xs
xsm
sm
md
lg

สัมผัสเสน่ห์แห่งขุนเขาที่ "บ้านห้วยห้อม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสน่ห์นาขั้นบันไดในหุบเขาแห่งบ้านห้วยห้อม
ช่วงนี้อากาศกำลังหนาวเย็นสบาย เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง ใครที่ยังนึกไม่ออกว่าต้นปีอย่างนี้จะไปไหน ลองเที่ยวตาม"โครงการหลวง"ที่มีให้เลือกมากถึง 36 โครงการทั่วภาคเหนือ ก็ถือว่าเข้าท่าไม่น้อย แถมยังเป็นการสนับสนุนให้ชาวบ้านมีรายได้อีกด้วย

สำหรับ "โครงการหลวงแม่ลาน้อย" ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็นับเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความน่าสนใจชวนเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว บริเวณบ้านดง บ้านห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย และบ้านป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำแม่ลาน้อย และแม่น้ำแม่สะเรียง ชาวบ้านนิยมการปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอยอย่างกว้างขวาง
 ผ้าทอขนแกะหัตถกรรมเลื่องชื่อหนึ่งเดียวในเมืองไทย
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรชาวเขาบ้านป่าแป๋ และบ้านห้วยห้อมเป็นครั้งแรก ทั้งยังได้พระราชทานทุนทรัพย์ จำนวน 20,000 บาท จัดตั้งเป็นธนาคารข้าวแห่งแรกของโลก

และในปีพ.ศ. 2516 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรทั้งสองหมู่บ้านเป็นครั้งที่ 2 และทรงรับสั่งให้ประธานมูลนิธิโครงการหลวง เข้าช่วยเหลือพัฒนาอาชีพแก่ชาวเขา โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม สังคม และสาธารณสุข

จากนั้น ในปี พ.ศ. 2523 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อยจึงก่อตั้งขึ้นสำเร็จ โดยใช้พื้นที่บ้านดงเป็นที่ทำการ เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยทอดพระเนตรพื้นที่แล้ว ประกอบกับเป็นที่ตั้งของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งเป็นศูนย์กลางพัฒนาด้านการศึกษาแก่เยาวชนในท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย มีพื้นที่รับผิดชอบ 91.75 ตารางกิโลเมตร หรือ 57,368 ไร่ ครอบคลุม 14 หมู่บ้าน ประกอบด้วยชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และเผ่าละว้า

สำหรับโครงการหลวงแม่ลาน้อยนั้น "หมู่บ้านห้วยห้อม" ถือเป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่ได้รับการส่งเสริมจากโครงการหลวง

ห้วยห้อมเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในอ้อมกอดของธรรมชาติและขุนเขา มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงชันจึงเป็นแหล่งต้นน้ำ ลำธารมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี ชาวบ้านห้วยห้อมส่วนใหญ่เป็นชาวเกะเหรี่ยง อาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่คือการทำนา โดยส่วนมากปลูกข้าวนาปี แบบขั้นบันได รองลงมาก็เป็นการปลูกพืชสวน ไม่ว่าจะเป็น กะหล่ำปลี เสาวรส หรือแม้กระทั่งกาแฟ ตลอดจนพืชพื้นเมืองต่าง ๆ ทั้งยังนิยมการเลี้ยงสัตว์อย่าง วัว ควาย แพะ และแกะทั้งพันธ์กินเนื้อและพันธุ์ตัดขน
บ้านเรือนแบบกะเหรี่ยงกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับขุนเขา
ส่งผลให้อาชีพเสริมส่วนใหญ่ของชาวบ้านเป็นการทอผ้า ทั้งจากผ้าฝ้ายธรรมชาติ ผ้าดิบ และผ้าขนแกะ จัดเป็นงานฝีมือการทอของท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง ผ้าทอขนแกะของชาวห้วยห้อมนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำเส้นฝ้ายที่ย้อมสีธรรมชาติ มาถักทอผสมผสานกับเส้นด้ายที่ทำมาจากขนแกะ ซึ่งความยากง่ายจะขึ้นอยู่กับลาย และสีที่นำมาผสมว่ากันว่าการที่จะถักทอเส้นด้ายแต่ละเส้นให้ได้ผ้าพันคอสักผืน ต้องใช้เวลากว่าสองอาทิตย์จึงจะได้ 1 ผืน แต่หากเป็นผ้าคลุมเตียงแล้วละก็ต้องใช้เวลานานกว่า 3 เดือนทีเดียว

อนึ่งผ้าทอขนแกะที่นี่จัดเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่ต้องการสร้างอาชีพและรายได้ให้ชาวบ้าน ผ้าขนแกะจึงเป็นหัตถกรรมที่สร้างชื่อเสียงแก่ห้วยห้อมมาช้านาน การทอเป็นการทอที่ใช้เอวโบราณดั้งเดิม มีการเลี้ยงแกะเพื่อตัดขน ฟอกขนแกะ ปั่นกรอขนแกะ

ศิลปะการทอผ้าขนแกะของหมู่บ้านห้วยห้อม นอกจากเป็นเรื่องของการถักทอ โดยทั่วไปแล้วยังเชื่อมโยงเข้ากับวัฒนธรรมและประเพณี ของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ ณ หมู่บ้านแห่งนี้ เพราะหญิงสาวชาวกะเหรี่ยงต้องทอผ้าเป็นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ ของความเป็นแม่ศรีเรือน
กาแฟสายพันธุ์อาราบิกาผลผลิตชั้นเยี่ยมของหมู่บ้าน
หากทอผ้าไม่เป็นจะไม่มีชายหนุ่มคนใด ต้องการเป็นภรรยา จัดว่าเป็นกุศโลบายที่ดี ที่นอกจากจะสามารถฝึกหัด เด็กสาวในเผ่าให้เก่งงานบ้าน งานเรือนแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์งานฝีมือประจำเผ่า ให้สืบทอดต่อมาอีกด้วย

นอกจากผ้าทอขนแกะแล้ว บ้านห้วยห้อมยังโดดเด่นไปด้วยไร่กาแฟ ซึ่งเป็นการทำไร่กาแฟผสมผสานร่วมกับธรรมชาติบนภูเขาสูง ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น และสิ่งที่สำคัญก็คือการทำการเกษตรในรูปแบบที่ไม่ทำลายสภาพดินและรักษาระบบนิเวศของป่าไว้เป็นอย่างดี

สำหรับกาแฟของที่นี่เป็นพันธุ์อาราบิก้าชั้นดี ถือเป็นผลผลิตชั้นดีที่มีสารกาแฟระดับยอดเยี่ยม มีคุณภาพสูง รสชาติยอดเยี่ยมหอมหวนชวนดื่ม

ทั้งนี้ภายหลังการเข้ามาดูแลของโครงการหลวง กาแฟที่นี่มียอดการทำสัญญาสั่งซื้อตลอดปี มีการจัดจำหน่ายส่งออกกว่า 10 ประเทศ นอกจากนี้ยังส่งขายให้กับร้านกาแฟเฟรนไชน์โด่งดังในเมืองไทย สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านและชุมชน โดยทุกๆปีในช่วงเดือนธันวาคมจะมีการจัด เทศกาล “กาแฟสดห้วยห้อม”ขึ้น ซึ่งนักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบในรสกาแฟไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

นอกเหนือจากผลิตผลทางการเกษตร ที่เป็นหน้าเป็นของทางหมู่บ้านห้วยห้อมแล้ว ที่นี่ยังเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยการจักให้มีที่พักแบบโฮมสเตย์ เน้นให้นักท่องเที่ยวผู้มาพักอาศัยได้ซึมซับ วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงอย่างใกล้ชิดเน้นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอัตราเพียง 100 บาทต่อคนต่อคืน

หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติของบ้านห้วยห้อมอาทิ “น้ำตกห้วยห้อม” เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่รวมตัวจากลำห้วยเล็ก ๆ จำนวนหลายสายมารวมเป็นน้ำสายเดียวกัน การเดินทางของายน้ำผ่านภูเขาลูกเล็ก ๆ ตามเส้นทางคดเคี้ยวต่าง ๆ ทำให้น้ำตกมีทัศนียภาพที่สวยงามแตกต่างกันออกไปเป็นหลาย ๆ ชั้น มีความโดดเด่นและงดงามเหมาะแก่การพักผ่อน

น้ำตกอีกแห่งหนึ่งคือ "น้ำตกทีหล่าเล" ตั้งอยู่เส้นทางระหว่างบ้านห้วยห้อมไปบ้านดูลาเปลา ทีหล่าเลเป็นชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งเป็นภาษากะเหรี่ยง มีความงดงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน อีกทั้งยังมีต้นไม้ที่ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า "ต้นโป" ซึ่งมีความใหญ่โตขนาด 20 คนโอบ ในปัจจุบันเหลือให้นักท่องเที่ยวได้ชมในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ
รอยยิ้มของชาวบ้าน สร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือนเสมอ
ในส่วนของวิถีชีวิตชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง ก็นับเป็นอีกหนึ่งในสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว เพราะโดดเด่นไปด้วย การแต่งกาย ภาษา ศิลปะ การละเล่นประจำเผ่า และรอยยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยน้ำมิตรของชาวบ้าน ท่ามกลางหมู่บ้านแห่งขุนเขาที่ใครเมื่อมาเที่ยวบ้านห้วยห้อมแล้วบางทีอาจจะลืมวิถีชีวิตที่รีบร้อนของคนเมืองหลวงไปเลยก็ได้

******************************************************
*****************************************************

บ้านห้วยห้อมตั้งอยู่ที่ อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ห่างไปทางทิศตะวันออกประมาณ 30 กม. การเดินทางจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนไปตามทางหลวงหมายเลข 108 เข้าสู่ อ.แม่ลาน้อย พอผ่านโรงพยาบาลและแม่น้ำแม่ลาน้อยไปอีกสักพัก เลี้ยวซ้ายตรงปั๊มน้ำมันเข้าสู่ ต.ห้วยห้อม สามารถสอบถามรายละเอียดต่างๆเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ต.ห้วยห้อม 0-1950-4576 กลุ่มผ้าทอขนแกะและกลุ่มกาแฟ 0-9555-3900

กำลังโหลดความคิดเห็น