"สงกรานต์" หนึ่งในประเพณีอันดีงามของไทย ที่ในวันนี้แม้รูปแบบ พิธีกรรม และการละเล่นสาดน้ำจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่กระนั้นเทศกาลสงกรานต์หรือวันปีใหม่แบบไทยๆก็ยังคงเปี่ยมไปด้วยมนต์ขลัง ซึ่งนี่คงเป็นเทศกาลเดียวที่ผู้คนยินยอมเปียกปอนกันถ้วนหน้าด้วยความปิติยินดี
อย่างไรก็ตามแม้เทศกาลสงกรานต์จะมีแนวคิดหลักที่คล้ายกัน แต่ในรายละเอียดของแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีเอกลักษณ์และความโดดเด่นแตกต่างกันออกไปตามคติความเชื่อ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ
ภาคเหนือ : สงกรานต์ล้านนา"ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง"
เมื่อพูดถึงประเพณีสงกรานต์หรือป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองที่ชาวเหนือเมืองล้านนาเรียกขานกันนั้น พวกเขาจะหยุดการทำงานเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ทั้งทางศาสนา พิธีกรรม และการละเล่น ยาวนานถึง 5 วันเป็นอย่างน้อย
โดยวันแรกคือ วันที่ 13 เมษายน เป็น "วันสังขานล่อง" ถือเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ ซึ่งแต่ละบ้านจะปัดกวาดทำความสะอาดรวมถึงการชำระล้างสิ่งสกปรกต่างๆให้หมดไป พร้อมจะต้อนรับสิ่งที่เป็นมงคลเข้ามาในชีวิต จากนั้นก็ทำความสะอาดชำระล้างร่างกายให้มีจิตใจผ่องใส มีการสรงน้ำพระพุทธรูป ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะเรียกลูกหลานมาอธิษฐาน กล่าวคำไล่สิ่งไม่ดีให้ผ่านพ้นไปกับสงกรานต์ หลังจากนั้นจะมีการออกไป"แอ่วปีใหม่"ที่ในอดีตเป็นการออกเที่ยวตามหมู่บ้าน ส่วนปัจจุบันจะนิยมไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
วันถัดมาคือ "วันเนา" หรือ "วันเน่า" วันนี้จะทำแต่สิ่งที่เป็นมงคล ไม่มีการด่าทอทะเลาะวิวาท ไม่อย่างนั้นจะถือว่าปากคนนั้นจะเน่าและจะมีแต่สิ่งอัปมงคลไปตลอดทั้งปี ในช่วงเช้าของวันนี้จะมีการจัดเตรียมซื้อของกินของใช้เครื่องไทยทานต่างๆ ส่วนช่วงบ่ายก็จะไปขนทรายเข้าวัด ที่ถือเป็นการนำทรายมาทดแทนส่วนที่ติดเท้าเราออกจากวัดไปพร้อมก่อเป็นเจดีย์ทรายที่มีการประดับตกแต่งด้วยตุง(ธง)สีสันสดใส โดยถือคติว่า ผู้บริจาคทานเมื่อตายไปแล้วจะได้อาศัยชายธง หอบหิ้วให้พ้นจากนรก ซึ่งอานิสงส์การทานตุงหรือช่อนี้มีอยู่ในพระธรรมเทศนาใบลานตามวัดทั่วไป นอกจากนี้ในวันเนาหนุ่มสาวจะเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน
วันที่สาม เรียกว่า "วันพญาวัน" หรือ "วันเถลิงศก" วันนี้ชาวบ้านจะนำสำรับอาหารไปทำบุญตักบาตรที่วัด อุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ บางคนจะนำสำรับไปมอบให้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เรียกว่า "ตานขันข้าว" ตอนบ่ายก็จะเริ่มการดำหัว คือการ "สุมาคารวะ" ที่ลูกหลานจะขอขมาลาโทษที่เคยกระทำต่อญาติผู้ใหญ่ ถือว่าเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีของผู้น้อยอันมีต่อผู้ใหญ่
วันที่สี่เป็น "วันปากปี" ถือเป็นการเริ่มต้นของปีใหม่ มีการรดน้ำดำหัวตามวัดต่างๆ ทั้งที่อยู่ใกล้เคียงและห่างไกล ถือเป็นการทำพิธีคารวะเจ้าอาวาสวัดที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน วันที่ห้าคือ "วันปากเดือน" ถือเป็นวันเริ่มต้นของเดือนใหม่ จะมีการส่งเคราะห์ต่างๆ ตามแบบที่นิยมกันมาแต่โบราณ
นอกจากนี้ยังมีขบวนแห่ "ล่องสังขาน" ในวันสังขานล่อง ที่เป็นการสะเดาะเคราะห์หรือลอยเคราะห์ให้ไหลไปตามน้ำ และมีประเพณีค้ำโพธิ์ ถือว่าเป็นการค้ำจุนศาสนา โดยให้ถือเอาวันที่ 14 เป็นหลัก โดยถ้าวันที่ 14 ตรงกับวันใด ก็ให้คนที่เกิดวันนั้นมาประกอบพิธี เช่น ถ้าตรงกับวันจันทร์ ปีนั้นก็ให้คนเกิดวันจันทร์นำไม้ไปค้ำต้นโพธิ์ ซึ่งไม้ที่นิยมมักใช้ ไม้กระถิน นำมาปอกเปลือกแล้วทาขมิ้นให้สวยงามเพื่อใช้ในพิธี
ภาคกลาง : "ตรุษสงกรานต์" สนุกสนานสำราญใจ
สงกรานต์ประเพณีที่ภาคกลางนั้น จะมีการทำบุญใหญ่ประจำปี 3 วันคือ วันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็น "วันมหาสงกรานต์" วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันกลาง" หรือ "วันเนา" ที่แปลว่าอยู่ ส่วนวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า "วันเถลิงศก" หมายถึงวันขึ้นศักราชใหม่
ในสมัยอดีต ทางภาคกลางจะมีประเพณีอันเนื่องด้วยเทศกาลสงกรานต์อย่างหนึ่งคือ ห้ามตักน้ำตำข้าว ห้ามเก็บผักหักฟืน โดยจะต้องเตรียมหาสำรองเอาไว้ให้พร้อมก่อนถึงวันสงกรานต์ เพื่อไม่ต้องเป็นกังวล ซึ่งก็คงเหมือนปัจจุบันที่ว่าช่วงสงกรานต์จะไม่มีการทำงานใดๆให้เป็นภาระ เพื่อที่จะได้ต้อนรับปีใหม่ด้วยความแจ่มใสเบิกบาน
สำหรับประเพณีสงกรานต์ในภาคกลางตามแบบประเพณี ก็จะมีการประกอบพิธีทางศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา จัดจตุปัจจัยถวายพระ การบังสุกุลกระดูกบรรพบุรุษ การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ การขนทรายเข้าวัด การก่อพระเจดีย์ทราย และมีการทำขนมประเพณีที่คนมอญเรียกว่า "กวันฮะกอ" (กาละแม) เพื่อแจกจ่ายและแลกเปลี่ยนระหว่างกันระหว่างเทศกาลด้วย
และในวันสงกรานต์ยังถือเป็นวันสำคัญที่ผู้น้อยจะได้แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ใหญ่ โดยจะมีการรดน้ำดำหัวขอพรจากพ่อแม่ ผู้สูงอายุ หรือญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
ภาคอีสาน : "บุญสรงน้ำ" ตรุษสงกรานต์เดือนห้า
เทศกาลสงกรานต์ในภาคอีสานถือเป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งการรวมญาติ เพราะลูกหลานญาติที่ไปทำงานต่างถิ่นจะเดินทางกลับมาพบเจอกันในช่วงนี้ เมื่อกลับมาพ่อแม่คนเฒ่าคนแก่ก็ได้จัดให้มีพิธีบายศรีสู่ขวัญและทำพิธีเรียกรับขวัญลูกหลานที่กลับมาเยี่ยมบ้าน
นอกจากนี้ประเพณีสงกรานต์ของชาวอีสานยังเกี่ยวข้องกับจรรยาปฏิบัติทางสังคมที่เรียกว่า "ฮีตสิบสอง" ซึ่งมักเป็นงานบุญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยประเพณีสงกรานต์ที่อีสานจะเรียก "บุญสรงน้ำ" หรือ "ตรุษสงกรานต์" ซึ่งบางแห่งจะทำบุญเป็น 2 ระยะ ระยะแรกทำบุญตักบาตรกลางลานในวันตรุษ ระยะหลังทำบุญตักบาตรที่ลานบ้านในวันสงกรานต์
คำว่า ตรุษ คือ สิ้น ส่วนคำว่า สงกรานต์ คือ การเคลื่อนย้าย โดยสงกรานต์ในภาคอีสานนั้นหมายถึง วันที่พระอาทิตย์ เคลื่อนย้ายจากฤดูหนาว ก้าวไปสู่ฤดูร้อน ในระยะนี้จะเรียกว่า ตรุษสงกรานต์ ซึ่งกำหนดเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 จึงเรียกกันว่า "บุญเดือนห้า"
พิธีบุญเดือนห้านั้นจะเริ่มเมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง พระสงฆ์จะตีกลองโฮม (รวม) โดยมีญาติโยมจัดน้ำอบ น้ำหอม และหาบเอามารวมกันที่ศาลาโรงธรรม แล้วพระสงฆ์ก็จะทำความสะอาดพระพุทธรูปและ เอามารวมกันที่ศาลาโรงธรรม โดยมีญาติโยมมาทำพิธีสู่ขวัญ สรงน้ำพระพุทธรูปและสรงน้ำพระสงฆ์ รุ่งขึ้นก็จะทำบุญเลี้ยงพระ ส่วนวันต่อไปเมื่อได้เวลาบ่าย 3 โมง พระสงฆ์ก็จะตีกลองเตือนญาติโยมให้มาสรงน้ำพระพุทธรูป โดยจะทำอย่างนี้ไปจนถึงวันเพ็ญเดือนหก รวมเวลาหนึ่งเดือนเต็ม
นอกจากนี้ชาวอีสานก็ยังมีการสรงน้ำผู้หลักผู้ใหญ่ เพื่อให้ผู้หลักผู้ใหญ่ได้อายุมั่นขวัญยืน การสรงเครื่องค้ำของคูณ ซึ่งถือเป็นเครื่องที่จะทำให้บ้านเรือนนั้นอุดมสมบูรณ์และเนื่องจากว่าชาวอีสานเป็นคนชอบสนุกสนานเฮฮา ดังนั้นวันสงกรานต์ นอกจากจะเป็นงานบุญที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนานั้นแล้ว บรรยากาศของงานประเพณีสงกรานต์ยังเต็มไปด้วยความรื่นเริงและมีชีวิตชีวาทั้งจากการเล่นสาดน้ำและกิจกรรมต่างๆ
ภาคใต้ : "ส่งเจ้าเมืองเก่า-รับเจ้าเมืองใหม่"
ชาวใต้โดยเฉพาะที่ จ.นครศรีธรรมราช จะมีความเชื่อว่าเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง วันที่ 13 เมษายน หรือวันมหาสงกรานต์นี้ ชาวใต้จึงเรียกว่า “วันส่งเจ้าเมืองเก่า” โดยในวันนี้จะมีการชำระล้างทำความสะอาดร่างกายและบ้านเรือน บางคนก็จะถือโอกาสนี้ทำพิธีสะเดาะเคราะห์หรือลอยแพสิ่งไม่ดีต่างๆ ออกไป
วันรุ่งขึ้นถือเป็น "วันเนา" หรือที่ชาวใต้เรียกว่า "วันว่าง" ชาวใต้จะงดการทำพิธีกรรมต่างๆ นอกจากการไปทำบุญตักบาตรที่วัด และสรงน้ำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เพราะถือว่าวันนี้ไม่มีเทวดาคุ้มครองรักษาอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างจึงอยู่ในสภาพที่ว่างเปล่า
สำหรับวันสุดท้ายของประเพณีสงกรานต์ ชาวใต้จะเรียกว่า "วันรับเจ้าเมืองใหม่" เพราะเชื่อกันว่าวันนี้เทวดาองค์ใหม่ได้ย้ายไปประจำดูแลรักษาบ้านเมือง ซึ่งชาวบ้านก็จะเตรียมตัวต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ด้วยการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแลเครื่องตกแต่งใหม่ๆ อย่างสวยงาม จากนั้นก็จะนำภัตตาหารไปทำบุญที่วัดกันตั้งแต่เช้าตรู่ พร้อมกับร่วมกันทำขวัญข้าว รดน้ำผู้หลักผู้ใหญ่ และพระสงฆ์ที่ยังตกค้างไม่ได้ไปรดในวันว่าง
และในช่วงนี้จะมีการจัดบ้านโดยนำสากครกมาวางในที่เปิดเผย เอาสากรวมเข้าเป็นมัดผูกด้วยด้ายแดงด้ายขาว ตั้งใส่ไว้ในครก แล้วใส่น้ำลงไว้ด้วย เรียกว่า "แช่สากแช่ครก" จะไม่ใช้ในวันว่าง ต้องจัดหาจัดเตรียมข้าวเหนียว น้ำตาล มะพร้าว ไว้ทำขนม
พ่อบ้านแม่เรือนต้องจัดหาเสื้อผ้าอาภรณ์ชุดใหม่ไว้ให้ลูกหลานและตัวเองใส่ในวันว่าง ผู้เป็นบุตรหลานก็จะต้องจัดเตรียมหาผ้าแพรพรรณใหม่ไว้มอบให้บิดามารดา ปู่ย่า ตายายไว้ใส่หลังจากอาบน้ำหรือ “สระหัว” รวมทั้งน้ำอบด้วย และหากตระกูลใดมีญาติพี่น้องมาก ก็จะทำพิธีรดน้ำผู้ใหญ่ด้วยการประกอบพิธีใหญ่ ที่เรียกว่า "ขึ้นเบญจา" ที่ต่อมาเพี้ยนเป็น "ขึ้นบิญจา"
"พิธีบิญจา" คือ ประเพณีอาบน้ำคนแก่ ซึ่งเป็นวิธีการแสดงออกถึงความเคารพนับถือพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ และผู้มีพระคุณ โดยลูกหลานจะทำพิธีขอขมา จากนั้นก็จะเป็นการตักน้ำมารดอาบให้คนแก่ ในกรณีที่คณะบุตรหลานของปู่ย่าตายาย จะอาบน้ำเป็นการภายในเฉพาะเครือญาติตน มักจะอาบน้ำรดกันที่บ้านอย่างสามัญ บุตรหลานทุกคนต่างตักน้ำรดด้วยมือ และขัดสีให้อย่างใกล้ชิดสนิทสนม และเมื่อได้ประพรมน้ำหอม ทาแป้งให้แล้ว จะมีตัวแทนของบุตรหลานมอบผ้าคู่ (ผ้านุ่งกับผ้าห่มหรือเสื้อ) ให้ท่านได้สวมใส่ด้วย ส่วนบุตรหลานคนอื่นๆ ใครจะมอบพิเศษให้ใช้อีกกี่ชุดก็ได้
****************************
จากประเพณีสงกรานต์ทั้ง 4 ภาคของไทย แม้จะมีความเหมือนกันในแนวความคิดหลักๆ แต่ว่าในรายละเอียดของพิธีกรรม การละเล่น ความเชื่อ รูปแบบการจัด ของแต่ละท้องที่ ต่างก็แตกต่างกันออกไป เรียกว่าแต่ละภาคต่างก็มีประเพณีสงกรานต์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
แต่กับรูปแบบสงกรานต์ที่ปรากฏในปัจจุบันก็ต้องยอมรับว่า แต่ละท้องถิ่นแต่ละพื้นที่มีรูปแบบของงานแปรเปลี่ยนไปตามสมัยนิยม โดยในหลายพื้นที่จิตวิญญาณ และรูปแบบของงานสงกรานต์เปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง