค์ที่ว่านั้นมีชื่อว่า "พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑล สุทรรศน์" เป็นพระพุทธรูปยืนปางลีลาขนาดใหญ่ ที่ประยุกต์มาจากพระพุทธรูปปางลีลาสมัยสุโขทัย สร้างด้วยโลหะสำริด ได้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งในตอนแรกที่ออกแบบไว้นั้น พระพุทธรูปมีความสูงเพียง 2.14 เมตร เท่านั้น แต่เพื่อให้สอดคล้องกับโอกาสที่พระพุทธศาสนาอายุครบ 2,500 ปี จึงได้มีการขยายขนาดขึ้นไปอีกเพื่อให้ได้เป็น 2,500 กระเบียด (1 กระเบียดเท่ากับ 1/4 นิ้ว) ดังนั้นพระศรีศากยะทศพลญาณฯ ที่เรากราบไหว้กันทุกวันนี้ จึงมีความสูงถึง 15.875 เมตร ใหญ่กว่าขนาดต้นแบบถึง 7.5 เท่า และมีความงดงามอ่อนช้อยคู่กับพุทธมณฑลตลอดมา

นอกจากพระศรีศากยะทศพลญาณฯ แล้ว พื้นที่ 2,500 ไร่ ของพุทธมณฑลก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอีกมาก อย่างเช่นบริเวณรอบๆ องค์พระประธานได้จัดพื้นที่ทำเป็น "สังเวชนียสถาน 4 ตำบล" คือตำบลประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ซึ่งตำบลทั้งสี่นี้กำหนดทิศตามพุทธประวัติ โดยมีพระศรีศากยะทศพลญาณฯ พระประธานพุทธมณฑลเป็นหลัก

สำหรับตำบลประสูติ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีหินสัญลักษณ์รูปดอกบัวกำลังแย้ม 7 ดอก ด้านบนเป็นลายนูนรูปพระพุทธบาทที่สลักชื่อแคว้นต่างๆ 7 แคว้น ที่พระพุทธองค์ไปประกาศพระธรรมคำสั่งสอน และสลักพระคาถาเป็นรูปวงกลมบนหินนั้นด้วย ส่วนตำบลตรัสรู้อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีหินสัญลักษณ์รูปโพธิบัลลังก์ แกะสลักจากหินแกรนิต

ตำบลปฐมเทศนาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีหินสัญลักษณ์เป็นรูปธรรมจักร และรูปแท่นที่นั่งของปัญจวัคคีย์ทั้งห้า สำหรับหินที่แกะสลักเป็นรูปธรรมจักรนั้นมีขนาดใหญ่มาก มีน้ำหนักถึง 102 ตัน การขนส่งจึงค่อนข้างลำบาก ต้องเคลื่อนย้ายหินกันทั้งทางบกและทางน้ำ และตำบลสุดท้ายคือตำบลปรินิพพาน อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีหินสัญลักษณ์รูปแท่นไสยาสน์ และรูปแท่นที่นั่งของพระอานนท์ ด้านบนของแท่นไสยาสน์แกะสลักเป็นลายนูนรูปดอกบัว 3 ดอก ส่วนด้านข้างแกะเป็นดอกและใบสาละร่วง เปรียบเหมือนร่วงมาจากสวรรค์

และนอกจากสังเวชนียสถานทั้งสี่ตำบลนี้แล้ว ก็ยังมีมหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฏกหินอ่อน เป็นวิหารรูปทรงจตุรมุข ภายในมีแผ่นหินอ่อนซึ่งจารึกพระไตรปิฏกไว้ทั้งหมด 1,418 แผ่น จารึกพระไตรปิฎกทั้งหมด 84,000 พระธรรมขันธ์ รวมทั้งมีภาพวาดพุทธประวัติอยู่บนฝาผนัง และมีพระเจดีย์เก้ายอดประดิษฐานอยู่ท่ามกลางพระไตรปิฏกหินอ่อน ดูงดงามอย่างยิ่ง

มหาวิหารนี้สร้างขึ้นไม่นานนัก เพิ่งแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2541 โดยสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ วัดปากน้ำและสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญเป็นผู้สร้างถวาย รวมค่าใช้จ่ายกว่า 200 ล้านบาทเลยทีเดียว

นอกจากนั้นแล้ว ภายในพุทธมณฑลนี้ยังมีสิ่งก่อสร้างอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น วิหารพุทธมณฑล ที่ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป 25 พุทธศตวรรษ ซึ่งมีขนาด 2,500 มิลลิเมตร (2.5 เมตร) ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช ที่สร้างให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ที่พักสงฆ์อาคันตุกะ เป็นที่พักของคณะสงฆ์ทั้งไทยและต่างประเทศที่มาปฏิบัติศาสนกิจ หอสมุดแห่งพระพุทธศาสนา ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางศึกษาค้นคว้าวิจัยและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ฯลฯ

พุทธมณฑลไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่ที่มีไว้ทำกิจกรรมทางศาสนาเท่านั้น แต่ความร่มรื่นของสวนไม้ไทยต่างๆ เช่น สวนสมเด็จ สวนสมุนไพร สวนเวฬุวัน สวนตะโก สวนตาล ฯลฯ รวมทั้งหมดกว่าห้าหมื่นต้น ทำให้มีประชาชนส่วนมากนิยมเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย รวมทั้งมาปิกนิกกินข้าวกันอีกด้วย ซึ่งก็ไม่ผิดวัตถุประสงค์ของพุทธมณฑลแต่อย่างใด เพียงแต่ขอให้ระลึกไว้ว่าที่แห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ต้องระมัดระวังการกระทำของตนเองด้วย

และเนื่องในวันวิสาขบูชาที่จะถึงในครั้งนี้ นอกจากจะมีการเวียนเทียนเหมือนทุกปีที่ผ่านมาแล้ว คราวนี้ยังมีความพิเศษกว่าครั้งอื่นๆ ตรงที่จะมีการจัดงานประชุมชาวพุทธนานาชาติ และกิจกรรมงานวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี 2549 ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติจากสหประชาชาติเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้ขึ้น ณ พุทธมณฑล ทางมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย จึงจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ เนื่องในวันสำคัญของโลกวันนี้

นอกจากการที่ผู้นำศาสนาพุทธจาก 47 ประเทศ รวมแล้วกว่า 1,500 คน จะมาร่วมประชุมและชุมนุมกันเพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว ก็ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจก็คือ การจัดนิทรรศการสื่อผสม ซึ่งมีทั้งการจัดแสดงแบบ Mini Theatre, Multimedia Presentation และ Light & Sound Presentation สำหรับเนื้อหาที่จัดแสดงก็เป็นการจำลององค์ความรู้ของวิสาขบูชาแนวใหม่ "วิถีแห่งพุทธ ตามรอยพระพุทธเจ้า" โดยจะจัดขึ้น ณ โดมอัศจรรย์ พุทธมณฑล ซึ่งจะแบ่งเป็น 5 โซนด้วยกัน คือ โซนประสูติ ตามรอยพระพุทธเจ้าสู่อนาคตอันยิ่งใหญ่ โซนตรัสรู้ กำเนิดภูมิปัญญาแห่งมนุษยชาติ และโซนปรินิพพาน มรดกอันยิ่งใหญ่แห่งพระศาสดา โซนพระเจ้าอโศกมหาราช พุทธศาสนาแผ่ไพศาล และโซนวิสาขบูชาโลก สหประชาชาติรับรองความสำคัญของพระพุทธศาสนา

และเนื่องในปีนี้ ซึ่งเป็นปีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 60 ปี จึงได้มีการจัดแสดงพุทธบูชา เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นเอกอัครพุทธศาสนปถัมภกที่สำคัญของโลก เป็นการแสดงจินตนฤมิตร เรื่อง "วิสาขปูรณมี 60 ปี มหาราชผู้ทรงธรรม" และนอกจากนั้นก็ยังมีการแสดงจากนานาชาติ เช่น การแสดงจากวัดเส้าหลิน ประเทศจีน ขบวนแห่พระธาตุจากศรีลังกา และการแสดงอื่นๆ จากพุทธประเทศที่เข้าร่วมงาน ใครที่สนใจก็สามารถเข้าร่วมชมได้ในวันที่ 7-12 พฤษภาคมนี้

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

พุทธมณฑล ตั้งอยู่ที่ 25/25 หมู่ 6 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม อยู่ห่างจากตัวเมืองนครปฐมไปทางถนน ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ประมาณ 30 กิโลเมตร มีรถโดยสารประจำทางสาย 124, 125, 84, 84ก, ปอ.84 ก, ปอ.16, ปอ.539 ผ่าน เปิด-ปิดเวลา 05.00-19.00 น. สอบถามรายละเอียดโทร.0-2441-9009, 0-24419012

สอบถามรายละเอียดงานประชุมชาวพุทธนานาชาติ และกิจกรรมงานวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี 2549 ได้ที่โทร. 0-2693-1000 ต่อ 502, 505

กำลังโหลดความคิดเห็น