xs
xsm
sm
md
lg

"วัดหน้าพระเมรุ"ความงามแห่งกรุงศรีฯที่ไม่ถูกทำลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา อดีตราชธานีเก่าแห่งสยามประเทศ ในยุคที่รุ่งโรจน์นั้น ล้วนเต็มไปด้วย วัดวาอาราม และปราสาทราชวังมากมาย

แต่หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาต้องมาแตกลงในการเสียกรุงฯครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2310 ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จะทรงกอบกู้สยามประเทศได้ได้ในปลายปีเดียวกัน

การเสียกรุงครั้งที่ 2 ยังความสูญเสียแก่เมืองกรุงศรีอยุธยาอย่างใหญ่หลวง เพราะถูกพม่าทำลาย บ้านเรือน และปราสาทราชวังจนย่อยยับ หลงเหลือไว้เพียงซากแห่งความรุ่งโรจน์ทิ้งไว้เป็นอุทาหรณ์แด่อนุชนรุ่นหลัง ซึ่งในปัจจุบันสามารถสัมผัสกับซากอดีตอันรุ่งโรจน์เหล่านั้นได้ในพื้นที่เกาะเมืองของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

แต่หากว่าอยากจะสัมผัสกับอดีตแห่งกรุงศรีอยุธยาที่ยังคงความงามยืนยาวมาจนถึงวันนี้โดยไม่ถูกเผาทำลาย ก็ให้ไปที่ "วัดหน้าพระเมรุ" บริเวณนอกเกาะเมือง เพราะนี่เป็นเพียงวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยา ที่รอดจากการถูกเผาทำลายอย่างไม่น่าเชื่อ สำหรับสาเหตุนั้นได้มีการบันทึกไว้ที่วัดหน้าพระเมรุว่า เนื่องมาจากตั้งอยู่ใกล้พระราชวังหลวง และพม่ายังได้ใช้วัดแห่งนี้เป็นที่ตั้งกองทัพ ทำให้ไม่ถูกทำลายด้วยประการทั้งปวง ด้วยเหตุนี้วัดหน้าพระเมรุจึงยังคงมีงานศิลปกรรมของสมัยอยุธยาแท้ๆ ตกทอดมาให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ชมกันจนทุกวันนี้

"วัดหน้าพระเมรุราชิการาม" หรือที่รู้จักกันว่า "วัดหน้าพระเมรุ" เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตามประวัติกล่าวว่า พระองค์อินทร์ในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 รัชกาลที่ 10 แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงสร้างเมื่อพ.ศ.2046 (อยุธยาตอนต้น) ประทานนามว่า วัดพระเมรุราชิการาม มีอายุกาลถึง 485 ปี

วัดหน้าพระเมรุมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์คือ พระมหาจักรพรรดิ์ได้ใช้สถานที่แห่งนี้เจรจาสงบศึกเมื่อพ.ศ.2106 และในอีกตอนหนึ่งคือ เมื่อคราวสมเด็จพระเจ้าอะลองพญามาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อพ.ศ.2303 พม่าได้ยกเอาปืนใหญ่มาตั้งที่วัดพระเมรุราชิการามกับวัดหัสดาวาส (วัดช้าง) พระเจ้าอะลองพญาทรงบัญชาการและทรงจุดปืนใหญ่เอง แต่ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ เมื่อพระองค์จุด ดินระเบิดเกิดระเบิดขึ้น จนทำให้ปากกระบอกปืนแตก สะเก็ดระเบิดลุกเป็นไฟ ต้องพระวรกายบาดเจ็บสาหัสประชวรหนักในวันนั้น พอรุ่งขึ้นพม่าเลิกทัพกลับไปทางเหนือ แต่ยังไม่ทันพ้นเมืองตาก พระเจ้าอะลองพญาก็สิ้นพระชนม์ระหว่างทาง

ด้วยบุญญาธิการอันศักดิ์สิทธิ์แห่งหลวงพ่อพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ พระประธานในพระอุโบสถ จึงทำให้กรุงศรีอยุธยารอดพ้นจากข้าศึกมาตลอด วัดหน้าพระเมรุจึงเป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าทำลาย

วัดหน้าพระเมรุเด่นด้วยพระอุโบสถยาวประมาณ 50 เมตร กว้างประมาณ 16 เมตร มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง พระอุโบสถมีส่วนยาวและกว้างมาก ไม่มีหน้าต่างอย่างพระอุโบสถทั่วไป แต่มีช่องลมยาวตามส่วนตั้งของพระอุโบสถ ทำให้มีอากาศถ่ายเท ไม่อับ สันนิษฐานว่าผู้สร้างคงจะสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น หน้าบันเป็นงานฝีมือแกะสลักไม้เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหยียบเศียรนาค และมีรูปราหูสองข้างติดกับเศียรนาค ล้อมรอบด้วยหมู่เทพพนม 26 องค์ ซึ่งพระนารายณ์ถือเป็นเทพที่เป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ โดยพระองค์ทรงครุฑซึ่งเป็นสัตว์ที่มีอำนาจมากแต่ยอมรับใช้พระนารายณ์ เสาเหลี่ยมสองแถวแถวละแปดต้น มีบัวหัวเสาเป็นบัวโถแบบอยุธยาด้านบนประดับด้วยดาวเพดานเป็นงานจำหลักไม้ลงรักปิดทอง ติดกระจกสี

ภายในพระอุโบสถมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสำริด ภายนอกฉาบด้วยปูน ลงรักปิดทองปางมารวิชัยทรงเครื่องพระมหากษัตริย์ ปางมารวิชัย คือเป็นตอนที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสำเร็จพระอรหันต์ นิ้วจรดลงไปที่พื้น เพื่อให้พระแม่ธรณีเป็นพยานว่า พระองค์ตรัสรู้แล้ว

พระพุทธรูปองค์นี้มีหน้าตักกว้าง 9 ศอกเศษ สูง 6 เมตรเศษ พระนามว่า "พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ" หรือ พระพุทธนิมิตฯ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ที่สุดและยังเป็นหนึ่งใน Unseen Thailand อีกด้วย พระพุทธรูปทรงเครื่ององค์นี้มีพระลักษณะสวยงามมาก พระนามบ่งชัดถึงพระลักษณะอันพิเศษ มีพระอภินิหารเป็นสรณะที่พึ่งที่เคารพอย่างยิ่งแก่โลกทั้ง 3 เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง และคุ้มครองบ้านเมือง ทำให้ข้าศึกเกิดความเกรงกลัวไม่ทำลายวัดนี้ เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง

นอกจากพระพุทธนิมิตฯ อันซีนไทยแลนด์ที่โด่งดังมากในอยุธยาแล้ว ยังมี "พระคันธารราฐ" ที่ประทับอยู่ในวิหารวิหารสรรเพชญ์ หรือวิหารเขียน หรือวิหารน้อย ที่เรียกกันเช่นนี้เนื่องจากวิหารมีขนาดเล็กเพียง 6 เมตร ยาว 16 เมตรเท่านั้น ตั้งอยู่ข้างพระอุโบสถ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ทรงโปรดเกล้าให้พระยาไชยวิชิต (เผือก) เป็นแม่กองบูรณะ ปฏิสังขรณ์ และได้อัญเชิญพระคันธารราฐ พระพุทธรูปศิลาเขียวสมัยทวารวดี ปางปฐมเทศนา ประทับห้อยพระบาท พระยาไชยวิชิต (เผือก)จารึกว่าอัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุในอยุธยานั้นเอง และทว่ามีบันทึกในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าเดิมอยู่ที่วัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม

พระพุทธรูปศิลาสมัยทวารวดีเช่นพระคันธารราฐ ปรากฏในโลกเพียงหกองค์เท่านั้น คือ วัดพระปฐมเจดีย์ 3 องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา(อยุธยา) 1 องค์ ที่ประเทศอินโดนีเซีย 1 องค์ และที่วัดหน้าพระเมรุนี้อีก 1 องค์ ซึ่งกล่าวกันว่าเดิมพระคันธารราฐ เป็นพระพุทธรูปศิลาสีเขียว แต่เนื่องจากผ่านกาลเวลามานานจึงทำให้กลายเป็นสีเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั้งปัจจุบันดูคล้ายเป็นสีดำ แต่ถ้าลองไปดูใกล้ๆแล้วจะเห็นเป็นเม็ดเล็กๆสีเขียว เพราะทำจากหินทรายแกะสลัก เชื่อกันว่าหากสักการบูชาแล้วจะอายุยืน มั่นคงดั่งศิลา

วัดหน้าพระเมรุ เป็นวัดเดียวในพระนครศรีอยุธยาที่รอดพ้นจากการเผาทำลายของพม่าเมื่อครั้งเสียกรุง แต่เป็นเพียงวัดหนึ่งในอีกหลายๆวัดในจังหวัดอยุธยา เมืองแห่งประวัติศาสตร์และวัดวาอารามที่ควรค่ายิ่งต่อการอนุรักษ์ รักษาไว้สืบต่อไป

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

วัดหน้าพระเมรุ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครศรีอยุธยา หมู่ที่ 5 ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระอุโบสถเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 8.00 – 18.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์การท่องเที่ยวอยุธยา โทร. 0-3532-2730 ถึง 1 หรือ สำนักงาน ททท. ภาคกลางเขต 6 (อยุธยา) โทร. 0-3524-6076 ถึง 7 หรือ ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทร. 0-3533-6550 , 0-3533-6647 หรือ บริษัทสตูดิโอ107(ไทยแลนด์)จำกัด โทร.0-2246-1531 ถึง 2, 0-2643-0392 ถึง 3
กำลังโหลดความคิดเห็น