ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2454 ที่จังหวัดสิงห์บุรี เป็นบุตรคนสุดท้องของ พลโท พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ กับหม่อมแดง ปราโมช สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนี (พระพันปีหลวง) พระราชทานชื่อว่า 'คึกฤทธิ์'
เริ่มต้นเรียนหนังสือที่บ้านกับหม่อมราชวงศ์บุญรับ ปราโมช (พี่สาวใหญ่) จนสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้เมื่ออายุ 4 ปี เป็นลูกศิษย์แหม่มโคลที่โรงเรียนวังหลังเมื่ออายุ 6 ปี (ปัจจุบันคือโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย) และได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จนจะขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จึงเดินทางไปศึกษาต่อระดับมัธยมที่โรงเรียน Trent ประเทศอังกฤษ จบปริญญาตรีเกียรตินิยมสาขาปรัชญา การเมือง และเศรศฐศาสตร์ (P.P.E.) จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด และได้สมรสกับ มรว.พักตร์พริ้ง ทองใหญ่ ใน พ.ศ.2480 มีบุตรชายคือ มล.รองฤทธิ์ ปราโมช และบุตรสาวคือ มล.วิสุมิตรา ปราโมช
ประวัติการทำงาน
-รับราชการที่กรมสรรพากร
-เลขานุการที่ปรึกษากระทรวงการคลัง
-ผู้จัดการธนาคารพาณิชย์ สาขาลำปาง
-รับราชการทหาร[ เมื่อเกิดสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา]
-หัวหน้าฝ่ายสำนักผู้ว่าการและหัวหน้าฝ่ายออกบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
-ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การจำกัด
-เขียนบทความลงในคอลัมน์ "ซอยสวนพลู"
-พ.ศ. 2531 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศเป็นพลตรี (ทหารราชองครักษ์พิเศษ)
บทบาททางการเมือง
-พ.ศ. 2488-2489 เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองพรรคแรกในเมืองไทย ชื่อ "พรรคก้าวหน้า"
-ได้ร่วมในคณะผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์
-ได้ริเริ่มจัดตั้งพรรคกิจสังคม
-พ.ศ. 2518 ได้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น และได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
-พ.ศ. 2519 ได้ตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎร บริหารประเทศประมาณ 9 เดือนเศษ
ผลงานที่สำคัญ
-ได้ดำเนินการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่ง ตามนโยบายการอยู่ร่วมกันอย่างปกติ และเป็นมิตรกับทุกประเทศที่มีเจตนาดีต่อประเทศไทยโดยไม่คำนึงถึง ความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองในด้านการพัฒนาประเทศ
-เริ่มโครงการผันเงินชนบท เพื่อปรับปรุง และสร้างสิ่งสาธารณูปโภค ที่จำเป็นในชนบทเพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ และสร้างงานชนบท โดยการสร้างในงบประมาณรายจ่ายเพื่อปรับปรุงและสร้างสิ่ง สาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อชนบท มีผลให้ประชาชนในชนบทมีงานทำ และมีรายได้ เป็นการยกฐานเศรษฐกิจของชาวชนบทให้ดีขึ้น
-ส่งเสริมการพัฒนาสภาตำบลอย่างจริงจัง รวมทั้งจัดให้มีโครงการช่วยเหลือ ผู้มีรายได้น้อย
-ดำเนินการซื้อสัมปทานเดินรถของเอกชนรวมเป็นของรัฐบาล ภายใต้การดำเนินงานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
-เป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐขึ้น เมื่อ พ.ศ.2493 และเริ่มบทบาทของการเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์อย่างจริงจัง
ผลงานด้านศิลปวัฒนธรรม
-ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ใน พ.ศ.2528 โดยท่านมีผลงานด้านวรรณศิลป์ที่โดดเด่นมากกว่า 200 เรื่อง ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น เรื่องแปล เช่น สี่แผ่นดิน ไผ่แดง หลายชีวิต ซูสีไทเฮา เป็นต้น
-เป็นผู้ก่อตั้งสถาบันไทยคดีศึกษา ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2513
-เป็นผู้ก่อตั้งโขนธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2509 เพื่อฟื้นฟูการแสดงโขนให้เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป และเพื่ออบรมให้เยาวชนเข้าใจในเรื่องวัฒนธรรมไทย
ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เริ่มปรากฏอาการป่วยเป็นระยะๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2530 จนกระทั่ง 2538 และถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2538 รวมอายุได้ 84 ปี