ตอนกลางคืนทำอะไรล่ะไอ้สัตว์
สารพันสารพัดสัตว์หน้าขน
ตอนกลางคืนทำอะไรล่ะไอ้คน
สาระวุ่นสาละวนมาทั้งวัน
อยากดูอะไรกันนักหนา
ตั้งแต่เห็นกันมาก็ฆ่าฉัน
ตั้งแต่แรกสบตาก็ฆ่ากัน
จนเราสิ้นเผ่าพันธุ์ไปหลายพงษ์
ฆ่าและฆ่า พอหายากกลับอยากดู
น่าอดสูพอใกล้สูญก็เสริมส่ง
คอยจ้องดูเราสืบพันธุ์สืบว่านวงศ์
กูละงง พวกงี่เง่าจะเอายังไง
กิน ขี้ ปี้ นอน ไม่ต่างกัน
วันทั้งวันคอยจ้องดูกันอยู่ได้
แถมกลางคืนยังมาจ้องคอยส่องไฟ
มาเบิ่งตาหาอะไรในราตรี
เดรัจฉานต้อยต่ำแต่กำเนิด
สัตว์มนุษย์ล้ำเลิศประเสริฐศรี
จะเอาไงพอเถอะไนท์ ซาฟารี
ค่ำคืนนี้ ส่ำสัตว์จะสืบพันธุ์
ไนท์ ซาฟารี : ศักดิ์สิริ มีสมสืบ กวีซีไรต์ปี 2535
สำหรับบางคนบทกวีคงไม่อาจช่วยกล่อมเกลาจิตใจได้
เพราะพอสิ้นเสียงการอ่านบทกวีไนท์ ซาฟารี ของ : ศักดิ์สิริ หลังรายการถึงลูกถึงคนในคืนวันถกปัญหาเดือดช่วงท้ายปี 48 ยังก่อให้เกิดปัญหาตามมาเมื่อ “ชัยพันธ์ ประภาสะวัต” ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิชุมชน ถูกลูกน้องของ “ปลอดประสพ สุรัสวดี” ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีใช้หมัดลุ่นๆตะบันหน้า
ณ วันนี้คงไม่ต้องพูดกันมากถึงสารพัดปัญหาของโครงการเชียงใหม่ ไนท์ซาฟารี ที่หลายๆคนต่างรู้ดีอยู่แล้ว เพรา ขนาดแค่อ่านบทกวียังมีปัญหา
แต่กระนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเชียงใหม่ ไนท์ซาฟารีนั้น เกิดขึ้นเพราะโครงการมีปัญหามาตั้งแต่ต้น หรือว่าผู้ที่เกี่ยวข้องรู้เห็นเด่นชัดในปัญหาที่เกิดขึ้นกลับนั่งทับปัญหาไว้ หรือผู้บริหารโครงการและผู้ริเริ่มโครงการนั่นแหละเป็นต้นตอของปัญหา !?!
แปลงอุทยานฯสุเทพ-ปุยเป็นทุน ปฐมบทแห่งการสร้างปัญหา
แรกเริ่มเดิมที่นั้นโครงการเชียงใหม่ ไนท์ ซาฟารี จ.เชียงใหม่ เกิดขึ้นจากแนวคิดของนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่มุ่งหวังจะให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ด้วยเงินลงทุน 1,155.9 ล้านบาท วางเป้าหมายให้สัตว์กลางคืนจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวและชาวต่างประเทศให้เข้ามาเที่ยวและพักค้างคืนในจังหวัดเชียงใหม่มากยิ่งขึ้น นั่นย่อมหมายถึงเม็ดเงินที่จะนำมาจับจ่ายใช้สอยในเมืองเหนือแห่งนี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน ประมาณการกันว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 230 ล้านบาทต่อปี และมีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า3,000,000 ล้านคนต่อปี
แต่พื้นที่ที่จะนำมาใช้ในการเนรมิตโครงการเชียงใหม่ ไนท์ ซาฟารีนั้นมาจากพื้นที่กว่า 819ไร่ของอุทยานสุเทพ-ปุย ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของพ.ร.บ.2504 ตรงจุดนี้เองที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นความไม่ถูกต้องของการนำผืนป่าซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติมาให้หาผลประโยชน์
นิคม พุทธา ผู้จัดการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สาขาภาคเหนือ ให้ความเห็นว่า
“เขาใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีร่างพระราชกฤษฎีกาตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ เรียกว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(อพท.)โดยทำให้เป็นองค์กรมหาชน แล้วเอาโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้การบริหารของกระทรวงทรัพยากร ดึงเอาไปอยู่ภายใต้การบริหารของ อพท. ซึ่งทำให้จัดการอะไรได้ง่ายขึ้น หมายความว่าเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในพื้นที่อุทยานซึ่งเป็นสมบัติของคนทั้งชาติ
“ตรงจุดนี้ผมถึงบอกว่ารัฐบาลมีเจตนาจงใจที่จะหลีกเลี่ยง ที่จะไม่ใช้กฎข้องบังคับของกฎหมายเดิม อันนี้ก็คือ ขัดต่อกฎหมายอุทยานแห่ง 2504 คือเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าไปลงทุน มีการเปลี่ยนแปลงสภาพป่า ปรับถนน สร้างเขื่อน ซึ่งในกฎหมาย ห้ามมิให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพป่า คือ กฎหมายอุทยานแห่งชาติ จะเน้นรักษาสภาพเดิมของระบบนิเวศเอาไว้ให้ได้ คือ วัตถุประสงค์ของอุทยานแห่งชาติต้องรักษาป่าสภาพเดิมเอาไว้ อันที่สองอุทยานแห่งชาติจะต้องมีการจัดการการศึกษา อันที่สามถึงจะพัฒนาท่องเที่ยวภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดของกฎหมายและก็ศักยภาพในพื้นที่ ทีนี้ไนท์ซาฟารีมีการพัฒนา มีการทำแหล่งน้ำก็ขัดต่อกฎหมาย
“อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นข้อปลีกย่อยว่าในเขตอุทยานแห่งห้ามมิให้นำพืชและสัตว์ต่างถิ่นเข้าไป ปรากฏว่าไนท์ซาฟารีเอาสัตว์ป่าต่างประเทศ แล้วก็พันธุ์พืชต่างถิ่นเข้าไปในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ อีกประเด็นหนึ่ง ก็คือ กฎหมายสิ่งแวดล้อม พรบ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมปี 35 กำหนดไว้ว่าการดำเนินการใดๆ ก็ตามที่เป็นโครงการลักษณะใหญ่ แล้วก็คาดว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ ต่อธรรมชาติ ต่อผืนดิน น้ำป่า ต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ว่าโครงการไนท์ซาฟารีภายใต้การดำเนินงานของ อพท. ไม่ทำ นอกจากนี้ยังไม่ยอมทำอีไอเอ ตามกฎหมาย สิ่งแวดล้อมปี 35 และยังผิดกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ห้ามมิให้ใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าเชิงธุรกิจการค้า แต่ว่าไนท์ซาฟารีมีการซื้อขายแลกเปลี่ยน ขนย้าย กักขัง แลกเปลี่ยนสัตว์ป่าทั้งในและต่างประเทศ”
น้ำท่วม-น้ำแล้ง ปัญหาที่ชาวเชียงใหม่ต้องเผชิญ
เนื่องจากโครงการเชียงใหม่ ไนท์ ซาฟารีเป็นโครงการขนาดใหญ่ ในแต่ละวันจำเป็นต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก ซึ่งในเอกสารรายงานประมวล สรุปสถานการณ์เกี่ยวกับสัตว์ป่าและกิจกรรมอื่นๆในโครงการสวนสัตว์เชียงใหม่ ไนท์ ซาฟารี จัดทำโดยมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้กล่าวถึงการจัดหาน้ำของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล อันเป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาแหล่งน้ำให้กับโครงการฯนั้น ระบุว่าจะต้องจัดหาน้ำให้ได้วันละ 100,000 ลิตร ซึ่งนอกจากอ่างเก็บน้ำ 5 แห่งแล้ว ยังมีการดึงน้ำจากประปาเชียงใหม่และมีการผันน้ำจากฝายแม่เหียะด้วย
ด้วยตัวของจังหวัดเชียงใหม่เองถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง ทั้งจากในตัวเมืองเองที่ต้องใช้น้ำในการดำรงชีวิตและจากเกษตรที่จำเป็นต้องใช้น้ำในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ทำให้ในปีที่ผ่านมาเกษตรจาก 3 ตำบลประกอบด้วยต.สุเทพ ต.ช้างเผือกและ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ใกล้โครงการดังกล่าว ต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ
แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝน ชาวบ้านกว่า 500 คนในแถบพื้นที่ดังกล่าวก็ยังต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมอันเนื่องมาจากการก่อสร้างโครงการเชียงใหม่ ไนท์ ซาฟารี และโครงการพืชสวนโลกซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนบนของชุมชน
ธนวัฒน์ ยอดใจ นายกอบต.แม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ เปิดเผยว่าทุกครั้งที่เกิดฝนตกจะมีน้ำจากสถานที่ก่อสร้าง โดยเฉพาะพื้นที่บนดอยคำซึ่งเป็นจุดสูงสุดที่มีการปรับสภาพพื้นที่ให้เชื่อมต่อสถานที่ก่อสร้างมหกรรมพืชสวน น้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านได้รับความเสียหาย ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อนเพราะมีภูเขาและต้นไม้เป็นกำแพงกั้นน้ำไว้ตามธรรมชาติ แต่เมื่อมีการสร้าง ทำให้ต้องตัดต้นไม้ไปเป็นจำนวนมาก และการวางแบบแปลนการก่อสร้างทั้ง 2 โครงการนี้ยืนยันว่า ท้องถิ่นไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นโครงการยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินการระดับกระทรวง แต่ผลกระทบมาตกอยู่ที่ชาวบ้านตาดำๆ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 20 ล้านบาท
ด้านชัยพันธ์ ประภาสะวัต ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิชุมชน และประธานเครือข่ายประชาคมเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า
“มันเหมือนเอาหินก้อนหนึ่งไปขวางทางน้ำที่มันจะไหลลงมาตามธรรมชาติ จะมาอ้างว่าฝนตกเยอะ แต่ไม่ว่าจะเยอะแค่ไหนก็ไม่เคยท่วม แต่น้ำไม่มีทางไปก็ต้องไหลเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้น ซึ่งเป็นผลมาจากการไม่ได้ศึกษาผลกระทบของสิ่งแวดล้อม คือแต่เดิมน้ำจากดอยสุเทพ-ปุย จะไหลลงไปที่แม่น้ำปิง แต่พอมีคลองชลประทานไปขวางก็เลยไหลลงคลองชลประทาน แต่พอตอนหลังคลองชลประทานเองก็ตีปีกถมขึ้นมาทำเป็นเขื่อน ไม่พอยังมีไนท์ซาฟารี 819 ไร่ มีหมู่บ้านจัดสรร เต็มไปหมดเลย
“พูดง่ายๆก็คือไปขวางทางน้ำ ทีนี้เวลาฝนตกน้ำก็ไปได้ 2 ทาง คือ 1 ไปทางสุเทพปุย ก็คือ ถนนสุเทพ น้ำก็ไหลลงมาท่วมถนนกลายเป็นคลอง แล้วก็ทะลักลงคลองชลประทาน ทางซ้ายก็ไหลลงมาทางลำห้วยแล้วล้นลงมาในคลองชลประทานเหมือนกัน ทีนี้น้ำก็มาบรรจบกันอยู่คลองชลประทานซึ่งปริมาณจากแม่แตงก็มาเยอะแล้ว สุดท้ายก็เลยล้นเข้าคลองซอย ล้นคลองซอยก็ไปท่วมแถวบ้านแหวน แถวหางดง แถวบ้านถวาย จะมาบอกว่าฝนตกเยอะ มันก็เยอะ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยท่วม”
หน้าแตก เคนยาระงับการส่งสัตว์
เมื่อมีสวนสัตว์ แน่นอนว่าย่อมจะต้องมีสัตว์ถูกจัดแสดงและดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่ของสวนสัตว์เป็นแน่ แต่การที่จะได้มาซึ่งสัตว์ของสวนสัตว์เชียงใหม่ ไนท์ ซาฟารีนั้น ยังเป็นประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงถึงความไม่เหมาะสมและหลายเสียงออกมาประณามว่าเป็นการทารุณสัตว์ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศเคนยา ที่ไทยฝันว่าจะได้สัตว์ป่าหายาก อาทิ ม้าลาย, นกฟลามิงโก, ไฮยีน่า, หมาจิ้งจอก และกวางอิมพาลา มาเป็นดาวของสวนสัตว์เชียงใหม่ ไนท์ ซาฟารี แต่ก็ถูกเบรกจากศาลกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา โดยนั่งบัลลังก์ให้ระงับการส่งสัตว์ 175 ตัวมายังประเทศไทย เพื่อรอผลตัดสินตามคำฟ้องร้องของบรรดานักอนุรักษ์ฯ ที่กล่าวหาว่าข้อตกลงส่งมอบสัตว์ป่าดังกล่าวถือเป็นการละเมิดกฎหมาย และมองว่าข้อตกลงอื้อฉาวนี้ไม่ต่างจากการยกมรดกของเคนยาให้กับไทย นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการทำร้ายสัตว์ป่า และภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นหัวใจที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ
และไม่เพียงแต่ประเด็นการนำเข้าสัตว์ป่าจากเคนยายังเป็นข้อถกเถียงและรอคำวินิจฉัยจากศาลกรุงไนโรบีเท่านั้น แต่ประเด็นเชื้อโรค-โรคระบาดที่มีสัตว์จากเคนยาเป็นพาหะก็ยังเป็นอีกเรื่องที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากประเทศเคนยาได้ชื่อว่า “Paradise of Diseases”(สวรรค์แห่งเชื้อโรค) ซึ่งถือเป็นแหล่งโรคระบาดสัตว์ที่มีการระบาดของโรคประจำถิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก และหากกระบวนการจับสัตว์ การกักโรค การตรวจโรคเพื่อจะนำเข้าไทยไม่รัดกุม อาจทำให้เกิดโรคระบาดใหม่ๆในประเทศไทยก็เป็นได้
สำหรับการลงนามข้อตกลงฉบับนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยนายมอร์ริส ดีโซโร รัฐมนตรีสัตว์ป่าและการท่องเที่ยวแห่งเคนยา จรดปากการ่วมกับนายยงยุทธ ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ในกรุงไนโรบี ภายใต้คำมั่นว่าด้วยการร่วมมือกันด้านการจัดการชีวิตสัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ
นอกจากสัตว์จากประเทศเคนยาแล้ว ยังมีการเจรจากับประเทศออสเตรเลียเพื่อส่งช้างไทยจำนวน 9 เชือกไปแลกเปลี่ยนกันนั้น ยังคงเป็นประเด็นที่คลางแคลงใจว่าเพื่อสัมพันธไมตรีแต่ทำไมถึงมีเรื่อง “เงิน”มาเกี่ยวข้อง
เมื่อรวมกับการเลื่อนเปิดให้บริการของโครงการฯ ก็ดูจะยิ่งทวีความคลุมเครือยิ่งขึ้น เมื่อพบว่าในรอบปีที่ผ่านมามีการเลื่อนเปิดมาแล้วถึง 4 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดให้สาเหตุว่าต้องรอให้น้ำพุสร้างเสร็จเสียก่อน ซึ่งอาจจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ราวเดือนเมษายน 2549 แต่จะเริ่มเก็บค่าเข้าชมในอัตราคนไทย 250 บาท ต่างชาติ 500 บาทตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 49
ล่าสุดทางผู้บริหารโครงการฯได้ออกมาประกาศว่าจะเชียงใหม่ ไนท์ ซาฟารี จะเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ก.พ.49 ช่วงประชุมครม.สัญจร โดยนายกรัฐมนตรีเจ้าของแนวคิดโครงการนี้ ซึ่งโรคเลื่อนซ้ำซากของการเปิดอย่างเป็นทางการก็นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาของโครงการนี้ เพราะที่ผ่านมาเชียงใหม่ ไนท์ ซาฟารี ได้เลื่อนเปิดมาแล้วกว่า 4 ครั้ง โดยครั้งแรกบอกจะเปิดช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 48 ไปๆมาๆกลายมาเป็นวันที่ 16 พฤศจิกายนหรือในช่วงเทศกาลลอยกระทงปี 48 แต่ตอนหลังเปลี่ยนมาเป็นวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม 49 ก่อนที่จะเลื่อนไปเกิดอีกทีในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 49 แต่สุดท้ายก็(คาดว่า)จะมาลงเอยในวันที่ 6 ก.พ. 49
สำหรับกำหนดการเปิดอย่างเป็นทางการคราวนี้ ก็ได้แต่หวังว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศสับสนอีก
เมนูสยองเปิบพิสดารสัตว์ป่า
ในการออกมาคัดค้านการส่งสัตว์ป่ามาไทยของประเทศเคนยานั้น ไม่เพียงแต่มองว่าเป็นการทำร้ายสัตว์ป่าเท่านั้น แต่ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องเมนูเปิบพิสดารที่ทางผู้บริหารโครงการฯออกมาเสนอแนวคิดว่าในร้านอาหารซึ่งตั้งอยู่ในสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ ซาฟารี นั้นน่าจะมีเมนูเปิบสัตว์ป่า อย่างเช่น ยีราฟ, ม้าลาย,จระเข้ ,งู และเนื้อสุนัข โดยเนื้อสัตว์เหล่านี้จะนำเข้ามาจากประเทศเคนยา ส่วนเนื้อสุนัขจากท่าแร่ จ.สกลนคร
จากแนวคิดพิสดารดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายทั้งจากประเทศเคนยาและประเทศไทยเอง ออกอาการแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน โดยมองว่าการสร้างสวนสัตว์ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้วิถีชีวิตสัตว์ป่า แต่การกินเนื้อสัตว์ป่า ซึ่งหลายชนิดก็เป็นประเภทเดียวกับส่วนจัดแสดง ดูจะเป็นการทารุณโหดร้ายและขัดกับความรู้สึกของสังคมพุทธ
แม้ภายหลัง ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีจะยอมออกมาถอดเมนูดังกล่าว แต่ก็เต็มไปด้วยอารมณ์โกรธเกรี้ยวพร้อมกับยืนยันจะไม่ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ พร้อมกับย้ำว่าไม่ได้รู้สึกเสียหน้าแต่อย่างใด
ทุ่มเม็ดเงินกว่าหมื่นล้าน หวังสร้างเชียงใหม่เวิลด์
ไม่เพียงแต่โครงการเชียงใหม่ ไนท์ ซาฟารีเท่านั้นที่ก่อเกิดเป็นรูปร่างขึ้นมาในจังหวัดเชียงใหม่ด้วยเวลาอันรวดเร็ว แต่ยังมีอีกสารพัดโครงการและเม็ดเงินกว่าหมื่นล้านบาทที่พร้อมผลักดันเป็นจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลก ภายใต้โครงการ “เชียงใหม่เวิลด์” ครอบคลุมพื้นที่ 23,000 ไร่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพจนถึงกึ่งกลางดอยสุเทพ
ประกอบไปด้วย 14 โครงการย่อย ได้แก่อุทยานช้างมูลค่าการลงทุน 600 ล้านบาท แว่วว่าจะถึงช้างจำนวนมากให้มารวมตัวกันเพื่อจัดทำเป็นสวนแสดงช้าง,โครงการพืชสวนโลก งบ 500ล้านบาท,โครงการวารีบำบัด,โครงการธีมปาร์ค , โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ งบ1,450 ล้านบาท,อุทยานวิทยาศาสตร์ งบ 7,000 ล้านบาท,โครงการก่อสร้างถนนวงแหวนด้านตะวันตก งบ 332 ล้านบาท,โครงการถนนเลี่ยงเส้นทางหลักเชียงใหม่-แม่ริม,โครงการห้องพัก-ร้านอาหารในสวนสัตว์ฯ 715 ล้านบาท ,โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนแบบรถไฟรางเดี่ยว 200 ล้านบาท,โครงการกระเช้าลอยฟ้า 1,000 ล้านบาท,โครงการศูนย์กลางไม้ตัดต่อไม้ประดับพืชเกษตร 300 ล้านบาท
แต่ที่เป็นสิ่งที่ขัดกับความรู้สึกของคนเมืองเชียงใหม่ รวมไปถึงพระสงฆ์มากที่สุดเห็นจะเป็นโครงการพัฒนาลานครูบาศรีวิชัย-นักบุญแห่งล้านนา ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะและถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเชียงใหม่ ให้เป็นคอมเพล็กซ์รองรับสถานีกระเช้าลอยฟ้า
“คนเชียงใหม่ไม่อยากให้ไปแตะต้องตรงนั้น แต่เขา(รัฐ)จำเป็นต้องใช้ลานครูบาเพราะเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว คนที่ขึ้นไปเที่ยวดอยสุเทพเวลาลงก็จะได้เอารถมาจอดได้ แล้วกระเช้าไฟฟ้าเหมือนเป็นจุดขาย ก็เลยจะดันทุรังสร้าง นี่ก็เป็นอีกปัญหาที่เป็นเรื่องต่อเนื่องจากไนท์ซาฟารี”นิคม คนเดิมกล่าว
ส่วนชัยพันธุ์นั้นบอกว่าขณะนี้ทางประชาชนที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนและตั้ง “ภาคีคนฮักเจียงใหม่” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันกว่า 70 องค์กรในเชียงใหม่ มีทั้งพระสงฆ์ ภาคเอกชน ศิลปินล้านนาและประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในกลุ่มนี้ก็มีทีมทนายความที่กำลังศึกษาข้อกฎหมายเพื่อยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อระงับการปิดเชียงใหม่ ไนท์ ซาฟารี อย่างเป็นทางการ เพื่อให้รัฐไปทบทวนแก้ไขในสิ่งที่ผิดให้ถูกต้อง
ในขณะที่หากมองทางด้านการท่องเที่ยว เชียงใหม่ ไนท์ซาฟารี ก็อาจจะเป็นโครงการที่ทำเงินให้กับจังหวัดเชียงใหม่ได้ไม่น้อย ซึ่งจุณพงศ์ สาระนาค ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคเหนือเขต 1 ได้ให้ความเห็นว่าหากมองในแง่ของสินค้าการท่องเที่ยว เชียงใหม่ ไนท์ซาฟารีถือเป็นสินค้าการท่องเที่ยวตัวใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งค่อนข้างจะเป็นแม่เหล็กดูดนักท่องเที่ยวคนไทยได้ดี และแน่นอนว่าย่อมจะส่งผลถึงรายได้ที่จะเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่แน่นอน
ณ วันนี้ เชียงใหม่ ไนท์ ซาฟารีที่ถูกสร้างมาด้วยสารพัดปัญหาคงต้องดำเนินต่อไป สำหรับอนาคตของโครงการนี้จะเป็นเช่นไรก็คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า ทางผู้สร้างและผู้บริหารจะมีความจริงใจในการแก้ปัญหาต่างๆ(ทั้งปัญหาเก่าและใหม่)มากน้อยแค่ไหน หรือว่าจะปกปิดความจริงบิดเบือนปัญหาต่างๆกับประชาชนเหมือนเช่นเคย เพราะจะว่าไปแล้วนี่คือ“สันดาน”อันโดดเด่นของรัฐบาลชุดนี้ ที่ถือเป็นความหน้าด้านเฉพาะตัวยากแก่การเลียนแบบเป็นอย่างยิ่ง
อ่านปัญหาเพิ่มเติมของเชียงใหม่ ไนท์ ซาฟารี
เหน็บประชุม “ครม.พบญาติ” กลางไนท์ซาฟารี - ร้อง “แม้ว” เลิกโชว์ไร้สาระ
“ปลอด” คุยโวที่ประชุม ครม.สัญจร ไนท์ซาฟารีสวยที่สุด
หวั่น“อุทยานช้าง” ในไนท์ซาฟารีส่งผลกระทบช้างและคนในพื้นที่
ปัญหาว่าด้วย สัตว์ - ไนท์ซาฟารี
ร้อง กก.สิทธิฯ “ไนท์ซาฟารี” เวนคืนที่ดินไม่เป็นธรรม
เอ็นจีโอ จี้ “ไนท์ซาฟารี” แจงหวั่นกระทบขาดแคลนน้ำ
“เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี” เลื่อนเปิดซ้ำ
"ยงยุทธ" ฝันไนท์ซาฟารีเชียงใหม่เทียบชั้น "ดิสนีย์เวิลด์"