xs
xsm
sm
md
lg

ผีในบ้าน...ศาลพระภูมิ ศาลผี/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี

“ผี”!!!

คำๆนี้อาจจะฟังดูน่ากลัวสำหรับคนทั่วไป แต่น่าแปลกตรงที่ชีวิตคนไทยส่วนใหญ่ล้วนใกล้ชิดและผูกพันกับผีสางเทวดาโดยไม่รู้ตัวแถมยังไม่รู้สึกหวาดกลัวใดๆอีกด้วย เพราะจริงๆแล้วผีที่เราผูกพันนั้นไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล แต่อยู่ที่หน้าบ้านของเรานี่เอง!!!

1…

คนไทยและคนในอุษาคเนย์นับแต่อดีตกาลมีความเชื่อว่า ตามฟ้า ดิน น้ำ ภูเขา ต้นไม้และอาคารบ้านเรือน มีผีและเจ้าที่เจ้าทางปกปักรักษาอยู่

ความเชื่อนี้ได้สืบทอดหยั่งรากลึกมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นหนึ่งในวิถีไทย

เมื่อผนวกกับความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์และพุทธ ก็ทำให้เกิดพิธีการอัญเชิญภูตผีเจ้าที่เจ้าทางและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในมาประทับใน“ศาล”เวลาสร้างบ้านสร้างเมือง รวมไปถึงการสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ

แน่นอนว่าสิ่งเห็นกันอย่างเจนตาและผูกพันคุ้นเคยกับคนไทยมากที่สุดในความเชื่อนี้ก็คือ“ศาลพระภูมิ”และ “ศาลผี” ที่ตั้งอยู่ที่หน้าบ้านของชาวไทยพุทธส่วนใหญ่

ตั้งแต่จำความได้ผมก็เห็นศาลพระภูมิตั้งอยู่ที่หน้าบ้านแล้ว และก็ไม่ใช่หน้าบ้านของเราคนเดียวแต่บ้านของคนอื่นก็มีเหมือนกัน

อันพระภูมิที่หมายถึงผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินหาใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านธรรมดาไม่ หากแต่เป็นผีชั้นสูงที่เทียบเคียงกับเทพเทวดา ตามคติตามคติความเชื่อทั้งทางพุทธและพราหมณ์ที่พัฒนาและเสริมแต่งต่อๆกันมา พร้อมกันนี้ยังได้ปรับเปลี่ยนคำนำหน้าจาก“ผี”ให้เป็น”พระ”อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น พระหลักเมือง พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง หรือ พระภูมิ ล้วนต่างเป็นผีในชั้นสูงทั้งนั้น

สำหรับคติความเชื่อในการตั้งศาลพระภูมิ ตามหลักฐานเชื่อว่าน่าจะเริ่มขึ้นสมัยอยุธยาในภาคกลางก่อนภาคอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่าพระภูมิเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้าน จึงได้สร้างศาลพระภูมิขึ้นมาเพื่อให้เป็นที่สิงสถิตของผีเจ้าที่หรือเทพารักษ์ เพื่อปกปักรักษาคนในบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขและมีความเจริญรุ่งเรือง

การตั้งศาลพระภูมิ จะใช้“หมอศาล”มาเป็นผู้ทำพิธีที่ก็เป็นไปได้ทั้งพระ พราหมณ์ และฆราวาสผู้ตั้งมั่นในศีลในธรรม โดยจะตั้งในทิศตะวันตกและจะสร้างเป็นศาลเสาเดียว ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดัดแปลงมาจากคติจักรวาลที่หมายถึงยอดเขาพระสุเมรุอันเป็นที่ประทับของพระอินทร์ รวมถึงวิมานของเทพเทวดาในสวรรค์ชั้นต่างๆที่ตั้งอยู่บนเสาต้นเดียว(ปรากฏอยู่ในภาพเขียนไตรภูมิหลังพระประธานตามโบสถ์ในหลายๆวัด) เมื่อพระภูมิเป็นผีชั้นสูงที่ถูกยกย่องให้อยู่ในระดับเทพเทวดาที่อยู่ของพระภูมิหรือศาลพระภูมิจึงมีเสาเดียวตามไปด้วย

ในอดีตบ้านเรือนคนไทยสร้างด้วยไม้ เมื่อสร้างศาลให้ผีเจ้าที่หรือเทพารักษ์ก็จะทำเป็นเรือนไม้หลังเล็กๆ แต่พอคนไทยหันมานิยมบ้านปูน ศาลพระภูมิก็ปรับเปลี่ยนเป็นศาลปูนตาม แต่กระนั้นก็ยังมีบ้านที่สร้างศาลเป็นเรือนไม้อยู่ไม่น้อย บ้านไหนมีฐานะก็สร้างศาลติดหรูหรานิดๆ เป็นศาลทรงปราสาท ทรงวิมาน ศาลจัตุรมุข ศาลทรงปรางค์

ในขณะที่บ้านไหนมีกำลังทรัพย์น้อย ก็จะสร้างศาลพระภูมิแบบง่ายๆ เอาไม้มาตีเป็นทรงสี่เหลี่ยมมุงหลังคาด้วยไม้ตีประกบเป็นจั่ว หรือไม้ก็พับสังกะสีทำเป็นจั่ว ส่วนบางบ้านก็ทำง่ายๆแต่ดูมีดีไซน์ไม่น้อย เช่นนำครอบกระเบื้องทำเป็นหลังคา ใช้ปี๊บตัดเป็นทรงจั่วทำหลังคา เรียกว่าศาลพระภูมิจะสร้างออกมาเป็นเรือนแบบไหนไม่สำคัญเท่าจิตศรัทธาที่มีต่อพระภูมิเทพารักษ์

หันมาดูที่ด้านศาลผีกันบ้าง สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่างศาลพระภูมิกับศาลผีก็คือ ศาลพระภูมิมีเสาเดียวตั้งสูงในระดับสายตาหรือเหนือกว่าเล็กน้อย ส่วนศาลผีนั้นจะมี 4 เสา สร้างในลักษณะของบ้านทั่วไป และตั้งต่ำกว่าศาลพระภูมิ เพราะเป็นศาลผีปู่ย่าตายาย ผีบรรพบุรุษ ที่มีระดับชั้นต่ำกว่าศาลพระภูมิ ส่วนถ้าเป็นศาลผีเร่ร่อนจะนิยมสร้างมี 6 เสา หรือ 8 เสา

เดิมนั้นค่านิยมการตั้งศาลผีบรรพบุรุษจะนิยมกันตามชนบทหรือตามบ้านในต่างจังหวัด ส่วนคนเมืองจะนิยมตั้งศาลพระภูมิเพียงศาลเดียว แต่ในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมาค่านิยมการตั้งศาลพระภูมิคู่ไปกับศาลผีได้แพร่หลายไปในสังคมไทย

ด้วยเหตุนี้บ้านใหม่ของผมจึงมีศาลพระภูมิและศาลผีตั้งอยู่คู่กัน

2…

นอกจากผีในบ้านที่มีศาลพระภูมิและศาลผีบรรพบุรุษแล้ว ตามจุดต่างๆทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ที่คนในพื้นที่เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์หรือมีเจ้าที่แรง ก็จะมีการตั้งศาลให้เจ้าที่เจ้าทางสิงสถิตและให้คนที่ผ่านไปมากราบไหว้ ซึ่งความเชื่อนี้มีคู่กับสังคมไทยมาตั้งแต่โบราณนานนม

ใครที่ชอบขับรถเที่ยวขึ้นเหนือล่องใต้ เชื่อว่าคงจะเคยบีบแตร 3 ครั้ง แสดงความเคารพกับเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ หรือเจ้าที่อื่นๆ ที่ประทับอยู่ตามศาลริมหรือศาลตามโค้งร้อยศพที่ขึ้นชื่อในเรื่องความเฮี้ยน

ส่วนใครที่ชอบเที่ยวป่าหรือเที่ยวตามอุทยานแห่งชาติก็จะพบว่าในพื้นที่ที่คนไปอยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านในป่าหรือที่ทำการอุทยานฯ ส่วนใหญ่จะมีการตั้งศาลเพื่อให้เจ้าพ่อ-เจ้าแม่-เจ้าป่า-เจ้าเขาในผืนป่านั้นๆมาประทับเพื่อให้คอยปกปักรักษาผู้คนในพื้นที่และให้ผู้ที่ผ่านไปมากราบไหว้บูชา

นอกจากนี้ตามต้นไม้ใหญ่อายุเก่าแก่ ก็นับเป็นอีกหนึ่งจุดที่คนนิยมไปตั้งศาลกัน ไม่ว่าจะเป็นศาลเจ้าพ่อตะเคียน ศาลเจ้าแม่ต้นไทร ศาลเจ้าพ่อต้นโพธิ์

สำหรับความพิเศษในศาลเจ้าที่ใต้ต้นไม้ใหญ่นอกจากจะมีคนนำดอกไหว้ ธูปเทียน พวงมาลัย หรือของเซ่นไหว้ ไปสักการะบูชาและผ้าแพรหลากสีไปผูกไว้ที่โคนต้นแล้ว ตามศาลใต้ต้นไม้ใหญ่หลายๆต้นยังมีคนไปบนบานขูดต้นไม้ขอหวยกันเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว

ทั้งนี้เรื่องราวของศาลพระภูมิ ศาลผี หรือศาลเจ้าที่เจ้าทางนั้น ใครไม่เชื่อ ก็อย่าลบหลู่เป็นดีที่สุด เพราะนี่คือวิถีที่หยั่งรากลึกลงในสังคมไทยมาช้านานแล้ว

ฉะนั้นการที่ผมได้เห็น คนนำดอกไม้ ธูปเทียน และพวงมาลัยไปกราบไหว้บนบานต่อศาลต้นไทรที่อยู่ใกล้ๆกับออฟฟิศเมื่อไม่กี่วันมานี้ หากมองกันตามคติความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผีที่ผูกพันกับคนไทยมาช้านานแล้ว ผมว่านี่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อันใดสำหรับสังคมไทยเลย

แต่การที่มีคนนำพวงหรีดไปวางไว้ที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญในเย็นวันที่ 16 ก.พ. 49 นี่สิ ผมถือว่าเรื่องนี้น่าแปลกเป็นอย่างยิ่ง!!!

3…

นอกจากผีในบ้านที่มีศาลพระภูมิและศาลผีบรรพบุรุษแล้ว ปัจจุบันนี้ตามอาคารหรือสถานที่ที่กว้างขวางหรือที่มีพื้นที่มาก ยังนิยมตั้ง“ศาลพระพรหม”ไว้ให้คนสักการะบูชากันอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงงาน ธนาคาร ฯลฯ เพื่อให้ทำมาค้าขึ้นและเพื่อความรุ่งโรจน์ โดยการตั้งศาลพระพรหมนั้นต้องมีการกั้นเขตเป็นสัดส่วนและอยู่สูงกว่าระดับสายตาของมนุษย์หรืออยู่สูงเกินกว่าระดับที่พื้นที่ของมนุษย์ เพราะศาลพระพรมเป็นเขตของเทพไม่ใช่เขตของมนุษย์

ในขณะที่ทำเนียบรัฐบาลก็มีการตั้งศาลพระพรหมไว้ให้ครม. ส.ส. นักการเมือง และประชาชนทั่วไปสักการะบูชาเช่นกัน โดยในเช้าของวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา ณ ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้ถือฤกษ์ให้พนักงานขึ้นไปเช็ดถูทำความสะอาดศาลพระพรหมประจำทำเนียบฯกันยกใหญ่

หลายๆคนให้ความเห็นว่านี่เปรียบเสมือนการปัดเป่าเอาสิ่งชั่วร้ายและเสนียดจัญไรให้พ้นออกไปจากทำเนียบฯ ซึ่งถือเป็นการแก้เคล็ดทางหนึ่งของรัฐบาล ในขณะที่ผมกลับมองว่าต่อให้นายกฯปัดกวาดเช็ดถูศาลพระพรหมกันในทุกเมื่อเชื่อวันก็ไม่สามารถขับไล่เสนียดจัญไรในทำเนียบฯออกไปได้ เพราะเสนียดจัญไรนั้นหาได้อยู่ที่ตัวศาลไม่ หากแต่อยู่ที่ตัวคนบางคนในทำเนียบมากกว่า!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น