ชุมชนบ้านบุ ชุมชนเล็กๆ ริมคลองบางกอกน้อย ใกล้กับสถานีรถไฟธนบุรี เป็นอีกหนึ่งชุมชนในกรุงเทพมหานครที่มีงานหัตถกรรมอันเป็นมรดกของชุมชนสืบสานกันมาเป็นเวลานาน นั่นก็คือการทำ "ขันลงหินบ้านบุ" โดยมีปรากฏหลักฐานในเอกสารสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาในชุมชนว่า บรรพบุรุษของชาวบ้านบุปัจจุบันเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาที่ได้อพยพมาตั้งหมู่บ้านในราชธานีใหม่ ภายหลังจากเสียกรุงเมื่อพุทธศักราช 2310
ชุมชนบ้านบุจึงสืบเชื้อสายต่อเนื่องจากอยุธยามาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยชาวบ้านที่เคยประกอบอาชีพช่างบุทำเครื่องทองลงหินหรือเครื่องทองสัมฤทธิ์ ได้รวมกลุ่มกันเลือกที่ตั้งบ้านเรือนขึ้นในทำเลนอกคลองคูเมืองราชธานี บริเวณปากคลองบางกอกน้อย โดยมีวัดอมรินทราราม (วัดบางหว้าน้อย) และวัดสุวรรณาราม (วัดทอง) วัดโบราณสมัยอยุธยาตั้งอยู่เป็นศูนย์กลางของชุมชน ชาวบ้านคงดำรงชีพด้วยการทำภาชนะเครื่องทองลงหินอยู่เช่นเดิม และสืบเชื้อสายถ่ายทอดวิชาช่างบุต่อเนื่องกันมาในชุมชนหลายชั่วอายุคน
สำหรับขันลงหินอันเลื่องชื่อของบ้านบุนั้นเป็นภาชนะที่ใช้กันแพร่หลายในสังคมไทยสมัยก่อน บางบ้านใช้เป็นขันใส่น้ำดื่มเพราะขันลงหินจะช่วยให้น้ำเย็นกว่าปกติ หรือบางบ้านใช้เป็นขันใส่ข้าวสำหรับตักบาตร เพราะจะทำให้ข้าวมีกลิ่นหอม สำหรับขันลงหินจากชุมชนบ้านบุมีชื่อเสียงในเรื่องของความทนทานและความสวยงาม เมื่อลองเคาะดูจะมีเสียงดังกังวาน จึงนิยมทำเป็นเครื่องดนตรีอย่าง ฉิ่ง ฉาบ หรือฆ้อง เป็นต้น
จากช่วงเวลากว่า 200 ปีที่ผ่านมา และยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ช่างฝีมือล้มหายตายจาก หรือเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นๆ ที่สบายกว่านี้ ทำให้ปัจจุบัน คงเหลือบ้านเพียงหลังเดียวในชุมชนบ้านบุที่ยังประกอบอาชีพทำขันลงหิน แต่หากย้อนไปในอดีต คนในชุมชนบ้านบุแทบทุกครัวเรือนจะทำขันลงหินกันเป็นอาชีพ แต่ละบ้านจะมีเตาหลอมโลหะ มีเสียงตีเหล็กดังอยู่ทั่วทั้งชุมชน ซึ่งเมื่อสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านได้เสด็จประพาสที่บ้านบุ และได้ตรัสว่า "พวกนี้ดี อยู่กับไฟ แต่ไม่เคยมีไฟไหม้"
แต่เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นในชุมชนบ้านบุ และเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนในชุมชน 47 หลังคาเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ปลูกติดๆ กัน โดยบ้านต้นเพลิงอยู่ทางด้านริมคลองบางกอกน้อย นับเป็นโชคดีที่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่หนึ่งใน 47 หลังคาเรือนที่ถูกไฟไหม้นั้น ก็รวมไปถึงบ้านที่ทำขันลงหินแห่งเดียวในชุมชนนี้ด้วย
สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เมตตา เสลานนท์ (แสงสัจจา) ทายาทกิจการขันลงหินบ้านบุรุ่นที่ 6 กล่าวว่า จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งนั้น ทำให้บ้านเก่าแก่กว่า 70 ปี ซึ่งจัดเป็นห้องแสดงสินค้าขันลงหินบ้านบุถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหมด รวมทั้งสต็อกสินค้าขันลงหินที่เตรียมส่งให้ลูกค้า และเอกสารข้อมูลต่างๆ ก็ถูกไฟไหม้หมดเช่นกัน นอกจากนั้นก็ยังมีอุปกรณ์ในการทำขันลงหินบางส่วนที่เสียหาย เช่น มอเตอร์ และเครื่องกรอ เครื่องขัด แต่ก็เป็นเครื่องมือที่สามารถหามาทดแทนใหม่ได้ และนับเป็นโชคดีอีกครั้ง ที่ส่วนของโรงงานซึ่งเป็นที่เก็บอุปกรณ์และสถานที่ผลิต รวมทั้งบ้านพักของคนงานที่อยู่ด้านหลังห้องแสดงสินค้าไม่ได้ถูกเพลิงไหม้ไปด้วย
"ประมาณตีหนึ่งกว่าๆ ก็มีคนโทรมาบอกข่าวไฟไหม้ ตอนนั้นก็นึกว่าคงหมดแน่แล้ว แต่พอรู้ว่าโรงงานไม่ไหม้ก็ดีใจ ถ้าเกิดว่าดับไม่ทัน พวกอุปกรณ์ทำขันลงหินบางอย่างที่อายุเป็นร้อยปี อย่างพวกทั่ง เติ่ง พวกนี้ก็คงไหม้ไปหมดแล้ว และอุปกรณ์พวกนี้ในตอนนี้ก็หายากแล้ว" เมตตา เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ในคืนนั้น
ดังนั้น ปัญหาใหญ่ที่เกิดกับกิจการทำขันลงหินบ้านบุในขณะนี้ก็คือปัญหาในเรื่องของเงินทุน เพราะของในสต็อกที่เตรียมขายลูกค้าก็ถูกไฟไหม้หมดแล้ว จึงทำให้หลายๆ คนเกิดความคิดว่า หรือเหตุการณ์เพลิงไหม้ในครั้งนี้จะทำให้ขันลงหินบ้านบุเป็นเพียงชุมชนที่เหลือแต่ชื่อเท่านั้น
"อยากให้รู้ว่าเรายังทำต่อแน่นอน ยังไม่ได้เลิก เราจะยังสืบสานการทำขันลงหินบ้านบุนี้ต่อไป เพราะนี่ถือเป็นงานอนุรักษ์ และคิดว่าจะเริ่มทำต่อให้เร็วที่สุดเพื่อให้คนงานมีงานทำ ส่วนเรื่องที่ต้องทำตอนนี้ก็คือต้องต้องหาทุนมาซื้อวัตถุดิบ ซื้ออุปกรณ์ที่เสียหาย และสร้างอาคารใหม่ เรื่องซื้อวัตถุดิบก็ถือว่ายังมีเครดิตอยู่บ้าง คนงานเขาก็ร่วมแรงร่วมใจกัน มาช่วยดูแลให้มันเรียบร้อยเพื่อที่จะทำต่อได้ ส่วนลูกค้าที่สั่งสินค้าไว้ตอนนี้กำลังเคลียร์ไปเรื่อยๆ แต่ทุกคนก็เข้าใจ แล้วก็ช่วยเหลือกันดี" เมตตา กล่าว
สำหรับบ้านเก่าแก่ที่ถูกเพลิงไหม้ไปด้วยนั้น เมตตา กล่าวว่า เคยตั้งใจจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บเรื่องราวของขันลงหินบ้านบุไว้ แม้ตอนนี้บ้านจะถูกไฟไหม้ไปแล้วก็ยังยืนยันความตั้งใจเดิม โดยหากจะสร้างใหม่ก็จะสร้างให้เป็นบ้านแบบไทยๆ เหมือนเดิม และจะยังคงจุดประสงค์เดิมคือทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เพราะเรื่องของขันลงหินบ้านบุนี้เป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว
นอกจากนั้นทางภาครัฐเองก็ได้เข้าช่วยเหลือชาวชุมชน โดยมอบเงินช่วยเหลือแก่บ้านที่ได้รับความเสียหายหลังละ 3,400 บาท และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังได้กล่าวภายหลังจากที่ได้ลงตรวจเยี่ยมชุมชนบ้านบุหลังเหตุการณ์เพลิงไหม้ว่า จะเร่งฟื้นฟูการทำขันลงหินอย่างเร่งด่วน เนื่องจากถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดมาเป็นเวลานับ 100 ปี ที่ต้องร่วมกันอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไป
เมตตา เล่าให้ฟังว่า เจียม แสงสัจจา ผู้เป็นมารดาซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อหกปีก่อน เป็นผู้สืบสานอาชีพการทำขันลงหินจากบรรพบุรุษมาเป็นรุ่นที่หก และในช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่มีการพัฒนารูปแบบและลวดลายของขันลงหิน เช่นมีการออกแบบเป็นภาชนะอื่นๆ นอกจากขันน้ำพานรอง หรือขันข้าว มาเป็นชามผลไม้ ชามสลัด ชุดกาแฟ ฯลฯ สามารถส่งไปขายยังต่างประเทศได้ นอกจากนั้นในช่วงของมารดายังเป็นช่วงที่จับกลุ่มช่างที่ทำขันลงหินไว้ได้ สำหรับตนเองนั้นเข้ามาช่วยงานขันลงหินเมื่ออายุได้ประมาณ 21 ปี และได้เห็นการทำขันลงหินมาตั้งแต่เด็ก ดังนั้นจึงตั้งใจจะสืบสานอาชีพงานช่างเก่าแก่นี้ต่อไปอย่างแน่นอน
คำยืนยันจากปากของเมตตา เสลานนท์ จึงเป็นอันแน่ใจว่าอาชีพการทำขันลงหินบ้านบุจะยังคงดำเนินต่อไปได้ในขณะนี้แม้จะมีอุปสรรคจากเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ผ่านมา แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในที่สุดแล้วอาชีพการทำขันลงหินบ้านบุก็อาจจะหายไปสักวันหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่เหมือนกับอีกหลายๆ ชุมชนเก่าแก่ในกรุงเทพฯ คือไม่มีผู้สืบทอดต่อ จนวิชาช่างที่สืบทอดกันมานานหลายรุ่นนี้ต้องสาบสูญไป
"การทำขันลงหินสำคัญอยู่ที่การตีขึ้นรูป ต้องฝึกต้องเรียนรู้กันนานหลายปีกว่าจะทำได้ดี ช่างตีจะต้องอยู่หน้าเตาตั้งแต่เช้าถึงเย็น ถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่อาจจะอดทนไม่ได้ ในตอนนี้มีคนงานประมาณ 20 คน และช่างทำขันลงหินที่อายุน้อยที่สุดก็คือ 50 ปี ก็น่าเป็นห่วงว่าวันหนึ่งมันอาจจะหายไป" เมตตา กล่าว
มีคนเคยพูดไว้ว่า โจรขึ้นบ้านสิบครั้ง ยังไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว แต่สำหรับอาชีพการทำขันลงหินของชาวบ้านบุที่ยังไม่เห็นอนาคตแน่นอนนี้คงต้องกล่าวว่า ไฟไหม้ครั้งเดียวก็ยังทำงานต่อได้ แต่หากไม่มีผู้สืบทอดต่อ เห็นทีขันลงหินบ้านบุก็คงจะต้องเหลือแต่เพียงตำนานให้เล่าขานกันต่อไปเท่านั้น
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
คำว่า "บุ" หมายถึงการตีให้เข้ารูป ใช้กับงานโลหะ ซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและความประณีต และกว่าจะลงแรงจนได้เป็นขันลงหินที่สวยงามนั้น จะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมาย เริ่มตั้งแต่การนำโลหะสามชนิดอันได้แก่ ทองแดง ดีบุก และเศษสัมฤทธิ์ เช่นทองม้าล่อ หรือทองฉาบ (ทองจากเครื่องดนตรีสัมฤทธิ์ของจีน เช่นม้าล่อ ฉาบ ผ่างที่ชำรุดแล้ว เป็นต้น) หากมีโลหะอื่นเจือปนจะทำให้เนื้อทองไม่ประสานตัว เมื่อนำมาตีจะแตกทันที
เมื่อหลอมโลหะทั้งสามจนละลายเป็นเนื้อเดียวกันแล้วจึงเทลงบนพิมพ์ดินเผาทรงกลม หน้าเป็นหลุมตื้นที่เรียกว่า "ดินงัน" ทำจากดินเหนียวผสมแกลบเผาไฟ มีหลายขนาด ขึ้นอยู่กับว่าจะทำเป็นภาชนะอะไร จากนั้นรอให้ทองเย็นตัวลงช้าๆ ซึ่งในขณะนั้นทองจะอ่อนตัวสามารถนำมาตีแผ่ให้ได้ขนาดที่ต้องการ และตีให้ขึ้นรูปได้ จากนั้นก็จะแต่งรูปภาชนะอีกครั้งด้วยค้อนแต่ง แล้วนำไปเผาไฟอีกครั้งจนสุกแดงแล้วนำไปจุ่มน้ำ เพื่อให้ทองเย็นตัวอย่างรวดเร็ว และจะทำให้ภาชนะนั้นมีความแข็ง ทนทานต่อการสึกหรอ สำหรับขั้นตอนที่ว่ามานี้เป็นหน้าที่ของช่างตี ซึ่งต้องมีประสบการณ์ฝึกหัดหลายสิบปีกว่าจะมีความชำนาญ
จากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของช่างลาย ซึ่งมีหน้าที่ทำให้ภาชนะเรียบเสมอกัน เสร็จแล้วนำไปกลึงเพื่อให้ผิวเรียบ และกรอเพื่อขัดเงา ในสมัยก่อนจะใช้หินละเอียดผสมน้ำห่อผ้าใส่ลงในขัน แล้วเหยียบหรือคลึง ขัดลบรอยในขันจนขึ้นเงา จึงเรียกวิธีนี้ว่า "ลงหิน" ปัจจุบันใช้มอเตอร์ติดลูกทรายและลูกผ้าขัดจนขึ้นเงาแทน
ขันลงหินบ้านบุ เจียม แสงสัจจา ตั้งอยู่ที่ 133 ตรอกบ้านบุ ถนนจรัญสนิทวงศ์ 32 แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700 โทรศัพท์ 0-2424-1689