'งู' เป็นสัตว์ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของความดุร้าย คนส่วนใหญ่หากพูดถึงงู ความหมายมักจะออกไปทางไม่ดี บางครั้งลึกล้ำไปถึงขั้นเป็นเรื่องของอาถรรพ์หรือภูตผีเลยด้วยซ้ำ
แต่หากมองกันตามธรรมชาติ งูนับเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศและมีชีวิตที่ศึกษาไม่น้อยทีเดียว
*ง.งู ผู้สร้างประโยชน์
นายสัตวแพทย์มนตรี เชี่ยวบำรุงเกียรติ หัวหน้าสวนงู สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ได้เล่าถึงเรื่องราวของงูให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า เรื่องการอยู่ร่วมกันของคนกับงู จริงๆ แล้วคนที่กลัวงูก็คือคนยังไม่รู้จักธรรมชาติของงู ความจริงแล้วงูไม่ใช่สัตว์ดุร้าย แต่งูมีเหตุมีผลที่งูกัดมนุษย์
"สำหรับหมอเองคิดว่างูเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างน่าสงสาร เพราะเขาขาดอวัยวะที่มนุษย์หรือสัตว์อื่นมีตั้งมากมาย อย่างเช่น งูไม่มีหู แขน ขา เพราะฉะนั้นในการจับเหยื่อก็ลำบาก ธรรมชาติก็เลยต้องสร้างพิษให้งู เพื่อให้งูสามารถที่จะจับเหยื่อ แล้วก็ป้องกันตัวได้ นอกจากนี้งูสายตาไม่ดีมองเห็นภาพไม่ชัดเจนใน เรติน่าของงูมีเฉพาะเซลแท่งเท่านั้น ไม่มีเซลรูปกรวย มีเฉพาะหลอดเซลไม่มีโฮมเซล
"เพราะฉะนั้นงูจึงเห็นภาพไม่ชัดเจนเหมือนเวลาเรานอนฝันไป ไม่เห็นสีฉะนั้นเวลางูฉกเรามันจะเลือกกัดวัตถุที่เคลื่อนไหวง่ายที่สุด เวลาเผชิญหน้ากับงูแล้ว หากจะไม่ให้ถูกกัดก็คือการอยู่นิ่งๆ ตั้งสติให้งูไปก่อน แต่ถ้างูไม่ไปตอนนั้นแหละครับถึงจะเรียกว่าปัญหาเกิดขึ้นกับเรา มนุษย์ปกติส่วนใหญ่จะเกลียดแล้วก็กลัวงู เมื่อมีความกลัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สติก็จะขาดหายไป เมื่อเผชิญหน้ากับงูแล้วบางคนขาดสติจนขยับเขยื้อนไม่ได้ หรือบางคนอาจจะวิ่งหนี โดยหารู้ไม่ว่าการเคลื่อนไหวเป็นการทำให้งูรู้ได้ เขาก็จะฉกตามสิ่งที่เคลื่อนไหว เพราะเขาตื่นตกใจ"
นส.พ.มนตรียังกล่าวต่ออีกว่า งูบางชนิดมีประโยชน์ในทางนิเวศวิทยาอย่าง งูสิง กับงูทางมะพร้าวที่ช่วยกำจัดหนูที่ทำลายพืชผลทางการเกษตร และหนูก็ยังเป็นตัวนำโรค อย่างเช่น โรคฉี่หนูหรือกาฬโรค งูเป็นสัตว์ที่กินหนูนี่แหละคือการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ดีกว่าการใช้สารเคมีที่จะทำลายธรรมชาติและชีวิต และมันก็เป็นลูกโซ่ อย่างหนูมาถูกมนุษย์วางยาใช้สารเคมี ในการกำจัดวางยาเบื่อ เมื่อหนูตายสัตว์ที่เป็นตัวกำจัดหนูโดยธรรมชาติ มันเจอซากหนูมันก็จะกินอย่างพวกเหยี่ยว พวกนกเค้าแมว
"ฉะนั้นเมื่อมันกินเข้าไปมันก็ได้รับสารพิษตามไปด้วย ดังนั้นปัจจุบันจึงไม่ค่อยเห็นนกเค้าแมวหรือนกฮูกกันเลย บางคนไม่รู้จักด้วยซ้ำไปถึงต้องให้ความรู้ เพราะฉะนั้นสถานเสาวภาจึงพยายามที่จะให้ความรู้กับประชาชนและนิสิตนักศึกษา เราจะบอกเขาอยู่เสมอว่า งูไม่ใช่สัตว์อันตรายเราไม่ควรไปทำร้ายเขา
"เจ้าหน้าที่สถานเสาวภาโดนงูกัดมาแล้วเกือบทุกคน บางคนถึงขนาดว่าต้องสูญเสียนิ้ว สูญเสียอวัยวะไป แต่ก็ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสงบสุข เพราะเขารักงู เขามีความผูกพันต้องการปรับปรุงความเป็นอยู่ของงูให้ดีขึ้น นี่คือความปรารถนาของพวกเรา ที่จะทำให้สวนงูเป็นที่ที่รื่นรมย์น่ามาท่องเที่ยว และก็เป็นแหล่งให้ความรู้ กิจกรรมของสวนงูที่นี้ก็มีหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการสาธิตการรีดพิษงู การให้อาหารงู เป็นต้น"
*ง.งู ฤาจะสู้ ฅ.ฅน
เมื่อมีงูเป็นสัตว์ร้ายผู้น่ากลัวก็ต้องมี ฅ.ฅน ใจกล้าคอยกำราบงูให้อยู่เป็นที่เป็นทางด้วย
สมภพ ศรีดารณพ อาสาสมัครอพปร. (อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) นักล่างูมือฉมังคนหนึ่งของเมืองไทยเล่าว่า งูในกรุงเทพฯ มีให้จับทุกวัน
"อย่างช่วงหน้าร้อนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นงูเห่า โดยส่วนมากงูเห่าจะชอบไปอยู่ชายทุ่งบริเวณบ้านจัดสรร และถ้าบ้านไหนสกปรกมีหนูเยอะ งูก็ยิ่งชอบ ในหมู่บ้านจัดสรรแต่ละแห่งจะมีงูทุกที่ อาจเพราะเป็นที่อยู่เดิมของงู ส่วนพื้นที่รกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็มีงูอยู่เช่นกัน
"แรกๆ ที่ทำงาน ก็มีความรู้สึกกลัวเหมือนกัน ขยะแขยงบ้าง แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็เคยชิน ผมทำงานตรงนี้ไม่คิดค่าใช้จ่าย แล้วแต่เจ้าของบ้านจะกรุณา"
แน่นอนว่างานนี้หากฉายเดี่ยวทำคนเดียว บางทีแทนที่คนจะล่างู อาจกลับกลายเป็นงูล่าคนไป ซึ่งสมภพได้พูดถึงทีมล่างูว่า มีการแบ่งเป็นทีมกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ทีมละประมาณ 6 – 7 คน และจะใช้โทรศัพท์ดำเนินการติดต่อกันในแต่ละเขต เมื่อจับงูได้ก็จะนำไปให้ที่เสาวภา แยกประเภทงูที่จับได้
“คนจับงูอย่างผมอาภัพนะ ตัวผมเองไม่มีภรรยา เพราะถ้ามีภรรยาคงจับงูไม่ได้ งูนอนกลางวัน ออกหากินกลางคืน บางที 2- 3 คืนผมแทบไม่ได้นอน เพราะต้องไปจับงู ถ้ามีครอบครัวคงแย่แน่ เค้าคงรับไม่ได้ เพราะมันเป็นงานที่ไม่เหมาะกับคนมีครอบครัว ไม่สะดวก ลูกน้องในทีมก็เป็นโสดทุกคนเหมือนกัน เวลามีคนมาแจ้งให้ไปจับงู ผมจะถามก่อนว่าเป็นงูอะไร ถ้าเป็นงูเห่า งูเหลือมใหญ่ ผมจะไปเอง แต่ถ้าเป็นงูเล็กๆ หรือที่เขาจับไว้แล้ว ผมจะไปจับงูให้เขาดูก่อน แล้วสอนให้รู้ว่า การจับงูอันตรายตรงไหน บางคนก็ท้อ แต่บางคนก็กร่างไปอย่างนั้นเอง ทั้งที่จริงใจไม่กล้า”
สมภพเล่าก่อนอธิบายต่อว่า เหตุที่คนทั่วไปมักจะกลัวงู อาจเป็นเพราะสมัยเด็กๆ ผู้ใหญ่มักชอบขู่ว่า ให้ระวังงูกัด จนเกิดความฝังใจ แต่ที่จริงงูมันไม่มีพิษมีภัยเท่าที่ควร อย่างงูเห่าถ้าไม่ไปเหยียบไปจับเขาก็ไม่เป็นอันตราย แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจธรรมชาติของงู และมักจะคิดกับงูในแง่ไม่ดี คงเป็นเพราะมาจากความขยะแขยง ความฝังใจ
"สงสารงูนะถ้าเขาแจ้งเราต้องรีบไป ไม่งั้นจะโดนตีตาย หากเราเข้าใจในธรรมชาติ ถ้าไม่มีงูเราตายเพราะหนูจะเยอะ งูมากินหนูหมด ถ้าไม่มีงูมาคอยกำกับหนูแล้วคนจะอยู่ อยากฝากว่างูไม่มีพิษร้ายอย่างที่ใครเข้าใจ แต่มีประโยชน์กับเรา เขาจะกินหนูอย่างที่ทราบ อย่าฆ่าเขา อย่าไปตีเขาตาย ถ้าเจอเขาก็เรียกเราจับ เราก็จะบริการจับให้ได้ ติดต่อเราได้ เราบริการให้ 24 ชั่วโมง" สมภพเล่าก่อนตัดพ้อเล็กๆว่า
"ทำงานตรงนี้จริงๆ บางครั้งมันก็น่าท้อใจนะ เพราะมีคนอิจฉา ว่าทำงานได้หน้า ทั้งเงินที่ใช้ก็เงินเรา วิ่งไปตรงไหนก็ใช้เงินเรา แล้วแต่ชาวบ้านเขาจะช่วย บางทีก็เจ็บตัวชีวิตของเราเอาไปเสี่ยงให้ชาวบ้าน บางคนอาจคิดว่าผมมีวิชาอาคมแต่เปล่าเลย ไม่มีวิชาคาถาใช้ แต่เวลาไปจับงูบ้านไหนก็บอกพระภูมิ บอกพระเจ้าที่เจ้าทางว่าไม่ได้มารังแก คนเขาเดือดร้อน แต่ที่ยอมทำก็เพราะผมยึดพระราชดำรัสพระราชินีว่า ยอมเสียสละเพื่อสังคมคนละนิด สำหรับตัวผมเองคงทำงานนี้ไปจนกว่าจะลาโลก เพราะว่าอยากจะสนองพระราชดำรัสพระราชินีจนหมดอายุขัย มันเป็นความสุขอย่างหนึ่งของชีวิต"
*ง.งู สร้าง ง.เงิน
แม้งูจะเป็นสัตว์ที่น่ารังเกียจในสายตาคนทั่วไป แต่ที่ 'บ้านโคกสง่า' หรือ 'หมู่บ้านงู' หนึ่งเดียวในเมืองไทย อยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งกลับมีภาพตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง เพราะชาวบ้านที่นี่ต่างใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับงูอย่างชนิดที่ใครๆ ก็คาดไม่ถึง
ในอดีตชาวบ้านโคกสง่ามีอาชีพเร่ขายสมุนไพร ชื่อ 'ว่านพญางู' เดิมก็เร่ขายเรื่อยๆ แต่เมื่อพ่อใหญ่เคน ยงลา ได้ทดลองนำงูมาแสดงสลับกับการขายว่านเพื่อเป็นการดึงดูดลูกค้า ก็ปรากฏว่าเป็นที่นิยม ทำให้ว่านพญางูขายดิบขายดี เพราะคนมาซื้อว่าน ก็ได้ดูโชว์งูแถม ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านโคกสง่าก็ค้าสมุนไพรขายการแสดงจนมีชื่อเสียง
ทา พุตตา ประธานชมรมงูจงอางหมู่บ้านโคกสง่า หรือลุงทา นัก (แสดง) มวยงูเล่าว่า แต่ก่อนบ้านแต่ละหลังจะนิยมเลี้ยงงูกันไว้ใต้ถุนบ้านหลังละ 3-4 ตัว แต่ตอนนี้ก็เริ่มจะจำกัดจำนวน เพราะว่าหน่วยงานรัฐไม่ออกใบอนุญาตคุ้มครองสัตว์ป่าให้
"บ้านหนึ่งหลังจึงเลี้ยงงูได้ประมาณ ตัว 2 ตัว ทำให้ชาวบ้านได้มีการตั้งกลุ่มเกษตรกรแบบผสมผสานขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยว ได้ดูการเลี้ยงงูได้มาตรฐานเดียวกัน ตอนนี้ที่กลุ่มของเรามีงูอยู่ประมาณ 20-30 ตัว โดยเราจะแบ่งงูเราจะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งคืองูที่เราจะนำไปแสดงโชว์ อีกส่วนหนึ่งคืองูที่ทางเจ้าของบ้านเลี้ยงไว้เป็นเพื่อน เป็นสัตว์เลี้ยง"
ลุงทาเล่าต่อไปว่า ที่บ้านโคกสง่าในช่วงเดียวกับช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีประเพณี ' งานวันงูจงอาง' โดยจะจัดขึ้นประมาณวันที่ 12-16 เดือนเมษายนของทุกปี
"อย่างปีนี้ที่เพิ่งจัดไปก็มีความแปลกและพิเศษกว่าปีก่อนๆ ที่นอกจากจะมีการแห่งู สู่ขวัญงูแล้ว เรายังเพิ่มโต๊ะจีนงูเข้ามาอีกด้วยโดยโต๊ะจีนงูของเราต้องการให้นักท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วมป้อนอาหารให้ งูเมื่อถึงเวลากินอาหารโต๊ะจีนเราก็จะนำงูปล่อยบนโต๊ะแล้วให้นักท่องเที่ยวตักอาหารใส่ชะลอมที่มีด้ามจับยาวๆ ยื่นอาหารให้งูกิน"
ถ้าถามถึงความพอใจในความเป็นหมู่บ้านงู ลุงทาเล่าว่า ชาวบ้านโคกสง่าทุกคนต่างก็พอใจ กับการแสดงโชว์งู เพราะมีรายได้ที่ดีพอสมควร
"เดิมทางหมู่บ้านจะตั้งราคาไว้ตายตัว เด็ก 20 บาท ผู้ใหญ่ 30 บาท ปัจจุบันนี้ไม่มีการตั้งราคาแล้ว แต่จะตั้งกล่องบริจาคค่าอาหารเอาไว้ เดือนหนึ่งๆ รายได้ก็ตกหลักหมื่นเหมือนกัน ส่วนการโชว์งูนั้นทางหมู่บ้านมีการจัดแสดงโชว์ทุกวัน ไม่มีรอบเพราะไม่รู้ว่านักท่องเที่ยวจะมาเมื่อไหร่"
ส่วนการแสดงงูชุดที่ได้รับความนิยมก็มีอย่างชุด 'ผู้หญิงไทยใจเกินร้อย' ที่ให้นักแสดงผู้หญิงอมงูโชว์ซึ่งเรียกความสนใจจากคนดูได้เป็นอย่างมาก อีกชุดหนึ่งที่ได้รับการตอบรับอย่างดีไม่แพ้กันก็คือชุด 'มวยงู' การแสดงชุดนี้ค่อนข้างมีความเสี่ยงสูง คนที่จะแสดงมวยงูได้ต้องเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญและสายตาว่องไวเพราะต้องทั้งหลบทั้งล่อให้งูแผ่แม่เบี้ยซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย
"ทุกครั้งที่แสดง ผมมีเพียงความกล้า และว่านพญางูเท่านั้น ไม่ได้มีวิชาอะไรเป็นพิเศษ นี่ทำให้เราต้องระวังตัวตลอดประมาทไม่ได้ ตั้งแต่แสดงมาเป็น 10 ปี เคยมีคนตายเพราะงูเพียงคนเดียว ถ้าถามว่าทำไมเขาถึงตายผมตอบได้เลยว่า เป็นเพราะความประมาท คิดว่าฝึกจนเชี่ยวชาญจนลืมไปว่า หมองูตายเพราะงู
"สำหรับนักแสดงของบ้านโคกสง่า ตอนนี้ที่อายุน้อยที่สุดก็เป็นเด็กผู้ชายอายุเพียง 8 ขวบ คนที่นี่รักงูทุกคน ใครจะมาเป็นเขยหรือสะใภ้บ้านโคกสง่า ถ้ากลัวงูก็อยู่กันไม่ได้ อย่างตัวผมถ้าถามว่ารักเมียหรืองูมากกว่ากันตอบไม่ถูกนะ ลูกเมียจะมีข้าวกินหรือเปล่าไม่รู้ แต่งูต้องได้กินยิ่งเป็นงูจงอางด้วยแล้วเลี้ยงยากที่สุด เพราะเขาเป็นงูที่กินงู ก็ต้องออกหางูตามท้องนามาเลี้ยง จะว่าทั้งรักทั้งผูกพันเหมือนลูกก็ได้" ลุงทาเล่าไปยิ้มไป
ความผูกพันของคนกับงูที่บ้านโคกสง่า และกับคนอื่นๆที่ใช้ชีวิตผูกพันกับงูนั้น ดูจะสวนทางกับความคิดที่ว่างูเป็นสัตว์ดุร้ายน่ากลัวโดยสิ้นเชิง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สถานที่เกี่ยวกับเรื่องงูๆ
- สมภพ ศรีดารณพ บริการจับงู ฟรี ! ตลอด 24 ชม. โทร 0-9043-8445
- หมู่บ้านงูจงอางโคกสง่า ที่ตั้งถนนสายน้ำพอง - กระนวน กม.ที่ 18 บ้านโคกสง่า ตำบลทรายมูล อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โทร. 0-1974-9499 ติดต่อนายทา พุตตา
- ติดต่อสอบถามสถานเสาวภา สภากาชาดไทย เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โทร 0-2252-0161-4,0-2252-0167