xs
xsm
sm
md
lg

ปาท่องโก๋เมืองตรัง...แปลกกว่าใคร/ ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
อิ่วจาก้วยหรือที่คนไทยทั่วไปเรียกว่าปาท่องโก๋(บน) ปาท่องโก๋ที่ชาวตรังเรียกขานตามแบบฉบับคนจีน(ล่าง)
คนตรังนอกจากจะพูดเสียงดังใจกว้างแล้ว คนตรังยังเป็นคนช่างกินอีกด้วย

ในแต่ละวันคนตรังส่วนใหญ่จะกินอาหารประมาณ 5-6 มื้อ ตั้งแต่ย่ำรุ่งไปจนถึงดึกดื่น โดยสิ่งที่คนตรังนิยมกินกันมากในแต่ละวัน ในแต่ละมื้อก็คือ“กาแฟ”

ด้วยเหตุนี้ในตัวเมืองตรังจึงมากมายไปด้วยร้านกาแฟ แต่ว่าวัฒนธรรมการกินกาแฟของคนตรังนี่ถือว่ามีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะมื้อเช้าจะเป็นมื้อที่อลังการมากๆ เพราะคนตรังจะนิยมดื่ม“โกปี๊”หรือกาแฟโบราณใส่นมข้นควบคู่ไปกับของกินแกล้มสารพัดอย่าง โดยมี“หมูย่างเมืองตรัง” ที่หนังกรอบ เนื้อแน่นนุ่ม กลิ่นหอม รสหวานมัน เป็นเมนูไฮไลท์ที่โดดเด่นและชวนลิ้มลองสำหรับคนต่างถิ่น

เพื่อนผมคนหนึ่งที่มันมักจะคิดการกินกาแฟตามมายาคติแบบฝรั่งที่นิยมกินกับไข่ดาวไม่ค่อยสุก กินกับเบคอน แฮม ไส้กรอก พอมันมาเจอกาแฟกับหมูย่างเมืองตรังนี่ติดใจชะงัดนัก

ครั้นเมื่อกลับมากรุงเทพฯ มันพยายามหาซื้อหมูย่างมากินกับกาแฟ แต่ก็ไม่ได้รสชาติที่กลมกล่อมลงตัวและเข้ากับรสโกปี๊เท่าหมูย่างเมืองตรัง แต่ไอ้เพื่อนผมคนนี้มันบอกว่า ถึงแม้กาแฟกับหมูย่างในกรุงเทพฯจะกินแล้วไม่ค่อยเข้ากันเท่าไหร่ แต่ยังไงก็ยังดีกว่ากินราดหน้าแล้วถูกคนมาตะโกนไล่แน่นอน เพราะถ้ามันเจอเหตุการณ์อย่างนั้น บอกคำเดียวว่า “แหลกไม่ลง เจงๆ”

กลับมาที่โต๊ะอาหารเช้าในเมืองตรังกันต่อ นอกจากหมูย่างแล้วยังมีติ่มซำที่เสิร์ฟมาวางให้เลือกกินกันเต็มโต๊ะ ทั้ง ขนมจีบ ซาลาเปา ฮะเก๋า ปูอัด กุ้ยช่าย เปาะเปี๊ยะ เต้าหู้ และอีกเพียบเลย

คนต่างถิ่นที่เห็นทางร้านยกกินมาเต็มโต๊ะก็อย่าได้ตกใจไป เพราะกินแค่ไหนเขาคิดแค่นั้น ส่วนคนที่กินปาท่องโก๋หมดแล้ว หากสั่งใหม่ว่า“ขอปาท่องโก๋จานนึง”

ทางร้านก็จะเสิร์ฟปาท่องโก๋แบบตรังมาให้ เป็นแป้งนึ่งฟูนุ่มคล้ายขนมถ้วยฟูรสออกหวานนิดๆ หน้าตาคนละเรื่องกับปาท่องโก๋ในภาคอื่นๆเลย เพราะคนตรังเขาเรียกปาท่องโก๋แบบเป็นแป้งประกบคู่ว่า “อิ่วจาก้วย”ตามการเรียกแบบคนจีน

อิ่วจาก้วย(สำเนียงแต้จิ๋ว)หรือปาท่องโก๋เป็นคู่ที่คนไทยทั่วไปเรียกกันนั้น ถือเป็นภูมิปัญญาที่คนจีนบ่มเพาะความคิดและความแค้น ก่อนจะตกผลึกออกมาเป็นอาหารการกินได้อย่างล้ำลึก

เพราะเหตุใดคนจีนจึงคิดและแค้นถึงปานนั้น !?!

เรื่องนี้คงต้องย้อนกลับไปในสมัยซ้องใต้ที่มีเมืองลิ่มอันเป็นเมืองหลวง (ราชวงศ์ซ้องหรือซ่งมี 2 ยุค คือ ซ้องเหนือ-ค.ศ. 960-1127 และซ่งใต้-ค.ศ. 1127-1279) ยุคนั้นราชวงศ์ซ้องใต้กำลังมีศึกปะทะกับประเทศไต้กิม

ฮ่องเต้ในขณะนั้นมี“งักฮุย”หรือ“เย่ว์เฟย”เป็นยอดขุนพล ที่นอกจากจะเก่งกาจด้านการรบสามารถต่อต้านทัพศัตรูได้ทุกครั้ง งักฮุยยังเป็นคนดีมีคุณธรรม จงรักภักดี รักชาติยิ่งชีพ จนเป็นที่นิยมรักใคร่ของคนจีนทั้งประเทศ

ผิดกับ “ฉินฮุ่ย” มหาเสนาบดีกังฉิน กับภรรยา“หวังซื่อ”ที่แอบติดต่อกับข้าศึก รับสินบน และขายชาติจีนให้พวกไต้กิม เท่านั้นยังไม่พอฉินไขว้ยังคิดหาวิธีกำจัดกับงักฮุยให้พ้นวิถีทางด้วย เพราะเห็นว่านี่คือก้างชิ้นโตที่ขวางคออยู่

ฉินฮุ่ย จึงพยายามเพ็ดทูลข้อมูลต่างๆกับฮ่องเต้ ก่อนจะลงเอยด้วยข้อกล่าวหาว่า งักฮุยซ่องสุมกำลังเตรียมก่อการกบฏ ทำให้ป้ายอาญาสิทธิ์ถูกส่งไปเรียกตัวงักฮุยที่กำลังทำศึกอยู่ให้กลับมาเมืองหลวง แต่ว่าเหล่าบรรดาจอมยุทธ์ผู้รักชาติต่างคอยสกัดขัดขวางไม่ให้ป้ายอาญาสิทธิ์ถึงมืองักฮุย แต่ก็สกัดได้เพียง 10 ครั้ง เพราะครั้งที่ 11 งักฮุยได้รับป้ายอาญาสิทธิ์

คนรักชาติรักแผ่นดินอย่างงักฮุย เมื่อถูกป้ายอาญาสิทธิ์เรียกตัว ก็เดินทางกลับเมืองหลวงทันทีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ ซึ่งก็เป็นเหตุให้ฮินฮุ่ยสบโอกาสประหารงักฮุยจนเสียชีวิต

งักฮุยสิ้นชีพ ประชาชนร่ำไห้ระงม ฉินไขว้และภรรยาหัวร่อร่า แผ่นดินซ้องใต้ลุกเป็นไฟเพราะประชาชนต่างลุกฮือขึ้นก่อการกบฏ เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากการถูกกดขี่บีฑาจากเหล่าบรรดาขุนนางกังฉินที่มีฮินฮุ่ยเป็นแกนนำ

ในที่สุดราชวงศ์ซ้องใต้ก็ล่มสลาย

ฉินฮุ่ยและภรรยาในขณะที่กำลังจะหนีพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติที่ขายชาติและโกงกินมามากมายเพื่อไปเสวยสุขยังประเทศไต้กิม แต่ท้ายที่สุดก็ไปไม่รอดถูกประชาชนจับได้และลงประชาทัณฑ์จนตาย

ศพของ 2 ผัวเมียถูกนำไปแขวนไว้ที่กำแพงเมือง ให้แร้งกาจิก ให้ประชาชนที่เคียดแค้นขว้างปาศพ

ส่วนคุณความดีของวีรบุรุษงักฮุยนั้น คนจีนไม่ต้องการให้ลูกหลานลืมเลือน จึงได้สร้างศาลเจ้างักฮุยไว้ในเมืองหางโจว ริมทะเลสาบซีหู บริเวณหลุมศพงักฮุยเพื่อให้ลูกหลานได้รำลึกถึงในวีรกรรม

ศาลเจ้างักฮุยนอกจากจะมีรูปปั้นของงักฮุยตั้งตระหง่านให้คนเคารพ คารวะดวงวิญญาณแล้ว ข้างหลุมศพงักฮุยยังมีรูปหล่อของฉินฮุ่ยกับภรรยาและขุนนางกังฉินอีก 2 คน นั่งคุกเข่าเอามือไพล่หลังอยู่

เวลาคนจีนมาคารวะดวงวิญญาณงักฮุยแล้ว ก็มักจะไม่ลืมไปที่รูปหล่อฉินฮุ่ยกับภรรยาเพื่อถ่มน้ำลายใส่ ก่นด่า บางคนถึงขนาดกระโดดถีบก็มี

นับเป็นความเคียดแค้นฝังลึกที่คนจีนมีต่อฉินฮุ่ยและภรรยา ซึ่งความแค้นที่เข้ากระดูกดำเช่นนี้ทำให้คนจีนได้ถ่ายทอดเรื่องราวของคนขายชาติฉินฮุ่ยและภรรยาให้ลูกหลานฟังต่อๆกันมา เพื่อเป็นอุทาหรณ์และเตือนสติ

เท่านั้นยังไม่พอคนจีนในอดีตหลังยุคราชวงศ์ซ้องใต้ยังได้คิดค้นขนมขึ้นมาชนิดหนึ่ง เป็นการนำแป้ง 2 ชิ้นมาประกบติดกัน แล้วใส่ลงไปในน้ำมันร้อนๆเดือดพล่าน ทอดให้สุกก่อนจะนำมาฉีกกินอย่างหนำใจ

แป้ง 2 ชิ้น แทนคนขายชาติฉินฮุ่ยและภรรยา ที่ต้องใส่ทอดในน้ำมันร้อนๆเพราะต้องการให้ทั้งคู่ทุกข์ทรมานเหมือนอยู่ในขุมนรกที่ร้อนสุดขั้ว และเมื่อทอดสุกแล้วต้องนำมาเคี้ยวกินให้หายแค้นเหมือนกำลังกินคนขายชาติ

ขนมชนิดนี้ คนจีนเรียกกันว่า“อิ่วจาก้วย” ส่วนคนไทยเรียกเพี้ยนว่า“ปาท่องโก๋” ซึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะมาจากในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่คนจีนจะนิยมขายอิ่วจาก้วยคู่กับปาท่องโก๋แท้ๆ(ภาษากวางตุ้งเรียกปั๋กถ่องโกว้)ที่เป็นแป้งนึ่งตามที่คนตรังเรียกขาน ทำให้คนไทยยุคนั้นเรียกขานสลับไปมาระหว่างอิ่วจาก้วยกับปาท่องโก๋(แท้ๆ) ก่อนจะเรียกอิ่วจาก้วยเป็นปาท่องโก๋อย่างถาวรในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศในยุคต่อๆมา ส่วนคนตรังนั้นเขายังคงเรียกขานปาท่องโก๋(แท้ๆ)และอิ่วจาก้วยตามสำเนียงจีนต้นแบบ

เวลาผมไปเมืองตรังทีไรผมมักจะไม่พลาดการดื่มโกปี๊คู่กับหมูย่าง ติ่มซำ พร้อมด้วยปาท่องโก๋(แท้ๆ)กับอิ่วจาก้วย

ส่วนหากเป็นยามเช้าปกติที่กรุงเทพฯก็จะดื่มกาแฟคู่ไปกับปาท่องโก๋ตัวคู่และซาลาเปาทอดทั่วๆไป แต่ในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ เวลากินกาแฟกับปาท่องโก๋ตัวคู่คราใด ในหัวสมองมักจะอดนึกไปถึงเรื่องราวของวีรบุรุษงักฮุยและคนขายชาติฉินฮุ่ยกับภรรยาไม่ได้ ซึ่งผมกลัวว่าในอนาคตบางทีปาท่องโก๋ของเมืองไทยอาจจะเปลี่ยนรูปแบบไป

จากปาท่องโก๋แป้งประกบเป็นคู่ที่เรากินกันในปัจจุบัน จะกลายเป็นปาท่องโก๋แป้งสี่เหลี่ยม(จัตุรัส)หรือปาท่องโก๋ตัวเหลี่ยมทอดในน้ำมันร้อนๆที่เดือดพล่านแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น